60 ปีปฏิรูป : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ก่อนสิ้นปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บอกว่า จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามมติที่ประชุม คสช.แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป โดยจะนำงานของ คสช. รัฐบาล กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มาปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน ในปี 2560 จะเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป

ก่อนสิ้นปีอีกเหมือนกัน ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ประชุมย้ำนักย้ำหนาว่า 2560 จะเป็นปีที่การปฏิรูปด้านต่างๆ เกิดความชัดเจนเป็นรูปธรรม

คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปที่แม่น้ำห้าสายจะตั้งขึ้น มีโครงสร้าง องค์ประกอบมาจากไหนบ้าง มีแต่เฉพาะแม่น้ำห้าสายเท่านั้น หรือมีคนนอก คนกลาง เข้าไปร่วมด้วยหรือไม่ นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ กระบวนการดำเนินการจะเป็นอย่างไร ทำให้พี่น้องประชาชนคนที่ติดตามการปฏิรูปยอมรับ เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงชัดแค่ไหน

Advertisement

เป็นความเปลี่ยนแปลงถึงระดับที่เรียกว่าปฏิรูปจริงๆ ไม่ใช่แค่ว่าเป็นงานที่รัฐบาลก่อนยังไม่ได้ทำ แล้วแม่น้ำห้าสายหยิบยกเอามาทำเท่านั้น เพราะเงื่อนไข ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจต่างกัน

หรือเป็นงานที่คล้ายๆ กันกับที่รัฐบาลก่อนเคยทำมา แต่เปลี่ยนการเรียกชื่อเสียใหม่ให้ฟังดูดีกว่า เช่น ประชานิยม เป็นประชารัฐเท่านั้น

งานจำนวนมากที่ดำเนินไปเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาสู่อำนาจด้วยวิธีการใดก็ต้องทำทำนองเดียวกัน อาทิ การยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 ซึ่งเป็นฐานรากของการวางยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปี หลังจากฉบับที่แล้วครบกำหนดการใช้บังคับลง

Advertisement

เกณฑ์ชี้วัดว่างานใดถึงขั้นการปฏิรูป จึงต้องมีคำตอบชัดเจน วัดจากอะไร วัดอย่างไร โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ภาวะจิตใจ ความปลอดภัย อิสรภาพ เสรีภาพที่ควรจะเป็น มองจากสายตาคนนอก ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแต่แม่น้ำห้าสายด้วยกันเท่านั้น

พิจารณาแยกแยะเป็นด้านๆ จากธงที่ปักไว้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งถูกประกาศว่าเป็นเจตนารมณ์ของพี่น้องประชาชนคนไทยส่วนข้างมาก

ด้านการเมือง ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านกฎหมาย ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ

นับแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 แต่ละด้านมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นเป็นไปในทางบวกหรือลบ เดินหน้า หรือถอยหลัง และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป อะไรที่จะเกิดขึ้นถึงขั้นเรียกว่าเกิดการปฏิรูปด้านนั้นจริงๆ

การติดตามประเมินผลต้องว่ากันทีละด้าน เริ่มจากการเมือง ตามรัฐธรรมนูญหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258(1) ปักธงไว้ 5 ข้อ รายละเอียดเปิดรัฐธรรมนูญอ่านจะเห็นชัด

แต่ในความเป็นจริง ของจริง ต้องดูจากบทเฉพาะกาล ในช่วงที่เรียกว่าวาระเริ่มแรก ต้องมีกลไกพิเศษต่างๆ คอยทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ควบคุม ตรวจสอบ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น กลไกสำคัญคือวุฒิสมาชิก

แม้ว่าการได้มาซึ่งวุฒิสมาชิกจะผ่านกลไก กระบวนการคัดสรรมาอย่างไร ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

อีกทั้งกรรมการยุทธศาสตร์ ทั้งระดับนโยบายและบริหารการปฏิบัติ และกรรมการอื่นๆ อีกหลายชุดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปด้านนั้นๆ

ทิศทางการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นและดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษที่จำเป็นต้องมีกลไกและกระบวนการพิเศษ ติดตามกำกับอย่างน้อยอีก 5 ปี

ในสายตาแม่น้ำห้าสาย อาจคิดว่าแนวทางปฏิบัติเช่นนี้แหละคือการปฏิรูป แต่ในสายตาผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เห็นเช่นเดียวกัน หรือเห็นตรงกันข้าม ตรงนี้ต่างหากคือประเด็น

ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยแบบจำกัด

ประชาธิปไตยเดินหน้า หรือประชาธิปไตยถอยหลัง

การปฏิรูปด้านการเมืองภายใต้สถานการณ์ที่กล่าวนี้จะเรียกว่าปฏิรูปแบบก้าวหน้า หรือปฏิรูปย้อนยุค

แต่ละฝ่ายต้องพินิจ พิจารณา หาคำตอบแก่ตัวเอง ตัวใครตัวมัน

การปฏิรูปภายใต้กลไกอำนาจพิเศษจะเป็นตัวช่วยหรือเหนี่ยวรั้งการเดินไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ประชาชนมีรายได้เฉลี่ยถึงระดับประเทศร่ำรวย พัฒนาแล้ว ปีละ 13,000 เหรียญสหรัฐต่อคน ได้สำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้จริงหรือไม่ จึงเป็นโมเดลที่น่าติดตามและท้าทายอย่างยิ่ง

ก่อนว่าถึงการปฏิรูปด้านอื่น โดยเฉพาะการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญกันต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image