ทิศทาง จัดการ ปัญหา ‘ธรรมกาย’ ทิศทาง DSI

อุบัติแห่งการประกาศและบังคับใช้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 12/2560 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ คือความต่อเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์

เหมือนกับเป็นความคืบหน้า

แต่ความคืบหน้านี้ก็วางอยู่บนข้อสงสัยอันมีต่อสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ “พศ.” อย่างมิอาจปฏิเสธได้ เพราะว่ามีผลให้ นายพนม ศรศิลป์ กลายเป็น “ผู้ตรวจราชการ” พิเศษ

ขณะเดียวกัน ก็มีผลให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ กลายเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

Advertisement

สไลด์จาก “ดีเอสไอ” มา “พศ.”

ใช้ความเชี่ยวชาญในฐานะ “ตำรวจ” ใช้ความจัดเจนในฐานะที่ดูแลคดีอันเกี่ยวกับภาษีอากรให้เป็นประโยชน์ต่อ “พุทธศาสนา”

คำสั่งนี้ไม่เพียงสัมพันธ์กับ “มาตรา 44” หากแต่ยังสัมพันธ์กับกระบวนการในการคลี่คลายปัญหา “วัดพระธรรมกาย” ที่มอบความวางใจให้กับ “ดีเอสไอ” อย่างเป็นพิเศษ

Advertisement

เท่ากับเป็นการเดินแนวทาง “ดีเอสไอ”

 

จากสถานการณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 เข้ามายังสถานการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีการพลิกผันแปรเปลี่ยนภายในกระบวนการจัดการ “ธรรมกาย” อย่างเห็นได้ชัด

เหมือนกับทุกอย่างยังเป็นเรื่องของ “ดีเอสไอ”

เพราะเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ไม่ว่า “หมายจับ” ไม่ว่า “หมายค้น” ล้วนมีพื้นฐานมาจากคดีของ “ดีเอสไอ” อย่างเป็นด้านหลัก

เป็นคดีอันเกี่ยวกับ “ฟอกเงิน” เป็นคดีอันเกี่ยวกับ “รับของโจร”

แต่ถามว่า ไม่ว่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ไม่ว่าเมื่อเดือนธันวาคม 2559 “ดีเอสไอ” อยู่ในฐานะอันเป็น “ทัพหน้า” อย่างแท้จริงหรือไม่

หากตอบอย่าง “ซื่อสัตย์” ก็ต้องว่า “ไม่ใช่”

ที่ว่าไม่ใช่เพราะว่า ความรับรู้ของ “สังคม” ต่อ 2 ปฏิบัติการในปี 2559 กลับคิดว่าเป็นเรื่องของ “ตำรวจ” มากกว่าของ “ดีเอสไอ”

อาจเพราะว่า “กำลัง” มาจากกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 ก็เป็นได้

 

พลันที่สถานการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาถึงพร้อมกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560 ก็มีความเด่นชัดว่าใครรับบท “พระเอก” ใครรับบท “สนับสนุน”

เป็น “ดีเอสไอ” ต่างหากที่เป็น “ตัวหลัก” ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.สุริยา สิงหกมล รองอธิบดี ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดี

หรือแม้กระทั่ง พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษก

ยิ่งเมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 12/2560 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยิ่งมีความเด่นชัด

เด่นชัดว่า “ดีเอสไอ” ต่างหากที่เป็น “ตัวหลัก” เพราะผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติคนใหม่โยกมาจากผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ไม่เพียงมอง “ปัจจุบัน” หากเท่ากับตระเตรียม “อนาคต”

เป็นอนาคตที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะเข้าไปมีบทบาทร่วมกับมหาเถรสมาคมในการจัดระเบียบ “วัดพระธรรมกาย”

ทุกอย่างแจ่มชัด แน่วแน่และมั่นคง

 

คำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 12/2560 จึงเท่ากับไปขับเน้นให้เห็นบทบาทของคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 5/2560

สะท้อน “ความเชื่อมั่น” จากเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ สะท้อน “ความเชื่อมั่น” ต่อทิศทางของ “ดีเอสไอ” ในความรับผิดชอบของ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เวลาต่อจากนี้ย่อมเป็นเวลาแห่งความชื่นชมต่อดอกผล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image