อัตลักษณ์ของไทยเปลี่ยนไปแล้ว

อัตลักษณ์ มาจากคำภาษาอังกฤษว่า identity หมายถึง ผลรวมที่คนคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งมองตัวเองว่ามีลักษณะเช่นไร เช่น ฉันเป็นคนใจกว้าง ฉันเป็นคนหน้าตาดี ฉันเป็นคนกตัญญู หรืออัตลักษณ์ของสังคม ก็คือผลรวมที่สังคมสังคมหนึ่งเชื่อว่าสังคมนี้มีลักษณะเช่นไรโดยรวม เช่น คนไทยใจดี คนไทยลืมง่าย หรือคนไทยเป็นคนรักชาติ เป็นต้น 

ความเชื่อเหล่านี้ จริงหรือไม่จริงอาจจะพิสูจน์ยาก โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องของอัตลักษณ์ทางสังคม เพราะเป็นการพูดแบบเหมารวมโดยไม่มีตัวเลขสถิติยืนยัน แต่ที่แน่ๆ เมื่อคนคนนั้น หรือสังคมสังคมนั้นเชื่อว่าตนเองเป็นแบบนั้น ก็มีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตัว หรือผลักดันให้อัตลักษณ์ที่ว่าเป็นจริงและดำรงอยู่ อาจจะเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ความคาดหวังสร้างความจริง (self-fulfilling prophecy) ก็ได้

ขอยกตัวอย่างสนุกๆ เกี่ยวกับเรื่องอัตลักษณ์ คือ ผู้เขียนเองมองว่าตัวเองมีอัตลักษณ์เป็นคนใจดี เฮฮา สบายๆ เข้าถึงง่ายมาตลอด จนวันหนึ่งได้พูดความเชื่อนี้ออกมาดังๆ แล้วคนอื่นรอบตัว โดยเฉพาะเด็กๆ รุ่นลูกพากันหัวเราะจนปวดท้อง ว่าผู้เขียนไปเอาความเชื่ออันแปลกประหลาดมหัศจรรย์นี้มาจากไหน ใครๆ ก็รู้ว่าผู้เขียนนั้นดุ เข้มงวด และเอาจริงเอาจังมาก จนใครๆ ก็กลัวไม่กล้าเข้าหา สมัยลูกอยู่ในวัยมัธยม เพื่อนของลูกที่กล้าเข้ามานั่งสนทนากับผู้เขียนนั้น ในกลุ่มเขาต้องคัดมาแล้วว่ามีวาทศิลป์และความน่าเอ็นดูอย่างยิ่งยวด แต่ถึงกระนั้นผู้เขียนก็ยังคงมองตนเองว่าเป็นคนใจดี เฮฮา และเข้าถึงง่ายเหมือนเดิม เพราะมองตัวเองว่าเป็นแบบนั้นเสียแล้ว จะให้ใครมาเปลี่ยนใจก็ยากพอสมควร นี่คือตัวอย่างของอัตลักษณ์ 

ยุคปัจจุบันคำว่า อัตลักษณ์ ยิ่งสำคัญมากเข้าไปอีก เพราะเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศก็ได้รับการโอบรับสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก เห็นได้จากเด็กๆ วัยประถม มัธยม ตอนนี้เขาเข้าใจกันหมดแล้วว่าเพศกำเนิดไม่ได้กำหนดอัตลักษณ์ทางเพศของคนคนนั้นแต่อย่างใด อยู่ที่ว่าคนคนนั้นจะมองตัวเองว่าเป็นเพศไหน สังคมก็ควรยอมรับและเคารพการกำหนดอัตลักษณ์ (Identity) ของคนคนนั้นโดยดุษณี 

Advertisement

ที่อธิบายเรื่องคำว่า อัตลักษณ์ มาเสียยืดยาวนี้ก็เนื่องจากผู้เขียนได้พบข้อสรุปแล้วว่า บัดนี้อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่คนไทยเชื่อ ยึดถือ และใช้เป็นข้ออ้างในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมือง สังคม วัฒนธรรมกันมานานนั้น ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไม่อาจหวนคืน ข้อพิสูจน์ถึงการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คือ ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมานี้เอง 

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคก้าวไกล ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์และยังได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายว่าเป็นชัยชนะที่ไม่ได้มีการจ่ายเงินซื้อเสียงเลยแม้แต่บาทเดียว ผลสะเทือนของปรากฏการณ์นี้แสดงถึงการล่มสลายของอัตลักษณ์เดิมเรื่องพรรคการเมืองก่อนเป็นอันดับแรก เพราะความเชื่อดั้งเดิมที่สังคมไทยมองวิถีทางการเมืองของตนเองมาตลอดก็คือเป็นพรรคการเมืองต้องซื้อเสียงแต่บัดนี้คนไทยไม่เชื่อเช่นนั้นอีกแล้ว การซื้อเสียงไม่ใช่อัตลักษณ์ของการเมืองไทยอีกต่อไป 

ผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ยังแสดงความเปลี่ยนแปลงทางอัตลักษณ์ของคนไทยและสังคมไทยโดยรวมที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น อัตลักษณ์เกี่ยวกับชาตินิยมของคนไทย ในยุคเบบี้บูม (คนที่เกิดระหว่าง พ..2489-2507) อัตลักษณ์ไทยที่ว่าคนไทยรักชาติ ยอมตายได้เพื่อชาติ ชาติสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติเป็นอันดับหนึ่ง ได้กลายเป็นอดีตไปแล้วเมื่อเกิดความเชื่อใหม่ว่าชาติคือประชาชนสิ่งใดดีต่อประชาชน ก็ย่อมดีต่อชาติด้วย คำว่าประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินกลายเป็นความเชื่อ ไม่ใช่แค่คำพูดสวยๆ ที่เลือกพูดกันเฉพาะตอนเลือกตั้งหรือตอนเรียกคนมาประท้วงบนท้องถนนอีกต่อไป คำว่าภาษีกูคือหนึ่งในวลีที่แสดงความเปลี่ยนแปลงทางความเชื่อนี้อย่างชัดเจน 

Advertisement

อัตลักษณ์ทางสังคม เป็นสิ่งที่สามารถสร้างได้ ชนชั้นนำรู้จักใช้สื่อ ระบบการศึกษา เรื่องเล่า ชุดความคิดต่างๆ ส่งต่อกันลงมาเป็นทอดๆ ให้ฝังลงไปในกระบวนการรับรู้และสำนึกหลักของสังคมให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน (social norms) บางอย่างร่วมกัน เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้เป็นไปตามที่ชนชั้นนำพึงปรารถนา อย่างไรก็ตาม คลื่นแห่งโลกาภิวัตน์ค่อยๆ ซัดกำแพงที่ถูกสร้างไว้แบบค่อยเป็นค่อยไปมานานพอสมควรแล้ว เมื่อมีคำถามก็ย่อมมีความพยายามจะตอบ และคำถามหนึ่งก็พาไปยังอีกคำถามหนึ่ง ไปยังอีกคำถามหนึ่งเรื่อยไปจนเมื่อคำถามมีมากกว่าคำตอบ หรือชุดคำตอบเดิมไม่สามารถสร้างความพอใจให้คนถามได้ การเปลี่ยนแปลงทางอัตลักษณ์ครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น 

จากนโยบายสามร้อยกว่านโยบายที่พรรคก้าวไกลนำมาเสนอต่อประชาชน และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามแสดงถึงอัตลักษณ์ไทยที่เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันจะย้อนกลับมาในจุดเดิมได้อีก บัดนี้คนไทยมองเห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หรือความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ชุดความเชื่อและคำอธิบายเดิม ซึ่งก็คือความเหลื่อมล้ำไม่มีอยู่จริง ถ้าขยันก็จะรวย คนจนคือคนขี้เกียจ รวมไปถึงเรื่องของบุญกรรมและวาสนาบารมี ก็เป็นคำอธิบายที่ไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป 

อัตลักษณ์ไทยที่ว่าคนไทยเป็นคนเรียบร้อย ยอมรับโชคชะตาอย่างเงียบๆ และลืมง่าย ก็ไม่ใช่อีกแล้วเช่นกัน ไม่มีการเลือกตั้งครั้งไหนที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิมากถึงร้อยละ 75 อย่างการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 คนไทยแสดงความต้องการจะกำหนดโชคชะตาของตนเอง และไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่คำพูดของนักการเมืองจะถูกจดบันทึกและนำกลับมาสอบทานมากมายและเข้มข้นเท่าที่เป็นอยู่นี้ 

คนไทยไม่ใช่คนลืมง่ายอีกต่อไป ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นแม้ว่ารัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร พ..2557 จะใช้ทุกเครื่องมือที่มีในสังคมมาปลูกฝังเพื่อตอกย้ำอัตลักษณ์ของสังคมไทยมาตลอด 9 ปีเศษก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเพราะสังคมไทยของเราได้มองตนเองเปลี่ยนไปแล้ว

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image