(เมื่อ)ประเทศไทยไม่มีนโยบาย เรื่องที่พักอาศัย(?) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เหมือนจะพูดให้ทัวร์ลง แต่อยากเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายเรื่องที่พักอาศัย (housing policy) อย่างจริงจัง และเป็นระบบเพียงพอที่จะเรียกว่า นโยบายได้

ที่พูดเช่นนี้ต้องการอธิบายง่ายๆ ว่า สิ่งที่มีคือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของที่อยู่อาศัย และมีโครงการมากมายที่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

รวมทั้งล่าสุดก็มีแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย 20 ปี

คำถามคือมันสำคัญอะไรนักหนากับเรื่องของการไม่มี หรือขาดหายไปของนโยบายที่อยู่อาศัย

Advertisement

ก็คงจะต้องชี้แจงกันว่าความหมายของคำว่า housing policy ที่อยากจะสื่อความคืออะไร

คำตอบก็คือ คำว่านโยบายที่อยู่อาศัยไม่ใช่เรื่องของโครงการสร้างบ้านเท่านั้น แต่มีหลายเรื่องต้องทำความเข้าใจภาพรวมของสถานการณ์ และความเกี่ยวข้องกันของแต่ละส่วนของสถานการณ์

โดยเฉพาะ บ้าน (ที่อยู่อาศัยในหลายรูปแบบ) คน รายได้และความสามารถในการจ่าย ลักษณะการเป็นเจ้าของ เช่า เช่าช่วง หรือรุกล้ำ ความมั่นคงในการอยู่อาศัย คุณภาพของที่อยู่อาศัย และการเป็นเจ้าของที่ดิน รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของเมือง

Advertisement

ไม่มีใครปฏิเสธหรอกครับว่าเมืองไทยไม่มีหน่วยงานที่ทำงานด้านที่อยู่อาศัย ไล่เรียงมาตั้งแต่การเคหะแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) หน่วยงานท้องถิ่นอย่างสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัย ของ กทม. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

แต่ทุกแห่งมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะทั้งที่ระบุไว้ และที่เข้าถึงได้จริง

ทุกที่มีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานแข็งขันเรื่องโครงการที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้มีหน่วยงานที่กำหนดนโยบายในภาพรวม และกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานประสานสอดคล้องโดยเอาภาพรวมของที่อยู่อาศัย คน รายได้และความสามารถในการจ่าย คุณภาพที่อยู่อาศัย การเป็นเจ้าของที่ดิน และกำกับและกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมือง

ลองยกตัวอย่างเช่น การเคหะฯนั้นงานหลักคือการสร้างบ้านและที่พักอาศัยที่เน้นไปในเรื่องของการเป็นเจ้าของ และเน้นไปที่คนที่มีรายได้ในลักษณะที่ค่อนข้างแน่นอนมั่นคง คนหาเช้ากินค่ำที่รายได้ไม่แน่นอนย่อมเข้าถึงได้ยาก ไม่รวมถึงความไม่สามารถในการหาที่ดินในย่านที่คนจนจะสามารถทำมาหากินได้จริงเพราะราคาแพง และในย่านที่เป็นเขตเศรษฐกิจหลัก (ในขณะที่หลายประเทศมีระเบียบว่าในย่านที่ที่ดินราคาแพงจะต้องมีสัดส่วนของคนรายได้น้อยสามารถอยู่ได้ด้วย)

มิพักต้องกล่าวถึงว่าในฐานะที่การเคหะฯเป็นหน่วยงานของรัฐ ในความเป็นจริงก็ย่อมจะมีต้นทุนสูงในการก่อสร้างบ้านมากกว่าพวกเอกชนที่สามารถหาที่ดินได้ถูกและคล่องตัวกว่า อาจเข้าถึงแรงงานราคาถูกที่ผิดกฎหมายได้ และมีอีกหลายต้นทุนที่เราก็อาจจะสงสัยว่าทำไมค่าใช้จ่ายในการสร้างมันแพง เพราะการเคหะมีอำนาจเวนคืนที่ดินแต่ไม่เคยทำ ส่วนมากหาที่ดินถูก หรือขอที่ดินจากส่วนราชการอื่น

ที่ดูแลเรื่องที่พักอาศัยในส่วนประชากรอีกส่วนหนึ่ง ก็คือธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ย่อมแน่นอนว่าในการกู้นั้นก็ย่อมจะต้องมีความมั่นคงในการงาน และมีหลักฐานหลักทรัพย์จำนวนหนึ่ง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ก็จะทำหน้าที่ในเรื่องของการสร้างความเป็นไปได้ในการเข้าถึงของคนในอีกระดับหนึ่ง และก็เจอคู่แข่งในตลาดการเงินด้านอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่น้อย เพราะหลายครั้งคนกลับกู้บ้านจากธนาคารอื่นได้ถูกกว่าเช่นกัน สิ่งที่ต้องเข้าไปดูคือข้อจำกัดของการทำงานของธนาคารอาคารสงเคราะห์เองทั้งจากมุมของผู้กู้ และจากทางเจ้าหน้าที่ในทุกระดับที่พยายามทำงานอย่างเต็มที่

หน่วยงานที่สำคัญและเป็นต้นแบบอีกหน่วยงานหนึ่งก็คือ พอช. ที่พัฒนาขึ้นมาด้วยความมุ่งหวังที่จะเข้าถึงและปิดจุดอ่อนของการเคหะฯและธนาคารอาคารสงเคราะห์ ในความหมายของการที่จะทำอย่างไรให้คนจนที่ไม่ได้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย โดยเฉพาะที่อยู่ในชุมชนแออัดเดิมในลักษณะบุกรุก และแม้ว่าจะมีรายได้ แต่ก็ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานของอาชีพและความสม่ำเสมอของรายได้แบบเงินเดือน จะสามารถเข้าถึงที่พักอาศัยได้ โดยสรุปง่ายๆ ก็คือพวกเขาเปราะบางต่อการไล่รื้อได้ง่าย ทั้งที่บุกรุกอยู่ หรือเช่าอยู่ (เช่าที่ปลูกบ้านเองเป็นหลัก)

ทางออกของ พอช. ก็คือสร้างระบบการเข้าถึงเงินกู้ในโลกที่คนจนที่ไม่อยู่ในระบบการจ้างงานที่เป็นทางการ เช่นที่ๆ ภาคบริการ ภาคที่ไม่เป็นทางการต่างๆ เข้าถึงได้ โดยเน้นไปที่การรวมกลุ่มของผู้คนในชุมชน และสร้างระบบการออมแบบสหกรณ์และกลุ่มสัจจะให้สามารถออมเงินพอที่จะไปดาวน์บ้านและกู้เงินสร้างบ้านจาก พอช.ได้ โดยมีมาตรฐานของที่พักอาศัยที่พอไปได้ และมีการต่อรองกับเจ้าของที่ดิน เช่น รวมเงินซื้อผ่านการกู้ ขอเช่าระยะยาว แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าทุกกรณีจะประสบความสำเร็จ และจะเป็นไปได้ที่คนจนจะเข้าถึงระบบการสร้างชุมชนของ พอช.ไปเสียทั้งหมด ระบบการสร้างชุมชนและเป็นสมาชิกนั้นไม่ได้รวมถึงคนที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในชุมชนเดิมที่ต้องอยู่ประมาณห้าปีถึงจะมีสถานะเป็นสมาชิกของชุมชนและเข้าสู่กระบวนการได้

ในอีกระดับหนึ่งก็คือเรื่องของคนไร้บ้านที่กลายเป็นปัญหาที่คนสนใจอยู่มากในช่วงหลัง แต่ก็มีองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มอาสา มี กทม.และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาดูแลในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่คนจนทุกคนจะสามารถออกมาจากระบบที่พักอาศัยเข้ามาอยู่ในส่วนของคนไร้บ้านได้ และคนไร้บ้านก็มีเงื่อนไขมิติอื่นที่เพิ่มไปจากเรื่องของระบบการเข้าที่ที่พักอาศัยทั่วไป เช่น เรื่องของความเจ็บป่วย และเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่สามารถคิดในแง่ของการจัดสรรที่พักให้กับคนไร้บ้าน หรือส่งกลับเข้าระบบที่พักอาศัยได้ทันที หรือแค่เรื่องของการสร้างอาชีพ เพราะหลายคนก็มีอาชีพในแบบของตนเองเช่นกัน

ส่วนในกรณีของ กทม.ในฐานะหนึ่งในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ดูเหมือนกับว่าจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่ไม่ค่อยได้ระบุปัญหาส่วนนี้เท่าไหร่ ในแง่ที่ว่าทั้งองค์กรส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องที่และภูมิภาคอาจจะมีโครงการบ้านในลักษณะการจัดหาที่พักอาศัยทดแทนบ้านที่เกิดไฟไหม้ มีงบซ่อมบ้านจากภัยพิบัติในแง่อื่นๆ แต่ไม่ได้มีนโยบายเรื่องที่พักอาศัยอย่างเป็นระบบ นอกจากนั้น อย่างในกรณีของ กทม.เอง โดยระบบแล้ว จะมีโครงสร้างหน่วยงานที่ดูแลที่พักอาศัย แต่จะเน้นไปที่การดูแลสวัสดิการที่พักอาศัยของข้าราชการ กทม.เอง ซึ่งส่วนนี้หน่วยงานต่างๆ ก็มีทั้งนั้น ที่ชัดเจนก็คือหน่วยงานภูมิภาคที่มีที่พักประจำตำแหน่ง

แต่กระนั้นก็ตามก็มีหน่วยงานที่มีความสำคัญของ กทม.คือ สำนักพัฒนาสังคม ที่คอยดูแลทางอ้อม คือไปดูแลสวัสดิการของชุมชน ด้วยเงื่อนไขสองประการ คือ หนึ่ง การส่งเสริมให้ชุมชนจัดตั้งขึ้นมาและมีโครงสร้างการดูแลกันเอง ในระบบสมาชิกและประธานชุมชนเชื่อมโยงกับเขต มีกองทุนพัฒนาพื้นที่ใหญ่เล็กตามขนาดชุมชน ซึ่งเดิมก็จะมีด้วยเงื่อนไขของการต้องมีชุมชนไม่ต่ำกว่าร้อยหลังคาเรือน ซึ่งแต่ก่อนนั้นบ้านเช่า หรือชุมชนที่คนต่ำกว่าร้อยครัวเรือนนั้นก็ไม่มีสถานะชุมชนแต่อย่างใด เข้าไม่ถึงบริการสวัสดิการพื้นฐานของท้องถิ่น

แม้ว่าปัจจุบันจะมีรูปแบบการจัดตั้งที่หลากหลาย และไม่ได้ระบุจำนวนครัวเรือนอย่างเคร่งครัด แต่การจัดตั้งชุมชนก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ ที่ใดความขัดแย้งมากก็จัดตั้งได้ยาก แต่ในช่วงโควิด ระบบชุมชนก็ดูแลพื้นที่ได้อย่างน่าประทับใจ เชื่อมโยงกับภาครัฐและภาคอาสาสมัครได้ในระดับหนึ่ง

แต่กระนั้นก็ตาม คนที่ยังหลุดระบบ คือไม่มีคนดูแลอย่างจริงจัง ก็คือกลุ่มคนเช่าบ้านในลักษณะเช่าช่วง คือเข้ามาเช่าบ้านต่อจากกลุ่มแรกที่มีสถานะสมาชิกชุมชนอย่างเต็มตัว พวกนี้จะโยกย้ายไปมา และไม่ได้เข้าระบบการช่วยเหลือของพื้นที่อย่างจริงจัง (ทั้งในกรณีของแรงงานต่างด้าวทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ลงทะเบียน และที่โยกย้ายไปมาตามความต้องการแรงงานที่เมื่อเกิดโควิดก็อาจเคลื่อนย้ายออกไป) พวกนี้ไม่ถูกลงทะเบียนในชุมชน และส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อมโยงในกลไกการตัดสินใจของชุมชน โดยการสำรวจในหลายส่วนของ กทม.พบอยู่ในระดับร้อยละสิบห้าถึงสี่สิบของชุมชน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่สองที่ของบทบาทของ กทม.ในการช่วยเหลือผู้คนในนโยบายที่พักอาศัยที่ไม่ค่อยเป็นระบบ เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พูดกันมากนัก คือการที่ กทม.ในอดีตนั้นยอมให้คนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน แต่เช่าบ้านนั้นสามารถเป็น เจ้าบ้าน หรือการสร้างระบบทะเบียนบ้านขึ้นมา ซึ่งบางส่วนแยกขาดกับระบบเจ้าของที่ดิน (โฉนดที่ดิน)

การช่วยเหลือในการสร้างระบบทะเบียนบ้านทำให้เกิดเงื่อนไขหลายประการในการสร้างระบบพลเมืองในระดับท้องถิ่นเพิ่มเติมเข้ามา จากการที่คนสัญชาติไทยจะมีบัตรประชาชนซึ่งเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานในระดับหนึ่ง แต่ใช้สิทธิทั้งหมดได้ยาก เช่น การรักษาพยาบาล และการศึกษาของบุตรหลาน การมีชื่อในทะเบียนบ้าน นำไปสู่การเข้ารักษาในระบบสุขภาพถ้วนหน้าได้จริง ส่งลูกหลานเข้าโรงเรียนได้ และมีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดระบบการเมืองในระดับพื้นที่ของเมืองได้ เพราะทำให้ ส.ก. ส.ข.(เดิม) และผู้ว่าฯ ต้องเข้ามาดูแลชุมชนเหล่านี้ในฐานะเป้าหมายและฐานเสียงขององค์กรปกครองท้องถิ่นเกิดอำนาจต่อรอง และเกิดตัวตนในพื้นที่

นอกจากนี้ อีกส่วนที่สำคัญก็คือเรื่องของการสร้างระบบทะเบียนบ้านเป็นเงื่อนไขของความเป็นพลเมืองในพื้นที่ทั้งของคนที่พักอาศัย และคนที่มาเช่าช่วง ทำให้ชุมชนนั้นสามารถจดทะเบียนชุมชนได้ (คนที่เช่าช่วงก็ขอเอาชื่อเข้ากับเจ้าบ้าน ซึ่งอาจไม่ใช่เจ้าที่) และการมีชุมชนที่มีทะเบียนบ้านก็ทำให้การไล่รื้อทำได้ยากขึ้น เพราะตัวตนของชุมชนมีความชัดเจนขึ้น มีสถานะทางกฎหมายในบางระดับ และมีสถานะทางการเมืองในพื้นที่เช่นกัน และยังรวมไปถึงการเข้าถึงสวัสดิการในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟฟ้า โทรศัพท์ที่สามารถติดตั้งได้ และทำให้ต้นทุนถูกกว่าต้องไปลากสายมา หรือจ่ายค่าน้ำรายหัว หรือโดนติดมิเตอร์ไฟในราคาที่แพงกว่าราชการ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน กทม.ไม่สามารถออกทะเบียนบ้านได้อีกต่อไป ด้วยแรงกดดันจากเจ้าของที่ดินต่างๆ โดยเฉพาะในกรณีของที่ดินที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของ

การย้ำประเด็นนี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อพูดเรื่องนโยบายที่พักอาศัยของประเทศนี้ สิ่งที่ยังไม่ได้พูดกันคือที่ผ่านมา หน่วยงานที่สำคัญและซ่อนเร้นอยู่ยังมีอีกสองหน่วยงานใหญ่ที่เติมเต็มภาพนี้

หนึ่งคือ หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ต่างมีนโยบาย หรือแนวทางที่ชัดเจน ไม่ชัดเจน และมีแนวทางปฏิบัติกับพื้นที่ตนเองที่แตกต่างกัน และในอดีตหน่วยงานเหล่านั้นยังไม่ได้แสวงหากำไรมากนักกับที่ดินของตัวเอง และบางหน่วยอาจจะพึ่งพาคนในชุมชนในพื้นที่เป็นแรงงานหลักในพื้นที่

สิ่งที่ต้องย้ำก็คือ ผู้ที่กำหนดนโยบายบ้านและที่ดินตัวจริงไม่ใช่หน่วยงานที่ทำหน้าที่พัฒนาที่ที่พักอาศัยที่กล่าวมาแล้ว เท่ากับหน่วยงานที่มีที่ดินและพัฒนาที่ดินของตัวเองไปแสวงหากำไรและรายได้

บางหน่วยงานที่เร่งรีบพัฒนาที่ดินและไล่รื้อผู้คนออกไปนั้นอ้างแต่สิทธิในการถือครองที่ดิน จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยสงสัยว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรตัวเองดีพอไหม หรือมาเอาที่ดินไปแสวงหารายได้เพื่อกลบเงื่อนไขการไร้ประสิทธิภาพของตนเสียมากกว่า

อธิบายอีกอย่างหนึ่งก็คือ นโยบายที่พักอาศัยแยกขาดออกจากนโยบายที่ดิน และเจ้าของที่ดินตัวจริงในที่ต่างๆ นั้นแหละที่สร้างเงื่อนไขให้การพัฒนาที่พักอาศัยนั้นเกิดได้จริงไหม

สองคือ องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ที่เข้าดูแลสวัสดิการที่ตกหล่น เข้าถึงยากของคนในชุมชน และเข้ามาช่วยเหลือ เชื่อมโยงเครือข่ายของชาวบ้านเพื่อต่อสู้ ต่อรอง เจรจา กับเจ้าของที่ดิน ทั้งรัฐและเอกชนในการสถาปนาสิทธิของประชาชนในเมือง โดยเฉพาะจากคนที่เปราะบางที่อาจจะถูกผลักออกจากเมืองได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสลัม 4 ภาค มูลนิธิอิสรชน กระจกเงา และอีกหลายองค์กร

ที่กล่าวมาจนถึงจุดนี้ อยากจะขอชี้ให้เห็นสิ่งที่ขาดหายไปที่สำคัญยิ่งสามประการของนโยบายที่พักอาศัยของประเทศนี้

หนึ่งคือ ไม่มีภาพรวม ปล่อยให้แต่ละหน่วยงานทำงานไปเอง แต่ละหน่วยงานจึงมีเป้าหมายและข้อจำกัดของตัวเอง

นอกจากนี้ แต่ละหน่วยงานให้ความสำคัญกับโครงการย่อยมากกว่าภาพรวมของโครงการ ในแง่ของการให้ความสำคัญว่าโครงการเหล่านั้นแก้ปัญหาหลักได้จริงจัง เพียงพอ และเท่าทันความต้องการในที่พักอาศัยของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มากแค่ไหน

พูดง่ายๆ คือทุ่มเททำงาน ตั้งใจทำงาน แต่ไม่เข้าใจปัญหารวม ไม่เข้าใจความแตกต่างหลากหลายของความต้องการ และไม่เข้าใจจุดอ่อนรอยรั่วของระบบที่พักอาศัยทั้งหมดของประเทศ

ตัวอย่างสำคัญคือ คนเช่าบ้านแบบเช่าช่วง ที่มีในหลายพื้นที่ พวกนี้ไม่ได้อยู่ในระบบบันไดของการครอบครองที่พักอาศัยแบบ ไร้บ้าน สู่เช่าบ้าน และเป็นเจ้าของบ้าน เพราะชีวิตของพวกเขาขึ้นกับความผันผวนของเศรษฐกิจและแรงกดดันในพื้นที่สูงกว่าคนที่รวมตัวเป็นชุมชน พวกเขาอาจจะย้ายไปมาระหว่างพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่งในเมืองเดียวกัน หรือหายไปจากระบบ หรือไม่ได้แจ้งว่าอยู่ที่ไหน อาทิ ในช่วงโควิดการจัดเก็บข้อมูลในส่วนนี้ทำได้ลำบาก คนเหล่านี้มีความเปราะบางมาก และไม่มีหน่วยงานที่ดูแลอย่างจริงจังในแง่การเข้าถึงสิทธิของการอยู่อาศัย การเปลี่ยนแปลง และดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีในเมือง (rights to the city) มากกว่ากลุ่มอื่น

สอง นโยบายที่พักอาศัยที่ผ่านมา นอกจากไม่เป็นระบบ ไม่ครอบคลุม ไม่เชื่อมโยง ยังให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านในลักษณะสิทธิขาด (home ownership) มากกว่าการครอบครองในลักษณะอื่น เช่น ไม่มีนโยบายและหน่วยงานที่ดูแลระบบการเช่าบ้าน (rental system) อย่างเป็นระบบ

แม้แต่การพูดเรื่องจะสร้างบ้านเช่า ห้องเช่า ก็วนเวียนเรื่องการสร้างโครงการเฉพาะ และเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่เป็นไปได้ยาก อาทิ แผนการคร่าวๆ ของเคหะสุขประชา ก็พยายามสร้างระบบบ้านเช่าที่จะสร้างอาชีพด้วย แต่ไม่ได้วางโครงการดังกล่าวไว้ที่ในเมือง ในพื้นที่ที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยมาก่อน และมีเงื่อนไข เช่น การไม่ให้สิทธิกับคนที่มีอาชีพมาก่อนในการเข้าระบบ หรืออาชีพที่มีอาจไม่ได้เป็นอาชีพที่จะทำให้เขายั่งยืนและต่อยอดได้จริง

การพูดถึงระบบบ้านเช่านอกจากจะไม่มีเป็นระบบ มีแต่เป็นโครงการที่ไม่ค่อยชัดเจน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่คนเช่า บ้านเช่า ห้องเช่ามีมากมาย ยังไม่มีการพูดถึงการควบคุมค่าเช่า และมาตรฐานของบ้านเช่าที่เป็นอยู่ในแบบที่เป็นไปได้จริงด้วย ระบบการเช่าบ้านไม่เคยถูกสร้างให้เป็นระบบเฉพาะ มีองค์ประกอบของสัญญาเช่าที่ต่างจากการเช่าอย่างอื่น ไม่มีองค์กรและกฎหมายรองรับโดยเฉพาะ การขึ้นราคาค่าเช่าไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจน หรือถูกควบคุม (rent control) ในลักษณะที่พอจะอยู่กันได้ระหว่างผู้ให้เช่าบ้าน ห้อง ที่ดิน กับคนเช่า

สัญญาเช่าของคนจนมักจะเป็นเดือนต่อเดือน สัญญาปากเปล่า หรือจากเดิมที่ไม่มีสัญญา หรือสัญญาระยะยาว ก็จะถูกปรับเปลี่ยนให้สั้นลงเรื่อยๆ เมื่อแรงจูงใจของเจ้าของที่ดินที่แท้จริงต้องการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปตามแรงกดดัน หรือแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ โดยที่ระบบการวางผังเมืองไม่ได้คำนึงถึงความต้องการที่พักอาศัยที่เป็นจริงเลย

ความเปราะบางของชีวิตคนจน โดยเฉพาะคนจนเมืองหลุดระบบกลุ่มนี้ นอกจากจะเกิดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เขาต้องเผชิญแล้ว ยังเกิดจากการขาดหายไป และไม่เข้าใจความซับซ้อนของระบบคนจนเมือง และระบบที่พักอาศัยในเขตเมืองดังที่กล่าวมาแล้วด้วย

สาม ความเลวร้ายที่สุดในระบบของการขาดแคลนนโยบายที่พักอาศัยในสังคมไทย คือไม่มีนโยบายของรัฐต่อการไล่รื้อชุมชนต่างๆ แถมกรณีส่วนมากการไล่รื้อมาจากความเป็นเจ้าของที่ดินของหน่วยงานรัฐเอง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในหลายพื้นที่ก็คือ เรามีแต่หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของที่ดินหลายหน่วยงานที่มองทรัพย์สินของตัวเองเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อผลประโยชน์ในเชิงรายได้ของหน่วยงานตัวเอง เพราะมีตัวชี้วัดชุดหนึ่ง กับมีหน่วยงานอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องแบกภาระในการจัดหาที่ดินในพื้นที่ต่างๆ โดยไม่เคยสอดคล้องกับความเป็นจริงในการไล่รื้อ

พูดง่ายๆ ก็คือ ตราบใดที่แผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยและนโยบายกับแผนต่างๆ ของหน่วยงานที่ดูแลที่พักอาศัย ไม่ได้เชื่อมโยงกับเรื่องของการไล่รื้อชาวบ้านที่เคยอยู่อาศัยอยู่ก่อน และหาหนทางร่วมกันอย่างเป็นระบบจากทุกฝ่าย สิ่งที่อ้างว่าเป็นนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ที่พักอาศัยในประเทศนี้ก็ไม่มีแก่นสารสาระใดๆ ในความเป็นจริง ในความหมายของการยืนยันสิทธิของการเข้าถึงที่พักอาศัย ซึ่งหมายถึงสิทธิที่เขาจะอยู่ในเมืองนั้นอย่างมีอำนาจและศักดิ์ศรีในฐานะพลเมือง

นโยบายที่อ้างว่ามี อ้างว่าเขียนก็เป็นคำสวยหรูดูดีที่เขียนไปเรื่อยๆ เหมือนที่เป็นมา ขาดความเข้าใจสถานการณ์ และการผูกขาดอำนาจและทรัพยากรในเมือง และจากเจตนารมณ์ที่จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์ดังกล่าว

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องช่วยกันคิดถึงยุทธศาสตร์ที่พักอาศัยของประเทศ และของพื้นที่ท้องถิ่นตั้งแต่ต้น ไม่ใช่มีแต่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ ทั้งเศรษฐกิจและการคมนาคม โดยไม่ได้เอาเรื่องของการพักอาศัยมาอยู่ในเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นของการพัฒนาเมือง

การพูดถึงระบบการช่วยเหลือของรัฐต่อคนที่เปราะบางในแง่ของการสนับสนุนทางการเงินอาจจะทำได้ในระดับหนึ่ง แต่การช่วยเหลือในด้านอื่น เช่น การเข้าใจระบบนิเวศวิทยาของแต่ละพื้นที่ย่อยๆ ที่เข้าใจว่าชุมชนแออัด และคนที่หลุดระบบจากระบบชุมชนจะต้องมีชีวิตอยู่ในส่วนนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ การแทรกแซงในเรื่องของกฎระเบียบเรื่องการเช่า ทั้งการกำหนดค่าเช่า มาตรฐานการเช่า ก็เป็นเรื่องเร่งด่วนและยังต้องพิจารณากันต่อไปอีกในแง่ของการไม่สร้างภาระเพิ่มให้คนเช่า ในแง่ของราคาที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐานที่ตามมาเมื่อนำระบบการเช่าบ้านเข้าสู่ระบบใหญ่ ซึ่งในแง่นี้รัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าได้ในบางส่วน

ที่สำคัญการไล่รื้อในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะจากที่ดินของรัฐจะต้องมีระบบการบริหารจัดการที่ไม่มองว่าประชาชนเป็นเพียงผู้รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ แต่ต้องเข้าใจเงื่อนไข และหาทางออกที่เป็นไปได้ และได้สัดส่วนกับความช่วยเหลือที่เป็นจริงกับประชาชนเหล่านั้นอย่างทันท่วงที

หมายเหตุ : ส่วนหนึ่งของบทความนี้พัฒนาจากงานวิจัยของผม (บทสํารวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ: กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล) เสนอต่อสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. ภายใต้โครงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะและประสานเครือข่ายคนไร้บ้านและคนจนเมืองของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอขอบคุณเป็นพิเศษ กับ คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน (ผู้จัดการโครงการ), อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง, อาจารย์บุญเลิศ วิเศษปรีชา, อาจารย์บุษรา โพวาทอง, คุณพรรณทิพย์ เพชรมาก, คุณนพพรรณ พรหมศรี (พี่ตุ้ย) และคุณสมภพ พร้อมพอชื่นบุญ (ที่ปรึกษารองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) สำหรับข้อคิดเห็นและการสนับสนุนในหลายรูปแบบ และผู้ให้ข้อมูลจากพื้นที่วิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image