มิวเซียมศรีเทพ เล่าเรื่องบ้านเมืองและผู้คน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ปรางค์ศรีเทพ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จ พ.ศ. 2447 [จากหนังสือ ศรีเทพ กรมศิลปากรพิมพ์ พ.ศ. 2561 หน้า 8]

เมืองโบราณศรีเทพ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม โดยนายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า เมืองโบราณศรีเทพมิใช่สมบัติของคนเพชรบูรณ์ แต่เป็นสมบัติของคนไทยทั้งชาติ และขณะนี้ยังเป็นสมบัติของคนทั้งโลกอีกด้วยนั้น

ขั้นตอนต่อไปทางจังหวัดก็คงประสานกับทุกภาคส่วน เตรียมจะผลักดันให้มีการรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบจากเมืองศรีเทพ ที่อยู่กระจัดกระจายตามสถานที่ต่างๆ ให้นำกลับมารวบรวมอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

ทางจังหวัดยังมีแผนและโครงการผลักดันให้มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่อุทยานประวัติศาสตร์เมืองโบราณศรีเทพ เพื่อเก็บรวบรวมพร้อมจัดแสดงโบราณวัตถุล้ำค่าของเมืองโบราณศรีเทพ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้าชมและศึกษาเรียนรู้ (มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2566 หน้า 1)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่มีอยู่ในเมืองมรดกโลก ได้แก่ สุโขทัย, อยุธยา เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ รวบรวมโบราณวัตถุสนองคนกลุ่มไม่มากที่เป็นนักโบราณคดีประวัติศาสตร์ศิลป์และนักสะสมของเก่า

Advertisement

แต่ไม่สนองคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ได้แก่ ประชาชนทั่วไป, นักท่องเที่ยว, ครูบาอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ฯลฯ ที่ต้องการรู้ประวัติความเป็นมาทางสังคมและเศรษฐกิจ-การเมืองของเมืองศรีเทพว่าเกี่ยวข้องกับประเทศไทยและคนไทยทุกวันนี้อย่างไร? แค่ไหน?

(1.) โบราณวัตถุพบที่เมืองศรีเทพ ควรอยู่กับเมืองศรีเทพ แต่จะอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หรืออย่างไร? คงใช้เวลานานมากจากประสบการณ์ที่ผ่านมา

มีตัวอย่างโบราณวัตถุพบที่เมืองมโหสถ อ. ศรีมโหสถ จ. ปราจีนบุรี (สมัยเดียวกับเมืองศรีเทพ โบราณวัตถุแบบเดียวกัน) กระทรวงวัฒนธรรมเอาไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี ห่างจากแหล่งเดิมราว 20 กิโลเมตร

Advertisement

ชาวบ้านศรีมโหสถขอย้ายไปอยู่ อ. ศรีมโหสถ ตอนแรกบอกรับปาก แต่แล้วกระทรวงวัฒนธรรมผิดคำพูด ไม่ให้ย้าย

(2.) เมืองศรีเทพควรมี “มิวเซียม” ที่มีการจัดแสดงแบบสากล (ไม่ประวัติศาสตร์ศิลป์) บอกเรื่องราวความเป็นมาอย่างง่ายๆ (ไม่โบราณคดีที่ยากๆ ยุ่งๆ)

มิวเซียมเมืองศรีเทพ คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่มีพลังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ตามเป้าหมายทักกา THACCA ของรัฐบาล จะยกตัวอย่างเนื้อหาย่อๆ ดังนี้

เมืองศรีเทพตั้งอยู่บริเวณชุมทางคมนาคมของดินแดนภายในระหว่างแม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำโขง-ชี-มูล, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง

  • ก่อนศรีเทพ

มีชุมชนหมู่บ้านเริ่มแรกทำนาทำไร่ เลี้ยงสัตว์ นับถือศาสนาผี มีแหล่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เขาถมอรัตน์ (เขาหินแก้ว) ราว 3,000 ปีมาแล้ว

ขณะเดียวกันมีเครือข่ายชุมชนคราวเดียวกันอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่

ชุมชนลำตะคอง บริเวณที่ราบสูง (ต่อไปจะเป็นเมืองเสมา อ. สูงเนิน จ. นครราชสีมา)

ชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี บริเวณที่ราบลุ่ม (ต่อไปจะเป็นเมืองละโว้ อ. เมืองฯ จ. ลพบุรี)

ต่อมาชุมชนเริ่มแรกอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามภูมิภาค มีการค้าทองแดงเป็นส่วนหนึ่งของ “สุวรรณภูมิ” ราว 2,000 ปีมาแล้ว หรือ พ.ศ. 500

เส้นทางการค้าทองแดงจากแหล่งใหญ่ลุ่มน้ำโขง ขนผ่านลุ่มน้ำป่าสักทางทิศตะวันตก ผ่านที่ราบลุ่มดอนไปลงแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง

  • เริ่ม “ทวารวดี” ศรีเทพ

การค้าขยายตัวมากขึ้น ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธจากอินเดีย แผ่ถึงชุมชนเมืองชุมทางป่าสัก ผสมศาสนาผี รวมเป็นผี-พราหมณ์-พุทธ ราว พ.ศ. 1000

จัดระเบียบสังคมที่มีคนหลายชาติพันธุ์ แล้วขุดคูน้ำคันดินมี 2 ส่วน

1.รูปกลม (เมืองใน) เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ฝังศพหัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom)
2.รูปรียาว (เมืองนอก) เป็นพื้นที่ทั่วไป ใช้ตั้งบ้านเรือนของชนชั้นนำ

เครือข่ายศรีเทพ ได้แก่ ชุมชนลำตะคอง และชุมชนลุ่มน้ำลพบุรี ก็มีคูน้ำคันดิน ลักษณะ 2 ส่วน เหมือนกัน

ประชาชน มีหลายชาติพันธุ์พูดหลายชาติภาษา ได้แก่ มอญ-เขมร, มลายู-จาม, ไท-ไต (ไม่ไทย) และมีจากอินเดีย, จีน

ศรีเทพและเครือข่ายละโว้-เสมา ถูกเรียกจากเอกสารจีนว่า “โถโลโปตี” ต่อไปข้างหน้าคือ “ทวารวดี” (ไม่อยู่นครปฐม)

ประติมากรรม ในศรีเทพมีเทวรูปและพระพุทธรูป ที่สำคัญมากคือ พระนารายณ์, พระสุริยเทพ, พระกฤษณะ (เจ้าเมืองทวารวดีในคัมภีร์)

ในละโว้มีจารึกระบุ “วาสุเทพ” เป็นบรรพชนของพระกฤษณะแห่งทวารวดี

  • เริ่มวัฒนธรรมขอม

คนพูดภาษาเขมรมีอำนาจในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก หรือเมืองศรีเทพ-เมืองละโว้ ถูกคนอื่นเรียกว่า “ขอม” เชื่อมโยงอำนาจกับรัฐทางโตนเลสาบ (ทะเลสาบ) ในกัมพูชา หลัง พ.ศ. 1500

สร้างพระปรางค์เมืองศรีเทพ (คราวเดียวกับปราสาทพิมาย, ปราสาทพนมรุ้ง, ปราสาทเมืองศรีสะเกษ ลุ่มน้ำมูล)

[ต่อไปข้างหน้าพระปรางค์เมืองศรีเทพจะเป็นต้นแบบให้พระปรางค์เมืองละโว้ และเมืองอโยธยา-อยุธยา]

  • หลังศรีเทพ

ลักษณะการค้าเปลี่ยนแปลงจึงมีศูนย์กลางใหม่ที่อโยธยา ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

เมืองศรีเทพกับเมืองเสมาลดความสำคัญลง จนร่วงโรยแล้วรกร้าง ราว พ.ศ. 1700

ประชาชนจากเมืองศรีเทพโยกย้ายหลักแหล่งไปอยู่ศูนย์กลางใหม่ที่เมืองอโยธยา หลังจากนั้นพูดภาษาไทย กลายตนเป็นไทย สืบมาจนเป็นประเทศไทย

  • โจรกรรมประติมากรรม
    ถ้ำเขาถมอรัตน์ เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์

ราว พ.ศ. 2503 ลักลอบสกัดตัดเศียร เฉือนพระพักตร์พระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ แล้วโจรกรรมไป จากภาพสลักในถ้ำบนเขาถมอรัตน์ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์

ต่อมา พ.ศ. 2505 กรมศิลปากรแจ้งความโรงพัก ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

เขาถมอรัตน์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์เมืองศรีเทพ อยู่ห่างจากเมืองศรีเทพไปทางทิศตะวันตก ราว 15 กิโลเมตร (เขาถมอรัตน์ หมายถึง เขาหินแก้ว, ถมอ แปลว่า หิน เป็นภาษาเขมร, รัตน แปลว่า แก้ว เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต)

[จากบทความเรื่อง “ความพินาศของภาพจำหลัก ที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ ตำบลสระกรวด อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูร” ของ นิคม มูสิกะคามะ พิมพ์ใน นิตยสารศิลปากร ปีที่ 12 เล่ม 3 (กันยายน 2511) หน้า 55-72]
อ่านคอลัมน์ที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image