คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ถ้าคนสมัคร ส.ว. กันมากมายขนาดนั้น พวกเขาที่คุยกันไว้แล้วจะทำอย่างไร?

ท่ามกลางบรรยากาศที่ประชาชนที่สนใจและตื่นตัวทางการเมืองกำลังคึกคักและฮึกเหิมกับการที่จะร่วมเข้าไปชิงพื้นที่ทางการเมืองในวุฒิสภาด้วยแคมเปญ ส.ว.ภาคประชาชน อยู่ดีๆ สำนักงาน กกต. ก็ออกมาโพสต์ประกาศตื่นตูมแบบไม่ดูสี่ดูแปด ด้วยข้อความตีขลุมให้เข้าใจว่า การที่กลุ่มบุคคลและองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ ชี้ชวน รวบรวมบุคคลให้เป็นผู้เสนอตัวสมัครเข้ารับการเลือกให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในระดับต่างๆ ทางเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์นั้น “อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมาย”

โดยที่ตอนแรกก็ไม่ได้อ้างว่าเป็นกฎหมายอะไร มาตราใด หรือถ้าเป็นกฎระเบียบก็อาศัยอำนาจอย่างไรด้วยซ้ำ แต่หลังจากที่โดนทัวร์ลงจนเห็นท่าไม่ดี ก็ค่อยออกมาชี้แจงว่า เพราะเพิ่งจะออก “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567” มา ทั้งที่ในขณะที่โพสต์ห้ามนั้น ราชกิจจานุเบกษายังไม่เผยแพร่ระเบียบดังกล่าวด้วยซ้ำ เรียกว่าเป็นการทำงานที่รวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับความเร็วในการทำงานที่ประชาชนได้รับรู้ อย่างเช่นการรับรองและประกาศผลการเลือกตั้ง

การแสดงออกที่เหมือนร้อนรนนี้ก็ทำให้ผู้ติดตามการเมืองอดคิดไม่ได้ว่า “ข้อมูล” อะไรที่มีในมือ หรือที่ทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจที่อยู่เบื้องหลังเริ่มเกิดความไม่มั่นใจ หรือเริ่มเห็นว่าการที่ประชาชนรวมกลุ่มกันเพื่อเสนอตัวเข้าเป็นผู้สมัคร ส.ว. โดยกลุ่มคนที่ก็รู้กันว่าไม่ใช่ผู้ที่จะเป็นมิตรต่ออำนาจเหล่านั้นเท่าไรนัก อาจจะส่งผลให้เกิดอะไรที่ไม่เป็นไปตามที่คิดคาด หรือวางแผนไว้หรือไม่

ทำไมการชิงพื้นที่ใน “วุฒิสภา” จึงเป็นเรื่องสำคัญของทั้งสองฝ่าย อาจจะต้องว่ากันด้วยพื้นที่ทางการเมืองของ “วุฒิสภา” มันค่อนข้างมีรูปแบบเฉพาะของไทย

Advertisement

ในบริบททางการเมืองไทยนั้น “วุฒิสภา” มีบทบาทพิเศษที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารและอำนาจจารีตและกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังหรือให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารนั้น ร่องรอยที่แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงดังกล่าวคือ หลังจากที่การรัฐประหารสำเร็จเสร็จสิ้น พวกเขาจะต้องจัดตั้ง “สภา” อะไรสักอย่างเพื่อช่วยในการใช้อำนาจ อย่างน้อยคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่อย่างเดียวกับรัฐสภา และอาจจะมีสภาอื่น ๆ มาเสริมเพิ่มเพื่อภารกิจพิเศษเช่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือสภาร่างรัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าสมาชิกของสภาเหล่านั้นต้องประกอบไปด้วยผู้ที่มีแนวคิดความเชื่อทางการเมืองไปในทางเดียวกันหรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อคณะรัฐประหารที่ได้ตั้งพวกเขามากับมือ และเมื่อภายหลังที่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว คณะรัฐประหารที่ยังมีอำนาจ หรืออิทธิพลในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้อยู่ บุคคลที่ทำงานในสภาเหล่านั้นบางส่วนก็ได้ไปนั่งเป็นสมาชิกในวุฒิสภาต่อแบบแทบไม่ต้องเก็บข้าวเก็บของย้ายที่ทำงาน

ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีผู้เป็นปากเสียงหูตา เพื่อรักษาความได้เปรียบและกติกาทางการเมืองที่ปลอดภัยต่อคณะรัฐประหารกับกลุ่มอำนาจและทุนที่สนับสนุนพวกเขาให้ยังครองความได้เปรียบทางการเมืองอยู่

ในสภาวะวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ยิ่งทำให้พวกเขาได้รู้ถึงความสำคัญของ “กติกา” และพลังของประชาชนผ่านตัวแทนที่อาจจะเข้ามาเปลี่ยนกติกานั้นได้ ด้วยเหตุนี้ วุฒิสภาจึงยิ่งต้องเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองกติกาอันได้เปรียบของฝ่ายอำนาจดังกล่าวไว้ และวุฒิสภาชุดแรกที่ตั้งขึ้นตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนโดยไม่ได้เหนียมอายเก้อเขินแล้ว ว่าปฏิบัติหน้าที่ได้สมประโยชน์ผู้แต่งตั้ง ในการรักษาอำนาจและความได้เปรียบ

Advertisement

ดังนั้น เมื่อวุฒิสภาชุดตามบทเฉพาะกาลนี้กำลังจะพ้นตำแหน่งลง ก็อาจจะเป็นโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ความพยายามเข้าไปแก้ไขกติกาด้วยการเข้าสู่ระบบตามกติกาได้ โดยที่ฝ่ายที่หวงอำนาจและความได้เปรียบนั้นอยากจะห้ามอย่างไรก็คงทำเช่นนั้นแบบตรงไปตรงมาไม่ได้ นั่นเป็นเพราะอำนาจของวุฒิสภาซึ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ.2560 นี้ เป็นกุญแจสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว

แม้ว่าวุฒิสภาชุดต่อไปที่จะเป็นวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างแท้จริงเต็มรูปแบบนี้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่อำนาจสำคัญในการอนุมัติบุคคลสำคัญให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและในองค์กรตุลาการก็ยังคงอยู่ ซึ่งวุฒิสภาชุดที่ผ่านมาก็ได้สำแดงปาฏิหาริย์ให้ได้เห็นแล้วว่าการใช้อำนาจนี้เอาไว้ใช้อนุมัติให้เฉพาะบุคคลที่มั่นใจว่าไม่เป็นภัยต่ออำนาจเบื้องหลังอันสนับสนุนพวกเขาอยู่ และกีดกันขัดขวางผู้ที่มีข้อสงสัยแม้แต่น้อยว่าอาจจะเป็นปฏิปักษ์ ไม่สนับสนุนส่งเสริม หรือแม้แต่เป็นกลางพอที่จะไม่เอออวยไปด้วยกับอำนาจมิชอบเหล่านั้นได้ การใช้อำนาจอนุมัติและกีดกันดังกล่าวมีกรณีใดบ้าง ผู้ติดตามการเมืองระดับลึกหน่อยคงนึกกันออก

หากอำนาจที่สำคัญที่ฝ่ายที่อยู่ก่อนต้องหวงแหน และฝ่ายที่ประสงค์จะเข้าไปใหม่นั้นต้องช่วงชิงมา คืออำนาจในการเห็นชอบและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับหรือรายมาตรา จะแก้เล็กแก้ใหญ่ ก็ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม หรือประมาณอย่างน้อย 67 เสียง

เรื่องจึงน่าแปลกใจว่าทำไม “ผู้ดูแลการเลือก ส.ว.” จึงกลับมีท่าทีออกมาป้องปรามเหมือนไม่ต้องการให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเสนอตัวกันมาเป็น ส.ว. ภาคประชาชน หรือสนับสนุนให้คนลงสมัครรับเลือกและจะได้สิทธิในการเลือก ส.ว. กันให้แพร่หลาย ทั้งๆ ที่ด้วยหน้าที่และอำนาจ หน่วยงานดังกล่าวควรจะสนับสนุน และยินดีต่อผู้ที่สนับสนุนให้มีผู้เข้าร่วมใช้สิทธิทางการเมืองในช่องทางดังกล่าวยิ่งมากเท่าไรก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีมิใช่หรือ

โดยหลักการพื้นฐานของการเมืองระบบตัวแทน การจะกล่าวอ้างว่าใครเป็น “ตัวแทน” ของประชาชนได้นั้น ก็ควรมาจากการเลือกหรือความเห็นชอบของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุดก็มากได้ ดังนั้นยิ่งผู้มีสิทธิได้เลือก “ตัวแทน” นั้นมีจำนวนน้อยหรือจำกัดเพียงใด ความชอบธรรมที่จะอ้างว่าเป็น “ตัวแทน” ก็ย่อมลดน้อยลงไปเช่นนั้น

ระบบการเลือก ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบพิสดารที่ไม่มีที่ไหนในโลก เป็นระบบกึ่งปิด คือผู้ที่จะมีสิทธิในการเลือก ส.ว.ได้ คือผู้สมัคร ส.ว. ซึ่งเป็นตัวแทนในกลุ่มอาชีพเดียวกับที่ตนสมัครเท่านั้น ยิ่งถ้าผู้ที่มีสิทธิเข้าไปเสนอตัวและเลือกกันเองนี้ มีจำนวนน้อยหรือกลุ่มเล็กลงเท่าไร โอกาสที่คนกลุ่มที่ “รู้จักกันเอง” อยู่แล้วก่อนหน้า จะสามารถกำหนดผลการเลือกนั้นก็ยิ่งเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ดังนั้น จึงยังนึกเหตุผลดีๆ ไม่ออกเลยว่า ทำไม กกต. ซึ่งควรจะเป็นผู้สนับสนุนให้การเลือก ส.ว. ในครั้งนี้เป็นไปโดยเปิดกว้างที่สุดเพื่อให้ได้ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพต่างๆ มากที่สุดโดยปราศจากการแทรกแซงของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น กลับพยายามจำกัดการใช้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน แสดงออกเชิงป้องปรามไม่ต้องการให้มี “ใครที่ไหนก็ไม่รู้” เสนอตัวเข้าไปให้เลือกและเลือกกันเองเป็น ส.ว. กำหนดกติกาว่าด้วยการแนะนำตัวที่เคร่งครัดโดยไม่จำเป็น รวมถึงออกมากล่าวชี้นำ ตีความและตีขลุมสร้างข้อห้ามในเรื่องที่ก็ไม่ได้มีบัญญัติไว้ตามกฎหมาย เอาโทษคุกโทษตะรางมาขู่ยิบยับทุกดอก ราวกับอยากให้คนคร้านจนยอมถอยกันไปเอง

อย่าลืมว่า ถ้าคนทั่วไปคร้านหรือหวั่นกลัวจนลงสมัคร ส.ว. น้อยลง หรือลงสมัครแล้วสามารถแนะนำตัวได้จำกัดจำเขี่ยหรือไม่สามารถแสดงจุดยืนทางความคิดของตนให้ผู้มีความคิดอย่างเดียวกันที่อาจจะไม่รู้จักกันได้มากเท่าไร กลุ่มคนที่ “รู้จักกันเอง” ดีอยู่แล้วก็ย่อมได้เปรียบมากขึ้นเท่านั้น

อย่าลืมเช่นกันว่าประเทศไทยมีเครือข่ายของ “กลุ่มคนที่รู้จักกัน” ที่มีความสัมพันธ์สนิทสนมกับอำนาจรัฐและอำนาจเบื้องหลังที่มีสายใยโยงกันแน่นหนา ผ่านพวกกลไก “หลักสูตรอบรม” ต่างๆ สารพัดตัวย่อที่หน่วยงานของรัฐทุกระดับจัดขึ้นปีละหลายหลักสูตรต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ผู้เข้าร่วม “หลักสูตรอบรม” ดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะแต่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ยังมีทั้งภาคเอกชน นักธุรกิจ และคนทำงานอิสระรวมถึงสื่อมวลชนและศิลปิน ที่แน่นอนว่าจะต้องมี “ความสัมพันธ์อันดี” เพียงพอหรืออย่างน้อยก็ไม่ทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐเป็นอย่างน้อย จึงจะได้รับเลือกให้เข้าร่วมอบรมดังกล่าว

เช่นเดียวกับใครที่อยู่ในสายงานที่มีสภาหรือสมาคมวิชาชีพ แม้กระทั่งมูลนิธิใหญ่ที่แม้จะดูเหมือนเป็นวิชาชีพ หรือกิจกรรมอิสระก็คงจะนึกออกกันได้ว่า บรรดากรรมการและสมาชิกสภาหรือสมาคมวิชาชีพนั้นๆ เอาเข้าจริงๆ ก็มักจะวนเวียนกันไปมาอยูในกลุ่มคนที่รู้กันว่าเป็น “สายสมาคม” ที่สั่งสมอำนาจบารมีกันมารุ่นต่อรุ่น และสมาคม สภา และมูลนิธินั้น ก็มีความสัมพันธ์อันดีกับอำนาจรัฐและอำนาจจารีตกับกลุ่มทุนใหญ่ด้วย

ดังนั้น ถ้าคนลงสมัคร ส.ว. กันน้อย หรือถึงสมัครแล้วก็ยังทำความรู้จักกันได้แบบจำกัดเข้าไปอีก นอกจากจะไม่เห็นประโยชน์ที่จะได้ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพอย่างไรแล้ว ก็ยังแต่จะไปส่งเสริมความได้เปรียบให้แก่กลุ่มคนที่ “รู้จักกันดี” ที่ว่านี้ สามารถที่จะตกลงกันเอง อย่างที่พวกเขาเคยทำกันมาในการเลือกประธานรุ่น ค.ป.ต. (หลักสูตรสมมุติ) หรือเลือกกรรมการบริหารสมาคมนักร้องเรียนแห่งประเทศไทย (สมาคมสมมติเช่นกัน) และก็อาจจะใช้วิธีเดียวกันนี้เลือกหา ส.ว. ที่ “อำนาจเบื้องหลัง” น่าจะสามารถต่อสายได้หรืออย่างน้อยก็ไม่ทำอะไรเป็นปฏิปักษ์แก่อำนาจเหล่านั้น

เรื่องมันจึงจะเปลี่ยนไปได้แบบเกมพลิก หากประชาชนจำนวนมากๆ ที่พวกเขาไม่ได้ประเมินไว้ในแต่ละกลุ่มวิชาชีพมาลงสมัครรับเลือกและเลือก ส.ว. กันจนล้นหลาม และยิ่งถ้าสามารถแนะนำตัวกันได้อย่างมีอิสระ บอกแจ้งจุดยืนทางความคิดความเชื่อต่อคนที่คิดและเชื่ออย่างเดียวกันให้ตัดสินใจเลือกได้ ก็ทำให้ที่สมาคมหรือชาวหลักสูตรต่างๆ ที่เคยจับตัวกันได้แน่นหนาหรือเผลอๆ ก็เลือกกันมาล่วงหน้ามาคร่าวๆ แล้วนั้นหมดความหมายหรือไร้ความสามารถที่จะกำหนดแนวโน้มทิศทางในการเลือก ส.ว. ได้

หวังว่านี่คงเป็นแค่การคาดการณ์แบบเชื่อมโยงไปเรื่อยที่ไม่เกี่ยวข้องกับท่าทีร้อนรนไม่เป็นธรรมชาติของผู้ที่จะต้องทำหน้าที่จัดการเลือก ส.ว.

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image