คอปกขาวกับการเมืองไทย : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมชอบดูภาพของผู้สนับสนุน กปปส.ที่มีคนเอามาโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก คนเหล่านี้มักถูกเรียกว่า “สลิ่ม” และมักจะถูกหมายว่าเป็นคนชั้นกลาง และ/หรือ “ผู้ดี”

ผมมองหน้าคนเหล่านี้แล้ว ผมคิดว่าโดยรวมๆ พวกเขาก็คือคนงานคอปกขาว ที่เป็นคนรวยล้นฟ้าหรือลูกหลานถึงจะมีก็น้อยเต็มทีที่จะออกมาสนับสนุน กปปส.อย่างเปิดเผยในท้องถนน คนเหล่านี้เติบโตในสังคมไทยมาตั้งแต่ทศวรรษ 2500 และเติบโตอย่างรวดเร็วหลังทศวรรษ 2510 ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับสูงนับตั้งแต่อาชีวะขึ้นไปจนมหาวิทยาลัย และส่วนใหญ่ทำงานในภาคเอกชน ตอบรับกับการขยายตัวของการผลิตด้านอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่ในสังคมไทย ในต้นทศวรรษ 2530 มีจำนวนเกือบ 5 ล้านคน อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ จนถึงปัจจุบันน่าจะเกิน 10 ล้านคนไปแล้ว

แน่นอน ไม่ใช่คนงานคอปกขาวทุกคนเป็น “สลิ่ม” แต่ที่เราเรียกว่า “สลิ่ม” นั้น ไม่ใช่ฝูงชนจำนวนเล็กๆ ที่ไปเดินตามลุงกำนัน แต่เป็นเซ็กเตอร์ใหญ่อันหนึ่งของประชากรไทย และเป็นฐานเสียงที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ (ไม่ใช่ฐานเสียงที่เหนียวแน่น แต่หาก ปชป.ไม่ได้คะแนนจากกลุ่มนี้ ก็จะกลายเป็นพรรคต่ำยี่สิบ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นบ้าง) ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า คนงานคอปกขาวเป็นคนกลุ่มเดียวในประชากรไทยที่มีพรรคการเมืองตัวแทนของตนเอง พรรคประชาธิปัตย์จึงเหลือบทบาทให้เลือกไม่มากนักในปรากฏการณ์ กปปส. เว้นแต่จะมีผู้นำที่มีกึ๋นมากกว่านี้ ซึ่งโครงสร้างอำนาจภายในของพรรคไม่อนุญาตให้มี (แต่นี่เป็นอีกเรื่องใหญ่หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาของบทความนี้)

ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ อีกไม่น้อย ผมเป็นคนหนึ่งที่ออกจะเหยียดความไร้เดียงสาทางการเมืองของ “สลิ่ม” แต่นั่นไม่ช่วยให้เราสามารถทำความเข้าใจคนงานคอปกขาวอันเป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของสังคมเราเองได้ แม้ไม่อาจกำจัดอคตินี้ไปได้หมด แต่ก็อยากชักชวนให้เราช่วยกันทำความเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น ถึงอย่างไรเขาก็เป็นส่วนหนึ่งในการเมืองไทยตลอดไป และเป็นส่วนที่มีพลานุภาพกำหนดความเป็นไปของการเมืองค่อนข้างสูงด้วย

Advertisement

คนงานคอปกขาวคือผู้ทำอาชีพที่ต้องใช้ทักษะสูง และด้วยเหตุดังนั้นจึงได้ค่าจ้างสูงกว่าคนงานประเภทอื่น (ในประเทศไทยต่างจากคนงานขั้นต่ำตั้งแต่ 3.8 เท่าขึ้นไป) และสามารถมีแบบแผนการบริโภคใกล้เคียงกับชนชั้นสูง หรืออย่างน้อยก็ยึดถือแบบแผนการบริโภคของชนชั้นสูงเป็นอุดมคติ

แม้มีกำลังซื้อสูง แต่อำนาจที่จะได้จากกำลังซื้อที่สูงนี้จำกัดลงด้วยเหตุที่หัตถอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่มุ่งตลาดส่งออกเป็นหลัก ส่วนปัจจัยการผลิตอื่นๆ เช่น พลังงาน, วัตถุดิบ หรือเครื่องจักร คนงานคอปกขาวก็ไม่ใช่ผู้ตัดสินใจในการเลือกใช้ อำนาจของพวกเขาจึงค่อนข้างจำกัดอยู่ที่สินค้าที่มุ่งตลาดภายใน ส่วนใหญ่คือสินค้าทางวัฒนธรรม เช่นสื่อประเภทต่างๆ และบริการในชีวิตประจำวัน สื่อโซเชียลให้อำนาจแก่ผู้บริโภคกลุ่มนี้อย่างเห็นได้ชัด เขาควบคุมละครทีวี, เพลง, อาหารและร้านอาหาร, คุณภาพและบริการของสินค้าบริโภค, ตลอดจนถึงมารยาทสังคมได้อย่างที่ไม่เคยมีอำนาจเช่นนี้มาก่อน (ทำไมดาราจึงต้องแสดงออกอย่างล้นเกินในการชุมนุมของ กปปส.ก็อาจเข้าใจได้ง่ายจากมุมนี้)

คนงานคอปกขาวมีความมั่นคงในอาชีพการงานพอสมควร เพราะทักษะของเขามาจากการสั่งสม แต่ในตลาดงานโดยรวมแล้ว ความมั่นคงในอาชีพการงานของเขาลดน้อยลงด้วยเหตุ 2 ประการคือ หนึ่ง ธุรกิจอุตสาหกรรมไทยไม่ได้แข่งขันกันด้านคุณภาพมากนัก ดังนั้น ทักษะของคนงานคอปกขาวถึงไม่มีดาษดื่น แต่การลงทุนฝึกปรือขึ้นใหม่ก็ไม่สูงนัก จึงเป็นผลให้เป็นสาเหตุที่สอง คือการแข่งขันที่ไม่เข้มข้น ทำให้ไม่มีการแย่งตัวคนงานคอปกขาวกันมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับคนงานในแขนงอื่น ก็ถือว่าค่อนข้างมั่นคง

Advertisement

มั่นคงเท่าที่เศรษฐกิจไทยไม่ตกอยู่ในวิกฤตอย่างปี 2540 ในวิกฤตครั้งนั้น พวกเขาได้รับผลกระทบที่เลวร้ายอย่างยิ่ง หลายคนถูกปลดจากงาน (ในประเทศที่หลักประกันทางสังคมยังไม่แข็งแรง ขณะที่หลักประกันทางสังคมตามประเพณีกำลังคลอนคลายลง โดยเฉพาะในแวดวงของพวกเขา) และไม่อาจหางานใหม่ได้ ลูกต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน รถถูกยึด ฯลฯ

ประสบการณ์อันเลวร้ายครั้งนั้น น่าจะมีผลกระทบต่อทัศนคติทางสังคมของคนงานคอปกขาวอย่างมาก และคงมีผลกระทบต่อทัศนคติทางสังคมและการเมืองของเขาสืบมาจนถึงทุกวันนี้

รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกประกาศใช้ในยามที่ผู้สนับสนุนหันไปทางอนุรักษนิยมมากขึ้น ถึงอยากให้การเมืองไทยเปลี่ยน แต่อย่าเปลี่ยนมากนัก มันอันตราย

ซ้ำร้ายกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในครั้งนั้น คนงานคอปกขาวฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจมาพบว่าตัวกำลังอยู่ในโลกที่เทคโนโลยีเปลี่ยนผันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทักษะหลายอย่างที่ต่างใช้เป็นเครื่องมือทำมาหากินเลี้ยงชีวิตตลอดมา กำลังถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีสื่อสารชนิดใหม่ ทักษะที่สั่งสมมานานปีของผู้จัดการฝ่ายสินค้าคงคลังของบริษัท กำลังหมดคุณค่าลงด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และระบบขนส่งชั่วข้ามวัน หรือหลายกรณีข้ามชั่วโมงเท่านั้น นักข่าวจะสื่อข่าวอะไร ในเมื่อโซเชียลมีเดียให้ข่าวเร็วกว่า ละเอียดกว่า และตรวจสอบกันเองได้ง่ายกว่า

ไม่มีคนงานคอปกขาวคนไหนมั่นใจได้ว่า ตำแหน่งงานของตนจะล้าสมัยหรือหมดความจำเป็นไปเมื่อไร

ดังนั้น จะแปลกอะไรที่คนงานคอปกขาวของไทยในปัจจุบันจะโน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยม เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อาจลึกซึ้งไพศาลเกินกว่าที่ปัจเจกบุคคลคนใดจะสามารถรับมือกับมันได้ ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง และไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับตัวหรือกับประเทศชาติ

เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจแล้วประกาศจะถอยหลังประเทศกลับไป 30 ปี คนพวกหนึ่งบอกว่านี่คือการถอยหลังเข้าคลอง แต่คนงานคอปกขาวจำนวนมากพอใจ เพราะทหารกำลังสร้างหลักประกันความมั่นคงให้ชีวิตของตน อำนาจเผด็จการจะขวางกั้นความเปลี่ยนแปลงทุกชนิดมิให้พ้องพานชีวิตพวกเขาได้เลย

คราวนี้ย้อนไปดูเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมที่แวดล้อมชีวิตของคนงานคอปกขาวไทยบ้าง

น่าสังเกตว่า คนงานคอปกขาวในประเทศตะวันตกเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการรวมกลุ่มที่เป็นอิสระจากรัฐมาก เรียกอีกอย่างหนึ่งคือกลุ่มประชาสังคม (ทั้งที่ต่อต้านรัฐและไม่ได้ต่อต้านรัฐ ผมเน้นการจัดองค์กรอิสระที่สมาชิกเข้าร่วมโดยสมัครใจมากกว่า) หากไม่นับเอ็นจีโอแล้ว เกือบทั้งหมดของคนงานคอปกขาวไทยแทบจะไม่เกี่ยวอะไรกับกลุ่มอิสระที่จัดขึ้นตามความสมัครใจและอยู่นอกรัฐ สมาคมศิษย์เก่าทั้งหลายไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี กลุ่มประชาสังคมของคนงานคอปกขาวที่ดูจะเข้มแข็งมากๆ คือกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคที่ร้องเรียนปัญหากับกลุ่มก็มีจำนวนนิดเดียว เมื่อเทียบกับผู้บริโภคที่ประสบปัญหาแล้วไม่ได้ร้องเรียน หรือผู้ใช้ประโยชน์จากกลุ่มส่วนใหญ่ก็ไม่ได้อาสามาช่วยงานของกลุ่ม ทำให้ผู้บริหารกลุ่มไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากพยายามเชื่อมโยงกับรัฐ หรือได้รับการรับรองจากรัฐ มากกว่ามุ่งไปสู่ความเป็นองค์กรประชาสังคมแท้ๆ

คนกลุ่มเดียวในพวกคนงานคอปกขาวที่พอมีประสบการณ์ในการรวมตัวเป็นกลุ่มและเคลื่อนไหวทางสังคมอยู่บ้างคือ “คนเดือนตุลา” แต่ก็ประสบความล้มเหลว ไม่ใช่จากความปราชัยของ พคท.เพียงอย่างเดียว แต่จากการที่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถทำให้กลุ่มประชาสังคมที่จัดตั้งขึ้นในขบวนการเอ็นจีโอประสบความสำเร็จมากนักในการต่อรองกับรัฐและทุนด้วย

แม้มีคนงานคอปกขาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก วิถีการต่อรองทางการเมืองในสังคมไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะประชากรกลุ่มนี้มากนัก การใช้สื่อต่อรองทางการเมืองทำกันมาตั้งแต่ก่อน 2475 เมื่อเรามีคนงานคอปกขาวเล็กนิดเดียว การต่อรองบนสื่อออนไลน์เกิดขึ้นได้เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสื่อประเภทนี้ในเมืองไทยถูกใช้ไปในการต่อรองส่วนบุคคลมากกว่าเพื่อรวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรอง

คนงานคอปกขาวไทยอาจรวมกลุ่มกันผลักดันประเด็นเฉพาะหน้าบางเรื่องได้ แต่เพราะไม่คุ้นเคยกับการจัดองค์กรกลุ่ม จึงสลายตัวไปเมื่อประเด็นนั้นได้รับการแก้ไขแล้ว ไม่สามารถที่จะร่วมกันวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงมูลเหตุ และผลักดันการปรับแก้ไขระดับโครงสร้างได้

ผมพูดเรื่องการต่อรองเพราะว่า โดยปกติแล้วคนงานคอปกขาวอยู่ในอาชีพที่ค่อนข้างอิสระ (พึ่งวิชาชีพและทักษะของตนเองเท่านั้น) ความก้าวหน้าในอาชีพของเขาจึงอยู่ที่การต่อรอง นับตั้งแต่เชี่ยวชาญในงานยิ่งขึ้น เปลี่ยนงานใหม่ หรือรวมกลุ่มต่อรองเรียกร้องสวัสดิการหรือค่าตอบแทน เป็นต้น สังคมประชาธิปไตยและการเมืองประชาธิปไตยเอื้อให้การต่อรองเป็นไปได้ด้วยดีแก่ทุกฝ่าย คนงานคอปกขาวในสังคมต่างๆ โดยทั่วไปจึงมักจะยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าอำนาจนิยม

(แต่ความเปลี่ยนแปลงเพราะเสรีนิยมใหม่อาจทำให้คนงานคอปกขาวไม่เป็นอัศวินของประชาธิปไตยแล้ว ในสหรัฐอเมริกาคนงานคอปกขาวที่มีการศึกษาน้อยเลือกทรัมป์ ในขณะที่คนงานคอปกขาวที่มีการศึกษาสูงต่อต้านทรัมป์ ในเมืองไทยผู้สนับสนุนและต่อต้าน คสช.กลับกัน)

อย่างไรก็ตาม ผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่าคนงานคอปกขาวไทยถูกสาปสรรให้เป็นอย่างนี้ตลอดไป แม้ว่ามีอุปสรรคจากปูมหลังในชีวิตและสถานะปัจจุบันของพวกเขาในการใช้การต่อรองเป็นเครื่องมือสำคัญ หากสักวันหนึ่งข้างหน้า เมืองไทยจะเปลี่ยนไปเพราะโอกาส 3 อย่างดังนี้

1.เอสเอ็มอีในเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นจนเป็นสัดส่วนสำคัญในจีดีพี เงื่อนไขในชีวิตการงานของคนงานคอปกขาวจำนวนหนึ่งก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งล้วนทำให้อำนาจการต่อรองของเขาเพิ่มขึ้น ทั้งในความเชี่ยวชาญการต่อรองและความเป็นไปได้ในการต่อรอง แต่โอกาสเช่นนี้อาจเกิดขึ้นในประเทศไทยได้ยาก ขึ้นอยู่กับว่าสังคมและผู้ปกครองพร้อมจะลดอำนาจควบคุมทางการเมืองของทุนขนาดใหญ่ลงได้เพียงใด

2.การเมืองถูกผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น การต่อรองจะมีความสำคัญ และคนงานคอปกขาวซึ่งมีเครื่องมือการต่อรองพร้อมกว่าใคร คงจะเรียนรู้การต่อรองในสังคมประชาธิปไตยได้ดีขึ้น ทำให้ได้ประโยชน์จากความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง โอกาสเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันไม่ไกลนักข้างหน้าหรือไม่ ผมคิดว่าพอเป็นไปได้เหมือนกัน เพราะหลักการพื้นฐานของเผด็จการทหารไทยปัจจุบันอยู่ที่การเมืองของคนดี หลักการข้อนี้ถูกสั่นคลอนด้วยพฤติกรรมของ “คนดี” เองอย่างหนึ่ง และยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้อีกอย่างหนึ่ง

3.มีเหตุให้สำนึกถึงความเหลื่อมล้ำของคนงานคอปกขาวแหลมคมขึ้น สำนึกความเหลื่อมล้ำของไทยในปัจจุบัน แม้แต่ในหมู่คนงานคอปกขาวเองก็ยังอยู่ที่เกษตรกร, ชนบท, ภูมิภาคซึ่งมีรายได้โดยเปรียบเทียบต่ำมาก (เช่นรายได้เฉลี่ยในภาคเกษตรกรรมต่ำกว่ารายได้เฉลี่ยของกรุงเทพฯ 4 เท่า) แต่สำนึกนี้อาจเปลี่ยนได้ เพราะมีความเหลื่อมล้ำมโหฬารระหว่างคนงานคอปกขาวกับผู้บริหาร (เช่นระหว่างอาจารย์มหาวิทยาลัยกับอธิการบดี) ผมอ่านเจอที่ไหนก็จำไม่ได้แล้วว่า ทักษะของแรงงานไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มของค่าตอบแทนหลายเท่าตัว พูดอีกอย่างหนึ่ง มีฐานความเป็นจริงรองรับความเหลื่อมล้ำในแวดวงของคนงานคอปกขาวอยู่มาก ที่จะปลุกสำนึกของเขาให้ตื่นตัวขึ้น

เมื่อใดก็ตามที่ค่าตอบแทนของคนงานคอปกขาวไม่เพิ่มขึ้นทันเงินเฟ้อ หรือทันความคาดหวังใหม่ๆ ในชีวิต สำนึกถึงความเหลื่อมล้ำของคนงานคอปกขาวก็จะเปลี่ยน ถึงตอนนั้นคนงานคอปกขาวก็ไม่อาจเดินตามลุงกำนันหรือลุงตู่ต่อไปได้

คนงานคอปกขาวก็จะหันมาใช้กลวิธีการต่อรองของระบอบประชาธิปไตย ในการปกป้องและขยายผลประโยชน์ของตนมากขึ้น และจะกลายเป็นปราการที่แข็งแรงอีกแนวหนึ่งของประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image