ได้เวลาปฎิรูปกองทัพแล้ว!

ใครเลยจะคิดว่า เหตุการณ์กรณีสิบตำรวจโทหญิงที่เกี่ยวข้องกับการมีทหารรับใช้ ดังที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในสื่อ และเป็นที่สนใจของสังคมอย่างมากนั้น กลายเป็นแรงกดดันอย่างมากโดยตรงต่อสถาบันทหารอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ผลที่เกิดขึ้นครั้งนี้ทำให้ทั้งกองทัพและตำรวจตกเป็น “จำเลยสังคม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ว่าที่จริงแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ของปัญหาในกองทัพไทยเท่านั้น แต่กระนั้น ผลสืบเนื่องอย่างเห็นได้ชัดคือ ทำให้เสียงเรียกร้องการปฎิรูปกองทัพดังขึ้น และมีแนวโน้มว่า เสียงเรียกร้องในเรื่องนี้จะดังอย่างต่อเนื่อง และดังไม่หยุดด้วย ปัญหาดังกล่าวจะทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องการปฎิรูปกองทัพเป็นกระแสที่หยุดยั้งไม่ได้

แน่นอนว่า เสียงเรียกร้องเช่นนี้เป็น “ความท้าทาย” ต่อผู้นำทหารโดยตรง ผู้นำกองทัพไทยอาจจะปกป้องตัวเองด้วยการอยู่ในโลกแคบๆ ของทหารที่เชื่อว่า กองทัพไทยจะอยู่ได้โดยไม่ปฎิรูป และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น กองทัพไทยก็จะไม่ปฎิรูป โดยเฉพาะการมีความเชื่อพื้นฐานว่า กองทัพไทยดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ดีแล้ว … สมบูรณ์แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องปฎิรูปใดๆ ทั้งสิ้น

ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในมิติยุทธศาสตร์ทหาร หรือในมิติการเมืองใดๆ ก็ไม่อาจเป็นแรงกดดันให้เกิดการปฎิรูปกองทัพ เช่น การสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลก การมาของสงครามชุดใหม่หลังสงครามเย็นคือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือแม้กระทั่งการยุติของสงความคอมมิวนิสต์ในไทยเอง ซึ่งน่าสนใจว่า ปัจจัยเหล่านี้ไม่มีผลต่อการปรับตัวของกองทัพไทยแต่อย่างใด

Advertisement

ผลเช่นนี้ต่างจากสิ่งที่เกิดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นสุดของสงครามเย็นในปี 2532/33 หรือการกำเนิดสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 2534 ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้หลายกองทัพต้องปรับตัว แม้กองทัพจีนยังต้องปรับตัวในยุคหลังสงครามอ่าวฯ โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการปรับตัวของกองทัพในโลกตะวันตก เราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า ไม่มีกองทัพใดในโลกตะวันตกที่ไม่ปฎิรูปเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคหลังสงครามเย็น

แต่กองทัพไทยกลับดำรงอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง และการไม่ปรับตัวเช่นนี้ยังไปสอดรับได้อย่างดีกับบทบาททางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า กองทัพไทยทำรัฐประหารจากยุคหลังสงครามเย็นจนถึงการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นจำนวน 3 ครั้ง คือ รัฐประหาร 2534, 2549, และ2557 แม้จะมีชัยชนะจากการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในปี 2535 แต่ก็เป็นเพียง “ชัยชนะชั่วคราว” เท่านั้น และไม่ใช่ปัจจัยที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้อย่างที่ขบวนประชาธิปไตยไทยคาดหวัง เพราะในปี 2549 รัฐประหารก็หวนกลับคืน

กองทัพไทยอาจจะพาตนเองผ่านแรงกดดันของปัจจัยความเปลี่ยนแปลงของยุทธศาสตร์ทหารมาได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง และเมื่อเข้ามาเป็นผู้คุมอำนาจทางการเมืองอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 แล้ว ความรู้สึกถึงความจำเป็นที่ผู้นำทหารจะต้องดำเนินการปฎิรูปกองทัพ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำกองทัพไม่อาจคาดคิดได้ คือ พลวัตรทางสังคมอันเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่งผลจากพลวัตรเช่นนี้ทำให้ความน่าเชื่อถือของกองทัพลดน้อยลง หรือกล่าวได้ว่า สังคมไทยมีมุมมองมากขึ้นว่า กองทัพไม่มี “เครดิต” ทางการเมือง และคนไม่ให้ความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดในกองทัพในช่วงอดีตอาจจะสามารถซุกเอาไว้ใต้พรมไว้ได้อย่างง่ายดาย ด้วยเงื่อนไขของโลกทางการเมืองแบบเก่าคือ “เขตทหาร ห้ามเข้า” แต่โลกสมัยใหม่นั้น สังคมไทยแทบไม่มีพื้นที่ที่เรียกว่า “เขตทหาร ห้ามเข้า” อีกแล้ว เรื่องที่เกิดภายในกองทัพไม่สามารถปิดลับได้อีกต่อไปภายใต้การมาของโลกโซเชี่ยล และกลายเป็นแรงกดดันต่อการปฎิรูปกองทัพโดยตรง

ดังนั้น หากทดลองสำรวจ เราอาจจะเห็นถึงปัญหา 10 ประการที่เป็นเหตุให้สังคมไทยต้องการเห็นการปฎิรูปกองทัพ ได้แก่

1) ปัญหาการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ไม่มีความชัดเจนว่า เป็นการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของการฝึกทางทหาร หรือเกิดจากเรื่องอื่น และครอบครัวของทหารเหล่านี้ไม่ได้ยอมจำนนที่จะเก็บเรื่องเหล่านี้เอาไว้โดยไม่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกหลานของพวกเขา

2) ปัญหาการใช้ทหารเกณฑ์ที่ไม่ใช่ในภารกิจทางทหาร เช่น การถูกนำไปใช้ในการทำงานในครัวเรือน หรืองานอื่นๆ หรือถูกส่งไปทำหน้าที่เป็นทหารรับใช้ให้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง และเป็นประเด็นที่สังคมรับไม่ได้

3) ปัญหาเสนาพาณิชย์นิยม (Military Commercialism) ที่เป็นตัวอย่างจากปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่โคราช และนำไปสู่การเปิดเผยผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสนามกอล์ฟ สนามมวย ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น

4) ปัญหาการบรรจุกำลังพลของหน่วยที่ต้องทำงานในสนาม ซึ่งตัวเลขการบรรจุเป็นแบบยอดเต็ม แต่ตัวเลขกำลังพลจริงในสนามกลับไม่ครบตามจำนวน หรือที่เรียกกันว่าปรากฎการณ์ “ทหารผี” ในงานสนาม

5) การแสวงหาสิทธิประโยชน์โดยไม่ถูกต้องภายในกองทัพ หรือในงานสนาม เช่น ตัวบุคคลอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไปรับผลประโยชน์เช่นขั้นทวีคูณและเงินค่าเสี่ยงภัยจากงานสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งการแสวงหาผลประเทศในด้านอื่นๆ ของนายทหารในกองทัพ

6) ปัญหา “งบลับ” ที่ต้องการการตรวจสอบ ซึ่งไม่มีความชัดเจนในการใช้ทางด้านงบประมาณ และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตรวจสอบได้

7) ปัญหางบประมาณทหารที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ประเทศจะมีวิกฤตเพียงใด แต่การปรับลดงบประมาณนี้เป็นไปได้ยากมาก

8) ปัญหาการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์มูลค่าสูง ซึ่งสังคมมีความรู้สึกว่า การจัดซื้อที่เกิดขึ้นเป็นปัญหา “ความอื้อฉาวด้านอาวุธ” (Arms Scandal) และสังคมอาจมีความเห็นที่แตกต่างและไม่ตอบรับกับข้อเสนอของผู้นำทหารที่จะต้องซื้อระบบอาวุธที่มีมูลค่าสูงเหล่านั้น เช่น กรณีเรือดำน้ำ หรือเครื่องบินรบเอฟ-35 เป็นต้น

9) การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของทหาร โดยเฉพาะบทบาทในเรื่องของปฎิบัติการผ่านสื่อ หรือที่เรียกว่า “ไอโอ” และกองทัพถูกดึงเข้าเป็น “คู่ขัดแย้ง” โดยตรงในทางการเมือง

10) การแสดงบทบาททางการเมืองของผู้นำทหาร และการนำเอากองทัพไปทำหน้าที่เป็น “ผู้สนับสนุนหลัก” ให้แก่รัฐบาลทหาร และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ทำให้สถานะของกองทัพติดกับในวังวนทางการเมือง

ฉะนั้น ไม่ว่าผู้นำทหารจะยอมรับต่อแรงกดดันทางสังคมเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่เสียงเรียกร้องให้เกิดการปฎิรูปกองทัพจะดังไม่หยุด… ถึงเวลาต้อง “ผ่าตัด” กองทัพไทยเพื่อรักษา “สถาบันทหาร” และถึงเวลาต้องพากองทัพออกจากวังวนของการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้นำทหารบางคน เช่นเดียวกับที่ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างกองทัพไทยให้เป็น “สถาบันของทหารอาชีพ” !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image