ฤดูกาล การเมือง ปรองดอง ประชาธิปไตย บรรยากาศ ใหม่

ไม่ว่า “คสช.” จะปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองและนักการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่สภาพความเป็นจริงจะค่อยๆ ปลดล็อกให้กับพรรคการเมืองและนักการเมืองไปโดยอัตโนมัติ

พลันที่โยนคำว่า “ปรองดอง” ขึ้นมา

เหมือนกับ “ปรองดอง” เป็นวาทกรรมธรรมดา แต่เมื่อปรากฏขึ้นในสถานการณ์อันเหมาะสม คำซึ่งเคยเห็นเป็นธรรมดานี้ก็จะแสดงฤทธิ์เดชของมัน

ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเสนอ “ปรองดอง” ไม่ว่าจะมาจาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และผลักดันเรื่องนี้ในห้วงที่มีบทบาทอยู่ในพรรคชาติไทยพัฒนา

Advertisement

แต่ไม่สำเร็จ ปลุกกระแสไม่ขึ้น

ต่อมา นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีต “นายกรัฐมนตรี” ที่มีบทบาทตั้งแต่ยุคหลังสถานการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คบหาและรู้จักผู้คนมากมายหลายกลุ่ม ทั้งทหาร ข้าราชการและนักการเมือง

แต่ไม่สำเร็จ ปลุกกระแสไม่ขึ้น

Advertisement

แม้กระทั่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ต้องการล้างบาปจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 โดยร่วมมือกับหลายกลุ่มและมีสถาบันพระปกเกล้าเป็นฝ่ายวิชาการ แต่ก็ไม่สำเร็จ

ถามว่า ทำไมในเดือนกุมภาพันธ์ “ปรองดอง” จึงมีความคึกคัก

 

ต้องยอมรับว่า ความคึกคักของสถานการณ์ “ปรองดอง” วาระใหม่มาจากความสุกงอมเป็นอย่างยิ่งของสังคมประเทศไทย

ทุกคนล้วนตระหนักว่าจำเป็นต้อง “ปรองดอง”

เพราะเริ่มรู้สึกอึดอัดจากการกลัดกระดุมผิดมาตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นเวลา 10 กว่าปีที่จมอยู่ใน “ปลักโคลน”

เป็นปลักโคลนแห่งความขัดแย้ง แตกแยก ในทาง “ความคิด” อันนำไปสู่สภาวะปั่นป่วนยืดยาวอย่างไม่รู้จบในทาง “การเมือง”

รู้อยู่ว่ารัฐประหารเดือนกันยายน 2549 “เสียของ”

ต้องการแก้ไข ต้องการเริ่มต้นใหม่ แต่เนื่องจากอาศัยกระบวนการ “รัฐประหาร” มาเป็นเครื่องมือ จึงนำไปสู่ความผิดพลาดจากความผิดพลาด

เสียหายทั้งด้าน “ภาพลักษณ์” เสียหายทั้งด้าน “เศรษฐกิจ”

ดัชนีที่เสื่อมทรุดตกต่ำไม่ว่าจะมาจาก “องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ” ไม่ว่าจะมาจาก “ฟรีดอมเฮาส์” คือตัวชี้ให้เห็นถึงความเสียหายในลักษณะซึมลึก

จึงนำไปสู่ความคิดว่า “จำเป็น” ต้อง “ปรองดอง”

สถานการณ์ “ปรองดอง” นั่นแหละจะเป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

แม้ว่าบางส่วนจะพยายามสกัดและขัดขวาง

ดังในกรณีที่ คสช.ไม่ยอม “ปลดล็อก” ให้พรรคการเมืองและนักการเมืองสามารถเคลื่อนไหวประชุมหรือแสดงออกได้อย่างเสรี

แต่รูปธรรมที่ปรากฏ คสช.สามารถห้ามได้อย่างเป็นจริงหรือไม่

หากดูจากที่นักการเมืองไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ต่างออกมาเสนอความคิดเห็นเด่นชัดว่าไม่สามารถสกัดและขัดขวางได้

ยากเป็นอย่างยิ่งที่ คสช.จะนำ “มาตรการ” อย่างเดียวกันกับที่เคยดำเนินการในห้วงแห่ง “ประชามติ” มาใช้กับสถานการณ์ “ปรองดอง”

เพราะ “องค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ” ก็ยืนยันผลมาแล้วว่าเป็นอย่างไร

ขณะเดียวกัน คะแนน “ความไม่เสรี” อันดำรงอยู่ภายในสังคมประเทศไทยจากการประเมินของ “ฟรีดอมเฮาส์” ก็เป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก ตรงนี้ต่างหาก คือ ความเป็นจริง

ความเป็นจริงนี้ สะท้อนและยืนยันว่า ประเทศไทยไม่สามารถดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยแยกขาดออกจากประชาคมโลก

ตรงนี้ต่างหาก คือ ปัจจัยอันบีบรัดเข้ามาเหมือนคีม

เพราะว่า “ปรองดอง” เป็นการเคลียร์พื้นที่ก่อนประเทศไทยจะเข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง”

บทสรุปจากความจัดเจนของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่า ปี 2560 คือปีที่อยู่ใน “บรรยากาศ” แห่งการตระเตรียมในเรื่องของ “การเลือกตั้ง”

เพราะว่า “การเลือกตั้ง” คือรูปแบบ 1 ของ “ประชาธิปไตย”

“ประชาธิปไตย” จึงเป็นสภาพที่ยากจะปฏิเสธในสถานการณ์ “ปรองดอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image