ว่าด้วยศาสนาคริสต์

ในการสอนประวัติศาสตร์และรัฐศาสตร์สมัยนี้มักต้องอ้างอิงหลักของทฤษฎีประกอบสร้างนิยม (Constructivism) ที่เน้นความสำคัญของอิทธิพลจากความคิด ความเชื่อที่แตกต่างของแต่ละชาติซึ่งมีที่มาจากวัฒนธรรมที่มีศาสนาเป็นหลักและเอกลักษณ์ของชาติซึ่งแตกต่างกันของแต่ละประเทศ

ปรากฏว่าเมื่อเริ่มการสอนได้พูดถึงศาสนา จึงพบว่าเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดของนักศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่องศาสนาคริสต์ซึ่งมีปัญหาที่สุดที่จะอธิบายเกี่ยวกับเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะนักศึกษาส่วนใหญ่
รู้เรื่องศาสนาคริสต์แค่ 2 นิกายคือ โรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนต์ แบบคร่าวๆ เท่านั้น พอกล่าวถึงศาสนาคริสต์นิกายที่เก่าแก่ที่สุดและประชาชนส่วนใหญ่ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกนับถือกันมาเป็นพันปีแล้วก็อึ้งกัน ต้องอธิบายตั้งแต่เริ่มต้นกันยาวไปเลย ผู้เขียนจึงตั้งใจเขียนเรื่องศาสนาคริสต์แบบสั้นๆ กระชับเพื่อประกอบการศึกษาในวงกว้างบ้าง จึงขออนุญาตชี้แจงในที่นี้นะครับ

ศาสนาคริสต์ (Christianity) เป็นศาสนาที่มีพื้นฐานมาจากชีวิตและการสอนของพระเยซู เนื่องจากมีความเชื่อว่าพระเยซูเป็นลูกชายของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นพระเจ้าผู้มาบังเกิดเป็นมนุษย์และเป็นผู้ไถ่บาปให้แก่มนุษย์ที่ไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า โดยทางศาสนาคริสต์เชื่อว่าธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีอยู่ 3 ส่วน
เรียกว่า “ตรีเอกานุภาพ” คือ

1) พระผู้เป็นเจ้า ผู้เป็นบุคคลผู้สร้างโลก 2) พระบุตร คือพระเยซู และ 3) พระจิต คือวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่แทรกซึมอยู่ทั่วไปในโลก เมื่อบุคคลผู้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เข้าไปในจิตใจแล้วจะมีความคิดความอ่านไปในวิถีทางเดียวกับพระเจ้า

Advertisement

ศาสนาคริสต์ปัจจุบันแบ่งเป็นนิกายหลายร้อยอาจถึง 1,000 นิกาย แต่สามารถรวบรวมความเหมือนและความต่างของบรรดานิกายที่มากมายเหล่านั้นแล้วแบ่งออกเป็น 3 นิกายใหญ่ได้ เป็น ออร์โธดอกซ์, โรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนต์ ซึ่งทั้ง 3 นิกายก็ยังแบ่งนิกายย่อยได้อีกนับร้อยนิกาย ซึ่งประวัติของการแยกนิกายเริ่มขึ้นหลังจากศาสนาคริสต์ได้ลงหลักปักฐานเป็นศาสนาประจำชาติของจักรวรรดิโรมันแล้วเขตอัครบิดรโรมันคาทอลิกและออร์โธดอกซ์ได้แยกออกจากกันใน พ.ศ.1597 (ก่อนสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยถึง 200 ปีเศษ) และนิกายโปรเตสแตนต์เกิดขึ้นหลังการปฏิรูปศาสนาใน พ.ศ.2072 (เป็นปีที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยาสวรรคตพอดี) ซึ่งแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก

1) นิกายออร์โธดอกซ์ แปลว่าถูกต้องและดั้งเดิม ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาคริสต์ในยุคแรกเริ่ม โดยถือว่าคริสตจักรออร์โธดอกซ์เป็นคริสตจักรแท้จริงเพียงหนึ่งเดียวที่ก่อตั้งโดยพระเยซู โดยสืบเนื่องมาจากบรรดาศิษย์ชุดแรกของพระเยซูเป็นผู้เผยแผ่ มีผู้นับถือศาสนานิกายนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบรรดาประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออก เช่น กรีซ, รัสเซีย, โรมาเนีย, ยูเครน, บัลแกเรีย, เช็ก, สโลวัก, มาซิโดเนีย ฯลฯ มีผู้นับถือนิกายนี้ประมาณ 300 ล้านคน คริสตจักรออร์โธดอกซ์แบ่งการปกครองเป็นคริสตจักรส่วนๆ แต่ละคริสตจักรมีสังฆราชคนหนึ่งเป็นประมุข โดยแต่ละคริสตจักรออร์โธดอกซ์ต่างเป็นเอกราชในแต่ละประเทศ เช่น คริสตจักรออร์โธดอกซ์ของยูเครนก็ไม่ขึ้นต่อคริสตจักรออร์โธดอกซ์ของรัสเซีย เป็นต้น ซึ่งไม่เหมือนกับนิกายโรมันคาทอลิก ที่มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครรัฐวาติกัน มีพระสันตะปาปาเป็นประมุขแต่เพียงผู้เดียว และปกครองเหมือนกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) นั่นเอง

2) นิกายโรมันคาทอลิก แปลว่าสากลเดิม ก็เป็นส่วนหนึ่งของนิกายออร์โธดอกซ์ที่ยึดมั่นในหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ เคารพพระนางมารีย์และนักบุญต่างๆ ภายในโบสถ์ของนิกายนี้จะมีรูปเคารพพระเยซูคริสต์ พระแม่มารีย์ และนักบุญต่างๆ มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่นครรัฐวาติกัน มีพระสันตะปาปาเป็นประมุข โดยอ้างว่าสืบทอดมาตั้งแต่สมัยลูกศิษย์คนโตของพระเยซู คือนักบุญปีเตอร์เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรก ซึ่งได้สืบทอดมาถึงพระสันตะปาปาฟรานซิส องค์ปัจจุบันเป็นคนที่ 266 นิกายโรมันคาทอลิกมีนักบวชที่ไม่มีครอบครัวเหมือนกับพระภิกษุในศาสนาพุทธเรียกว่าบาทหลวง และสมาชิกคณะนักบวชคาทอลิก นิกายนี้ถือว่าบาทหลวงเป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้าและมนุษย์ มีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายนี้ประมาณ 1,200 ล้านคน

Advertisement

3) นิกายโปรเตสแตนต์ แปลว่าคัดค้าน แยกตัวมาจากนิกายโรมันคาทอลิกใน พ.ศ.2072 เป็นนิกายที่ถือว่าศรัทธาของแต่ละคนที่มีต่อพระเจ้าสำคัญกว่าพิธีกรรม ซึ่งยังแตกย่อยออกเป็นหลายร้อยคณะ เนื่องจากมีความเห็นแตกต่างในประเด็นปลีกย่อยที่กล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล และการปฏิบัติในพิธีกรรม นิกายนี้ไม่มีนักบวชเพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยมิต้องอาศัยบาทหลวง มีเพียงคนธรรมดาที่เป็นนักเทศน์คอยให้คำปรึกษากับผู้เชื่อ และถือว่าพระเยซูได้ทรงไถ่บาปแก่ศาสนิกทุกคนไปเมื่อถูกตรึงกางเขนแล้ว นิกายนี้มีเพียงไม้กางเขนเป็นเครื่องหมายแห่งศาสนาเท่านั้น มีผู้นับถือรวมกันทุกคณะต่างๆ ประมาณ 850 ล้านคน

การเน้นเรื่องทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องทางศาสนานี้ก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่มักมีมายาคติว่าบรรดาคนที่นับถือศาสนาเดียวกัน หรือยึดมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ด้วยกันแล้วจะคิดเหมือนกัน สามัคคีกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันละกัน ซึ่งนับเป็นการผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงจึงจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีประกอบสร้างในการศึกษาด้วยเพื่อที่จะใช้ในการอธิบาย คาดการณ์และควบคุมสถานการณ์ได้ถูกต้องแม่นยำขึ้นได้นั่นเอง

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image