สุจิตต์ วงษ์เทศ : เรื่องซำปอกง กับ ทุเรียนสยาม เป็นคำบอกเล่าเก่าแก่ ไม่ใช่เรื่องจริง

เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” คนสมัยหลังๆ แต่งนิทานเรื่องทุเรียนของซำปอกง (ภาพจากปกหนังสือเจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์ มติชน 2546)

อ่านบทความของสุจิตต์ วงษ์เทศ เรื่องทุเรียนแล้ว ขอบอกว่า มันมั่วมาก ที่อ้างอิงนั้น ผิดข้อเท็จจริงมาก

1. ทุเรียน เป็นคำมาจากภาษามลายู ไม่ใช่จีน อย่างที่สุจิตต์อธิบาย

2. มาจากคำในภาษามลายูว่า Duri แปลว่า หนาม เข็ม สิ่งแหลม + suffix “an” ซึ่งคำนี้เมื่อเติมหลังคำใด จะมีความหมายว่า “มาก หรือ เต็มไปด้วย” ดังนั้น duri+an = durian แปลว่า เต็มไปด้วยหนาม/หรือเงาะ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า rambutan ก็มาจากภาษามลายูคำว่า rambut แปลว่า “เส้นผม ขน” เมื่อบวกด้วย suffix “an” = rambutan เต็มไปด้วยขน
3. คำว่า ทุเรียนหลิวเหลียน มาจากไหน ก็มาจากคนจีนในมลายูเรียกทุเรียนตามภาษามลายู แต่ออกเสียงไม่ได้และตัวอักษรจีนเขียนตามไม่ได้ จึงออกเสียงท้องถิ่นว่า หลิ่วเหลี่ยง แล้วเขียนเป็นอักษรอ่านเป็นภาษาจีนกลางว่า หลิวเหลี่ยน

4. ขอแถมคำว่า เงาะ เงาะเป็นความรู้เพิ่มเติม คนจีนในมลายูไม่ออกเสียงคำว่าเงาะเป็น rambutan แต่กลับไปสังเกตลักษณะกายภาพของลูกเงาะ แล้วจินตนาการว่าเหมือนลูกอัณฑะของมนุษย์ เพราะมีขนปกคลุมลูกกลมๆ แต่มีขนเป็นสีแดง เลยเรียกว่า “อั่งหม่อตาน” อั่งหมอ = ฝรั่ง อั้งม้อ ตาน = เม็ดกลมๆ หรือแปลว่าอัณฑะ ฝรั่งเขียนเป็นอักษรจีนว่า จีนกลางอ่านว่า “หงเหมาตาน” แปลว่า เงาะ แต่คนจีนท้องถิ่นโบราณ เปรียบเทียบเงาะเหมือนอัณฑะฝรั่ง เลยเรียกไปตามนั้น

Advertisement

ฝากเรียนคุณสุจิตต์ให้เข้าใจด้วย
ธงชัย ชาสวัสดิ์

คำบอกเล่าเก่าแก่ ไม่ใช่เรื่องจริง

ขอบพระคุณอย่างสูง คุณธงชัย ชาสวัสดิ์ ที่กรุณาแบ่งปันข้อมูลความรู้ให้ผม ซึ่งเป็นผู้น้อยอ่อนด้อยทางภาษามลายู, ภาษาจีน, ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ อีกมาก

ผมไม่มีประสิทธิภาพเก่งกล้าสามารถในการศึกษาค้นคว้าวิชาความรู้ลึกซึ้ง จึงเป็นศิษย์ครูพักลักจำมาตลอดตั้งแต่เริ่มทำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม แล้วบอกชื่อเสียงเรียงนามครูบาอาจารย์ทุกครั้งที่ผมลักจำมาใช้งานเขียนดัดแปลงให้ง่ายๆ สู่สาธารณะ

Advertisement

จึงขอทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเรื่องทุเรียนที่คุณธงชัยยกมานั้น ผมไม่ได้เป็นคนเขียน แต่เป็นคนคัดลอกโดยสรุป ซึ่งมาจากคำบอกเล่า (นิทาน) เรื่องซำปอกงกับทุเรียนสยาม ยุคต้นอยุธยา ซึ่งใครๆ อ่านก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องจริง ผมคัดลอกไว้เพื่ออ่านคลายเครียดเท่านั้น

แล้วบอกที่มาของเรื่องนี้ไว้ชัดเจน อยู่ในมติชนออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม 2560 ขอยกมาให้ดูอีกครั้ง ดังนี้

จากมติชนออนไลน์
[ดูรายละเอียดเรื่องเจิ้งเหอในหนังสือ 3 เล่ม (1.) เจิ้งเหอ แม่ทัพขันที “ซำปอกง” ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน 2546, (2.) เจิ้งเหอ ซำปอกงและอุษาคเนย์ ของ สืบแสง พรหมบุญ สำนักพิมพ์มติชน 2549, (3.) 600 ปี สมุทรยาตราเจิ้งเหอ แม่ทัพเรือผู้กลายมาเป็นเทพเจ้า “ซำปอกง” อันศักดิ์สิทธิ์ ของ ปริวัฒน์ จันทร สำนักพิมพ์มติชน 2548]

กลิ่นทุเรียนเหมือนขี้ซำปอกง

พืชพันธุ์จากสุวรรณภูมิแลกเปลี่ยนเข้าไปเมืองจีนด้วย ในคราวเดียวกัน เรื่องนี้ ปริวัฒน์ จันทร เขียนเล่าเรื่องทุเรียนไปเมืองจีนกับซำปอกง จะสรุปมาดังนี้

คำว่า “ทุเรียน” ในภาษาจีนกลาง เจิ้งเหอเป็นคนตั้งชื่อว่า “หลิวเหลียน” หรือสำเนียงแต้จิ๋วออกเสียงว่า “โถวเลี้ยง” แปลว่า ความหวนอาลัย หมายถึงผู้ใดที่ไม่เคยรับประทานทุเรียนมาก่อน ลองได้รับประทานเข้าก็จะหลงอาลัยในรสชาติจนยากที่จะลืมเลือนและไม่อยากกลับบ้าน

เชื่อกันว่าผลไม้ทุเรียนนี้ชาวจีนเพิ่งรู้จักครั้งแรกในสมัยราชวงศ์หมิง โดยลูกเรือของเจิ้งเหอที่ได้ลิ้มลองแล้วติดใจนำกลับไปเล่าขานให้คนที่เมืองจีนฟังกัน
ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยมักเล่าให้ลูกหลานฟังว่า คำว่า “ทุเรียน” นั้นชาวจีนเรียกว่า “ซำปอกงไส้” หรือ อาจมของซำปอกง?!
กล่าวคือ เมื่อเจิ้งเหอได้เดินเรือมาค้าขายในสยามนั้น ระหว่างทางที่ได้ไปเดินเที่ยวชมตามหมู่บ้าน ท่านเกิดปวดท้องหนัก เมื่อถ่ายแล้วจึงได้นำก้อนอาจมนั้นห่อใบไม้ นำปีนขึ้นไปแขวนไว้บนกิ่งไม้
บังเอิญในขณะนั้นมีชาวบ้านที่ทราบว่าซำปอกงเดินผ่านมา จึงได้มาขออาหารจากเจิ้งเหอที่ชาวจีนเชื่อว่าท่านเป็นผู้ที่มีวาจาอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จึงได้ชี้ขึ้นไปบนต้นไม้ บอกว่าให้ปีนขึ้นไปบนนั้น ข้างบนมีทุเรียนอยู่

ชาวบ้านคนนั้นจึงเชื่อ แล้วปีนขึ้นไปแกะห่ออาจมออกมาดู พบว่าข้างในเป็นผลทุเรียนสีเหลืองที่ส่งกลิ่นอันหอมหวนชวนรับประทานไปในพลัน!
ฉะนั้นใครที่ไม่ชอบกลิ่นของทุเรียนที่หอมฉุน ก็มักจะอ้างว่าทุเรียนมีกลิ่นเหม็นเหมือนขี้ซำปอกง
[จบข้อความที่คัดจากคำบอกเล่าเรื่องซำปอกงกับทุเรียน]

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image