เส้นทางของตัว “ผู้” ในความเป็นมาของ ‘คนไท’

ตัว “ผู้” ถูกมัดปมผูกสนิทแน่นไว้กับประวัติความเป็นมาของคนสาย “ไท-ไต” ในคำคู่ขวัญว่า “ผู้ไท” “ภูไท” อย่างยาวนาน ไล่ย้อนขึ้นไปจนถึงถิ่นของพวกเมืองแถน ดินแดนสิบสองปันนาทางตอนใต้ของจีนเลยทีเดียว คำ “ผู้ไท” หรือ “ภูไท” ถูกค้นหาความหมายกันอย่างมากมายในบรรดาลูกหลานชั้นหลัง ที่อพยพข้ามน้ำจากฝั่งลาวเขาชันเข้ามาอยู่ทางถิ่นราบสูงฝั่งขวาแม่น้ำโขง เป็นข้อถกเถียงกันอย่างอื้ออึงมาหลายพักพอตัว

คุณเกรียงไกร หัวบุญศาล ลูกหลานชาวภูไทได้รวบรวมเรื่องราวของบรรพบุรุษ ระบุไว้ในงานเขียน เรื่อง “ภูไท หรือผู้ไท: ชนเผ่าไทยแห่งสิบสองจุไทในประเทศไทย” โดยให้ความหมายแบบชั่วคราวไว้ว่า น่าจะมีที่มาจากการเป็นพวกหมู่คนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่สูง เช่นภูเขา และยังเขียนแนวคิดเพิ่มเติมไว้ดังนี้

“อยากจะขอขยายแนวคิดตรงนี้เพิ่มขึ้นอีกสักเล็กน้อย ผู้รวบรวมสังเกตเห็นว่าคนหมู่บ้านอื่นที่ไม่ใช่คนภูไทมักจะเรียกคนภูไทในหมู่บ้านของผู้รวบรวมว่า “ภูไท” หรือ “ผู้ไท”บางก็มี แต่คนภูไทเองนั้น(ในหมู่บ้านของผู้รวบรวม) จะเรียกตัวเองว่า “ภูไท” จะไม่เรียกตัวเองว่า “ผู้ไท” แต่เมื่อพิจารณาจากการแยกคำว่า “ผู้ไท” ออกอีกครั้ง ทำให้ได้แนวคิดว่า คำว่า ”ผู้” ในความหมายของภาษาไทยหมายถึง “คน” หรือหมายถึง ”ผู้คน” เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย

ในความหมายของคนหมู่บ้านอื่นที่เรียกคนภูไทว่า “ผู้ไท” คงจะหมายถึง “คนไท” หรือ “คนผู้เป็นคนไท” นั่นเอง คำว่า”ผู้” ในภาษาภูไทนั้น จะไม่ออกเสียงนี้ แต่จะออกเสียงเป็น “ผู” หรือ “ผู่” เช่น คำว่า “ผู้คน” จะออกเสียงว่า “ผูคน” (อาจจะไม่ค่อยตรงเสียงที่แท้จริงนัก เพราะหาเสียงเทียบยาก) เช่น ผู่หยิง (ผู้หญิง) ผู่ซาย (ผู้ชาย)”

Advertisement

ส่วน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครให้คำจำกัดความของคนเผ่าภูไทไว้ว่า “ภูไท (ผู้ไทย) เดิมมาจากคำว่า พุไท หรือ วุไท ซึ่งหมายถึงคนเผ่าไทกลุ่มหนึ่งซึ่งมีอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท และอาณาจักรล้านช้าง มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาในภาคอีสานหลายครั้ง”

ส่วนคำว่า “ผู้” นั้น คำอธิบาย ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน 2542 เขียนไว้ว่า
“น. ใช้แทนตัวบุคคล เช่น นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ หรือใช้แทนคำว่า คน เช่น ผู้นั้น ผู้นี้ ทุกผู้ทุกนาม หรือใช้แทนสิ่งที่ถือเสมือนคน เช่น ศาลเป็นผู้ตัดสิน; คำใช้ประกอบกริยา หรือประกอบคำวิเศษณ์ให้เป็นนามขึ้น เช่น ผู้กิน ผู้ดี; ว. คำบอกเพศ หมายความว่า ตัวผู้ เช่น ม้าผู้ วัวผู้; ส. ที่ ซึ่ง เช่น บุคคลผู้กระทำความดีย่อมได้รับความสุข”

ทีนี้ลองมาดูคำที่ออกเสียงคล้าย ภู และ ผู้ ในภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนกันบ้าง เช่น คำว่า “บู” ซึ่งหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า “ภูเขา” ของไทย และ “bukit” –บูกิต ซึ่งแปลว่าภูเขาในอิโดนีเซียและมาเลเซียจะพบว่า การออกเสียง “bu-” จะเห็นว่าเสียง บ.ใบไม้ กับเสียง ภ.สำเภา ถึงจะเป็นอักษรคนละระดับแต่ก็มีความคล้ายกันมาก “บู” ก็คือ “ภู”

Advertisement

ในขณะที่ “-kit” นั้นเขาจะไม่ออกเป็นเสียง ก.ไก่ เต็มตัว หากเป็นเสียงควบระหว่างเสียง ก.ไก่ กับเสียง ข.ไข่ มากกว่า และ “-kit” กับ “-เขา” ดูแล้วไม่ยากเลยที่จะขยับไปมา เขียนลงไปให้ชัดอีกหน่อยก็ว่า ทั้งสองคำเรียกส่วนที่ยื่นสูงขึ้นไปในอากาศคือคำเดียวกัน

ยังมีคำว่า “ปุ-เหลา” หรือ “pulau” คำภาษาอินโดในตระกูลออสโตรนีเซียน แปลว่า เกาะ ซึ่งโผล่อยู่กลางทะเลกลางน้ำที่ไหนซักแห่ง มาจากคำสองคำคือ “pu อ่านว่า ปุ” หรือ “ampu อ่านว่า อัม-ปุ” แปลทั่วไปว่า การยกตัวให้สูงขึ้น การผุดโผล่ เช่นการยกใครบางคนขึ้นเป็นหัวหน้า หรือเป็นใหญ่ในหมู่พวก ก็ใช้คำว่า “empu อ่านว่า เอิม-ปุ” หรือการยกตัวของภูเขา จะใช้คำว่า “bukit อ่านว่า บู-ขิต” นำไปบวกควบกับคำว่า “laut อ่านว่า หลา-อุ๊ต” ที่แปลสามัญสั้นๆว่า ทะเล เป็น “ปุเหลา” หมู่เกาะที่ล่องลอยอยู่กลางเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ของพี่น้องทะเลใต้

คำว่า “-pu” หรือ “bu-” เข้าใจว่าเป็นคำดั้งเดิม ที่ไม่ได้หยิบยืมมาจากภาษาบาลี ซึ่งมีคำว่า “bhu” ในความหมายใกล้เคียงว่าแผ่นดิน รวมถึงการโผล่ปรากฏ อาจเป็นได้ว่าในบางโอกาสที่ทางนั้นจะหยิบยืมเอาคำทางนี้ไปใช้เมื่อนมนาน คำนี้ยังเข้าใจต่อไปว่าเป็นคำเดียวกับภาษาไทยเดิม เช่น “พุ” “ภู” “ผุด” “ปุด” เป็นต้น”

จะสังเกตเห็นว่าคำกลุ่มนี้ทั้ง “am-pu” “em-pu” “bu-kit” “pu-lau” “vu-law” “ปลา” “ผู้-ไท” “ภู-ไท” “พุ-ไท” “วุ-ไท” “ภู-เขา” “ผู้-คน” “ตัว-ผู้” ตลอดจนถึงคำว่า “พุ” “ภู” “ปุด” และ “ผุด” ต่างถูกใช้อย่างแพร่หลายมานานชั้นดึกดำบรรพ์ ทั้งบนฝั่งและนอกทะเล เช่นไต้หวัน และเก่าแก่กว่าในหมู่เกาะทะเลใต้

เป็นคำที่มีความหมายพื้นฐานร่วมกันอย่างแนบแน่นว่าคือ “การผุดโผล่ขึ้นของบางอย่างหรือบางสิ่ง”

 

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image