‘มานุก’ มาเป็น ‘นก’ ? เรื่องของวิหคในถ้อยคำอุษาคเนย์

ภาษาตระกูลออสโตรนีเซียนแถบอินโดนีเซียเรียกสัตว์ปีกจำพวกนกรวมถึงไก่ในสามคำคือ “manuk อ่านว่า มา-นุก” “burung อ่านว่า บุ-รุง” และ “ayam อ่านว่า อา-ยัม” โดย “manuk” ใช้ได้ทั้งนกและไก่ “burung” ใช้กับนก และ “ayam” ใช้กับไก่

“manuk” เป็นคำมาตรฐานคำหนึ่งของนักภาษาศาสตร์ที่ใช้เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างภาษาออสโตรนีเซียนกับภาษาไท-กระได จาก “manuk” หดสั้นลงเหลือ “นก”

ถ้าลองไล่ที่มาของคำว่า “manuk” จากภาษาทะเลใต้ อาจตั้งข้อสังเกตได้ว่ามาจากคำสองคำประกอบกันขึ้นคือ “ma” + “nuk” คำว่า “ma” นั้นเป็นคำขึ้นต้นในหลากหลายคำ เป็นคำเดียวกับภาษาไท-กระไดว่า “มะ” หรือ “หมาก” หรือแปลง่ายๆเป็นคำใช้เรียกสิ่งต่างๆว่า “ลูกนั่นลูกนี่” ส่วนคำว่า “nuk” เท่าที่ทราบพบอยู่ในอีกสองคำของภาษาอินโดนีเซีย ได้แก่
“punuk อ่านว่า ปุ-นุก” มาจากคำสองคำเช่นกันคือ “pu” + “nuk” คำว่า “pu” แปลทั่วไปว่าการผุดโผล่ขึ้น เมื่อรวมเป็น “punuk” จึงแปลว่า หงอน โหนก เนื้อส่วนที่ปูดโปนขึ้นมา หรือส่วนที่โค้งโก่งตัว หรือแม้แต่แปลไปถึงท่าทางโก้งโค้งผสมสืบเผ่าพันธุ์ของบรรดาสัตว์โลกทั้งหลาย เป็นท่ามาตรฐานเบสิกที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียวในความห็นของผู้เขียน

“tenuk อ่านว่า เตอ-นุก” มาจากคำสองคำเช่นกันคือ “te” + “nuk” คำว่า “te” ใช้เป็นคำขึ้นต้นคำต่างๆเช่นเดียวกับคำว่า “ma” และ “pu” แปลคำนี้โดยรวมว่า สัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนม เน้นที่คำว่า “เนินนม” สัตว์ที่มีตัวโค้งอวบป้อม หรือส่วนหลังที่โค้งลาดลงมาข้างหน้า หรือขนส่วนหน้าอกของสัตว์มีสีดำคล้ำกว่าส่วนอื่น

Advertisement

จะเห็นว่าสองคำนี้มีพื้นฐานความหมายบางอย่างร่วมกัน เป็นอาการหรือบางสิ่งโค้งๆ ป้อมๆ กลมกลึง ดังนั้นเมื่อถ่ายเทความหมายมายังคำว่า “manuk” จึงหมายถึงสัตว์ที่มีลักษณะลำตัวโค้งป้อม หรือสัตว์ที่มีหงอนก็ได้ หรือถ้าจะระบุตัวตนให้ชัดเจนก็ออกได้ทั้งนกและไก่ ซึ่งผู้เขียนขอให้ความเห็นต่อไปว่า คำ “manuk” “punuk” และ “tenuk” นี้เองเป็นที่มาของคำไทยสั้นอื่นที่นอกเหนือไปจากคำว่า “นก” เช่น “โหนก” “หนอก” เป็นต้น

สุพัฒน์

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช เกิดที่จันทบุรี เมื่อ พ.ศ 2512 จบการศึกษาจากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วเดินทางไปสำรวจเหมืองถ่านหินในป่าฝนดิบชื้นแห่งหมู่เกาะทะเลใต้ ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลาหลายปี มีความสนใจพิเศษในด้านภาษาศาสตร์ จึงค้นคว้ารวบรวมข้อมูล พร้อมเสนอแนวคิดใหม่ผ่านบทความในชุด ‘สืบสานจากภาษา เชื่อมมหาสมุทร ขุดรากเหง้า คนไทยอยู่ที่นี่’ เผยแพร่ครั้งแรกใน ‘มติชนออนไลน์’

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image