การเมืองเรื่องก๊าซและความสัมพันธ์สามเส้า โดย ลลิตา หาญวงษ์

เมื่อกล่าวถึงทรัพยากรธรรมชาติที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้พม่า หนึ่งในนั้นย่อมเป็นก๊าซธรรมชาติ หลังจากที่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่มาตั้งแต่ปี 1980 แต่เพิ่งจะมีแผนพัฒนาเพื่อนำก๊าซธรรมชาติออกมาใช้อย่างจริงจังเมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมานี้เอง เริ่มจากแท่นขุดเจาะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดะนา (Yadana) ที่เพิ่งจะมีการพัฒนากันในปี 1998 โดยบริษัทร่วมทุนหลายแห่งจากสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ไทย และพม่า บ่อก๊าซเยตากุน (Yetagun) ที่เริ่มเดินกำลังผลิตกันในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากมาเลเซียเป็นผู้ถือสัมปทานหลัก และโครงการพัฒนาบ่อก๊าซที่
ซอติกา (Zawtika) ที่เพิ่งจะเริ่มพัฒนากันในปี 2012 โดยมีบริษัท ปตท.สผ.ของไทยเป็นหัวเรือใหญ่

จากการรายงานของ EarthRights International แหล่งก๊าซที่ยาดะนาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของโครนี่และกองทัพพม่า ระหว่างปี 2000-2008 พม่ามีรายได้จากแหล่งก๊าซที่ยาดะนามากถึง 5,000 ล้านเหรียญ และแน่นอนว่าเงินจากต่างประเทศถูกส่งตรงไปที่กระเป๋าของคนในกองทัพและเครือข่าย รัฐประหารในต้นปี 2021 จึงมีผลกระทบต่อการผลิตก๊าซของพม่าอย่างมาก ไม่ใช่ว่าจู่ๆ ปริมาณก๊าซลดลง แต่เพราะบริษัทใหญ่จากยุโรปและสหรัฐอเมริกาประกาศยกเลิกการลงทุนในพม่า หลังทนแรงต้านและนโยบายการคว่ำบาตรพม่าที่รัฐบาลในโลกตะวันตกยึดถืออย่างเคร่งครัดไม่ได้ หากดูเผินๆ เมื่อทั้งเชฟรอนและโททาลพร้อมใจกันกล่าวซาโยนาระ และเดินออกมาจากพม่าอย่างถาวร พม่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมากมายนัก เพราะก็ย่อมมีบริษัทจากประเทศอื่นๆ รอคอยโอกาสเข้าไปรับสัมปทานต่อ มีอีกหลายประเทศที่แยกนโยบายการค้า-เศรษฐกิจออกจากนโยบายการเมือง แต่ความจริงบริษัทต่างชาติเกือบทุกแห่งได้รับผลกระทบจากรัฐประหารในพม่า

ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกรกฎาคม 2022 พม่าส่งออกก๊าซธรรมชาติให้ไทยกับจีน เป็นมูลค่าถึง 819 ล้านเหรียญ มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2011 ถึง 60.7 ล้านเหรียญ แม้ว่าตัวเลขที่ดูเกินจริงนี้จะมาจากหนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้คณะรัฐประหารและกองทัพพม่า แต่อย่างน้อยก็ชี้ให้เห็นว่ากองทัพพม่ายังมีรายได้หลักจากแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ตนควบคุมอยู่ รายงานจากกระทรวงพาณิชย์พม่าฉบับล่าสุดนี้จะจุดประกายให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและภาคประชาสังคมทั้งในพม่าและที่อื่นๆ ยื่นข้อเรียกร้องถึงบริษัทที่ยังลงทุนในบ่อก๊าซที่พม่าอยู่

นอกเหนือจากเชฟรอนและโททาลแล้ว คงไม่มีบริษัทใดกล้าถอนตัวออกจากสัมปทานบ่อก๊าซของพม่า ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากพม่า ทุกครั้งที่มีข่าวว่าบ่อก๊าซในพม่าหยุดปฏิบัติการชั่วคราวเพราะมีการซ่อมบำรุงประจำปีหรืออะไรก็ตามแต่ ก็จะเกิดกระแสขึ้นในไทยแทบทุกครั้งว่าราคาก๊าซจะพุ่งสูงขึ้น ถ้าจะให้ฟันธง พม่าขาดไทยยังไม่เท่าไหร่ แต่ไทยจะขาดพม่าไม่ได้เด็ดขาด!

Advertisement

ประเทศหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในสมการว่าด้วยบ่อก๊าซในพม่าคือรัสเซีย หากติดตามข่าวสารในพม่า ผู้อ่านคงทราบดีว่าในช่วงหลายปีมานี้ กองทัพพม่าพยายามสานสัมพันธ์กับรัสเซีย ด้วยกระแสคว่ำบาตรที่มาจากทั่วโลก ทำให้กองทัพพม่าไม่สามารถเจรจาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กับประเทศอื่นๆ ได้ถนัด เห็นจะมีแต่รัสเซียที่ปักป้ายว่า “เงินมา ของไป” อยู่ประเทศเดียว ไม่ใช่ว่าพม่าไม่ได้ซื้ออาวุธจากประเทศอื่นเลยเลยนะคะ เพราะก็ยังซื้อคงมีสัมพันธ์กับบริษัทค้าอาวุธสัญชาติจีน โดยเฉพาะ 5 บริษัทหลัก ได้แก่ NORINCO AVIC CASC CASIC และ CATIC มีทั้งบริษัทที่ผลิตอาวุธและที่ผลิตเครื่องบินรบ

จีนอาจไม่ใช่ประเทศที่ออกตัวหวือหวามากนักหลังเกิดรัฐประหารในพม่า แต่ก็ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารไม่น้อย เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวรั่วออกมาว่ามีบริษัทพลังงานจากจีน 3 แห่ง ยื่นข้อเสนอไปให้คณะรัฐประหารที่
เนปยีดอพิจารณาเพื่อให้นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG จากรัสเซีย บริษัทที่ยื่นเรื่องให้คณะรัฐประหารพม่าพิจารณา ได้แก่ VPower Group บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่จากฮ่องกง บริษัท CNTIC และ Genertic ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลจีน (บริษัท CITIC ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีนก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ VPower ด้วย)

เหตุผลที่บริษัทจากจีนทั้งสามแห่งต้องติดต่อคณะรัฐบาลพม่าเพื่อให้ช่วยซื้อก๊าซ LNG จากจีน เพราะรัสเซียยืนยันขาย LNG ในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลเท่านั้น ไม่ขายให้กับบริษัท บริษัทจากจีนจึงขอให้ MoGE (Myanmar Oil and Gas Enterprise) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของพม่า ที่คณะรัฐประหารควบคุมอยู่ เป็นผู้ติดต่อซื้อ LNG จากรัสเซีย และมาขายให้บริษัทจากจีนอีกต่อหนึ่ง ด้วยเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับรัสเซียกำลังไปได้สวย และเห็นช่องทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานทั้งในจีนและพม่า

Advertisement

แต่ดูท่าแล้วการติดต่อกับคณะรัฐประหารในครั้งนี้อาจไม่เป็นผล แม้ VPower จะเป็นบริษัทชั้นนำที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่การลงทุนและการค้ากับพม่าในปัจจุบันเต็มไปด้วยความยากลำบาก นอกจากคณะรัฐประหารจะออกมาตรการด้านค่าเงิน โดยบังคับให้แปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินจ๊าด ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกมากแล้ว ธนาคารกลางพม่า (ที่แน่นอนว่าควบคุมโดยคณะรัฐประหาร) ยังออกนโยบายแปลกประหลาดเช่นการสนับสนุนให้บริษัทและประชาชนไม่ใช้หนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อดึงให้ค่าเงินต่างประเทศ โดยเฉพาะดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในพม่ามากที่สุด

ปัญหาที่บริษัทจากจีนที่ยังลงทุนอยู่ในพม่าประสบคือภาวการณ์ขาดแคลนค่าเงินดอลลาร์อย่างหนัก ซึ่งทำให้บริษัทอ่อนแอ และไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคารในพม่า ในความเป็นจริง พม่าไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ LNG จากรัสเซีย เพราะพม่าก็มีบ่อก๊าซธรรมชาติมากมายดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่ความพยายามของบริษัทพลังจากทั้งสามแห่งจากจีนชี้ให้เห็นว่าแม้ตนจะสนับสนุนมิน อ่อง ลายเป็นอย่างดี และเป็นพันธมิตรที่ซื่อสัตย์ของบริษัทของกองทัพพม่า อย่าง Myanmar Economic Holdings Limited การลงทุนของ VPower ยังสร้างรายได้มหาศาลให้กับคณะรัฐประหาร แม้ว่ารัฐบาลพม่าจะถูกจับตามองและถูกบอยคอตมาตั้งแต่หลังวิกฤตโรฮีนจาในปี 2017 แต่ท้ายที่สุดแล้ว รัฐประหารและนโยบายเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารนั้น “แปลก” จนเกินไป และบีบให้บริษัทลงทุนจากต่างชาติต้องถอนตัวออกจากพม่าในที่สุด

แม้แต่บริษัทจากจีน ที่ถือว่าเป็นเอตทัคคะด้านการเจรจาและการลงทุนยังไม่สามารถต้านทาน “ความผิดปกติ” ที่เกิดขึ้นในพม่าในยุคหลังรัฐประหารได้ หลังจากนี้คงไม่ต้องคาดเดามากว่าอนาคตของเศรษฐกิจในพม่าจะเป็นอย่างไร… ระวังนะคะ ในทรรศนะของผู้นำกองทัพพม่า พม่าไม่เคยมีทั้งมิตรแท้ และศัตรูถาวรค่ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image