ความรุนแรงทางโครงสร้าง กับการเข้ามาเกี่ยวข้องของกฎหมาย และความยุติธรรมในอุดมคติ : โดย กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

แฟ้มภาพ

ความรุนแรงคืออะไร มักจะมีผู้ให้คำจำกัดความ หรือคำอธิบายในทำนองการใช้กำลังทางกายภาพประทุษร้ายผู้อื่น ให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ รวมถึงการใช้กำลังทำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย หรือสูญเสียทรัพย์สิน แต่ในความจริง ความรุนแรงอาจมาในรูปแบบที่เป็นนามธรรมได้ ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้คือ “ความรุนแรงทางโครงสร้าง”

ก่อนอื่นเพื่อการเข้าใจอย่างเป็นระบบ ขอแยกแยะความรุนแรงเป็น 2 ประเภท เพราะโลกนี้มีทั้งสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม

ประการแรก ความรุนแรงที่เป็นรูปธรรม คือ ความรุนแรงทางกายภาพ คือความรุนแรงที่ผู้กระทำใช้กำลังทางกายภาพกระทำการประทุษร้ายผู้อื่น เช่น การทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพ อนามัย การด่าทอ การหมิ่นประมาท การทำลายข้าวของ หรือทรัพย์สินผู้อื่น รวมถึงการทำร้ายตัวเอง การทำสงคราม สงครามกลางเมือง การใช้อาวุธข่มขู่ การทำให้กลัวด้วยวิธีต่างๆ การบังคับขืนใจผู้อื่น เป็นต้น

ประการที่สอง ความรุนแรงที่เป็นนามธรรม คือ ความรุนแรงที่ไม่เห็นเป็นรูปร่าง แต่สัมผัสได้ทางการไตร่ตรอง ทางความคิด จิตใจ ความรุนแรงประเภทนี้ เกิดจากการวางระบบโครงสร้างต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ทั้งจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม โครงสร้างนั้นอาจเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม ระบบกฎหมาย หรืออะไรก็ตามที่เป็นระบบบริหารจัดการในเรื่องนั้นๆ ผลของความรุนแรงทางโครงสร้าง ก็คือการประทุษร้ายทางโครงสร้างทำให้คนหดหู่ เศร้าหมอง ยากจน เกิดความรู้สึกถูกบีบคั้น ไม่เท่าเทียม ถูกปิดกั้นโอกาส ถูกทำให้ลืมในสิ่งที่ไม่ควรลืม

Advertisement

ความรุนแรงทางโครงสร้าง คือสิ่งที่บทความนี้มุ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะความรุนแรงประเภทนี้สังเกตได้ยาก เป็นเรื่องระบบที่วางไว้อย่างไม่เป็นธรรม อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เพราะคนส่วนหนึ่งล่องลอยอยู่กับความเชื่อ ขนบธรรมเนียมต่างๆ ทั้งที่เป็นความจริงและมายาคติ ไม่มีใครผิดหรือถูกในเรื่องนี้ แต่สังคมนั่นละที่ค่อยๆ สร้างโครงสร้างนั้นๆ ขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย จับต้องไม่ได้ แต่รุนแรงหนักหน่วง ทำให้คนถูกเอารัดเอาเปรียบ ยากจนลง จำต้องยอมทำอาชีพที่อัตคัด ขัดสน ขาดสิทธิในการทำงานที่ปลอดภัย ถูกแย่งทรัพยากรด้วยวิธีการทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ที่ผูกขาดอำนาจเหนือตลาด

อาจทำให้สูญเสียสิทธิเสรีภาพไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัวจากความเชื่อของเขาเองและระบบโครงสร้างที่รุนแรง บิดเบือน ที่เอื้ออำนวยให้เชื่ออย่างนั้นด้วย ทั้งเขาจำยอมในสิ่งนั้นเพราะเห็นว่าแม้ไม่ดีที่สุดแต่น่าจะดีกว่าอย่างอื่นแล้ว

วิธีการสังเกตว่ามีความรุนแรงทางโครงสร้างแฝงตัวอยู่ สังเกตจากอะไร
สิ่งบอกเหตุที่เกิดกับกฎหมายและเศรษฐกิจ คือสิ่งบ่งชี้สำคัญและอ้างอิงได้มากกว่าอย่างอื่น

Advertisement

1.ปัญหาในตัวบทกฎหมาย เองที่ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นธรรม ความไม่สอดคล้องนี้มิใช่อย่างกลับขาวเป็นดำอย่างที่สังเกตง่าย คงไม่มีใครร่างกฎหมายอย่างนั้นแน่ แต่เป็นความไม่สอดคล้องกับการได้ความเป็นธรรมมาอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขาดพร่องไป บกพร่องไป สิ่งที่ขาดตกบกพร่องนี้คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายอาจมองไม่ออก แต่นักกฎหมายบางคนอาจจะมองออก

เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายบางฉบับ หรืออย่างเบาบางที่สุดที่แทบสังเกตไม่ได้ คือบางมาตรา เพียงมาตราเดียวของทั้งฉบับ ที่อาจจะทำให้การตีความกฎหมายที่อาจจะมีในภายหน้านั้นทำให้บุคคลใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

แน่ละกฎหมายในลักษณะนี้ เมื่อตีความแล้วได้สิทธิขั้นพื้นฐานมาทุกสิทธิเลย แต่ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เปรียบเหมือนมีชีวิตอยู่ครบทุกคนแต่ทุพพลภาพ ใช้การไม่ได้ดีเต็มเม็ดเต็มหน่วยเลยสักคน

สิทธิขั้นพื้นฐานที่กล่าวถึง ที่ควรมีให้ครบ ทั้งต้องมีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งในตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรเอง และเมื่อถึงโอกาสที่จะต้องตีความกฎหมาย คือ สิทธิเสรีภาพในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม สิทธิในชีวิตร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคล สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต สิทธิและเสรีภาพในการได้รับการศึกษาตามความสามารถและศักยภาพที่แท้จริงของแต่ละบุคคล สิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม สิทธิในการรับสวัสดิการที่เพียงพอจากรัฐหมายถึงที่เพียงพอจริงๆ มิใช่แค่เชิงสัญลักษณ์ สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยเสรี สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธ สิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน ส่วนมากสิทธิขั้นพื้นฐานจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของทุกประเทศที่เป็นประเทศเสรีนิยม

2.ปัญหาในระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้เกิดช่องว่างในการหารายได้ ค่าตอบแทน หรือเงินเดือน ซึ่งสังเกตได้ว่าช่องว่างนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากความสามารถที่แตกต่างของบุคคล แต่เกิดขึ้นจากการใช้ดุลพินิจ เกิดจากผลของกฎหมาย สัมปทาน หรืออะไรก็ตามที่บิดเบือนตลาดเสรี บางสำนักบอกว่าบางสถานการณ์รัฐต้องบิดเบือนแทรกแซงตลาดได้ นั่นก็จริงอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความรุนแรงทางโครงสร้างเหมือนกัน จะรุนแรงมากน้อยก็คงต้องยอมรับว่ามี จะต้านทานได้มากน้อยแค่ไหนตามเรื่อง เปรียบเหมือนร่างกายคนย่อมมีเชื้อโรคจะมากจะน้อยอยู่ในตัวทุกคน แล้วแต่ว่าใครร่างกายอ่อนแอจึงเกิดความเจ็บป่วย ใครร่างกายแข็งแรงก็ไม่เป็นอะไร

เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ทั้งสองข้อนี้แม้จะแบ่งเป็นสองประการคือทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์ แต่ความจริงก็วนเวียนอยู่กับเรื่องกฎหมาย เพราะกฎหมายคือกฎเกณฑ์ที่กำกับกิจการเหล่านี้ไปทั่ว พัวพันกับชีวิตคนแทบทุกประเด็น (อาจจะเว้นอย่างเดียว ก็คือ ความรัก บังคับไม่ได้)

เมื่อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ผู้คนอาจสังเกตเห็นได้ชัดขึ้น ถ้ายกตัวอย่างในแง่กฎหมาย ตัวอย่างนั้นก็คือ กฎหมายเรื่องสิทธิบัตรยา

ถ้าบริษัทแห่งหนึ่งมีสิทธิบัตรยาชนิดหนึ่งและบังเอิญยาชนิดนั้นมีความสำคัญในการรักษาโรคที่คนทั่วไปเป็นกันอย่างแพร่หลาย ยาชนิดนี้สามารถรักษาโรคชนิดนี้ได้ดี (ไม่ต้องดีกว่ายาชนิดอื่นแบบที่ว่าใช้ยาอื่นไม่ได้ผล ใช้ได้แต่ชนิดนี้ สมมุติแค่ว่าดีในระดับหนึ่งก็พอ) คนมีความต้องการใช้ยาชนิดนี้ย่อมมีมากเป็นธรรมดา แต่เมื่อมีกฎหมายสิทธิบัตรยาทำให้บริษัทยาที่เป็นผู้คิดค้นได้รับความคุ้มครอง เขาย่อมตั้งราคายาไว้สูงๆ ได้ระดับหนึ่ง แต่ระดับนั้นอาจทำให้คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงยาชนิดนั้นได้ แม้จะมียาชนิดอื่นให้เลือก แต่ปรากฏการณ์นี้ก็เป็นความรุนแรงทางโครงสร้างอย่างหนึ่งที่ว่า ผู้ป่วยมีสิทธิในการเลือกน้อยลงเพราะยาชนิดนี้ราคาสูง ใครๆ อาจเห็นว่าไม่เห็นจะผิดตรงไหน ทรัพย์สินทางปัญญาย่อมได้รับการคุ้มครอง แต่ขอให้นักกฎหมายพิจารณาตรวจสอบกฎหมายต่างๆ อยู่เสมอ บางครั้งสิ่งที่เป็นความยุติธรรมตามกฎหมายอาจจะไม่ใช่ความยุติธรรมโดยสมบูรณ์ก็ได้ (ความยุติธรรมโดยสมบูรณ์ในที่นี้คือความยุติธรรมตามอุดมคติ)

โชคยังดีที่ยังมีวิธีการอย่างหนึ่ง คือ การใช้สิทธิที่มีอำนาจเหนือสิทธิบัตร ซึ่งองค์การการค้าโลกได้มีข้อกำหนดยกเว้น และยืดหยุ่นการใช้บังคับของกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ผลทำให้ชาติสมาชิกสามารถผลิตยาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในวงกว้างเพื่อรักษาโรคสำคัญ หรือโรคในลักษณะที่เป็นโรคระบาดได้ โดยยกเว้นการอ้างสิทธิตามสิทธิบัตร ในกรณีที่รัฐนั้นๆ มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามที่เป็นข้อตกลงในการประชุมองค์การการค้าโลก ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ หรือที่เรียกว่าปฏิญญาโดฮา พ.ศ.2544 ซึ่งข้อตกลงนี้บังคับระหว่างประเทศสมาชิก ประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วย

แต่นั่นหมายความว่ากรณีปกติจะทำไม่ได้ จะทำได้เฉพาะในกรณีที่เป็นยารักษาโรคสำคัญ เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคระบาด

อีกประเด็นหนึ่ง ตามกฎหมายสิทธิบัตรยาต้องมีหลักเกณฑ์ ให้สิทธิบัตรหมดอายุตามเวลาเท่านั้นเท่านี้ปี แต่อย่างไรก็ตามบริษัทเหล่านี้พยายามทำให้แปลงยาตัวเดิมเล็กน้อย แล้วจดเป็นยาตัวใหม่ มีผลตามมาก็คือ เสมือนว่าเป็นสิทธิบัตรชั่วลูกชั่วหลาน ไม่มีวันหมดอายุ คือ evergreening patent ซึ่งก็น่าจะเรียกว่าเป็นความรุนแรงทางโครงสร้างอย่างหนึ่ง ที่อาจชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมในอุดมคติ ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่เล่นแร่แปรธาตุกับสิทธิบัตรยาได้อย่างนี้จะเป็นบริษัทซึ่งตั้งอยู่ในประเทศที่มีเทคโนโลยีและองค์ความรู้ทางยาสูงและมีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ตามไม่ทัน

แต่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายไม่ค่อยกล้าประกาศใช้สิทธิที่มีอำนาจเหนือสิทธิบัตร ตามข้อตกลงโดฮา เพราะหากประกาศผลิตยาด้วยตนเองแล้ว ผลที่จะตามมาคือแรงบีบคั้นทางการเมืองจากประเทศที่มีสิทธิบัตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศมหาอำนาจ ซึ่งประเทศที่มีสิทธิบัตรยาจำนวนมากนั้นอาจกีดกันทางการค้าโดยวิธีการอื่นๆ เป็นการตอบโต้ได้

ความรุนแรงทางโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับยานี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระบบใดๆ ก็ตามที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจไม่สอดคล้องกับความยุติธรรมตามอุดมคติ แต่ในความเป็นจริงมีความรุนแรงทางโครงสร้างอย่างอื่นอีกหลายประการ เช่น อัตราดอกเบี้ย การคุ้มครองแรงงาน แม้กระทั่งการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่ไม่รอบคอบในรัฐใดๆ ก็ตาม บรรทัดฐานการออกคำสั่งต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ ในรัฐใดๆ ก็ตาม สิ่งเหล่านี้อาจชอบด้วยกฎหมาย แต่น่าขบคิดพิจารณาเรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างทั้งสิ้น

อุดมคตินั้นมีไว้ให้คิดคำนึงถึงเสมอ มิใช่เรื่องไร้สาระ และผู้คนที่ดิ้นรนกันอยู่ทุกวันนี้ลึกๆ แล้วก็ปรารถนาอุดมคติ

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image