รอ‘รบ.ใหม่’ปั๊ม

รอ‘รบ.ใหม่’ปั๊ม

4 สิงหาคม รัฐสภานัดประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทยก่อนจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่ไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ร่วมด้วย

ย้อนไปดูเส้นทางก่อนจะมีนายกฯและรัฐบาลใหม่ ที่เกมพลิกไปมาหลายตลบ

หลังพรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.เป็นอันดับ 1 จำนวน 151 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเซ็นเอ็มโอยู 8 พรรค ร่วมกันเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ

Advertisement

เปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม เสนอ “พิธา” เป็นนายกฯ แต่ได้รับการโหวต 324 เสียง ไม่ถึง 375 เสียง

ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม รัฐสภาประชุมอีกครั้ง ทาง 8 พรรคร่วมเสนอชื่อ “พิธา” อีกรอบ แต่ถูกเกมเตะตัดขาว่าเป็นเสนอญัตติซ้ำ โดยลงมติ 395 ต่อ 312 ว่าขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามติดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ขณะที่ “พิธา” ถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว เพื่อรอคำวินิจฉัยกรณีที่ถูกร้องว่าถือหุ้นไอทีวี

Advertisement

ดังนั้น ทางพรรคก้าวไกลจึงส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน

พรรคเพื่อไทยจึงเชิญแกนนำพรรคต่างขั้ว มาร่วมหารือเพื่อขอเสียงสนับสนุนการโหวตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย เสียงจากพรรคนอกเอ็มโอยูพร้อมหนุน แต่มีเงื่อนไขเหมือนกันหมดคือต้องไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมเป็นรัฐบาล

ทางพรรคเพื่อไทยจึงกลับมาคิดสูตรตั้งรัฐบาลใหม่

กระทั่งมีข่าวว่า สมการใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลและพรรค 2 ลุง เป็นสูตร 265 เสียง โดยจะดึงพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน และพรรคเล็กๆ

ขณะที่พรรคก้าวไกลพร้อมไปเป็นฝ่ายค้าน แต่จะโหวตหนุนนายกฯจากพรรคเพื่อไทย โดยมีข่าวว่าแกนนำพรรคก้าวไกลพร้อมจะถอยให้ แต่ ส.ส.พรรคก้าวไกล หลายคนไม่ยอม

กระทั่งวันที่ 2 สิงหาคมแกนนำพรรคเพื่อไทยหารือกับพรรคก้าวไกล แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ทางพรรคเพื่อไทยจึงขอฉีกเอ็มโอยู 8 พรรค ถอนตัวมาขอจัดตั้งรัฐบาลเอง โดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมด้วย

พร้อมประกาศว่าการประชุม ครม.ชุดใหม่นัดแรก จะมีมติให้จัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. หลังแก้รัฐธรรมนูญเสร็จจะยุบสภาทันที

อีกทั้ง พร้อมนำนโยบายบางส่วนของพรรคก้าวไกล ซึ่งสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทย อาทิ สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นสมัครใจแทน

นอกจากนโยบายต่างๆ ที่จะผลักดันแล้ว รัฐบาลชุดใหม่ยังมีปมปัญหามากมายที่รอให้เร่งแก้ไขเนื่องจากมีปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจรุมเร้าหลายเรื่อง

ล่าสุด กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ขึ้นไปอยู่ที่ 2.25%

ก่อนหน้านั้น กกพ.ประกาศค่าไฟงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.66) แม้จะลดจากเดิม 4.70 บาท เหลือ 4.45 บาท แต่ก็ยังถือว่าสูง

ทั้งดอกเบี้ยและค่าไฟ ทำให้ต้นทุนการผลิตเอกชนสูงขึ้น

ขณะที่หนี้ครัวเรือนของไทยก็อยู่ระดับสูงลิ่วที่ 90.6%ต่อจีดีพี ก็เป็นตัวถ่วงให้กำลังซื้อลดลง

อีกทั้ง ต้องเตรียมรับมือกับปรากฏการณ์เอลนิโญ ที่คาดว่าจะแห้งแล้งหนักหน่วงและยาวนานกว่าที่ผ่านมา

ด้านการส่งออกไทย ติดลบมา 9 เดือนติด จากปัจจัยภายนอกที่เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าชะลอตัว

ขณะที่การท่องเที่ยว ทั้งจำนวนคนต่างชาติและรายได้ส่อว่าจะไม่เข้าเป้าตามที่ตั้งไว้

ด้านการลงทุน ก็รอดูว่านโยบายรัฐบาลใหม่จะวางเข็มทิศไปทางไหน เอกชนจะได้เดินตามได้ถูก ไม่สะเปะสะปะ

ที่สำคัญคือ งบประมาณ 2567 ต้องเร่งผลักดันผ่านสภาโดยเร็ว เพื่อเบิกจ่ายมาช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะงบลงทุน อีกทั้งอาจต้องมีโครงการพิเศษเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ

ยังมีอีกสารพันปัญหาที่รอรัฐบาลใหม่ เข้ามาแก้ไขและขับเคลื่อน เพื่อปั๊มเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว ท่ามกลางมรสุมทั้งภายในและภายนอก

สราวุฒิ สิงห์เอี่ยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image