ภาพเก่าเล่าตำนาน : เขมรขุดคลองมหึมา…ผันน้ำจากแม่น้ำโขง

ภาพเก่าเล่าตำนาน : เขมรขุดคลองมหึมา…ผันน้ำจากแม่น้ำโขง

คิดใหญ่ ทำใหญ่ ทำจริง…เขมรผันแม่น้ำโขงเข้ามาในประเทศ

ไม่ค่อยเป็นข่าวใหญ่นัก แต่โครงการนี้ ผู้นำกัมพูชาตัดสินใจ…เด็ดขาด แม้จะมีการทักท้วงจาก “เวียดนาม” โดยพี่จีนยกทีมมาสำรวจแล้ว …พี่จีนจะเป็น “ผู้ดำเนินการ” ผันทิศทางแม่น้ำให้กัมพูชา

รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของกัมพูชา เป็ง โพเนีย กล่าวว่า โครงการนี้จะเริ่มต้นขึ้นในปลายปี’67 โดยเริ่มศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่เมื่อตุลาคม 2566 โดยบริษัทพัฒนาคลองซึ่งมีชื่อว่า China Road and Bridge Corp (CRBC)

Advertisement

ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา อนุมัติให้ดำเนินการตามแผนการขนส่งทางน้ำมูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากจีน จัดระเบียบพื้นที่ คลองชื่อ ฟูนันเตโช แห่งนี้จะเชื่อมต่อพนมเปญกับท่าเรือกัมพูชาในอ่าวไทยโดยตรง โดยผันเส้นทางน้ำจากแม่น้ำโขง

นับเป็นอีก 1 โครงการที่จะเปลี่ยนโฉมของกัมพูชาไปตลอดกาล

การขุด-ผัน เส้นทางแม่น้ำครั้งมโหฬารนี้ มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของเพื่อนบ้านเวียดนามไม่น้อย…

Advertisement

“เวียดนาม” ส่งสัญญาณเตือนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของคลองต่อ “สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง” หากไม่มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับคลองที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนของจีน ที่ขยายฐานการเงินผ่านโครงสร้างพื้นฐานทั่วเอเชีย

เวียดนาม เตือนว่า …นักพัฒนาของจีนมักไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ซึ่ง ฮุน มาเนต ได้ร้องขอให้จีนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อไป

คลองที่จะขุดนี้ ถูกตั้งชื่อว่า “ฟูนันเตโช” ความยาว 180 กิโลเมตร จะเชื่อมระหว่างพนมเปญกับอ่าวไทย ก่อให้เกิดความกังวลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม นำไปสู่การคาดเดาว่า อาจทำให้เรือของ “กองทัพเรือจีน” เข้าถึงพื้นที่ภายในกัมพูชา ทะลุทะลวงเข้าไปถึงชายแดนเวียดนามโน่น

เกิดข้อกังวลหลายประการ เช่น เรื่องค่าชดเชยการย้ายถิ่นฐาน

ฝ่ายความมั่นคงของเวียดนาม ไตร่ตรองถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขุดลอกทางน้ำทั้งหมดภายในกัมพูชา ที่จะส่งผลให้เรือสินค้าอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทะเลของพนมเปญในปัจจุบันที่ผ่านเวียดนามไปยังน่านน้ำสากล

ที่จะเป็นประเด็น “หมางใจ” แน่ๆ คือ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าคลองจะ “ดึงน้ำ” จากแม่น้ำโขงซึ่งชาวนาเวียดนามที่พึ่งพาแม่น้ำแห่งนี้กังวลเรื่องพืชผลของตน…

กัมพูชา…ต้องการเลือกอนาคตของตนเอง ต้องการความอุดมสมบูรณ์ สร้างความพร้อมในระบบโลจิสติกส์

ความกังวลของฮานอยที่ลดละ คือ คลองที่กว้าง 100 เมตร ลึก 5.4 เมตรแห่งนี้ คือ กองทัพเรือจีนที่อาจจะบุกมาเข้าหลังบ้าน

ปลายทางชายฝั่งของโครงการอยู่ในเมือง “แกบ” (Kep) อยู่ห่างจาก “ฐานทัพเรือเรียม” ของกัมพูชาในเมืองสีหนุวิลล์ประมาณ 100 กิโลเมตร ซึ่งก็เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่โดยทุนสนับสนุนจากจีนอีกเช่นกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า กัมพูชาและเวียดนาม มี “ความหลังฝังใจ” กันมาช้านาน ในช่วงสงครามเย็น ถึงขนาดเสียบ้าน-เสียเมือง

พ.ศ.2518 หลังทำสงครามรวมชาติ (เวียดนามเหนือ-ใต้) สำเร็จ กองทัพเวียดนามยิ่งใหญ่ เกรียงไกร แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค

ช่วง พ.ศ.2518 – 2520 เวียดนามและกัมพูชา ระหองระแหง เรื่องเขตแดนของประเทศตนที่ฝรั่งเศสเคยแบ่งมอบไว้ สงครามย่อยๆ เริ่มขึ้นด้วยการปะทะตามพรมแดนทางบกและทางทะเล

25 ธันวาคม 2521 กองทัพเวียดนามนับแสน บุกเข้ามาในกัมพูชา ภายใน 2 สัปดาห์ รถถังเวียดนามยาตราทัพเข้ายึดพนมเปญสำเร็จ ล้มล้างรัฐบาลเขมรแดง ปกครองกัมพูชานานกว่า 11 ปี

ในช่วงเวลาที่เวียดนามปกครองเขมร เวียดนามยังส่งกำลังทหารรุกไล่เขมรแดงมาทางตะวันตก ทำให้กองทัพเวียดนามมาเผชิญหน้ากับกองทัพบกไทย ณ พื้นที่ชายแดน เกิดการสู้รบกันในหลายสมรภูมิ

เรื่องการขุดคลองนี้….ฮุน มาเนต ก็ให้ความสำคัญกับ เวียดนาม โดยให้คำมั่นกับ นายกรัฐมนตรีเวียดนามว่า การศึกษาเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าคลองจะมีผลกระทบน้อยที่สุดต่อแม่น้ำโขงตอนล่าง

เดือนมกราคม พ.ศ.2567 นิตยสารดิโพลแมต รายงานว่า ผู้นำทั้ง 2 พบกันที่ฮานอยแล้ว

ฮุน มาเนตกล่าวว่า คลองนี้จะจัดหาน้ำสำหรับพืชผลการเกษตร ปรับปรุงการจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนและส่งเสริมการประมงน้ำจืด

เมษายน พ.ศ.2567 บลูมเบิร์กนิวส์รายงานว่า โครงการนี้จะสร้างงานประมาณ 1.6 ล้านคน ตลอดเส้นทางขุดคลอง ผ่านจังหวัดกัมปอตและจังหวัดกันดาล

บริษัท ไชน่า บริดจ์ แอนด์ โรด คอร์ป ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ จะให้เงินทุนขุดคลอง จากนั้นจะบริหารจัดการและสร้างกำไรจากการดำเนินงานเป็นเวลา 50 ปี หนังสือพิมพ์เดอะสเตทส์ไทมส์รายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2567 มีการวางแผนสร้างเขื่อน 3 แห่ง สะพาน 11 แห่ง และทางเท้ายาว 208 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางคลอง

เวียดนาม ส่งเสียงวิจารณ์หนักแน่น ในเชิงห่วงใยการขยายอิทธิพลของกองทัพจีน…

“คลองฟูนันเตโช ไม่เพียงแต่เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางทหารอย่างมาก และมีผลกระทบอย่างมากต่อสถานการณ์การป้องกันและความมั่นคงของภูมิภาคทั้งหมด” นักวิจัยชาวเวียดนามเขียนในบทวิจารณ์เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2567 ที่ตีพิมพ์โดยรัฐเวียดนาม

หลายทศวรรษที่ผ่านมา จีน คือชาติที่เข้ามาลงทุนในกัมพูชาแบบพลิกโฉม ถนน สะพาน สนามกีฬา การศึกษา การทหาร อาวุธ สนามบิน การท่องเที่ยว ท่าเรือน้ำลึก ฯลฯ เป็นเรื่องที่กัมพูชาแฮปปี้

กัมพูชา เป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งในโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็นนโยบายของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างและได้รับทุนสนับสนุนจากจีนไปทั่วโลก

ชายฝั่งจังหวัดสีหนุวิลล์ที่สวยงาม ครั้งหนึ่งเคยเงียบสงบ ตรงข้ามอ่าวดาราสาคร ได้ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อรองรับความต้องการกาสิโนของจีนในเวลาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งต่อมาก็มีปัญหาเรื่องเงินทุน

โครงการ “ดาราสาคร” (Dara Sakor) เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2551 เมื่อ UDG ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างเอกชนของจีนที่ตั้งอยู่ในเมืองเทียนจินทางตอนเหนือ ได้รับสัญญาเช่าระยะเวลา 99 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาสูงสุดที่อนุญาตภายใต้กฎหมายกัมพูชา ด้วยเงินมัดจำเพียงครั้งเดียว 1 ล้านเหรียญสหรัฐ นี่เป็นสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ 36,000 เฮกตาร์ในตอนแรก และเพิ่มอีก 9,000 เฮกตาร์ในภายหลัง

UDG ไม่จำเป็นต้องจ่ายอะไรเพิ่มเติมเป็นเวลา 10 ปี และหลังจากนั้นเพียงปีละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในการควบคุมพื้นที่ 1 ใน 5 ของแนวชายฝั่งที่สวยงามทั้งหมดของกัมพูชา…

ในที่สุดโครงการนี้ “สะดุด-หยุดลง” แบบไม่มีใครพูดถึงอีก

อิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่สายตาของสหรัฐ ที่เฝ้ามองไม่ลดละ ไม่สบายใจ

ในปี 2563 กระทรวงการคลังสหรัฐบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อ UDG โดยอ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้านของตน รวมถึงอานุภาพทางทหารของจีนที่มาสร้างสนามบินแห่งใหม่

สหรัฐกังวลอยู่แล้วเกี่ยวกับฐานทัพเรือขนาดมหึมาที่จีนมาสร้างใกล้สีหนุวิลล์ ซึ่งกำลังได้รับการปรับปรุงใหม่ด้วยเงินทุนของรัฐจีน และวอชิงตันเชื่อว่ากองทัพเรือจีนมาใช้แน่นอน

เรื่องของคลองที่จะขุด… นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ยืนยันว่า…คลองดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้เรือรบจีนเข้าถึง …กัมพูชาไม่อนุญาตให้ต่างประเทศใช้อาณาเขตของตนเป็นฐานทัพทหารในการต่อสู้กับประเทศอื่นๆ

เรื่องคลองฟูนันเตโช ยังสะท้อนถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะที่กัมพูชาพยายามที่จะ “เปลี่ยนจากการพึ่งพาเส้นทางการค้าที่เวียดนามควบคุม”

ชื่อเล่นของคลองนี้มาจาก “อาณาจักรฟูนัน” โบราณที่ทอดยาวไปทั่วเวียดนาม และถูกมองว่าเป็นบรรพบุรุษของอาณาจักรกัมพูชา

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต้องมาก่อนเสมอ

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image