ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนปริพาชก (2-จบ)

ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนปริพาชก (2-จบ)

ปริพาชกจำนวนหนึ่งในสมัยพุทธกาลมีความสนใจความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติทางจิตอย่างมากด้วย

ที่กรุงราชคฤห์มีปิลินทวัจฉะและวังคีสะที่เชี่ยวชาญฤทธิ์เดช ที่กรุงสาวัตถีก็มีโปฏฐปาทะที่สนใจเรื่องจิต

ปิลินทวัจฉะเป็นพราหมณ์ตระกูลวัจฉโคตรที่เบื่อหน่ายการครองเรือนจึงได้ออกบวชเป็นปริพาชก กำเนิดในกรุงสาวัตถีแต่ไปเรียนวิชาจุลคันธาระที่แคว้นคันธาระ วิชาอิทธิปาฏิหาริย์ประเภทเหาะได้ดำดินได้นี้มีประวัติว่ามาจากฤาษีคันธาระซึ่งเป็นผู้สร้างแคว้น บางทีเรียกว่าวิชาคันธารี

Advertisement

วิชาแนวอิทธิปาฏิหาริย์ในสมัยพุทธกาลถือว่าวิชาคันธาระเป็นวิชาที่โดดเด่น ส่วนวิชาทายใจหรือล่วงรู้ใจผู้อื่นในพระสูตรมีวิชามณิกา หรือจินดามณี เป็นวิชาที่เลื่องชื่อ

ในสมัยพุทธกาลวิชาคันธาระเหลือเพียงวิชาจุลคันธาระ ในพระสูตรมีเหตุการณ์ครั้งปฐมโพธิกาลว่า ปิลินทปริพาชกได้เดินทางมาถึงกรุงราชคฤห์แล้วความสามารถของตนก็เสื่อมไป ซึ่งทำให้เชื่อว่ามีผู้ที่สำเร็จมหาคันธาระ อยู่ในอาณาเขตนั้น จึงแสวงหาความมีอยู่ของวิชานี้จนพบพระศาสดา

ความประสงค์ที่จะเรียนวิชามหาคันธาระทำให้ปิลินทปริพาชกขอบวชและก็ได้อภิญญาพร้อมอาสวักขยญาณ ท่านมีฤทธิ์อภิญญาอย่างยิ่ง

Advertisement

วังคีสปริพาชกเป็นบุตรปริพาชกในสกุลพราหมณ์ในแคว้นวังสะ ท่านโดดเด่นมากในวาทะและบทกวี เชี่ยวชาญในทุกคัมภีร์อีกทั้งยังสำเร็จวิชามนต์ที่มีชื่อว่า ฉวสีสะ วิชานี้ใช้ในการตามหาคติกำเนิดของผู้ที่ตายไปแล้วด้วยการเคาะกระโหลกของผู้ตาย คติกำเนิดเป็นอาการของจิตที่ไปเกิดซึ่งยังหยาบในขณะที่เพ่ง

เมื่อท่านได้พบพระสารีบุตรที่กรุงราชคฤห์ก็เลื่อมใสในปฏิปทา พระสารีบุตรนำวังคีสะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่กรุงสาวัตถี วังคีสะพบว่าตนไม่สามารถรู้คติกำเนิดของพระอรหันต์ได้เลย จึงอยากเรียนรู้การตามจิตวิญญาณของพระอรหันต์และได้ขอบวชในสำนักพระพุทธเจ้า พระอุปัชฌาย์ของท่านคือพระกัปปะ หรือพระนิโครธกัปปเถระซึ่งอยู่ด้วยในขณะเข้านั้น

พระพุทธองค์ทรงสอนกรรมฐานให้วังคีสะ ทรงประทานกรรมฐานบทว่าด้วยอาการ 32 ซึ่งให้กายคตาสติและอสุภกรรมฐาน ครั้งบวชพระนิโครธกัปปเถระได้บอกกรรมฐานห้า (ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง) ต่อมาพระวังคีสะบรรลุอรหัตตผล และกล่าวว่าท่านได้เรียนเรื่องขันธ์ อายตนะ และธาตุ

พระวังคีสะมีจริตแห่งการเพ่ง ครั้งแรกบวชใหม่อยู่ผู้เดียวเห็นสตรีแต่งกายสวยงามแล้วเกิดความกำหนัด ครั้งออกบิณฑบาตตามหลังพระอานนท์ที่กรุงสาวัตถีก็มีจิตจดจ่อต่ออิสสตรี พระอานนท์แนะนำท่านให้ละนิมิตอันสวยงามแต่ให้เจริญอสุภะ ให้มีกายคตาสติ มีความหน่าย ไม่มีนิมิตและให้ถอนจากอนุสัยของมานะ

โปฏฐปาทะเป็นปริพาชกที่พระพุทธองค์เสด็จโปรดที่มัลลิการาม ซึ่งเป็นอารามปริพาชกที่พระมเหสีในพระเจ้าปเสนทิโกศลสร้างขึ้น ครั้งนั้นมัลลิการามมีปริพาชก 3,000 คนประชุมกันอยู่ เรื่องที่ถกเถียงกันเป็นเรื่องทางโลก เช่น เรื่องพระราชา เมือง นิคม ฯลฯ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดที่นั่นโปฏฐปาทปริพาชกเห็นว่าไม่ควรถามในเรื่องที่ไม่สำคัญ ซึ่งประชุมกันอยู่

โปฏฐปาทปริพาชกได้ถามเรื่องจิต ซึ่งเพิ่งมีการโต้เถียงกันในหมู่สมณพราหมณ์หลายลัทธิแต่ขาดข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ ประเด็นที่ถามคืออภิสัญญานิโรธ ในสมัยนั้นอภิสัญญานิโรธคงเหลือเพียงพยัญชนะแต่ต่างไม่รู้ความหมายที่แท้จริง

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสัญญาเกิดขึ้นเองและดับไปเอง ไม่มีเหตุปัจจัยของการเกิดและการดับของสัญญา ถ้าสัญญาเกิดขึ้นก็ถือว่าผู้นั้นมีสัญญาและถ้าสัญญาไม่เกิดขึ้นก็ถือว่าผู้นั้นไม่มีสัญญา

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสัญญาเป็นอัตตา เมื่อมีอัตตาเข้ามาสัญญาจึงมีเกิดขึ้น เมื่ออัตตาออกไปสัญญาก็จะหมดไป

อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเทวดาที่มีฤทธิ์ดลบันดาลให้บางครั้งสัญญาเกิดขึ้นและบางครั้งดับไป

กล่าวคือฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอภิสัญญานิโรธเป็นเพียงการที่สัญญาหายไปแล้วกลับมาเกิดขึ้นอีกได้อย่างไม่มีสาเหตุ จะสร้างเงื่อนไขให้เกิดก็ไม่ได้และจะให้ดับไปก็ไม่ได้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าอภิสัญญานิโรธเป็นการดับไปของสัญญาตามอัตตาที่จากไป ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเห็นว่าเป็นสัญญาที่ดับไปแล้วเกิดขึ้นใหม่ได้อีกตามการดลบันดาลของเทวดาผู้มีฤทธิ์

พระสูตรที่กล่าวถึงคำสอนนี้เป็นที่เข้าใจได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติทางจิตขั้นที่จะบรรลุธรรม พระพุทธองค์ทรงสอนอภิสัญญานิโรธนี้ให้พระมหาโมคคัลลานะสำเร็จอรหัตตผล

สัญญาปกติหมายถึงอาการของจิตที่ทำหน้าที่จำและตีความ ในที่นี้สัญญาเป็นคำที่แคบลงและหมายถึงอาการของฌานสัญญาหรือสัญญาในสมาธิ

สมาธิที่อ่อนจะมีสัญญาที่อ่อน หรือปรากฏไม่แน่วแน่เรียกว่า ขนิกสัญญา เมื่อมีการเจริญจิตตภาวนาถึงฌาน สัญญาที่ปรากฏในฌานเป็นฌานสัญญาที่เป็นฌานโลกีย์ ส่วนอภิสัญญาเป็นสัญญาที่ปรากฏในฌานขั้นโลกุตระ

ยอดของฌานนอกพระพุทธศาสนาคือฌาน 7 (อากิญจัญญายตนะ) และฌาน 8 (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ยอดของฌานในพระพุทธศาสนาคือฌานขั้นใดก็ได้ที่ละแล้วเกิดอภิสัญญา

ส่วนสัญญานิโรธคือการที่ในจิตมีฌานสัญญาหนึ่งดับไปโดยมีฌานสัญญาอื่นเกิดขึ้นแทน อภิสัญญานิโรธจึงเป็นการดับไม่เหลือของฌานสัญญา

พระพุทธองค์ทรงอธิบายโปฏฐปาทปริพาชกว่าสัญญามีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นและดับไป ส่วนอภิสัญญานิโรธสามารถเกิดขึ้นและดับไปได้ด้วยสิกขา (การศึกษาปฏิบัติทางจิตหรือจิตตสิกขา) พระพุทธองค์ทรงสอนเรื่องอภิสัญญานิโรธและการเกิดขึ้นและดับไปของอภิสัญญานิโรธ โดยทรงสอนเป็นลำดับตั้งแต่จุดเริ่มต้น อันได้แก่ ศีล อินทรียสังวร สติสัมปชัญญะ สันโดษ และนิวรณ์

ลำดับต่อจากนั้น ทรงสอนถึงสัญญาว่ามีเหตุเกิดและเหตุดับอย่างไรแล้วจึงทรงสอนการเข้าอภิสัญญานิโรธ

การเกิดสัญญาของปฐมฌานเป็นการละสัญญาของขณิกสมาธิ การเกิดสัญญาของทุติยฌานเป็นการละสัญญาของปฐมฌาน การที่จะเจริญจิตตภาวนาให้ถึงอภิสัญญานิโรธต้องละฌานสัญญาตั้งแต่สัญญาของปฐมฌานถึงอากิญจัญญายตนสัญญาก่อนจึงจะเกิด
อภิสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญาละเอียดเกินไปที่พุทธสาวกจะละเข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือฌาน 9 ได้

การปฏิบัติทางจิตให้เกิดอภิสัญญาจักต้องสิกขาทั้งสติ สมาธิและปัญญา การมีสัมปชัญญะเป็นการมีปัญญาเบื้องต้นก่อนแล้ว สัมปชัญญะของผู้ปฏิบัติจึงให้สัญญาที่มีปัญญา การเจริญฌานแบบฤาษีดาบสจึงแตกต่างออกไปและไม่ใช่ทาง

เมื่อเกิดอภิสัญญาแล้วละอภิสัญญาก็จะบรรลุธรรมสู่อรหัตตผล

พระพุทธองค์ทรงตอบคำถามของโปฏฐปาทปริพาชกว่าสัญญาเกิดก่อนญาณ ฌานในพระพุทธศาสนาจึงเป็นปัจจัยที่ให้ปัญญา

กสิณในฌานเป็นสัญญา ถ้าวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นก็จะเป็นญาณ วิปัสสนาเป็นสัญญาที่ทำให้เกิดมรรคสัญญาซึ่งเป็นญาณ มรรคสัญญาจะทำให้เกิดผลญาณ นี้เป็นเหตุปัจจัยของสัญญาและญาณ

หลังจากนั้น 2-3 วัน โปฏฐปาทปริพาชกได้พาจิตตหัตถิสารีบุตรผู้เป็นเพื่อนไปเข้าพระศาสดาด้วยกัน จิตตะเคยบวชเป็นภิกษุมาแล้วหลายครั้ง พระพุทธองค์ทรงอธิบายเรื่องสัญญาและอัตตาว่าการได้อัตตามี 3 ประเภท ได้แก่ อัตตาที่หยาบของกามภพ อัตตาที่ละเอียดที่สำเร็จด้วยใจในรูปภพ และอัตตาที่ไม่มีรูป ซึ่งสำเร็จด้วยสัญญาในอรูปภพ ทรงสอนว่าการละอัตตาทั้งหลายกระทำได้ด้วยสมถวิปัสสนาจนเกิดปัญญาอันยิ่ง

โปฏฐปาทปริพาชกถวายตนเป็นอุบาสก ส่วนจิตตหัตถิสารีบุตร ขออุปสมบทอีกและได้ออกปฏิบัติเดี่ยวจนบรรลุอรหัตตผล

ที่กรุงสาวัตถีและกรุงราชคฤห์มีปริพาชกอีก 2 ท่าน ที่อาจมีความสนใจในทางจิต ได้แก่ ติมพรุกขปริพาชก และวัจฉโคตรปริพาชก

ติมพรุกขะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันวิหาร และถามว่า สุขและทุกข์เป็นเพราะตนเองกระทำหรือผู้อื่นกระทำหรือทั้งสองอย่าง หรือว่าสุขทุกข์ไม่มีจริง พระพุทธองค์ทรงสอนว่าเหตุของสุขหรือทุกข์ในทางสายกลาง ไม่สุดโต่งไปในทางที่เป็นการกระทำของผู้เสวยเวทนาหรือเป็นเพราะผู้อื่น ทรงอธิบายตามปฏิจจสมุปบาทว่า อวิชชาเป็นปัจจัยของสังขาร วิญญาณ จนถึงกองทุกข์ และเพราะอวิชชาดับไม่เหลือ สังขาร วิญญาณจนถึงกองทุกข์จึงจะดับสิ้นไป

ติมพรุกขะเลื่อมใสในคำสอนและประกาศตนเป็นอุบาสก

วัจฉะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ที่พระเชตวันวิหารและถามเกี่ยวกับความเที่ยงและความมีอยู่จริงของโลก ชีพและสรีระ เป็นต้น และถามว่าภิกษุผู้หลุดพ้นจะเกิดในที่ไหนหรือไม่เกิดหรือเกิดก็มีไม่เกิดก็มี พระพุทธองค์ทรงสอนว่าธรรมของการหลุดพ้นเป็นเรื่องลุ่มลึกและยากมาก ซึ่งไม่สามารถรู้เห็นได้ด้วยการคิดอ่าน ทรงถามวัจฉะว่าไฟที่เห็นลุกโพลงอยู่ตรงหน้าซึ่งต้องอาศัยเชื้อคือหญ้าและไม้นั้น เมื่อดับแล้วจะไปไหนเพราะเมื่อเชื้อสิ้นไปไฟจึงจะดับจริง การละขันธ์ทั้งห้าจึงจะเป็นการขาดไปของมูลราก ซึ่งเป็นการถึงความไม่มีและมีความไม่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา

วัจฉะขอถวายตนเป็นอุบาสก และต่อมาที่พระเวฬุวันวิหารได้ขอพระพุทธองค์แสดงธรรมเกี่ยวกับกุศลและอกุศล และการบำเพ็ญธรรมให้บริบูรณ์ พระพุทธองค์ทรงตอบว่า ในการบำเพ็ญธรรมพระภิกษุจำนวนมากบรรลุอรหัตตผล อุบาสกและอุบาสิกาจำนวนมากบรรลุอนาคามิผลและโสดาปัตติผล ไม่มีอาชีวกใดเลยที่บรรลุธรรม

คำสอนของพระพุทธองค์ทำให้วัจฉะขอบรรพชาโดยอยู่ปริวาสก่อน 4 เดือน หลังจากบรรพชาได้กึ่งเดือนก็บรรลุอนาคามิผล พระพุทธองค์ทรงสอนให้อาศัยสมถวิปัสสนาให้มาก เจริญอภิญญาจนถึงอาสวักขยญาณ ให้รู้แจ้งทั้งเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติ

เมื่อพระวัจฉโคตรหลีกเร้นไปกระทำความเพียร ไม่นานก็บรรลุอรหัตตผล

ส่วนสุภัททปริพาชกเป็นปริพาชกอาวุโสในกรุงกุสินารา ท่านได้เข้าเฝ้าในราตรีแห่งพุทธปรินิพพานและได้รับพุทธานุญาตให้บวชได้โดยไม่ต้องอยู่ปริวาสแล้วบรรลุธรรมในเวลาไม่นาน

สุภัททปริพาชกสนใจการบรรลุธรรมแต่ติดใจสงสัยว่าลัทธิของครูทั้งหกซึ่งอยู่นอกพระพุทธศาสนาสามารถนำไปสู่การบรรลุธรรมได้จริงหรือไม่

พระพุทธองค์ตรัสว่า ในธรรมวินัยในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้นที่มีอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 เมื่อภิกษุพึงอยู่โดยชอบ โลกจะไม่พึงว่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image