จากเมืองแห้งสู่เมืองฉ่ำน้ำ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สิ่งที่ผมเขียนไม่ใช่เรื่องใหม่ที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่ได้พูดถึงมาก่อน แต่จะสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวอีกหลายมุมเล็กๆ ที่เกี่ยวกันกับเรื่องเมืองกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะไม่ค่อยได้พูดกันนัก

ผมกำลังจะพูดถึง “เมืองฟองน้ำ” (sponge city) ที่มีการพูดถึงแนวคิดนี้มาหลายครั้งแล้วในประเทศไทย แต่เหมือนว่ายังไม่ได้ถูกนำมาถกเถียงในระดับนโยบายกันอย่างจริงๆ จังๆ มากนัก

หมายถึงว่าที่ผ่านมาแนวคิดเรื่องเมืองฟองน้ำถูกนำเข้ามาในแวดวงคนที่สนใจเรื่องเมือง และสิ่งแวดล้อม แต่มักถูกนำเสนอในแง่สารคดีจากต่างประเทศ และในส่วนท้ายที่มีท่าทีเชิญชวนให้ร่วมคิดต่อว่าจะเป็นไปได้ไหมหากนำมาใช้ในประเทศไทยโดยเฉพาะในกรณีของกรุงเทพมหานคร

เมืองฟองน้ำคืออะไร สรุปง่ายๆ ก็คือเป็นแนวคิดการสร้างเมืองที่มีลักษณะสำคัญในแง่ของวิธีคิดใหม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน การฟื้นสภาพได้อย่างรวดเร็ว ที่แตกต่างไปจากวิธีคิดแบบเดิมอย่างพลิกด้าน

Advertisement

และเป็นวิธีคิดใหม่ที่ทำให้เรามองน้ำเป็นมิตร และเป็นมิตรกับน้ำมากขึ้น

โจทย์ที่ง่ายและตื้นที่สุดก็คือการปรับเมือง หรือสร้างเมืองให้จัดการกับน้ำท่วมและการแปรปรวนของอากาศได้ โดยไม่ใช้วิธีคิดแบบนายช่างรุ่นเก่า ที่เชื่อว่าต้องก่อสร้างระบบที่แข็งแรงในการป้องกันน้ำ และหัวใจของการจัดการน้ำท่วมคือการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ด้วยการสูบน้ำ และสร้างกลไกการระบายน้ำที่มีเขื่อนเป็นเรื่องใหญ่ โดยมองว่าเมืองที่ดีต้องไม่มีน้ำท่วมขัง และต้องแห้งให้เร็วที่สุด

มาสู่การทำให้เมืองนั้นชุ่มน้ำ ฉ่ำน้ำในฐานะการจัดการน้ำท่วมได้ทรงประสิทธิภาพกว่า

Advertisement

น้ำท่วมขัง น้ำหลาก และฝนตกคือโอกาสมากกว่าวิกฤต ยิ่งมีน้ำมายิ่งดี เราจะได้มีน้ำไว้ใช้ฟรี และทำให้เมืองร่มเย็นขึ้น

หลักการของเมืองฉ่ำน้ำ หรือที่แปลกันง่ายๆ ว่าเมืองฟองน้ำ ก็คือการจัดการกับภัยพิบัติและความแปรปรวนของอากาศโดยเฉพาะฝนที่ตกแรงขึ้น หรือที่เรียกว่าระเบิดฝนดังที่เราเจอในตอนนี้เหมือนกรุงเทพฯตอนนี้คือเราเจอปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่บางคนจะพยายามเรียกมันใหม่ว่าน้ำรอการระบายแต่น้ำท่วมขังหรือน้ำรอการระบายมันมาจากพื้นฐานง่ายๆ คือฝนตกหนักมากกว่าความสามารถของเมืองในการระบาย

นี่คือโจทย์ที่คนยังไม่ได้ตั้งคำถามกับมันมากนัก เพราะวิธีคิดเรื่องการระบายน้ำมันไปผูกกับเรื่องมากมายที่ควบคุมไม่ได้ แถมยังสร้างความเดือดร้อนตึงเครียดกับพื้นที่ที่ถูกกำหนด (และชดเชย) ให้เป็นพื้นที่รับน้ำอีก เพราะมันมีคนแห้งขณะที่อีกกลุ่มนั้นท่วมทุกปีเพราะถูกทำให้ท่วม

ยังรวมถึงเรื่องที่มีน้ำทะเลหนุน น้ำเหนือไหลลงมา เพราะเมืองที่ดูแลน้ำท่วมนั้นสั่งการและประสานกับหน่วยงานที่จัดการเขื่อนและการระบายน้ำนอกเมืองไม่ได้ เพราะหลักคิดคือเรื่องของการ “ป้องกัน” น้ำท่วมโดยการ “ป้อง” และ “กัน” น้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่

วิธีก็คือการรบกับน้ำด้วยสรรพกำลังและความสามารถที่มี เช่นมีเครื่องสูบน้ำให้มากและเยอะที่สุด มีเขื่อนที่หนาที่สุด สูงที่สุด เรื่องแบบนี้เรียกในกรอบแนวคิดเมืองฉ่ำน้ำว่าโครงสร้างสีเทา คือพึ่งพาสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะจากปูนคอนกรีตในการค้ำยันเมืองเอาไว้ และที่ผ่านมาโครงสร้างเหล่านี้แหละทั้งตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทางก็ทำให้เป็นอุปสรรคที่น้ำจะไหลผ่านหรือกักเก็บน้ำ

วิธีคิดเรื่องเมืองฉ่ำน้ำจึงเป็นวิธีคิดที่เชื่อว่าเมืองต้องเก็บกักน้ำเอาไว้ภายในเมืองให้ได้ และการเก็บกักน้ำในเมืองให้ได้ไม่ใช่เก็บด้วยโครงสร้างสีเทาคือบ่อเก็บน้ำ เขื่อน อุโมงค์ ที่สร้างขึ้นจากคอนกรีต แต่หมายถึงการใช้โครงสร้างสีเขียวและฟ้าในการจัดการกักเก็บน้ำ

คือต้นไม้ คู คลอง หนอง บึงที่มีอยู่ แล้วนำมาปรับให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้น

สวนสาธารณะจึงไม่ได้มีไว้แค่พักผ่อนหย่อนใจ หรือวิ่ง แต่ต้องเชื่อมสัมพันธ์กับคำถามสำคัญคือมันช่วยรับน้ำในพื้นที่ได้มากขึ้นอีกเท่าไหร่

ความสวยงามทางสายตาในฐานะสุนทรียะในการมีชีวิตอยู่ในเมืองจึงต้องเชื่อมประสานกับระบบชีวิตในเมือง เป็นการคำนึงถึงระบบนิเวศวิทยาของเมืองนั้นๆ ในการจัดการการรับน้ำ

คือพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ บึงน้ำ คลอง พื้นที่ข้างคลองต่างๆ

ที่มากไปกว่านั้นคือการคิดลึกไปถึงวัสดุที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างสีเทาเดิม ก็จะต้องเปลี่ยนจากคอนกรีตแบบเดิมเป็นอิฐชุ่มน้ำ มองการวางทางเดินและถนนที่ใช้วัสดุที่น้ำผ่านและซึมได้ มันจะช่วยระบายน้ำลงไปชั้นใต้ดินได้ด้วย

เรื่องแบบนี้ที่พูดมาไม่ได้จะทำได้ภายในวันเดียว แต่ต้องช่วยกันคิดวางระบบเมืองฉ่ำน้ำใหม่

ที่พยายามแปลว่าฉ่ำน้ำคือไม่ได้จะมองว่าชุ่มน้ำในความหมายธรรมชาติล้วน แต่มองในฐานะที่ต้องระวังว่ามันไม่ได้เป็นธรรมชาติงดงามขนาดนั้นหรอกครับ มันก็ต้องรู้สึกถึงความชื้นความฉ่ำกันบ้าง เมืองกำลังเจอวิกฤตดินฟ้าอากาศขนาดนั้น แต่อย่างน้อยมันก็ลดการท่วมขังลงได้บ้างโดยไม่ได้อยู่ในโจทย์ของการระบายออกไปให้แห้ง คือ แห้งในสภาวะตรงข้ามกับท่วมขัง มาสู่การรองรับน้ำ การอยู่กับความชื้นและฉ่ำ

ในมิติที่กล่าวมาจะพบว่าในหลายๆ เมือง การทำให้เมืองเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นทั้งโครงสร้างสีฟ้าและเขียวจะทำให้อุณหภูมิในเมืองลดลง ประหยัดการใช้น้ำเพิ่มขึ้น เพราะน้ำสามารถนำมาเก็บกักใช้ในหลายรูปแบบ

โจทย์การป้องกันและระบายน้ำในแบบเดิมจะเปลี่ยนเป็นโจทย์ว่าจะเอาน้ำที่ตกลงมา ไปทำอะไรดี มาเติมชีวิตชีวาให้กับเมืองเพิ่มขึ้นได้อย่างไร

เป็นการย้ายฐานคิดว่ามนุษย์เอาชนะธรรมชาติ มาสู่การที่มนุษย์นั้นอยู่กับธรรมชาติโดยเข้าใจธรรมชาติ และใช้หลักการธรรมชาติต่างๆ มาเป็นประโยชน์กับเมืองเพิ่มขึ้น

แนวคิดที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักและนิยมมากในประเทศจีนเมื่อเกือบจะยี่สิบปีที่ผ่านมา เมืองฉ่ำน้ำเป็นหนึ่งในนโยบายที่ประธานาธิบดีสีพยายามส่งเสริม และมีโครงการส่งเสริมเมืองต้นแบบมากมายให้เกิดขึ้น ยังมีเมืองในยุโรป และไต้หวันก็พัฒนาแนวคิดเมืองฉ่ำน้ำแบบนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การพูดถึงเมืองฉ่ำน้ำนั้นที่ผ่านมามักจะพูดในระดับของการสร้างเมืองใหม่ และการลงทุนมหาศาล ซึ่งถูกจริตระบบราชการและนักพัฒนาเมือง ทั้งที่สิ่งที่ควรจะเริ่มทำความเข้าใจเรื่องเมืองฉ่ำน้ำก่อนก็คือการทำความเข้าใจระบบนิเวศวิทยาของเมืองและการให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องระบบนิเวศวิทยาของเมืองนั้น โดยเฉพาะที่สัมพันธ์กับระบบสีฟ้าและเขียว คือระบบคลองน้ำ และต้นไม้ต่างๆ

ลองคิดใหม่ว่าเราจะคุ้นชินกับแผนที่ถนน ผังเมือง มาตอนน้ำท่วมเข้าใจคลองระบายน้ำแถวบ้านเพิ่มขึ้นอีกหน่อยว่าตรงไหนเปราะบางที่จะระบายน้ำไม่ทัน ทำให้เราแห้งช้า หรือไม่ก็เข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในเมืองที่ไม่รู้ว่ามันจะดีขึ้นยังไงจริงๆ จังๆ

สิ่งที่เรายังไม่รู้เลยว่า ระบบธรรมชาติของเมืองที่ยังหลงเหลืออยู่ หรือที่พยายามจะสร้างใหม่ขึ้นมาทั้งเขียวทั้งฟ้ามันจะรองรับน้ำของเมืองได้แค่ไหน

คิดง่ายๆ ว่าเรามีแต่กูเกิลเอิร์ธ กูเกิลแมป เห็นรถติด แต่เรายังไม่ได้เห็นระดับน้ำท่วม การไหลของน้ำที่เร็วที่ช้า ระบบการชุ่มน้ำและฉ่ำน้ำ (ฉ่ำคืออมมันไว้ซับมันไว้ แต่ชุ่มอาจจะบวกกว่าคือไปหล่อเลี้ยงต้นไม้และสิ่งมีชีวิต ซึ่งในระยะยาว ฉ่ำต้องชุ่มฉ่ำในเชิงมีประโยชน์) เรื่องเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจเรื่องเมืองของเราได้มากขึ้น

ในอีกทางหนึ่งนอกเหนือการเรียกร้องให้มีระบบฐานข้อมูลนิเวศวิทยาของเมืองที่เป็นระบบขึ้น ก็จะเป็นเรื่องของกระเปาะย่อยๆ ของการสร้างระบบการฉ่ำน้ำในชุมชนและในระดับเขต และการสร้างโจทย์ที่เหนือกว่าสวนสาธารณะขนาดใหญ่มาสู่การคิดเรื่องถนนหนทางใหม่ที่ปรับให้ฉ่ำน้ำได้มากขึ้น การเชื่อมโยงพื้นที่สีฟ้าและเขียวให้ต่อเนื่องกันมากขึ้น และการมองถึงการ “กระจายและเชื่อมโยง” กระเปาะหรือกระจุกต่างๆ ของเมืองเข้าด้วยกันให้เป็นระบบรองรับน้ำ

แน่นอนว่าเรื่องที่ผมพูดถึงนี้ไม่ได้ทำได้ในวันพรุ่งนี้ แต่ถ้าไม่เริ่มเปิดใจ ศรัทธา และศึกษาอย่างจริงจังจากระบบเทคโนโลยีการอ่านพื้นที่ และจากสามัญสำนึกและชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองต่างๆ ก็คงจะวางรากฐานสิ่งนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะท่ามกลางกระแสว่าน้ำท่วมบ้านท่วมเมืองกันแบบวันนี้

การสร้างเมืองฉ่ำน้ำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องการการเสียสละและลงทุนจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่ผลักภาระหรือโวยวายว่าคนบางกลุ่มรุกล้ำพื้นที่ป้องกันน้ำ หรือมองว่าคนไม่มีสิทธิอยู่ในบางที่ดินจะต้องถูกไล่รื้อออกไปเพราะจะเอามาทำพื้นที่พักน้ำใหม่ๆ และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนเมือง ทั้งที่ไม่ได้มองว่าคนที่พักผ่อนหย่อนใจในเมืองได้ก็สำคัญ แต่คนที่ทำมาหากินจนแทบไม่ได้พักผ่อนเพราะดิ้นรนในทุกๆ เรื่องในเมืองนี้ก็ยังมีอยู่มาก

ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาเรื่องของเมืองฟองน้ำในหน้าเว็บทั่วไปได้มากมาย แต่มีงานชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำเป็นพิเศษ ก็คืองานของ Duohui Zhang ที่พูดถึงปัญหาของเมืองฟองน้ำในจีน (Analysis on Problems of Sponge Cities in China. International Conference on management Science and Industrial Economy. 2019. ที่ตีพิมพ์ใน Advances in Economics, Business and Management Research. Volume 118; 33-37. 2020.

จางชี้ว่าปัญหาที่โครงการเมืองฟองน้ำในจีนต้องเผชิญยังจะต้องเข้าใจคือการทำความเข้าใจกับน้ำที่มาจากพายุฝน (stormwater) ซึ่งเราเองก็ไม่ค่อยได้มองต่างไปจากน้ำใน เพราะน้ำที่มาจากพายุฝนมันจะแรงและมากกว่า เหมือนที่เราพูดถึงปริมาณน้ำฝนว่าตกมากขนาดไหน เป็นต้น นอกจากนั้นเมืองในจีนยังมีโครงสร้างสีเทาที่ไม่ได้ปรับตัวให้รับกับน้ำจากพายุฝนเหล่านี้ น้ำเลยยังไม่ซึมลงไปได้ง่ายนัก

นอกจากนี้แล้วการสร้างระบบเมืองฉ่ำน้ำจะต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์และเข้าใจกับระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นมันจะมาปะปนกันตอนที่กักเก็บน้ำ และทำให้การนำเอาน้ำจากพายุฝนที่ตกลงมากลับมาใช้ไม่ได้ง่ายนัก การระบายน้ำของเมืองส่วนใหญ่ระบายน้ำฝนทิ้งในระบบเดียวกับการระบายน้ำเสีย

การทำความเข้าใจกับระบบธรณีวิทยาและนิยมวิทยาก็สำคัญ เพราะแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน ที่ลุ่มที่ดอน ระดับพื้นดินจากน้ำทะเลก็เป็นเรื่องที่ทำให้การสร้างเมืองฉ่ำน้ำทำได้ไม่ง่าย ระบบการรองรับน้ำเอาไว้ในเมืองหรือความชุ่มน้ำก็ทำไม่ได้ง่ายนักถ้าเมืองมันอยู่ในพื้นที่ลุ่ม ดังนั้นก็ต้องเข้าใจว่าทุกเมืองนั้นทำเมืองฉ่ำน้ำไม่ได้ในสเกลเดียวกัน

ในรายละเอียดปลีกย่อยคือการเข้าใจระบบการสร้างของเสียในเมือง เช่นที่เราเคยเข้าใจกันว่าน้ำฝนนั้นใช้ได้ แต่ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ เช่นในส่วนแรกอาจต้องทิ้งไปก่อน หรือที่มาล้างถนน ล้างตึก กว่าที่จะได้น้ำส่วนที่กลับมาใช้ได้จริงๆ จังๆ

ที่กล่าวนั้นอยากจะบอกว่า เมื่อเราพูดถึงเมืองฉ่ำน้ำและวิธีคิดใหม่ในการอยู่กับน้ำท่วมและฝนหนัก เราไม่ได้พูดถึง “โครงการ” สำเร็จรูป แต่เรากำลังพูดถึงการเคลื่อนไหวทางความคิด ความรู้สึกของการเข้าใจความจำเป็นและทางเลือกในการสร้างเมือง ปรับเปลี่ยนเมือง และใช้ชีวิตในเมืองที่อาศัยเวลา และต้องเข้าใจสิ่งที่เราเป็นสิ่งที่เรามีก่อนที่จะเปลี่ยนสิ่งที่เราเจอในวันนี้และคิดว่าความแห้งคือคำตอบเดียวเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image