ดุลยภาพดุลยพินิจ : สามขั้วของระบบโลก สหรัฐ-จีน-รัสเซีย : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

การเปลี่ยนแปลงของระบบโลกมีรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ แต่การเมืองระหว่างประเทศก็มีส่วนสำคัญในการกำกับการเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจโลกด้วย

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งแข่งขันประธานาธิบดีแล้วว่าสหรัฐอเมริกาจะได้รับประโยชน์มากกว่าจากการเป็นมิตรกับรัสเซีย ในขณะที่โจมตีจีนว่าเป็นชาติที่สร้างปัญหาแก่สหรัฐอเมริกาในทางเศรษฐกิจและการเงิน

สัญญาณนี้แตกต่างอย่างยิ่งจากนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโอบามาที่มองทั้งรัสเซียและจีนเป็นปัญหาจนนำไปสู่แนวทางการปิดล้อมรัสเซียและจีน

ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา เราจึงเห็นความดุเดือดในยูเครนและซีเรีย และเห็นความคุกรุ่นในทะเลจีนใต้ ได้เห็นการยกเลิกการคว่ำบาตรอิหร่านและการยอมรับรัฐบาลเมียนมารวมทั้งการให้น้ำหนักกับเวียดนาม

Advertisement

ส่วนในทางเศรษฐกิจ เราได้เห็นความพยายามที่จะจัดทำข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป (Transatlantic Trade and Investment Partnership, TTIP) โดยมิให้มีรัสเซียและข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจกับชาติทางเอเชียและแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership, TPP) โดยมิให้มีจีน

แนวทางใหม่ของสหรัฐอเมริกาภายใต้ทรัมป์เป็นความไม่แน่นอนประการหนึ่งว่าความขัดแย้งทางการค้าและการทหารกับจีนจะส่งผลมากน้อยเพียงใดต่อหลายชาติในเอเชียและทะเลจีนใต้

อย่างไรก็ตาม ดุลอำนาจโลกคงได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งอย่างน้อยในยุคที่ทรัมป์คุมบังเหียนการบริหารประเทศสหรัฐอเมริกาจะหันมาสนใจผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจภายในประเทศของตนมากขึ้น โดยยอมลดความเข้มข้นของนโยบายการเมืองระหว่างประเทศลง

Advertisement

นั่นคือการเข้าสู่ยุคที่ให้เศรษฐกิจนำการเมือง-การทหาร

รัสเซียจะได้รับความผ่อนคลายอย่างมากในความสัมพันธ์ที่มีกับสหรัฐในขณะที่จะยังคงพยายามรักษาความใกล้ชิดกับจีนต่อไปตามทิศทางระยะยาว จะได้รับผลประโยชน์อย่างมากทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง

รัฐบาลของปูตินจะมีเวลาในการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นและไม่ต้องทุ่มทุนไปกับการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่เขตเศรษฐกิจยูเรเซีย

รัสเซียกลายเป็นขั้วอำนาจที่ไม่ต้องเอาใจหรือบาดหมางกับยุโรปตะวันตกและสามารถบริหารเศรษฐกิจได้ตามปกติ ไม่ต้องเป็นขั้วอำนาจที่ถูกปิดล้อมเหมือนแต่ก่อน

นอกจากนี้แล้ว นโยบายพลังงานของทรัมป์ที่เป็นมิตรต่อน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติก็จะสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างมากอีกด้วย

ส่วนจีนซึ่งจะได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจสหรัฐจะต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อรักษาผลประโยชน์โดยรวมไว้ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจพร้อมๆ กับการหลีกเลี่ยงความตึงเครียดในทะเลจีนใต้

ศักยภาพทางทหารของจีนเป็นรองสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ส่วนบทบาทที่แข็งกร้าวในทะเลจีนใต้เป็นการสะท้อนถึงการขยายพื้นที่ทางการทหารที่จีนทำได้ในเขตทะเลมากกว่าในเขตพื้นที่บนบกและในทางอากาศ

นั่นคือจีนย่อมไม่พร้อมกับการปรับเข้าสู่ยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเผชิญหน้า หากต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาให้ผลประโยชน์ร่วมกันในทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักให้ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สหภาพยุโรปอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถเป็นขั้วอำนาจที่แท้จริงได้เหมือนทศวรรษก่อนๆ ในขณะที่จีนมีกำลังทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่สามารถเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องทีเดียว

ทรัมป์ไม่ให้ราคาของกลุ่มสหภาพยุโรปแต่แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศของจีนได้คุกคามมหาอำนาจชาติตะวันตกอย่างรวดเร็วและมากกว่าที่ญี่ปุ่นเคยสร้างแรงกดดันทางการค้าในอดีต

ความกังวลของชาติในเอเชียก็มีไม่น้อยเมื่อจีนได้รุกคืบเข้าไปมีอิทธิพลในธุรกิจและการครอบครองทรัพยากรในประเทศเหล่านั้นเช่นกัน

ยุทธศาสตร์ของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นการขยายบทบาทของตนบนเวทีโลก และยิ่งพยายามขยายปีกอย่างรวดเร็วเพื่อทลายการปิดล้อมจากแนวทางของโอบามา ยุทธศาสตร์นี้เป็นการเชื่อมเศรษฐกิจและการลงทุนไปยังยุโรปและเอเชียกลางเส้นทางหนึ่งและเชื่อมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อีกเส้นทางหนึ่ง การเชื่อมผ่านเส้นทางตอนบนและตอนล่างนี้เรียกว่า “One Belt, One Road Strategy” หรือยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหม (Silk Road Strategy)

การขยายบทบาทภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะทำให้จีนสามารถขยับความเป็นมหาอำนาจได้สูงขึ้น มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) มีการจัดตั้งกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) และมีการจัดทำแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมแล้ว

จีนเองสามารถใช้การประชุมเส้นทางสายไหมเป็นเวทีที่มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมมากกว่า 40 ประเทศ และเป็นเวทีที่ตนเองไม่ต้องกังวลกับความไม่เห็นด้วยของสหรัฐอเมริกาหรือชาติตะวันตก

ล่าสุดก็ได้พัฒนาระบบดาวเทียมนำทางที่เรียกว่าเป๋ยโต่ว (BeiDou Satellite System) เพื่อก้าวขึ้นมาแข่งกับระบบดาวเทียมบอกพิกัด (Global Positioning System, GPS) ที่ก้าวหน้าสูงสุดของสหรัฐอเมริกา ระบบดาวเทียมนี้กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและนอกจากจะให้ผลกำไรอย่างมากมายแก่จีนแล้ว ยังถูกใช้รองรับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมและการขยายตัวทางธุรกิจด้วย

ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน และธุรกิจใหม่เหล่านี้ล้วนมีมากมายมหาศาลจนยากที่จีนจะขัดแย้งรุนแรงกับสหรัฐอเมริกา

วาระแห่งชาติของจีนคือการทำให้ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมประสบความสำเร็จและนำไปสู่ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

แม้ว่าแผนการของจีนจะเดินไปได้มาก ทว่าก็มีอุปสรรคมากมายเช่นกัน ความรวดเร็วเกิดจากฝ่ายทางการจีน ส่วนที่ต้องดำเนินการร่วมกับประเทศอื่นยังมีความล่าช้าอย่างมาก

เส้นทางชายฝั่งมหาสมุทรทางตอนใต้ซึ่งเรียกว่า “One Road” จะให้ผลประโยชน์ที่เป็นหลักที่สุดในยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมเพราะการค้าเกือบทั้งหมดของจีนต้องอาศัยเส้นทางเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกา

ความล่าช้าของแผนหลักใหญ่เกิดขึ้นที่เส้นทางสายนี้ในขณะที่ความขัดแย้งที่รุนแรงเกินการควบคุมในทะเลจีนใต้กลับจะสร้างความสูญเสียให้แก่จีน

ในช่วงเวลานี้ การที่สหรัฐอเมริกาหันไปสนใจเศรษฐกิจภายในประเทศจึงน่าจะเป็นผลดีต่อจีนมากกว่าที่จะให้มหาอำนาจอย่างสหรัฐมาสนใจตนเหมือนในสมัยโอบามาเสียอีก

ทรัมป์อาจแสดงท่าทีแข็งกร้าวอย่างมากต่อจีนและในระยะต่อไปอาจบีบให้สินค้าจีนถูกกีดกันมากขึ้น เช่น อาจถูกเก็บภาษีป้องกันการทุ่มตลาด เป็นต้น บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบแต่ในภาพใหญ่รัฐบาลทรัมป์น่าจะเลือกทางเดินแนวเศรษฐกิจที่ให้ผลประโยชน์ร่วมกันแบบที่นักธุรกิจนิยมมากกว่าการสร้างความเสียหายแก่คู่ค้าซึ่งเสี่ยงต่อการตอบโต้กลับเช่นกัน

จีนอาจต้องปรับตัวแบบที่ญี่ปุ่นเคยเผชิญปัญหาสมัยประธานาธิบดีเรแกนด้วยการไปลงทุนในสหรัฐอเมริกามากขึ้นและต้องลดภาวะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมล้นเกินโดยเร็วที่สุดเพื่อมิให้เป็นข้ออ้างว่าเป็นการทุ่มตลาดเหมือนที่เกาหลีและประเทศส่งออกอื่นๆ เคยประสบ

การปรับตัวในทิศทางนี้จะเป็นผลดีในระยะยาวต่อจีน

ส่วนประธานาธิบดีทรัมป์ก็น่าจะยังมีทางเลือกในการทำให้จีนขยายอิทธิพลได้บ้างโดยไม่เป็นภัยคุกคาม โดยที่ไม่ต้องก่อภาวะความไร้เสถียรภาพหากเกิดความขัดแย้งการค้าและการทหารกับจีนตั้งแต่เพิ่งเริ่มบริหารประเทศ

และอาจตระหนักว่าปัญหาดุลอำนาจสามขั้วที่กังวลภัยคุกคามจากจีนเป็นการมองที่รุ่มร้อนและเร็วเกินไป

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image