ที่มาและพัฒนาการของการปฏิวัติแห่งชาติกะเหรี่ยง ตอนที่ 2 โดย ลลิตา หาญวงษ์

ไทยพบพม่า : ที่มาและพัฒนาการของการปฏิวัติแห่งชาติกะเหรี่ยง ตอนที่ 2

กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่ประกอบขึ้นเป็นสหภาพเมียนมา คำว่า “กะเหรี่ยง” หมายรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ย่อยๆ ที่พูดภาษาตระกูลกะเหรี่ยงอีกประมาณ 20 กลุ่ม คนเหล่านี้มีวัฒนธรรม ภาษา และถิ่นที่อยู่ (พื้นที่ราบหรือพื้นที่สูง) ที่แตกต่างออกไป ด้วยเหตุนี้ แม้ชาวกะเหรี่ยงจะต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามายาวนานหลายสิบปี แต่ปัญหาที่พวกเขาต้องเจอคือผู้นำกะเหรี่ยงเองก็ไม่สามารถรวมคนกะเหรี่ยงร้อยพ่อพันธุ์แม่ให้มาเข้าร่วมเจตจำนงและสานฝันตั้งมหารัฐกอทูเลได้เช่นกัน

อาร์เดธ หม่อง ตองมุง (Ardeth Maung Thawnghmung) ประเมินไว้ว่ามีประชากรกะเหรี่ยงในเมียนมาระหว่าง 3-7 ล้านคน ประกอบด้วย2 กลุ่มหลัก คือ ชาวสกอ (Sgaw) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์หรือศาสนาผี อาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาทางตะวันตกของพม่า ใกล้ชายแดนไทย และชาวโป (Pwo) โดยมากเป็นชาวพุทธและอาศัยในเขตที่ลุ่มในพม่าตอนล่าง ปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งพม่าและมอญ ทั้งสองกลุ่มคิดเป็นประชากรกะเหรี่ยงกว่าร้อยละ 80

สิ่งที่สังคมไทยมักเข้าใจผิดคือจะเข้าใจว่าคนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่เป็นคนคริสต์ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนกะเหรี่ยงพุทธคือคนส่วนใหญ่ ชาวคริสต์มีร้อยละ 15-20 และที่เหลือนับถือศาสนาผีอีกสักร้อยละ 5-10 ในบรรดาชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด แน่นอนว่าชาวคริสต์มีความโดดเด่นที่สุด เพราะได้รับการศึกษาจากมิชชันนารีที่เข้าไปในพื้นที่กะเหรี่ยงตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 และซึมซาบวัฒนธรรมตะวันตกมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่า

Advertisement

ในยุคอาณานิคม คนกะเหรี่ยงที่มีการศึกษาพูดภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว จะมีอภิสิทธิ์ได้ทำงานในระบบราชการอังกฤษง่ายกว่าคนพม่า เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา อังกฤษก็ไว้วางใจคนกะเหรี่ยงมากกว่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่นใดในพม่า และเกณฑ์เข้าไปเป็นทหารเพื่อรบกับกองทัพญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าตาม “สเปก” ของอังกฤษ ทหารกะเหรี่ยงจะไม่ได้กำยำล่ำสันเหมือนชนชาตินักรบอื่นๆ ในบริติชเอ็มไพร์เช่น คนซิกข์ ราชบุตร หรือคนกุรข่า แต่อังกฤษมองว่าคนกะเหรี่ยงมีความซื่อสัตย์เหนือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นใด ด้วยความที่ทหารกะเหรี่ยงเป็นกำลังหลักในสงครามมาตั้งแต่สงครามอังกฤษ-พม่าในปี 1853 และ 1885 ในขณะที่กองทัพพม่า BIA (Burmese Independence Army) เข้าร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงแรก ก่อนจะแปรพักตร์และกลับไปติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษ ทำให้ BIA ไม่พอใจชาวกะเหรี่ยง จนเกิดเหตุการณ์ที่ BIA สังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงระหว่างสงคราม จนเกิดเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งสองมาจวบจนปัจจุบัน

ความซับซ้อนของตัวตนกับอัตลักษณ์กะเหรี่ยง ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับชาวพม่า ทำให้แนวคิดชาตินิยมกะเหรี่ยง หรือการรวมกะเหรี่ยงทั้งผอง (Pan-Karen) เกิดขึ้นและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แนวคิดว่าด้วยการตั้งรัฐกะเหรี่ยงเกิดขึ้นมาจาก ดร.ซาน ซี. โป (San C. Poe) นายแพทย์ชาวกะเหรี่ยงที่เสนอแนวคิดตั้งรัฐกะเหรี่ยงที่เป็นอิสระ ภายใต้ระบบที่เขาเรียกว่า “สหรัฐแห่งพม่า” (United States of Burma) แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1920 หรือกว่า 2 ทศวรรษก่อนพม่าได้รับเอกราช แต่ผู้นำกะเหรี่ยงก็เข้าใจเป็นอย่างดีว่าการรวมคนกะเหรี่ยงทั้งผองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้นเป็นไปได้ยาก ประชาชนกะเหรี่ยงที่อยู่ใน “รัฐกะเหรี่ยง” (Kayin State) คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรกะเหรี่ยงทั้งประเทศพม่า คนส่วนใหญ่อยู่ในที่ราบลุ่ม และปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ชาวกะเหรี่ยงส่วนใหญ่พูดภาษาพม่าได้และคุ้นเคยกับวัฒนธรรมพม่า

ภายใต้ระบบแบ่งแยกและปกครอง อังกฤษไม่มีนโยบายส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้พูดคุยกัน แต่เลือกจะเกณฑ์ทหารจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับการศึกษาจากมิชชันนารี เพื่อทำให้การควบคุมกองทัพ (รวมทั้งกองตำรวจหรือระบบราชการโดยรวม) ง่ายขึ้น ชาวกะเหรี่ยงเองก็เชื่อว่าเมื่อพวกเขาทำงานอย่างแข็งขันให้อังกฤษ อังกฤษก็จะตอบแทนพวกเขาด้วยการมอบรัฐกะเหรี่ยงให้ตามเจตนารมณ์ของนักชาตินิยมกะเหรี่ยงหลังพม่าได้รับเอกราช อย่างไรก็ดี ด้วยกระบวนการมอบเอกราชให้พม่าเป็นไปแบบรีบเร่ง และเป็นความจำเป็นมากกว่า ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดไม่ได้พูดคุยกันเพื่อกำหนดรูปแบบของรัฐ

Advertisement

หลายคนอาจจะอ้างถึงสนธิสัญญาปางหลวง ที่นายพลออง ซาน เดินทางไปพบผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยตัวเอง และลงนามในข้อตกลงที่ต่อมาจะเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ผู้เขียนอยากจะย้ำว่าสนธิสัญญาปางหลวงเองไม่ได้รวมผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มเข้ามาร่วมบนโต๊ะเจรจา มีเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตเทือกเขาเท่านั้น ผู้แทนกะเหรี่ยงมีสถานะเพียงผู้สังเกตการณ์ และไม่ได้รับสิทธิการแยกตัว (rights to secession) เหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ลงนามในสนธิสัญญาปางหลวงอีก 4 กลุ่ม ได้แก่ ฉาน ฉิ่น
และคะฉิ่น แนวทางเจรจาสันติภาพแบบเลือกปฏิบัติในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เป็นเหตุผลสำคัญว่าเหตุใดการเจรจาสันติภาพในพม่าจึงไม่บรรลุผลที่ยั่งยืน และไม่สามารถหยุดความรุนแรงในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมาเกือบ 8 ทศวรรษได้

ก่อนพม่าได้รับเอกราชไม่นาน รัฐบาลอังกฤษและพรรครัฐบาล AFPFL ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา (รัฐธรรมนูญปี 1947) รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ปรากฏสิทธิการแยกตัวของรัฐกะเหรี่ยง และไม่ได้กล่าวถึงเส้นเขตแดนของรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งจะทำให้การนิยามเขตแดนของ “รัฐ” กะเหรี่ยงลักลั่นมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ KNU ซึ่งเป็นองค์กรการเมืองกะเหรี่ยงที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดตีความว่าเขตแดนกะเหรี่ยงกินพื้นที่ถึงที่ราบลุ่มในพม่าตอนล่างและตอนบน ไปจนถึงบางส่วนของรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยงตามคำนิยามของรัฐบาลพม่าในปัจจุบันมีขนาดเล็กว่า “มหารัฐกอทูเล”ค่อนข้างมาก

ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในพม่าไม่ได้เป็นปัญหาระหว่างกะเหรี่ยงกับพม่าเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ประสบปัญหาใกล้เคียงกัน และที่ผ่านมากลุ่มเหล่านี้ก็ประกาศสงครามกับรัฐบาลพม่ามาตลอดหลายสิบปี ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในนี้ จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเข้าสู่โต๊ะเจรจา แน่นอนการพูดคุยกับผู้คนทุกฝ่ายไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้พลังงานและความเข้าใจมหาศาล และหากไม่มีการเจรจาในลักษณะนี้เกิดขึ้น การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในประเทศนี้ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน  

ย้อนอ่านบทความแรก 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image