ดุลยภาพดุลยพินิจ : เศรษฐกิจโลก 2560 : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ หลายประเทศยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอาศัยนโยบายการเงินและการปล่อยให้ค่าเงินภายในประเทศอ่อนตัวลง

แนวโน้มดังกล่าวนี้น่าจะดำเนินต่อไปในระยะข้างหน้าเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นการผ่อนคลายระยะสั้นในขณะที่การอ่อนค่าของเงินสกุลต่างๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินเหรียญสหรัฐจะมีผลต่อภาวะการส่งออกและการผลิตได้ต้องใช้เวลา

การเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปมิได้แก้ไขปัญหาทางโครงสร้างซึ่งประเทศส่วนใหญ่ประสบอยู่นั่นคือภาวะหนี้สินสูงและภาวะกำลังการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมล้นเกิน

ดังนั้น การมองเศรษฐกิจในปี 2560 จึงสามารถอาศัยภาพแนวโน้มระยะยาวที่เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างช้าๆ เป็นพื้นฐานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการส่งออก การลงทุนและการบริโภค

Advertisement

แต่เนื่องจากกระบวนการฟื้นตัวนี้มีลักษณะผสมผสาน บางประเทศเติบโตได้ดีพอสมควร ในขณะที่บางประเทศยังมีปัญหาทางโครงสร้างและความกังวลจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ปัจจัยทางการเมือง ราคาสินทรัพย์ทางการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนจึงยังคงมีความผันผวนสูงและอาจผันผวนหนักยิ่งขึ้น

ในปีที่ผ่านมานั้น ยุโรปตะวันตกเผชิญปัญหาเบร็กซิทและภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ จีนมีข้อกังวลเกี่ยวกับหนี้สินในสถาบันการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในสหรัฐอเมริกามีภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรงอย่างที่เคยคาดกัน ยกเว้นช่วงปลายปีที่ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมเริ่มดีขึ้นและการได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจดีขึ้น

สำหรับในปี 2560 การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและการเงินของโลกอาจมีข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์อย่างน้อย 2 ประเด็นดังนี้

Advertisement

การกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแรงในสหรัฐอเมริกา

ปีนี้จะเป็นปีแรกของวาระประธานาธิบดีที่นายทรัมป์จะต้องแสดงฝีมือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาสู่ตำแหน่งเพื่อการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจและความรู้สึกใดๆ ก็ตามที่คนอเมริกันจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าชาติตนเสียเปรียบชาติอื่น

นโยบายของรัฐบาลใหม่จะมีความใกล้เคียงกับนโยบายในสมัยประธานาธิบดีเรแกน ได้แก่ การกระตุ้นทางการคลังหรือการลดอัตราภาษีรายได้ (Tax cuts) การผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับภาคธุรกิจ (Deregulation) และการกำหนดเป้าหมายการขาดดุลการค้ากับบางประเทศ (Trade targeting) ที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาค่าเงินที่สูงผิดปกติ

นโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายเสรีนิยมบวกกับนโยบายชาตินิยมที่เอื้อการผลิตและการลงทุนภายในประเทศแบบแคบๆ

อย่างไรก็ตาม การขยับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐโดยทั่วไปจะยังดำเนินไปได้ไม่เร็วนักเนื่องจากภาวะหนี้สินยังมีอยู่ในเกณฑ์สูง ปัญหาหนี้ภาคเอกชนทำให้กำลังของภาคเอกชนไม่อาจรองรับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วได้

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของรัฐบาลใหม่จะเกิดขึ้นและส่งผลได้รวดเร็วเพียงใด

ในขณะนี้ ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นอย่างมากในสหรัฐอเมริกาสะท้อนว่านโยบายลดภาษี

รายได้และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ถูกมองกันว่าจะเกิดขึ้นได้มากและรวดเร็ว

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นผลการดำเนินงานของบริษัทภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มิได้พึ่งรายได้จากการประกอบการในต่างประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ ราคาหลักทรัพย์และแรงดึงดูดการลงทุนเข้าสหรัฐก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ถ้าเราประเมินผลกระทบและความรวดเร็วของนโยบายการคลัง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เวลาและต้องมีการตัดรายจ่ายภาครัฐทางด้านอื่น เช่น รายจ่ายทางด้านสังคมพร้อมกันไปด้วย

ผลทางด้านรายจ่ายภาครัฐจะมีความช้าในขณะที่ธุรกิจพลังงานที่ประสบปัญหาจะยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะเพิ่มรายจ่ายลงทุน การปรับลดต้นทุนจะยังคงมีความสำคัญ

มาตรการตัดภาษีเป็นมาตรการชิ้นเอกที่รัฐบาลทรัมป์จะต้องพยายามให้เกิดขึ้นโดยเร็วและจะพยายามตั้งเป้าหมายอัตราภาษีบริษัทไว้ที่อัตราร้อยละ 15 เพราะมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์

มาตรการภาษีนี้อาจเกิดขึ้นได้ค่อนข้างเร็วหรือประมาณช่วงกลางปีและจะมีผลอย่างมากต่อราคาหุ้นและค่าเงินเหรียญสหรัฐ

แต่ในแง่ของต้นทุนการผลิตโดยรวมซึ่งเมื่อคำนึงถึงความเสียเปรียบทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว สินค้าและบริการภายในสหรัฐจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ยากซึ่งการขาดดุลการค้าและบริการจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมิได้รับอานิสงส์อย่างเต็มที่

เมื่อเป็นเช่นนี้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลทรัมป์ไม่อยากให้เกิดขึ้นมากเหมือนช่วงที่นายทรัมป์โจมตีนางเจนเน็ท เยลเล็น ว่าทำไมถึงพยายามไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสมัยของประธานาธิบดีนายโอบามา

ทรัมป์คงมีข้อวิจารณ์ว่าเฟดเป็นอุปสรรคต่อนโยบายของตนถ้าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากๆ

อย่างไรก็ตามโดยแนวโน้มจากตัวแปรเศรษฐกิจที่ยังไม่กระเตื้องดีนักและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งซึ่งจะกดภาวะราคาสินค้าอยู่พอสมควรจะทำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ประมาณ 2 ครั้ง และไม่น่าถึง 3-4 ครั้งตามที่คาดการณ์กัน

ดังนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาจะเป็นพระเอกในภาพเศรษฐกิจของโลกแต่จะสร้างความกังวลแก่เศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศกำลังพัฒนาหนักยิ่งขึ้นที่ผ่านมา

การฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

การปรับตัวที่ดีขึ้นระดับหนึ่งของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะมีผลต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาค่อนข้างน้อยเพราะการฟื้นตัวส่วนใหญ่เกิดในภาคบริการ มิใช่ภาคอุตสาหกรรมที่กำลังอยู่ในภาวะล้นเกิน

จีนก็ยังมุ่งรักษาการเติบโตมิให้ทรุดหนักโดยหวังให้อยู่ในกรอบร้อยละ 6-7 เหมือนปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตได้ในอัตราประมาณร้อยละ 6.4 และสามารถรักษาเสถียรภาพได้ดี

การเติบโตของจีนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพราะเป็นตลาดหลักที่มีความต้องการสินค้าประเภทนี้เพื่อการผลิตตอบสนองทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโลหะและพลังงาน แต่เนื่องจากการเติบโตที่ช้าในจีนและส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจโลกทำให้ราคาเพิ่มขึ้นโดยอาศัยปัจจัยทางด้านอุปทานเป็นหลัก ซึ่งปัจจัยทางด้านอุปทานนี้เกิดจากสภาวะเฉพาะในปัจจุบัน มิใช่แรงดึงระยะยาวเหมือนด้านอุปสงค์

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มโลหะที่เป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมมีราคาเพิ่มขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการลดการผลิตในจีนและอีกส่วนหนึ่งมาจากการเก็บสินค้าคงคลังไว้ไม่มากเพียงพอ การผลิตเพื่อป้อนความต้องการที่ยังคงอยู่ต้องใช้เวลาพอสมควร

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มนี้จะยังคงสูงขึ้นได้ต่อเนื่องตามต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้น

สินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงานก็มีราคาเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ถ่านหินมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษเนื่องจากมีการเก็บสินค้าคงคลังไว้ไม่เพียงพอและยากที่จะขยายการผลิตได้รวดเร็ว แหล่งผลิตใหม่ๆ ในอนาคตจะมีต้นทุนสูงขึ้น

ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานยอดนิยมแห่งทศวรรษและจะใช้มากขึ้นทั้งในการผลิตไฟฟ้าและภาคการขนส่ง การขนส่งจากแหล่งใหม่ๆ ก็ต้องอาศัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าก๊าซ ซึ่งแพงมาก

น้ำมันปิโตรเลียมยังคงมีการผลิตล้นเกินและกลับมีการผลิตมากขึ้นในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาเพื่อที่บริษัทน้ำมันจะสามารถรักษารายได้มิให้ทรุดต่ำจนถึงขั้นดูแลงบดุลเอาไว้ไม่ได้ การที่กลุ่มประเทศโอเปคและอีก 11 ประเทศนอกกลุ่มร่วมกันปรับลดการผลิตได้มีผลทำให้การผลิตส่วนเกินลดน้อยลงไปมาก ถ้าบางประเทศที่ได้รับการยกเว้นเริ่มจำกัดการผลิตได้ในอนาคต โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะต่ำลงมากเหมือนปีที่ผ่านมาก็จะมีต่ำมาก

ราคาน้ำมันดิบที่สหรัฐหรือราคา WTI จะอยู่ได้ในระดับ 53-55 เหรียญสหรัฐอเมริกา ถ้าราคาสูงกว่านี้มาก ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐอเมริกาจะสามารถผลิตออกมาได้พอสมควรซึ่งจะทำให้ราคาอ่อนตัวลงสู่ระดับประมาณนี้ในช่วงครึ่งหลังของปีหรือใช้ระยะเวลาบ้าง

โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะสูงมากกว่า 55-60 เหรียญต้องอาศัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกและของจีน ยกเว้นจะมีการกลับไปลงโทษอิหร่านซึ่งก็เป็นไปได้โดยขึ้นอยู่กับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์

สินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตรยังอ่อนตัวทั่วโลกไปอีกนับปี เนื่องจากมีการผลิตล้นเกินในละตินอเมริกา ซึ่งโครงสร้างการผลิตต้องพึ่งภาคเกษตรกรรมมากขึ้นและมีค่าเงินต่ำมากจนสร้างแรงกดดันต่อผู้ผลิตสินค้าการเกษตรทั่วโลก

สินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นโลหะมีค่า เช่น ทองคำและเงิน จะเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินเหรียญสหรัฐและแรงกระตุ้นทางการเงินที่ลดลง ราคาจึงมีแนวโน้มตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลาอีกนาน

ประเด็นทั้งสองข้างต้นชี้ว่าปัญหาเงินทุนไหลออกจะเป็นปัญหาใหญ่ยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในปี 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศส่งออกที่ต้องนำเข้าพลังงานและมิได้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม โดยที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะอยู่ในระดับปานกลางและไม่มีผลทางบวกที่ชัดเจนต่อประเทศกำลังพัฒนา

ถ้ากล่าวให้เฉพาะเจาะจง รัสเซียจะเด่นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเหมือนกับที่ได้รับความนิยมในการประชุมจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันปิโตรเลียม บราซิลจะผ่านพ้นภาวะถดถอย จีนและเกือบทุกประเทศในเอเชียจะมีเสถียรภาพหรือเติบโตได้ใกล้เคียงเดิม

ปี 2560 จะเป็นปีโฆษณาข่าวดีของสหรัฐอเมริกาที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งยุโรปและญี่ปุ่นต้องสนใจ

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image