เศรษฐกิจสมัยพุทธกาล (1) โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

เศรษฐกิจสมัยพุทธกาล (1) โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ วังหน้า เจ้าศากยะและเจ้าโกลิยะแย่งชิงทรัพยากรน้ำ พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระญาติห้ำหั่นกัน

 

เศรษฐกิจสมัยพุทธกาล (1)

ชมพูทวีปเป็นคำที่ปรากฏในพระสูตรโดยมีการกล่าวถึงมหาชนบทและชนบท แม้ยังไม่มีคำว่าเขตอริยวัตรของพวกพระเวทก็มักถือกันว่ามัชฌิมชนบทเป็นเขตของชาวอารยัน ในขณะที่ปัจจันตชนบทเป็นเขตรอบนอกของชนพื้นเมือง

พระสูตรมิได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจในชมพูทวีปโดยตรง ความรู้เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในสมัยพุทธกาลอาจต้องอาศัยนัยและข้อสังเกตเป็นสำคัญ

Advertisement

ก่อนพุทธกาลความเจริญทางวัตถุเชื่อกันว่ามาจากการอพยพเข้ามาของชนชาวอารยันผู้เจริญซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับอารยธรรมพื้นเมืองน้อยเกินไป

ชาวอารยันได้เข้าปกครองดินแดนอารยธรรมสินธุหรือฮารัปปาในปากีสถานก่อนแล้วได้เข้ามาจัดตั้งอาณาจักรกุรุและปัญจาละ ต่อมาได้ขยายไปตามลุ่มแม่น้ำคงคา ความเจริญทางวัตถุที่นำเข้ามาด้วยคือเครื่องมือการเกษตร แต่ในพื้นที่ทางตะวันออกก็มีอารยธรรมอื่นซึ่งมีความเจริญทางการเกษตรเข้ามาด้วย

ก่อนสมัยพุทธกาลเล็กน้อยความเจริญเริ่มมีมากที่แคว้นโกศลและวิเทหะ จากนั้นก็มีมากที่แคว้นวัชชี (ซึ่งประกอบด้วยวิเทหะซึ่งเจริญมาก่อน) กาสีและมคธ

Advertisement

อาจารย์กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีความเห็นว่าในสมัยพุทธกาลอาณาบริเวณที่พระพุทธเจ้าประสูติและทรงจาริกไปในทุกช่วงของพระชนม์ชีพเป็นเขตเงาฝนที่พื้นดินเป็นทรายซึ่งน้ำซึมผ่านได้ง่าย และมักพบต้นสาละ (รัง) และต้นเกด บริเวณที่ชื้นมากขึ้นจะพบป่าเบญจพรรณ สังเกตได้จากต้นไผ่ซึ่งมีมากในบางแห่งและการมีพื้นที่ชุ่มน้ำทั่วไป ในที่ลุ่มซึ่งชุ่มน้ำจากการสะสมผ่านทรายหยาบมักพบสระน้ำและบึงธรรมชาติที่มาจากการที่น้ำใต้ดินอิ่มตัวและมีระดับน้ำสูงกว่าที่ลุ่ม ต้นจิกในพุทธประวัติก็บ่งบอกถึงความเป็นพื้นที่ชุมน้ำของบริเวณนั้นด้วย

ป่าสาละ อุทยานแห่งชาติจิตวัน ประเทศเนปาล เมษายน พ.ศ.2556
ครอบคลุมแม่น้ำรัปติและแม่น้ำโรหินี
อยู่ใกล้ลุมพินีสถานซึ่งปัจจุบันไม่เหลือต้นสาละแล้ว
(เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ)

โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีการเกษตรเป็นพื้นฐานและมีผลผลิตที่หลากหลายมาก ไม้ป่าและไม้ยืนต้นในพระสูตรมีการกล่าวถึงต้นสาละ ประดู่ลาย (ประดู่แขก) ไม้สักกะ (สัก) จิก โกละ (กระเบา) สีเสียด ไผ่ สน อโศก รกฟ้า กฤษณา จำปา ราชพฤกษ์ แคฝอย มะซางหอม คัดเค้า ประยงค์และมะกล่ำหลวงเป็นต้น ไม้หลายชนิดเป็นแหล่งเห็ด พืชอาหารมีข้าว ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ลูกเดือย อ้อย มะม่วง กล้วย ต้นตาล มะพร้าว ลูกจันทน์ หว้า สมอ สมอไทย สมอพิเภก ลิ้นจี่ น้อยหน่า สาลี่ ละมุด พุทรา ชมพู่ มะตูม มะปราง มะกอก มะพลับ มะดูก มะหาด มะขามป้อม มะเดื่อ มะขวิด ขนุน ขนุนสำมะลอ ฝักบัว รากบัว มะงั่ว มะนาว ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และงา เป็นต้น ส่วนฝ้ายเป็นพืชสำหรับหัตถกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นหลัก

สัตว์ในทางเกษตรกรรมมีช้าง ม้า โค กระบือ ไก่ สุกร แพะ แกะ ลา และนกกระทา เป็นต้น ปลามีมากมายหลายชนิด เช่น ปลาสลาด ปลากระบอก ปลาสวาย ปลาเค้า และปลาตะเพียน เป็นต้น
สำหรับนอกภาคการเกษตรความเจริญทางวัตถุมีมากถึงระดับที่มีหัตถกรรมและงานฝีมือเป็นสาขาที่สำคัญ ภาคบริการมีการศึกษาและการบันเทิง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีภาคการคลังของรัฐที่เป็นระบบและมีการใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและสะสมมูลค่าแล้ว เศรษฐกิจสมัยนั้นจึงไม่ใช่เศรษฐกิจบุพกาล หากแต่เป็นเศรษฐกิจการผลิตและการค้าที่มีระบบภาษีและการใช้เงินโลหะ

การคลังในสมัยนั้นมีการจัดเก็บภาษีซึ่งคงเป็นการจัดเก็บภาษีจากการการทำประโยชน์จากที่ดินและการประกอบอาชีพ ฉางเป็นที่เก็บของท้องพระคลัง มีฉางเก็บทรัพย์ ฉางข้าวเปลือก และฉางเก็บผ้า

ในสามัญญผลสูตรมีการระบุชัดเจนว่าแคว้นมคธจัดเก็บภาษีบำรุงรัฐจากชาวนาและคหบดี สมณพราหมณ์ผู้ออกบวชซึ่งมิได้ทำการผลิตจึงมิได้เสียภาษี

ถ้าพิจารณาจากระบบ “ษัฏภาคิน” ตามที่ปรากฏในงานของอาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล อัตราภาษีน่าจะอยู่ในระดับปานกลางหรือไม่สูงนัก ภายใต้ระบบนี้ผลผลิตที่หาจากที่ดินว่างเปล่าของรัฐต้องจัดสรรให้รัฐ 1 ใน 6 ซึ่งประมาณร้อยละ 17 ฐานภาษีสมัยนั้นก็คงไม่กว้างมากนัก

เงินในสมัยนั้นมีหน่วยวัดเป็นกษาปนะ (1 เหรียญกษาปณ์หรือ 1 ตำลึง) และมาสก (1 กษาปนะเท่ากับ 20 มาสก) ทองและเงินที่เป็นแท่งใช้สะสมมูลค่า ส่วนทองและเงินที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนอยู่ในรูปของทองมาสกและเงินมาสก เหล่านี้คงยังอาศัยมาตรฐานตามน้ำหนักจนกระทั่งภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วเหรียญที่ตราโดยกษัตริย์ของแต่ละแคว้นจึงค่อยมีขึ้น

ภาคเกษตรกรรมมีสาขาการเพาะปลูกและไม้ผล ส่วนไม้ป่าเป็นการเพาะปลูกเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและเพื่อระบบนิเวศ สินค้าทางการเกษตรมีทั้งที่ใช้ในการบริโภคโดยตรงและที่ใช้เป็นวัตถุดิบของการผลิตสินค้าอื่น

การเพาะปลูกพืชอาหารมีข้าวสาลีและข้าวเป็นหลัก ในพระสูตรมีคำบาลีที่ใช้กับข้าวสาลีและข้าวแตกต่างกันเป็นคนละคำ (ข้าวนี้คงเป็นข้าวเหนียวแต่ไม่ชัดเจนว่ามีข้าวเจ้าแล้วหรือไม่) เราอาจสันนิษฐานได้ว่าข้าวสาลีมาทางแถบตะวันตกและเป็นการผลิตแบบอิหร่านโบราณ ส่วนทางตะวันออกเป็นการเพาะปลูกข้าวซึ่งเชื่อมโยงการเพาะปลูกของชาวไตและชนชาติแถบจีนตอนใต้

การเพาะปลูกข้าวนี้น่าจะมีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลและมีมากตามลุ่มแม่น้ำคงคาและแม่น้ำที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำคงคาแถบแคว้นสักกะ โกศล มัลละ วัชชีและมคธ

ตปุสสะและภัลลิกะซึ่งเป็นพ่อค้าที่เดินทางไกลด้วยเกวียน 500 เล่ม ได้ถวายข้าวสัตตุก้อนและสัตตุผงแก่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสัปดาห์สุดท้ายของการเสวยวิมุตติสุข สัตตุก้อนคงทำมาจากข้าวเหนียว ส่วนสัตตุผงอาจทำมาจากข้าวเจ้า นี้ก็เป็นไปได้

ในคราวที่พระพุทธองค์ทรงห้ามพระญาติสู้รบกันเพื่อแย่งชิงน้ำจากแม่น้ำโรหิณีบ่งบอกว่าการเกษตรต้องพึ่งแหล่งน้ำธรรมชาติและมีการชลประทานด้วยการทดน้ำจากแม่น้ำเข้าสู่นา แม่น้ำโรหิณีเป็นแม่น้ำสำคัญของกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ แม่น้ำสายนี้ไหลลงมาจากเทือกเขาหิมาลัยแล้วมีบางส่วนไปบรรจบกับแม่น้ำอโนมาก่อนเข้าสู่แม่น้ำคงคาซึ่งไหลลงไปยังแคว้นมคธ

ผลไม้เป็นสาขาการผลิตที่สำคัญบริเวณลุ่มแม่น้ำ มีการปลูกเป็นสวนผลไม้เฉพาะชนิด มะม่วงถือเป็นผลไม้ชั้นเลิศ สวนมะม่วงน่าจะมีมากในแคว้นมคธ วัชชี มัลละและโกศล

หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชได้ไปพำนักที่สวนมะม่วงในแคว้นมัลละ พระพุทธองค์ทรงประทับที่อนุปิยอัมพวันในนิคมของแคว้นมัลละหลายครั้ง

ในแคว้นมคธปลายสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ได้เสด็จจากที่ประทับที่เขาคิชฌกูฏผ่านสวนมะม่วงหนุ่มก่อนถึงนาลันทา มีสวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ที่กรุงราชคฤห์และของปาวาริกเศรษฐีที่นาลันทา

ในแคว้นวัชชีเรื่องราวของนางอัมพปาลีบอกว่ามีพระราชอุทยานป่ามะม่วงที่กรุงเวสาลี นางอัมพปาลีต่อมามีความมั่งคั่งและมีป่ามะม่วงเช่นกัน นางได้ถวายป่ามะม่วงให้เป็นวัดแก่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งสะท้อนว่ามะม่วงย่อมมีค่าอันเลิศในสมัยนั้น

ที่แคว้นมัลละเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านเมืองปาวาเพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินาราพระองค์ทรงแวะพักที่สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตรซึ่งอยู่ในตระกูลของนายช่างทอง เมื่อเสด็จก่อนถึงกุสินาราซึ่งทรงชี้แนะปุกกุสะมัลลบุตรก็มีการระบุถึงสวนมะม่วงด้วย

ที่แคว้นโกศลพระพุทธองค์เคยประทับที่ป่ามะม่วงใกล้แม่น้ำอจิรวดีเมืองมนสากตคาม ในเหตุการณ์ครั้งทรงแสดงยมกปาฏิหารย์ที่กรุงสาวัตถี (ก่อนเสด็จโปรดพระพุทธมารดา) นายคัณฑะซึ่งเป็นคนรักษาพระราชอุทยานได้นำผลมะม่วงสุกซึ่งมีกลิ่นหอมพิเศษไปถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลโดยหวังได้รับพระราชทานเงินเป็นการตอบแทน ระหว่างทางนายคัณฑะพบพระศาสดาจึงได้ถวายผลมะม่วงนั้นแก่พระพุทธองค์

มะม่วงผลนั้นมีกลิ่นหอมพิเศษและต้องมีราคาสูงมากจึงหวังว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลคงพระราชทานให้ตนมากถึง 8 หรือ 16 กษาปณะ สำหรับนายคัณฑะเงินจำนวนนี้เพียงพอที่จะเลี้ยงชีพตนในชาติหนึ่งซึ่งแสดงว่าต้องมากมายอย่างยิ่ง

ป่าไม้มีความสำคัญมากในสมัยพุทธกาล มีการแสดงถึงบทบาทของชนชั้นปกครองในการสร้างป่าปลูกหรือป่าอุทยานเพื่อสภาพแวดล้อม บางแห่งอยู่ในจุดที่สำคัญหรือเป็นสถานที่พักแวะของผู้เดินทางระหว่างเมือง

ป่ามหาวันเป็นป่าใหญ่ธรรมชาติ มีบันทึกไว้อย่างน้อยที่แคว้นวัชชีและกรุงกบิลพัสดุ์ ป่าธรรมชาติขนาดย่อมๆ ลงมาก็คงมีมาก ป่าอุทยานน่าจะเป็นป่าปลูกที่เน้นความร่มรื่นและเป็นที่พักผ่อนของชนชั้นสูง เป็นต้น

สาลวโนทยานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเป็นอุทยานพักผ่อนซึ่งไม่มีบ้านเรือนอยู่ในอุทยานนั้นแต่มีพันธุ์ไม้และไม้ดอกนานาชนิด ป่าอิสิปตนมฤคทายวันซึ่งทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นสวนป่าสาละในแคว้นกาสี

ครั้งพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานที่หน้าทางเข้ากรุงกุสินาราก็มีต้นสาละคู่อันเป็นสถานที่ชั้นสูงที่ทรงประทับ ในมหาปรินิพพานสูตรระบุว่าที่นั่นมีป่าสาละซึ่งเป็นที่แวะพักของเจ้าแคว้นมัลละ ปุกกุสมัลลบุตรก็คงแวะพักที่นี่ก่อนเดินทางผ่านจุดแวะพักของพระพุทธเจ้า

ต้นสาละเป็นไม้ป่าเนื้อแข็งที่ทนแล้ง อาจารย์กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ บอกว่า ต้นสาละในอินเดียเป็นพืชที่ใกล้ชิดกับต้นรังของสยามโดยมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ที่แตกต่างกัน

ป่าปลูกเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบโดยเฉพาะไม่ชัดเจนว่ามีหรือไม่ แต่น่าจะมีการปลูกไม้บางชนิดให้เพียงพอสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบ ในการย้อมผ้าปกติใช้ดอกไม้และเปลือกไม้ให้สี เครื่องใช้จักสานคงใช้ไผ่ เครื่องมือทางการเกษตรคงอาศัยไม้เนื้อแข็งเช่นไม้สาละและไม้ประดู่ลาย

โรงงานในสมัยพุทธกาลน่าจะมีบ้างแล้ว โรงงานเหล่านี้ผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง คงมีขนาดพอประมาณโดยมีการจัดการเป็นแผนกๆ ด้วย ส่วนใหญ่เป็นโรงผลิตผ้าทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ยานพาหนะและเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในทางการเกษตร

ในหลายพระสูตรจึงปรากฏว่ามีช่างฝีมือและช่างทอง ในมหาปรินิพพานสูตรที่เมืองอาตุมาซึ่งน่าจะอยู่ในแคว้นมัลละบนเส้นทางไปกรุงสาวัตถีก็มีโรงผลิตกระเดื่อง ซึ่งชาวนาใช้สำหรับโค

สำหรับภาคบริการในสมัยพุทธกาลไม่ปรากฏสาขาการธนาคารหรือการฝากเงินและก่อหนี้เชิงธุรกิจ การศึกษาและการบันเทิงเป็นสาขาที่สำคัญ การศึกษาเน้นศิลปวิทยาการสาขาต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งเรียนรู้ย่อยๆ ตามครูอาจารย์

การบันเทิงโดดเด่นในเมืองที่เจริญทางวัตถุ เน้นความสำราญและเสียงขับร้องประโคมดนตรี มีร้านเหล้า การพนัน การชกมวย มวยปล้ำ การแข่งขันชนสัตว์ชนิดต่างๆ การละเล่นของคนจัณฑาล ฯลฯ บ้างมีนางรำและนางบำเรอซึ่งถือเป็นบริการที่หรูหราสำหรับบุรุษชั้นสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image