คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ‘การเมืองเชิงนโยบาย’ ที่ถูกลดทอนเป็น ‘การเมืองแบบสัญญาไปเรื่อย’

ถ้เราลองคิดว่า ข้อเสนอเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน เงินเดือนแรงงานปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนนี้ ถูกเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่พรรคใหม่ล่าสุดในแนวทางเดียวกันอย่างรวมไทยสร้างชาติ จะได้รับแรงต้านและการวิพากษ์วิจารณ์เท่าการเสนอของพรรคเพื่อไทยหรือไม่ 

ไม่ว่าจะตอบโดยคิดเร็วๆ จากสัญชาตญาณ อย่างที่ ศ.ดร.แดเนียล คาห์นเนอมานน์ เรียกว่าระบบ 1” หรือจะคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผลแบบระบบ 2” ก็จะได้คำตอบตรงกันว่าไม่

ไม่ใช่ด้วยเหตุผลเพียงเพราะว่าเสียงคัดค้าน

นโยบายนี้มักจะมาจากฝั่งฝ่ายที่ไม่นิยมพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว เพราะเอาจริงๆ จากที่เห็นและสัมผัสในแวดวงใกล้ชิด แม้แต่คนที่สมาทานประกาศตนว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยเอง ก็ไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายนี้เสียเท่าไร 

Advertisement

แต่เพราะประสบการณ์เกือบ 4 ปี ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคดังกล่าว เราก็รู้กันว่านโยบายของพวกเขาประกาศออกมาก็เท่านั้น ไม่ปรากฏผลว่าได้นำไปทำจริงๆ หรือมีการผลักดันพอให้เห็นว่าพยายามทำให้เป็นจริงแล้วแต่อย่างใด 

ในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว พรรคพลังประชารัฐก็ประกาศเป็นนโยบายว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท ระดับอาชีวะเงินเดือน 18,000 บาท ปริญญาตรี 20,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับช่วงเวลาที่ประกาศนโยบายและเงินเฟ้อเมื่อปี 2562 เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีนัยแตกต่างจาก 600 บาท และ 25,000 บาท ในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทยเสียเมื่อไร และก็อย่างที่เราก็รู้กันในวันนี้ (หรือเดาได้ตั้งแต่วันนั้น) แล้วว่านโยบายนี้ก็ไม่ได้ปรากฏเป็นจริง แม้แต่ Infographic โชว์นโยบายในเพจของพรรคก็ยังถูกลบออกไป เพราะโดนชาวเน็ตเข้าไปกระหน่ำล้อ

ดังนั้น เรียกว่าต่อให้สองพรรคที่ว่านั้นประกาศให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละพัน จบปริญญาตรีได้เดือนละแสน ก็ไม่มีใครตื่นเต้นอะไร

Advertisement

ยกเว้นแต่ว่า ถ้าพวกเขาประกาศเป็นนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการเป็นจบปริญญาตรีบรรจุเริ่มต้นระดับปฏิบัติการเดือนละแสนบาท พร้อมวันหยุดปีละ 30 วัน หรือเพิ่มบำนาญข้าราชการให้ไปเท่าเงินเดือนสุดท้ายเลยนี่สิถึงจะเดือดจริง เพราะเราก็พอจะเดาได้ว่าถ้าเป็นเรื่องแบบนี้ละก็พวกเขาจะพยายามผลักดันทำให้เป็นจริงได้แน่ๆ 

เพราะสภาวะ วัฒนธรรม และระบบการเมืองที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ได้พาเรากลับไปสู่การเมืองแบบสัญญาไปเรื่อยเหมือนในช่วงยุคก่อน พ..2540 ไปแล้วนั่นเอง

ในยุคที่นโยบายของพรรคการเมืองนั้นเป็นเรื่องฟังเอาขำๆ ไม่มีใครคิดจริงจัง เพราะไม่มีใครผลักดันอะไรได้จริงตามที่หาเสียงสักเท่าไร ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากสภาพของรัฐบาลและรัฐสภาในยุคสมัยนั้น เป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีความมั่นคงทางการเมือง รัฐบาลประกอบไปด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค ดังนั้น นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองที่ประกาศไว้ตอนหาเสียง ต่อให้ไม่สามารถผลักดันได้จริง ก็พอจะมีข้ออ้างที่ฟังขึ้นเหมือนกันว่าเพราะติดขัดที่ถึงจะเป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้คุมอำนาจในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หรือไม่ได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่นก็เลยทำไม่ได้ 

จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ อยู่ที่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ร่างขึ้นโดยมีเจตนาในการปฏิรูปการเมือง และพยายามออกแบบการเมืองที่ให้มีรัฐบาลเข้มแข็ง หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจต่อรองและตัดสินใจทางการเมืองสูงที่สุดมีผลใช้บังคับ

ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อพรรค การเมือง ที่เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อให้มีผู้แทนของประเทศจากพรรคการเมืองแล้ว ก็มีเจตนารมณ์กลายๆ ว่าจะให้เป็นการเลือกคณะรัฐมนตรีในทางอ้อมด้วย เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าววางกติกาไว้ว่า รัฐมนตรีจะเป็น ส.. พร้อมกันไม่ได้ กลไกนี้ทำให้เกิดผลสองทาง คือ พรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล และต้องการรักษาความได้เปรียบไว้ ก็ควรจะเลือกตัวรัฐมนตรีจาก ส..ระบบบัญชีรายชื่อ ก็จะไม่ขาดทุน หรือต้องลุ้นไปเลือกตั้งซ่อมกันใหม่ และในอีกทางหนึ่ง เมื่อ ส..คนไหนมาเป็นรัฐมนตรีแล้ว ตัวเองก็จะขาดจากความเป็น ส.. ทำให้อำนาจต่อรองในสภาลดลง การจะไปเกเรกับหัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรีนั้นก็มีราคาสูงขึ้น เพราะถ้าถูกปรับออกไปจากตำแหน่ง ก็เป็นอันว่าอดีตรัฐมนตรีผู้นั้นก็พ้นจากวงจรอำนาจทางการเมืองในสมัยนั้นไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่

รัฐธรรมนูญ 2540 ออกแบบไว้เช่นนี้ก็เนื่องมาจากสมมุติฐานที่ว่า การเมืองในยุคก่อนที่รัฐบาลไม่มีความมั่นคง เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตการเมืองที่จะทำให้อำนาจนอกระบบเข้ามาแทรกแซงโดยการรัฐประหาร ซึ่งจะพาให้ประเทศตกลงไปในหลืบหลุมวงจรอุบาทว์เหมือนเช่นที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ปี พ..2490 ถึงการรัฐประหารครั้งก่อนหน้า คือปี พ..2534 ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปีต่อมา

การปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มาประจวบเหมาะกับการเข้าสู่วงการการเมืองอย่างเต็มตัวของ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองเชิงนโยบายอย่างแท้จริง

ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่กล่าวไป ทำให้รัฐบาลของทักษิณและพรรคไทยรักไทย มีอำนาจทางการเมืองสูงพอที่จะผลักดันนโยบายต่างๆ ให้เป็นจริงตามที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่สุดที่เหมือนจะเหลือเชื่อและเกินจินตนาการไปมากสำหรับสมัยนั้น คือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรคที่ยังคงเหลือเป็นนโยบายมรดกที่ไม่มีใครกล้ายกเลิกมาจนทุกวันนี้ ส่วนนโยบายอื่นๆ เช่น กองทุนหมู่บ้าน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และสารพัดเอื้ออาทรต่างๆ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ไปจนถึงบ้าน ก็ยังเป็นที่จดจำได้เช่นกันการผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วทำได้จริง เป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนแปลงทางความรับรู้ของประชาชนไทยและสังคมการเมืองอย่างยิ่ง

สำหรับประชาชน นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของเราอาจเปลี่ยนไปได้จากการตัดสินใจผ่านการออกเสียงเลือกตั้ง โดยเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายที่เราต้องการให้เกิดขึ้น

สำหรับฝ่ายการเมือง ก็เป็นข้อระวังว่า ต่อไปการประกาศนโยบายในการหาเสียงนั้นจะกำหนดแบบพล่อยๆ นึกจะประกาศอะไรให้มันสวยงามก็ไม่ได้แล้ว แต่จะต้องคิดถึงเรื่องการเข้าไปผลักดันนโยบายนั้นให้เป็นจริงด้วย หากได้เป็นรัฐบาล

วัฒนธรรมการเมืองเช่นนี้ยังสืบต่อมา แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2540 จะถูกฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารในปี 2549 ไปแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นก็ยังมีลักษณะเป็นการต่อสู้กันของการเมืองเชิงนโยบายอยู่

แต่วัฒนธรรมเช่นนี้ค่อยๆ จางหายไป และนำพาการเมืองไทยไปสู่การเมืองแบบสัญญาไปเรื่อย ที่นโยบายที่หาเสียงไว้ ประกาศไปแต่ไม่ต้องทำก็ได้เหมือนสมัยยุค พ..2530 ตั้งแต่เมื่อไร และเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร

ผลพวงส่วนหนึ่งมาจากความพยายามลดทอนความเข้มแข็งของการเมืองของพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญ 2550 และกลยุทธ์ทางการเมืองที่อาศัยกระบวนการตรวจสอบทางรัฐธรรมนูญและอำนาจตุลาการมาเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบการดำเนินนโยบายของฝ่ายการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาล

ผลนี้ปรากฏในช่วงการใช้บังคับของรัฐธรรมนูญปี 2550 เมื่อนโยบายสำคัญอย่างน้อยสองเรื่องของพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งในปี พ..2554 ได้ประกาศไว้และนำไปผลักดันจริงนั้น ต้องเป็นอันตกไปด้วยกลไกทางกระบวนการตุลาการ

ตั้งแต่นโยบายเชิงการเมือง ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยตัวแทนของประชาชนเช่นเดียวกับที่เคยเป็นกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2540 แม้ว่าในที่สุดจะมีการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามนโยบายดังกล่าวไปสำเร็จถึงสองวาระแล้ว แต่ก็มีผู้นำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ในที่สุดศาลจะวินิจฉัยว่าไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้วินิจฉัยเชิงวางข้อจำกัดหรือให้ความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวต้องขอประชามติจากประชาชนก่อน ในที่สุดร่างรัฐธรรมนูญให้ตั้ง ส... ดังกล่าวก็เป็นอันตกไปแบบเงียบๆ เพราะไม่มีการนำมาลงมติในวาระที่สาม

นโยบายเชิงเศรษฐกิจที่สำคัญ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือที่ประชาชนรับรู้กันในชื่อของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งต้องมีการออกกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ที่รู้จักกันในชื่อของร่าง พ...เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทก็ถูกพรรคฝ่ายค้านนำไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยไปตามคำร้องนั้น ทำให้โครงการดังกล่าวต้องตกตามไปพร้อมกับกฎหมาย

การผลักดันนโยบายของพรรคการเมืองให้เป็นไปได้จริงตามที่สัญญาไว้กับประชาชน นอกจากจะต้องต่อสู้ในทางการเมืองกับผู้เล่นทางการเมืองในระบบเลือกตั้งแล้ว ยังต้องต่อสู้กับกลไกทางรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

เมื่อประกอบกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้การเมืองระบบพรรคการเมืองอ่อนแอลง โอกาสที่จะมีพรรคการเมืองที่มีอำนาจนำในรัฐบาลที่พอจะขับเคลื่อนนโยบายได้จริงแบบรัฐบาลพรรคเดียว หรืออย่างน้อยก็เป็นรัฐบาลผสมน้อยพรรคนั้นเป็นไปได้ยาก และรัฐบาลก็ยังมีภาระไปต่อสู้ในเกมการเมืองในสภาแบบไม่เป็นอันต้องทำอะไรแล้ว ทำให้การผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ให้เป็นจริงนั้นทำได้ยากเย็นขึ้นไปอีก

จนกลายเป็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอย่างพรรคภูมิใจไทย ถึงกับใช้คำโฆษณาว่าพูดแล้วทำซึ่งชูจุดเด่นว่า พรรคของตัวเองสามารถผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ให้เป็นจริงได้ เช่น นโยบายทำให้พืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายในทุกกรณี ซึ่งเรื่องนี้จะดีชั่วชอบชังก็ยังถกเถียงกันได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่านี่ก็เป็นความพยายามในการนำการเมืองแบบนโยบายพรรคกลับมา

แต่ก็ได้เห็นเช่นกันว่าด้วยกลไกทางการเมืองที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ที่ผลักดันโดยพรรคการเมืองดังกล่าวก็ไม่อาจผ่านสภาออกมาได้โดยง่าย

ยังไม่นับกับดักทางรัฐธรรมนูญอีกบางเรื่อง เช่นเรื่องหนึ่งที่อาจจะกลายเป็นอาวุธสำคัญในอนาคต คือรัฐธรรมนูญมาตรา 51 ที่แม้ว่าจะเหมือนเป็นการให้สิทธิแก่ประชาชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ จนถึงขั้นสามารถฟ้องคดีหน่วยงานของรัฐรวมถึงรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนด

ไว้ในรัฐธรรมนูญหมวด 5 แต่ก็อาจถูกใช้เป็นช่องในการที่ในที่สุดจะเป็นการร้องต่อศาลเพื่อให้ตรวจสอบการดำเนินนโยบายของรัฐบาลได้โดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐที่ไม่ถูกต้อง หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งหมดนี้คือการสาปให้การเมืองเชิงนโยบายง่อยเปลี้ยลง ทั้งจากตัวบทรัฐธรรมนูญ และจากวัฒนธรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความพยายามกีดกันการกลับสู่อำนาจของฝั่งฝ่ายที่เคยประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ทั้งสิ้น 

ดังนั้น จึงยังอาจจะเร็วเกินไปที่เราจะมาประเมินความเป็นไปได้และผลกระทบต่างๆ ของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท เพราะเอาเข้าจริงมันคงยังห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก ภายใต้สภาวะและกติกาทางการเมืองเช่นนี้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image