มุมมอง บทสรุป เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ เรื่อง ‘ปรองดอง’

แฟ้มภาพ

ทั้งที่คณะกรรมการ “ปรองดอง” มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งอยู่ในฐานะ “ประธาน”

ทำไมถึงมี “บางส่วน” ไม่ค่อยมั่นใจ

ขณะเดียวกัน ทั้งที่การมาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นไปตามความต้องการโดยตรงจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำไมถึงมี “บางส่วน” ไม่ค่อยมั่นใจ

Advertisement

หากไม่มั่นใจในศักยภาพของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็น่าจะมั่นใจในสถานะอันแข็งแกร่งและมั่นคงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้า คสช.และหัวหน้ารัฐบาล

หากแม้กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงมาด้วยตนเองในเรื่องของ “ปรองดอง” แล้วไม่สามารถสร้าง “ความมั่นใจ”

Advertisement

ก็น่าสงสัยในสถานะของ 2 คนนี้

ขณะเดียวกัน หากลงไปสำรวจกระบวนการมั่นใจ กระบวนการไม่มั่นใจ อันแสดงออกและปรากฏในทางสังคม ยิ่งน่าสนใจในจุดต่างของ 2 ความคิด

1 มั่นใจอย่างยิ่ง 1 ไม่แน่ใจอย่างยิ่ง

 

ความน่าสนใจก็ตรงที่ “น้ำเสียง” จากพรรคเพื่อไทยมากด้วยความมั่นใจ ขณะที่ “น้ำเสียง” จากพรรคประชาธิปัตย์กลับแปลก แปร่ง แตกออกไปอย่างตรงกันข้าม

กรณีนี้อย่ามองเพียงว่า “เห็นด้วย”

เพราะ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ก็เห็นด้วย เพราะ นายถาวร เสนเนียม ก็เห็นด้วย ยิ่ง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ยิ่งเห็นด้วย

แต่เป็นความเห็นด้วยอย่างไม่ค่อยจะมั่นใจ

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. อันมีคนของพรรคประชาธิปัตย์แวดล้อมอย่างคับคั่งประกาศท่าทีออกมาอย่างตรงไปตรงมา

ไม่ยอม “ลงนาม” ในบันทึก “เอ็มโอยู”

หลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ยกเอากรณีของกองกำลัง “สีเทา” มาเป็นประเด็น และยืนกระต่ายขาเดียวไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม หรือออกกฎหมายล้างผิดอย่างเด็ดขาด

และยืนยันแจ่มชัดตั้งข้อสงสัยว่า ใครเป็น “คู่ความขัดแย้ง”

เหมือนกับอุปสรรคและปัญหาไม่ใช่มาจาก คสช. ไม่ใช่มาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

มาจากฝ่ายใด กลุ่มใด หากเป็นแฟนพรรคประชาธิปัตย์ย่อมรู้

 

ตรงกันข้ามกับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์อย่างสิ้นเชิง ท่าทีจากพรรคเพื่อไทยรวมถึงพันธมิตรอย่าง นปช.เห็นด้วยกับกระบวนการ “ปรองดอง” อย่างเต็มเปี่ยม

ตั้งความหวังไว้กับ “พี่ใหญ่” แห่ง “บูรพาพยัคฆ์”

ไม่เพียงแต่พร้อมจะรับเทียบเชิญจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หากแม้กระทั่ง “เอ็มโอยู” ก็พร้อมร่วมลงนาม

ไม่ว่าจะมาจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีความเด่นชัด

ไม่ว่าจะมาจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำสำคัญของ นปช.ก็มีความเด่นชัด

และก็ไม่มีการเอ่ยอะไรถึง “พรรคประชาธิปัตย์”

แม้จะหงุดหงิดบ้างกับท่าทีของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และของ นายถาวร เสนเนียม แต่ก็พร้อมยอมรับข้อเสนออันมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เหมือนกับพรรคเพื่อไทยถอดเขี้ยว ถอดเล็บ ออกอย่างสิ้นเชิง

เหมือนกับ นปช.ถอดเขี้ยว ถอดเล็บ และพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะร่วมโต๊ะหารือ

 

ท่าทีระหว่างพรรคเพื่อไทย นปช.กับพรรคประชาธิปัตย์ กปปส. เช่นนี้สำคัญต่อสถานการณ์อนาคต

ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ล้วนไม่ได้มองเฉพาะการร่วมโต๊ะเจรจา หากแต่มองข้ามไปไกลมากยิ่งกว่านั้น

มองไกลไปถึง “สถานการณ์” ของ “การเลือกตั้ง”

“ปรองดอง” นี่แหละจะเป็น “หลักหมาย” สำคัญต่อแนวโน้มการเมืองใน “อนาคต” โดยเฉพาะต่อ “การเลือกตั้ง” ที่จะมีขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image