ว้าแดงและความสัมพันธ์พิเศษกับกองทัพพม่า โดย ลลิตา หาญวงษ์

เปาโหยวเซียง ผู้นำ UWSA คนก่อน

ในบรรดากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ หรือ EAO (Ethnic Armed Organization) ทั้งหมดในพม่า ไม่มีกองกำลังใดที่จะมีความพิเศษแหวกแนวเท่ากับกองกำลังของว้าแดง UWSA (United Wa State Army) และปีกการเมืองในนาม UWSP (United Wa State Party) พิเศษในด้านของขนาด กองทัพว้ามีกำลังพลมากกว่า 30,000 นาย เป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในพม่า มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย ครบเครื่องมากกว่ากองกำลังอื่นๆ และยังพิเศษในด้านความสัมพันธ์ที่กองกำลังว้าแดงมีกับรัฐบาลจีน

รัฐว้า (Wa State) เป็นเหมือนรัฐอิสระ หรือรัฐศักดิ์สิทธิ์ประหนึ่งวาติกันที่อยู่ภายในรัฐฉานตอนเหนือและตอนใต้อีกทีหนึ่ง ที่เรียกว่ารัฐว้า “ศักดิ์สิทธิ์” เป็นเพราะรัฐบาลและกองทัพพม่าในยุคหลังๆ ไม่เคยบุกเข้าไปในรัฐว้า และเหมือนจะมีความยำเกรงผู้นำว้าในระดับที่ไม่ปกตินัก ทราบกันดีว่าเมื่อกล่าวถึงกองกำลังติดอาวุธหลายสิบกลุ่มทั่วประเทศ กองทัพพม่ามักจะใช้วิธีปูพรมโจมตีและพยายามเข้าไปยึดพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังดื้อๆ หรือการจับผู้นำชาติพันธุ์มาเซ็นข้อตกลงสันติภาพเป็นครั้งคราว แต่ในท้ายที่สุด หลักการของกองทัพพม่าคือเขาต้องการเน้นย้ำกับกลุ่มชาติพันธุ์และประชาคมโลกรับรู้ว่าใครเป็นผู้ปกครองพม่าตัวจริง

แต่สำหรับรัฐว้า…สถานการณ์แตกต่างออกไปสิ้นเชิง

เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ (Bertil Lintner) นักข่าวและนักเขียนที่คร่ำหวอดในแวดวงการเจรจาสันติภาพในพม่ามายาวนานตั้งข้อสังเกตว่าที่มาของอำนาจและอิทธิพลของกองกำลังว้ามาจากการเป็นองค์กรที่ลักลอบขนยาเสพติดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่แปลกที่กองกำลังว้าจะมีทรัพยากรมหาศาล ไม่ใช่เพียงจำนวนเงิน แต่ยังเป็นอาวุธและองค์ความรู้ด้านการรบที่ได้รับมาจากจีน ในยุครัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของพรรค NLD ว้าจึงกลายเป็นผู้นำในการเจรจาสันติภาพไปโดยปริยาย ลินเนอร์ยังกล่าวอีกว่าสันติภาพในพม่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกองทัพว้าเป็นหลัก

Advertisement

เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในปี 2021 ประชาชนทุกภาคส่วนในพม่าลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐบาล NLD กลับเข้ามาอีกครั้ง เกิดขบวนการภาคประชาชน และการก่อตั้งกองกำลังประชาชนที่เข้าร่วมกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับกองทัพพม่ามายาวนาน โดยเฉพาะกองกำลังในรัฐกะเหรี่ยง กะฉิ่น คะยาห์ และอาระกัน
อย่างไรก็ดี ในรัฐฉาน ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธมากมาย ทั้งกลุ่มของกองทัพฉาน (Shan State Army) หลายกลุ่ม และกองกำลังของว้ากลับมีท่าทีเงียบผิดสังเกต

ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ากองทัพพม่าพยายามเว้นช่องว่างไว้ให้กองทัพว้า เพราะผู้นำระดับสูงของพม่าก็ได้รับผลประโยชน์จากกองทัพว้าที่ดูแลความสงบตามแนวชายแดนระหว่างพม่ากับจีน หรือจะเรียกว่ากองทัพว้าเป็นเสมือน “มิตรสหาย” คนหนึ่งของกองทัพพม่าในยามที่เพื่อนแท้หาได้ยากยิ่ง แน่นอนผู้นำว้าคงไม่อยากเจรจาใดๆ กับกองทัพพม่ามากนัก หากไม่มีข้อเสนอที่ดีจริงๆ หากไม่พลิกโผ รัฐว้าจะเป็นรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์รัฐแรก (และอาจเป็นรัฐเดียว) ที่คณะรัฐประหารมอบสถานะพิเศษให้ UWSA/UWSP ยังเป็นกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์แรกที่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับกองทัพพม่า มีรูปที่ตัวแทนว้าจับมือกับพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย อย่างชื่นมื่นหลุดออกมา สำนักข่าวบีบีซีภาคภาษาพม่ารายงานว่า คณะรัฐประหารพม่าลงนามในข้อตกลงเพื่อมอบสถานะให้รัฐว้าเป็นรัฐอิสระเรียบร้อยแล้ว

เมื่อยังไม่มีเอกสารที่เป็นทางการออกมา ก็พูดไม่ได้ว่าคณะรัฐประหารยินยอมให้รัฐว้าแยกตัวเป็นอิสระจริง เพราะที่ผ่านมาเกิดกรณีที่กองทัพ/รัฐบาลพม่าให้สัญญาทางใจว่าจะมอบสิทธิการปกครองตนเองให้กับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่เคยมีรัฐใดที่แยกตัวออกมาปกครองตนเองได้สำเร็จจริงๆ แม้แต่รัฐเดียว ตราบใดก็ตามที่ “รัฐว้า” ในฐานะรัฐอิสระไม่ปรากฏอยู่บนรัฐธรรมนูญพม่า ก็ไม่ถือว่าคณะรัฐประหารมอบสถานะพิเศษนี้ให้รัฐว้าจริง

Advertisement

ที่ผ่านมาว้าเป็นกลุ่มที่ออกมาเรียกร้องเอกราชมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เปาโหยวเซียง (Bao Youxiang) ผู้นำว้าคนก่อน เคยพูดอย่างหนักแน่นมาตั้งแต่ปี 2019 ว่าเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐว้าเป็นรัฐอิสระไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในคราวนี้คณะรัฐประหารคงจะสวมบทบาทเป็นดอน คอร์เลโอเน จากภาพยนตร์ The Godfather และยื่นข้อเสนอที่ UWSA ไม่อาจปฏิเสธได้เป็นแน่แท้ ซอ มิน ทุน (Zaw Min Tun) โฆษกคณะรัฐประหารเองก็ออกมาตอบข้อสงสัยนี้กับบีบีซีภาคภาษาพม่าว่า กองทัพจะรักษาสัญญานี้กับว้าอย่างแน่นอน เมื่อคณะรัฐประหารพร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2008

แม้รัฐว้ายังไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐอิสระในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ รัฐว้า ที่ปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “เขตปกครองตนเองว้า” (Wa Self-Administered Division) อันประกอบด้วยเมือง 6 เมือง ก็เป็นเสมือนเขตคุ้มครองของ UWSA อยู่แล้ว และมีอิสระในการปกครองตนเอง (autonomy) ต่างจากเขตของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ยังมีการสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์กับกองทัพพม่าอยู่ตลอด เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในพม่าในปี 2010, 2015 เรื่อยมาถึง 2020 ไม่มีการจัดการเลือกตั้งภายในรัฐว้า ในทางนิตินัยจึงไม่มีผู้แทนจากรัฐว้าที่เข้าไปนั่งอยู่ในสภาพม่า แต่ในทางปฏิบัติกองกำลังว้าเป็นผู้ควบคุมทุกอย่างภายในเขตปกครองของตนเอง

เมื่อรัฐว้ากลายเป็นรัฐจริงตามที่กองทัพให้คำมั่นสัญญาไว้ ก็จะทำให้รัฐว้าเป็นรัฐของกลุ่มชาติพันธุ์ รัฐที่ 8 ต่อจากรัฐฉาน รัฐกะฉิ่น รัฐคะเรนนี รัฐกะเหรี่ยง รัฐอาระกัน (ยะไข่) รัฐมอญ และรัฐฉิ่น แต่จะมี “สิทธิพิเศษ” เหนือรัฐอื่นๆ อย่างชัดเจนดังที่ได้อธิบายไปแล้ว

สำนักข่าว Frontier Myanmar วิเคราะห์ไว้ว่าการตั้งรัฐขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคณะรัฐประหารจะต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำรัฐว้า (Minister of Wa State) เข้าไปประจำในพื้นที่เหมือนที่เกิดขึ้นกับรัฐอื่นๆ แต่ผู้นำ UWSP/UWSA คงไม่ยินยอม เพราะคงไม่ต้องการถูกควบคุมโดยเนปยีดอ ทั้งๆ ที่ผ่านมารัฐว้าก็มีอิสระในการปกครองตนเองอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงตัวบทรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ง่ายนัก เพราะต้องการความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งถูกยุบไปหลังเกิดรัฐประหาร อีกทั้งต้องมีการปักปันเขตแดนรัฐว้าอย่างเป็นทางการ

ดังนั้น จึงมีผู้วิเคราะห์ว่า คำสัญญาที่คณะรัฐประหารให้ไว้กับผู้นำว้าเป็นเพียงคำสัญญาลอยๆ เพื่อสร้างบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดในพม่าเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image