ที่เห็นและเป็นไป : ท้าทาย ‘ประชาชน’

ที่เห็นและเป็นไป : ท้าทาย ‘ประชาชน’

 

ท้าทาย ‘ประชาชน’

ไม่ว่าใครก็ตามที่ติดตามความเคลื่อนทางการเมือง และหากยิ่งมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความคิดความเห็นกับบรรดา “ผู้สมัครรับเลือกตั้ง” จะสรุปได้ในทางเดียวกันคือ

Advertisement

“การเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการใช้เงินกันมโหฬาร”

พูดเสียให้ตรงๆ ไม่อ้อมค้อมคือจะเป็นการเลือกตั้งที่ผู้สมัครแต่ละพรรคต้อง “ทุ่มเงินซื้อเสียง” มากมายยิ่งกว่าครั้งไหน

เท่าที่ได้สดับตรับฟังมา เหตุผลใหญ่ที่ “นักการเมือง” มีชัยชนะในการเลือกตั้งจะตัดสินกันที่ “เงินซื้อเสียง” เนื่องจาก “พรรคการเมืองฝ่ายที่จำเป็นต้องชนะเลือกตั้งให้ได้” หรือว่ากันแบบไม่อ้อมค้อมคือ “พรรคที่ต้องการสืบทอดอำนาจ” แม้จะบริหารประเทศมายาวนาน แต่ไม่มีอะไรที่ทำให้เชื่อมั่นว่าได้ก่อศรัทธาต่อประชาชนในระดับที่มีบารมีพอจะลงคะแนนให้ด้วยความนิยมชมชอบ

Advertisement

เชื่อกันว่าวิธีการที่ “นักการเมือง” ฝ่ายนี้ใช้ ไม่มีหนทางอื่น นอกจากหาทางให้ “นักการเมืองที่คุมคะแนนในพื้นที่ได้” มาสมัครเข้าพรรคที่ให้การสนับสนุนพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

และการจัดให้เป็นไปตามเป้าหมายคือ “ซื้อตัว” ผู้ที่สร้างเครือข่ายฐานเสียงในพื้นที่ในระดับที่เชื่อถือว่าเมื่อส่งลงสมัครแล้วมีโอกาสชนะ

การช่วงชิงตัวผู้สมัครที่โอกาสชนะสูงเป็นไปอย่างเข้มข้น เพราะไม่ได้มีพรรคเดียว หรือสองพรรคที่ใช้ยุทธศาสตร์นี้ หลายพรรคเดินหน้าในทางเดียวกัน

แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ประสบการณ์ทางการเมือง” สอนว่าปัจจัยสำคัญสำหรับชัยชนะคือ “เงิน” ใครมีมากคนนั้นยิ่งได้เปรียบ พรรคไหนหาเงินมาสนับสนุนผู้สมัครได้มากกว่าจะประสบความสำเร็จในการดูดผู้สมัครเข้าพรรคได้มากกว่า

แต่เมื่อทุกพรรคมีความจำเป็นต้องสู้ เมื่อคนของพรรคถูกดูดไป ก็ต้องหาคนมาแทน เพื่อความหวังในชัยชนะต้องทุ่มเงินลงไปแข่ง

“แข่งกันทุ่มเงิน” จึงเป็นกระแส และผู้สมัครส่วนใหญ่แสวงหาทุนที่จะสู้ในสนามนี้

กระแสเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อ “ประชาธิปไตย”

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่า “การทุจริตเลือกตั้ง” คือเหตุผลใหญ่ที่ใช้ทำลายความเชื่อมั่นในประชาธิปไตย

รัฐประหารทุกครั้งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการโจมตีเรื่อง “ธุรกิจการเมือง”

นักการเมืองทุ่มเงินซื้อเสียงเพื่อยึดครองอำนาจรัฐมาใช้กอบโกยผลประโยชน์ให้ตัวเองและพวกพ้อง

ความรู้และสำนึกของประชาชนยังไม่พอที่จะปล่อยให้เป็นเจ้าของอำนาจโดยไม่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย จึงต้องให้กลุ่มคนดีมีความรู้มีโอกาสมากกว่าในการเข้ากุมอำนาจรัฐ

เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่มากที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นมาตอกย้ำ เอื้อความชอบธรรมของอำนาจนอกระบบ

แต่กลับกลายเป็นว่า ความเป็นไปทางการเมืองขณะนี้กลับเข้าสู่กระแสทำลายความชอบธรรมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างกว้างขวาง เป็นที่รับรู้กันเหมือนเป็นเรื่องปกติ

นี่คือกระแสที่พาประชาธิปไตยเข้ามุมอับ

ที่น่าเศร้าคือ “นักการเมือง” ซึ่งเส้นทางเข้าสู่อำนาจไม่มีหนทางอื่นนอกจากอาศัยอำนาจประชาชน ซึ่งหมายถึงจะต้องยึดมั่น และร่วมสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณภาพขึ้นมา กลับกลายเป็นผู้สร้างกระแสทำลายระบอบที่เอื้ออำนาจให้เสียเอง

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้ง ไม่ได้มีแค่ “พรรคการเมือง” ที่อาศัยเงินดูดผู้สมัคร และผู้สมัครไม่ได้มีแค่ที่มุ่งใช้เงินซื้อเสียง สร้างบารมีด้วยการแจกจ่ายผลประโยชน์ให้ประชาชนเท่านั้น

แม้นักการเมืองจำพวกนี้จะมีจำนวนมาก แต่ประเทศไทยเราไม่ได้สิ้นไร้นักการเมืองที่มีเจตนาดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเสียทีเดียว มีหลายพรรคที่ยืนหยัดในการร่วมสร้างกระแสเลวร้ายต่อประชาธิปไตย

เพียงแต่สุดท้ายแล้ว ประชาชนจะนำการเมืองไทยสู่อนาคตแบบไหน

“ผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ทำลายความชอบธรรมของอำนาจประชาชน” หรือ “ยืนหยัดรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจประชาชนไว้ อย่างกล้าหาญที่จะลงคะแนนให้ผู้สมัครของพรรคที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และวิธีการที่ชอบธรรมของประชาธิปไตย”

สุชาติ ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image