ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนนิครนถ์และอเจลก

ดุลยภาพดุลยพินิจ : พระพุทธเจ้าสอนนิครนถ์และอเจลก

นิครนถ์และอเจลกเป็นกลุ่มนักบวชที่ได้รับการเคารพนับถือตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล อเจลกประพฤติเปลือยในขณะที่นิครนถ์หันมานุ่งห่มผ้ามากขึ้นตามในสมัยพุทธกาล อาชีวกประพฤติคล้ายนิครนถ์และอเจลก พวกที่ยึดถือการใช้ผ้าห่มผืนเดียวเรียกว่า เอกสาฎก

นิครนถ์แปลว่า ผู้ไม่มีกิเลส มีการเปลือยเป็นการสละความมัวเมาทางโลก ผู้ที่มุ่งความหลุดพ้นจะถือศีลพรตและไม่นุ่งผ้า หรือมีผ้าใช้เพียงผืนเดียว ศิษย์ฆราวาสและสตรีสามารถนุ่งขาวห่มขาวแต่จะเข้าถึงความเป็นผู้สำเร็จได้ไม่มากเท่า นิครนถ์เชื่อเรื่องกรรมแต่เป็นลัทธิกรรมเก่า

อเจลก หรืออเจลกะเป็นนักบวชที่เปลือยจริงๆ เปลือยแบบไม่มีมารยาท มีเงื่อนไขชีวิตทางกายมากและอาศัยการเลียมือ ถ้ามีผู้เชิญให้ไปรับอาหารก็จะไม่ไป ถ้าอาหารที่ให้บิณฑบาตมีการแบ่งเอาไว้ก็ไม่ได้ ถ้าทำอาหารให้เป็นการเฉพาะก็ไม่รับ ไม่รับอาหารจากหญิงที่มีครรภ์ หรือที่ให้นมบุตร หรือที่คลอเคลียบุรุษ ไม่รับอาหารที่เป็นปลาและเนื้อสัตว์ รับอาหารเพียง 1-2-3 คำจากเรือนหลังที่ 1-2-3 ต้องเก็บค้างอาหารก่อนกิน ฯลฯ

Advertisement

อาชีวกเป็นนักบวชที่เชื่อเรื่องการหาเลี้ยงชีพ ชาติมีความสูงต่ำอยู่ที่การเลี้ยงชีพไม่ใช่อยู่ที่วรรณะกำเนิด อาชีวกรุ่นเก่าอาศัยไม้เท้าท่องไปอย่างนักบวช การตระเวนขอภัตตาหารแสดงถึงความบริสุทธิ์ในชีวิต อาชีวกรุ่นใหม่สมัยพุทธกาลมีมักขลิโคสาล ซึ่งมีการเลี้ยงชีพคล้ายอเจลกเป็นผู้นำ

อาชีวกและอเจลกเป็นนักวัตถุนิยมที่ปฏิเสธการเสพสุข ไม่เชื่อเรื่องบุญบาป ไม่เชื่อเรื่องกรรม ชีวิตคือกองเนื้อ

จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดต้นสน ตำบลบางปลาสร้อย ชลบุรี
พระมหากัสสปะพบอาชีวกถือดอกมณฑารพในเหตุการณ์มหาปรินิพพาน

ในสมัยพุทธกาลเจ้าลัทธิอาชีวกเป็นศิษย์ของนิครนถ์ พวกอาชีวกมักเห็นว่าการหลุดพ้นอยู่ที่การสละทางกายและการบังคับทางกายเท่านั้น จึงนับว่าสุดโต่งไปทางกายมากกว่านิครนถ์

Advertisement

ลัทธินิครนถ์เชื่อเรื่องกรรมทางกาย การปฏิบัติธรรมต้องอาศัยการควบคุมการกระทำทางกาย ส่วนทางจิตนิครนถ์ก็ยอมรับการควบคุมจิต จึงนับว่าเชื่อในแนวทางวัตถุนิยมแบบอเจลก แต่ไม่ละเลยแนวทางจิตนิยมแบบฤาษีดาบส ถ้าหากปฏิบัติทางกายด้วย

สัจจกนิครนถ์ยกย่องการปฏิบัติที่ต้องมีการอบรมทางกาย แต่ต้องมิใช่เฉพาะทางจิตเท่านั้น สัจจกะมีบิดามารดาเป็นเจ้าสำนักนิครนถ์แห่งกรุงเวสาลี นิครนถ์นาฏบุตรก็มาจากกรุงเวสาลี ความเชื่อที่ผิดและฝังแน่นของผู้นำนิครนถ์มีส่วนทำให้ปรับคติได้ยาก นิครนถ์นาฏบุตรปฏิเสธการเข้าหาพระพุทธเจ้าในขณะที่สัจจกนิครนถ์พร้อมสนทนากับพระพุทธเจ้า เพียงยังไม่เริ่มเดินทางตามคำสอนของพระพุทธองค์จึงยังไม่เห็นธรรม

นิครนถ์นาฏบุตรเป็นนักบวชบูชาไฟและประมาณได้ว่าท่านสำเร็จรูปฌานสี่ พระพุทธองค์มิได้เสด็จโปรดนิครนถ์นาฏบุตรและเจ้าลัทธินิครนถ์ท่านนี้ได้ให้ศิษย์ไปวิวาทะกับพระพุทธองค์เท่านั้น นิครนถ์นาฏบุตรผิดหวังมากที่ศิษย์ฆราวาสคนสำคัญของตนคือ อุบาลีคฤหบดี ถวายตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าจนกระทั่งกระอักโลหิตออกมา

เหตุการณ์ครั้งนั้นพระพุทธองค์ประทับที่สวนมะม่วงใกล้เมืองนาลันทา ส่วนนิครนถ์นาฏบุตรอยู่กับเหล่านิครนถ์ในตัวเมือง ศิษย์ของนิครนถ์นาฏบุตรชื่อ ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ได้ไปบิณฑบาตในเมืองแล้วมีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อการสนทนา

พระพุทธองค์ทรงถามตปัสสะถึงคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรเกี่ยวกับกรรม ตปัสสะตอบว่ากายกรรมมีโทษมากในขณะที่วจีกรรมและมโนกรรมไม่มีโทษมากเท่า พระพุทธองค์ทรงชี้ว่าในบรรดากรรม 3 อันนั้น มโนกรรมมีความสำคัญที่สุด เพราะมาจากเจตนา

เมื่อนิครนถ์นาฏบุตรรู้เรื่องนี้จากทีฆตปัสสนิครนถ์จึงเห็นชอบที่อุบาลีคฤหบดีอาสาไปวิวาทะกับพระพุทธองค์ ครั้งนั้นพระพุทธองค์ทรงย้อนถามอุบาลีคฤหบดีเรื่องกรรม 3 ซึ่งอุบาลีคฤหบดียอมรับว่านิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติเรื่องกรรมทั้งที่เกิด หรือมิได้เกิดจากเจตนาจึงแย้งกับคำสอนที่ว่ามโนกรรมมีโทษน้อย การยอมรับในคำแย้งและพุทธเมตตาที่ให้ตนเป็นที่พึ่งแก่นิครนถ์ต่อไปทำให้อุบาลีคฤหบดีเลื่อมใสพระพุทธองค์และแสดงตนเป็นอุบาสก

จากนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนอนุบุพพิกกถาจนจิตเหมาะสมแล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจ 4 โปรด ซึ่งได้ทำให้อุบาลีคฤหบดีสำเร็จโสดาปัตติผล

สัจจกนิครนถ์เป็นอาจารย์ของราชบุตรลิจฉวี มีความรู้ทั้งจากในและนอกสำนักนิครนถ์ พี่สาวซึ่งเป็นปริพาชิกายังเป็นรองตน

ท่านเป็นนักบวชบูชาไฟที่เชื่อมั่นในความรู้ของตนอย่างยิ่งและก็ได้เคยไปวิวาทะกับเจ้าลัทธิทั้งหกแห่งกรุงราชคฤห์มาแล้ว ซึ่งแม้แต่ปูรณกัสสปะ มักขลิโคสาล และนิครนถ์นาฏบุตรก็ต้องหันเหออกนอกเรื่องอีกทั้งยังแสดงความโกรธเคืองออกมา

ในสมัยปลายโพธิกาลท่านมีโอกาสพบพระอัสสชิเถระและได้เรียนถามคำสอนที่พระพุทธองค์ประทานให้สาวกเป็นส่วนมาก ซึ่งพระอัสสชิเถระกล่าวถึงคำสอนหลักว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ (ซึ่งรวมเรียกว่าขันธ์ 5) ไม่เที่ยงและไม่ใช่ตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตน

สัจจกนิครนถ์กลับเห็นว่าเป็นคำสอนที่ไม่ถูกต้อง จึงชักชวนเหล่าเจ้าลิจฉวีซึ่งเป็นศิษย์ไปดูตนประลองความรู้กับพระพุทธองค์ที่กูฏาคารศาลา สัจจกะได้คำตอบเดิมแต่ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเห็นว่าขันธ์ 5 ต้องเป็นของตนและบุคคลจักต้องตั้งอยู่บนรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เสมอ

นั่นคือเชื่อว่าขันธ์ 5 เป็นอัตตา เป็นสิ่งเที่ยงและเกิดขึ้นตั้งอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า ถ้าขันธ์ 5 เป็นของตนจักต้องเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของตนได้ ถ้าขันธ์ 5 เปลี่ยนแปลงไปทำไมบุคคลจึงมีความทุกข์และบังคับการเปลี่ยนแปลงของมันไม่ได้ สัจจกะไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ จึงถามว่าพุทธสาวกสามารถกระทำตามคำสอนและไม่สงสัยอีกได้อย่างไร พระพุทธองค์ตรัสว่าพุทธสาวกย่อมเห็นขันธ์ 5 ด้วยปัญญาอันชอบ
สัจจกนิครนถ์ถามพระพุทธองค์อีกว่า ภิกษุมีชื่อว่าอรหันต์และสิ้นภพได้เพราะรู้ชอบใช่หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่าพุทธสาวกย่อมเห็นขันธ์ 5 ทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพียงแต่ขันธ์ 5 และไม่ใช่ตนของเรา เราไม่ได้เป็นนั่นและนั่นไม่ใช่ตนของเรา จึงพ้นเพราะไม่ยึดมั่น พ้นวิเศษแล้วก็เพราะรู้ชอบ

ต่อมาสัจจกนิครนถ์ไปที่กูฏาคารศาลาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่พระพุทธองค์ทรงกำลังออกเสด็จบิณฑบาต คำถามครั้งนี้มีความน่าสนใจมาก สัจจกะเห็นว่าการอบรมทั้งทางกายและจิตมีความสำคัญแต่พุทธสาวกอบรมแค่ทางจิต ถ้ากายไม่สงบก็ระงับเวทนาทางจิตไม่ได้ จึงต้องอบรมทางกายด้วยอย่างที่นันทะวัจฉโคตร กิสะสังกิจจโคตร และมักขลิโคสาล ซึ่งเป็นเจ้าลัทธิอาชีวกกระทำ อย่างไรก็ตาม สัจจกะไม่รู้ชัดถึงวิธีการอบรมทางจิต

พระพุทธองค์ทรงชี้ว่า การอบรมทางกายแบบสุดโต่งที่สัจจกนิครนถ์กล่าวถึงนั้นกระทำได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป การอบรมทางกายเช่นนั้นเป็นความเข้าใจผิด ส่วนการปฏิบัติของพุทธสาวกเป็นการอบรมทั้งทางกายและจิตอย่างถูกต้อง

เมื่อกายเกิดสุขเวทนาการอบรมทางกายจะทำให้บุคคลไม่ถูกสุขเวทนานั้นครอบงำ ไม่ยินดีไปกับสุขเวทนานั้น และเมื่อสุขเวทนาสิ้นไปโดยมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นมาแทนการอบรมทางจิตจะทำให้บุคคลไม่ถูกทุกขเวทนานั้นครอบงำ ไม่เศร้าโศกรำพันไปกับทุกขเวทนานั้น

เราอาจกล่าวได้ว่า สมถะเป็นการอบรมจิตให้สงบไม่ฟุ้งซ่าน วิปัสสนาเป็นการอบรมจิตให้มีปัญญาเห็นเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขังและอนัตตา สมถะวิปัสสนาจึงช่วยอบรมทั้งกายและจิต มิใช่กายอย่างเดียว หรือจิตอย่างเดียว

พระพุทธองค์ทรงเล่าประสบการณ์การปฏิบัติตั้งแต่ครั้งทรงละเพศฆราวาส การปฏิบัติทางจิตแบบดาบส การปฏิบัติทางกายแบบอาชีวกและการปฏิบัติทั้งสองอย่างพร้อมๆ กันจนสุดทาง ซึ่งทรงพบว่าการปฏิบัติทั้งทางกายและทางจิตดังกล่าวล้วนไม่ใช่หนทาง จึงทรงเริ่มต้นใหม่ด้วยการสำรวมกายและตามระลึกรู้ด้วยสติเข้าสู่ฌานจนกระทั่งสำเร็จสัมมาสัมโพธิญาณ

อุปกาชีวกเป็นอาชีวกไม่นุ่งผ้ารุ่นเก่า ท่านพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าภายหลังเสวยวิมุตติสุขและกำลังเสด็จจากบริเวณต้นโพธิ์ตรัสรู้ไปโปรดคณะปัญจวัคคีย์ ครั้งนั้นอุปกะรับรู้ว่าพระพุทธองค์เป็นผู้ชนะไม่มีที่สิ้นสุด หรือเป็นอนันตชินะ

หลังจากนั้นอุปกะได้เดินทางผ่านหมู่บ้านนาละในวังกหารชนบท การเป็นนักบวชไม่นุ่งผ้าทำให้นายพรานที่หมู่บ้านเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์จึงเชิญให้ประจำอยู่ที่นั่น อุปกะหลงในความงามของนางจาปาบุตรีของนายพรานจึงได้ครองเรือนกันจนมีบุตร อุปกะต้องกลายเป็นนายพรานและถูกนางจาปาดูแคลนว่าเป็นผู้มัวเมาในกิเลส ต่อมาท่านตัดสินใจตามหาพระอนันตชินะ ซึ่งตามอรรถกถาท่านได้พบพระพุทธองค์ที่พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้ขอบวชและปฏิบัติจนสำเร็จอนาคามิผล

ในจาปาเถรีคาถาท่านพบพระพุทธองค์ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ขณะทรงแสดงอริยสัจ 4 ท่านได้อุทิศส่วนบุญให้แก่นางจาปา ซึ่งต่อมานางจาปาได้บวชเป็นภิกษุณีและบรรลุอรหัตตผล

อเจลกัสสปะเป็นอเจลกที่ต้องการสลัดกิเลส ก่อนออกบวชเป็นอเจลกท่านเคยเป็นสหายกับจิตตคฤหบดี ซึ่งต่อมาได้แสดงตนเป็นอุบาสกยาวนานกว่า 30 ปี ทั้งสองมีโอกาสพบกันอีกที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ กัสสปะพบว่าจิตตะสามารถตั้งอยู่ในธรรมและสำเร็จฌาน 4 พร้อมญาณทัสสนะ จึงตระหนักว่าการออกบวชของตนเป็นเพียงการประพฤติเปลือย มีศีรษะโล้นและใช้หางนกยูงปัดฝุ่นตามตัวเท่านั้น หาได้เข้าถึงญาณทัสสนะซึ่งมีปัญญาด้วยไม่

ที่พระเวฬุวันวิหารกัสสปะได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนเสด็จบิณฑบาตเพื่อถามปัญหา (เหมือนกับติมพรุกขปริพาชก) ว่าทุกข์เกิดจากการกระทำของตนเอง หรือเพราะผู้อื่น พระพุทธองค์ทรงสอนว่าเมื่อรู้สึกทุกข์และเห็นว่ามีผู้กระทำและมีผู้รับการกระทำความเห็นที่ว่าตน หรือผู้อื่นเป็นผู้กระทำนั้นเป็นความเห็นที่สุดโต่ง

การไปยึดที่ผู้กระทำเป็นการยึดความมีอยู่ของอัตตาอันเป็นการเชื่อในกรรมเก่า การไปยึดที่ผู้ถูกกระทำเป็นการยึดความไม่มีอยู่ของอัตตา ซึ่งเชื่อว่าเมื่อตายแล้วย่อมขาดสูญ

พระพุทธองค์ทรงให้มองในทางสายกลางตามปฏิจจสมุปบาท มิใช่เฉพาะจากตน หรือเฉพาะจากผู้อื่น ความรู้สึกทุกข์สุขมีเหตุปัจจัยและมีความสัมพันธ์ที่เป็นปัจจยาการ

นั่นคือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัยจึงเกิดวิญญาณ ดังนี้จนเกิดกองทุกข์ขึ้น เมื่ออวิชชาดับ กองทุกข์จึงดับตามเป็นลำดับไป

ท่านกัสสปะต้องอยู่ปริวาสก่อนบรรพชา ไม่นานหลังอุปสมบทก็บรรลุอรหัตตผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image