คอลัมน์ อาศรมมิวสิก : ประติมากรรมหมอแคน สมบัติ สิมหล้า

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดูแลอาคารมหิดลสิทธาคาร ข้างๆ มีพื้นที่อยู่ 2 แปลง 3 ไร่ และ 5 ไร่ แปลงแรกนั้นเป็นสวนพระราชบิดา มีประติมากรรม “พ่ออุ้มลูก” ส่วนพื้นที่แปลงที่ 2 ได้พัฒนาให้เป็นสวนศิลปินพื้นบ้าน โดยมีประติมากรรมครูดนตรี 4 คน เป็นการรวมสุดยอดจากศิลปินชาวบ้านทั้ง 4 ภาค (เหนือ อีสาน กลาง ใต้) ปั้นประติมากรรมลักษณะการ์ตูน ภาพล้อด้วยความเคารพ ล้อด้วยอารมณ์ขัน ล้อด้วยปัญญา ดูให้ขำๆ อำๆ มีชีวิตชีวาแต่ซ่อนความเลื่อมใสศรัทธาเอาไว้ เพื่อให้คนระลึกถึงคุณงามความสามารถของท่าน สวนศิลปินออกแบบโดยบริษัทภูมิทัศน์ (L49)

สมบัติ สิมหล้า หมอแคนแดนอีสาน หนึ่งในประติมากรรมในสวน เป็นศิลปินหมอแคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของศิลปินชาวอีสานทั้งภาค ถ้าจะถามว่า ทำไมต้องเป็นประติมากรรมรูปปั้นของสมบัติ สิมหล้า ก็เพราะว่าสมบัติ สิมหล้า เป็นหมอแคนที่เก่งที่สุดแห่งยุค มีฝีมือที่ก้าวหน้าสุด เป็นหมอแคนสมญาว่า “หมอแคนนิ้วทองคำ” และหมอแคนที่เป็น “แชมป์ตลอดกาล” เข้าประกวดที่ไหนก็ได้รางวัลชนะเลิศทุกครั้ง

แคนเป็นเครื่องดนตรีที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์อายุก่อน 3 พันปี มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตสังคมในพื้นที่อุษาคเนย์ เป็นวัฒนธรรมร่วมเหมือนกับวัฒนธรรมข้าวเหนียว วัฒนธรรมปลาร้า วัฒนธรรมไม้ไผ่ วัฒนธรรมฆ้อง เป็นต้น แคนเป็นเครื่องหมายของความเจริญรุ่งเรืองในอดีต เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตอยู่ที่สำคัญ ดังนั้น การเลือกเครื่องดนตรี “แคน” เพื่อให้เป็นตัวแทนของภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งก็ไม่เคยมีการปั้นหมอแคนที่เป็นคนจริงๆ มาก่อน โดยทั่วไปแล้ว จะมีรูปปั้นศิลปินเป่าแคนทั่วไป หรือมีรูปวาดจิตรกรรมฝาผนังโบสถ์ ฝาผนังถ้ำ หรือในงานศิลปะที่เป็นสื่อแทนดินแดนอีสาน แต่ก็ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร

เมื่อนำหมอแคนตัวจริงมาสร้างเป็นประติมากรรม จึงมีพลังสูง เท่และสง่างาม คนอยากสัมผัสใกล้ชิด เข้าไปดูใกล้ก็แอบอมยิ้มทุกคน ซึ่งบอกได้ว่า สมบัติ สิมหล้า เป็นคนอารมณ์ดี

Advertisement

สมบัติ สิมหล้า เป็นหมอแคนที่ตาบอดมาตั้งแต่กำเนิด เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2506 ปัจจุบันอายุ 54 ปี เป็นชาวอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม พ่อชื่อปอง สิมหล้า เป็นหมอแคน แม่ชื่อบุตร สิมหล้า มีอาชีพเป็นชาวนา มีพี่น้องร่วมท้อง 6 คน ไม่มีใครสืบทอดอาชีพเป็นหมอแคนหรือหมอลำ นอกจากสมบัติ สิมหล้า ซึ่งได้เดินบนเส้นชีวิตของหมอแคนและทำมาหากินกับหมอลำเป็นอาชีพ อาศัยแคนเป็นเครื่องมือทำมาหากิน

เนื่องจากสมบัติ สิมหล้า เป็นเด็กตาบอด จึงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนสามัญ ยิ่งเป็นเด็กที่อยู่ในชนบทด้วยแล้ว ความเชื่อเรื่อง “เวรกรรมแต่ปางก่อน” ทำให้เด็กที่พิการทางตาอย่างสมบัติ สิมหล้า ขาดโอกาสในการเรียนรู้หนังสือและขาดการศึกษาในโรงเรียนไปด้วย สำหรับคนตาบอดอย่างสมบัติ สิมหล้า ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เมื่ออยู่บ้านก็ได้เรียนรู้ชีวิตโดยการฟังพ่อเป่าแคนทั้งวันและทุกวัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่สุดของเขา การเรียนรู้ชีวิตโดยการฟังเสียงแคนที่พ่อเป่าตั้งแต่เด็ก ฟังเสียงทุกๆ เสียงที่อยู่รอบๆ ตัว ซึ่งสิ่งแวดล้อมกลายเป็นโรงเรียนชีวิตของสมบัติ สิมหล้า

โดยธรรมชาติของเด็กตาบอด ใช้ประสาทหูในการรับรู้เสียงเป็นหลัก หูคนของตาบอดจึงพัฒนาได้รวดเร็วกว่าคนธรรมดา ทำให้สมบัติ สิมหล้า ใช้หูในการรับรู้และสื่อสาร ฟังเสียงทุกเสียงและได้เลียนแบบเสียงที่ได้ยินเหล่านั้นด้วยความสนุกสนาน เมื่ออายุได้ 6 ขวบ พ่อได้นำสมบัติ สิมหล้า ไปฝากกับหมอแคนที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงชื่อ หมอแคนทองจันทร์ ซึ่งเป็นหมอแคนที่เล่นคู่กับหมอลำอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี

Advertisement

หมอแคนทองจันทร์ สอนให้สมบัติ สิมหล้า ฟังและจำเสียง แล้วให้เป่าตามเสียงที่ได้ยิน ซึ่งเรียนรู้โดยการเลียนแบบ ต่อมาก็ได้ไปฝึกกับหมอลำคำพัน ฝนแสนห่า และหมอลำวิรัช ม้าแข่ง ที่อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาได้มีโอกาสเป่าแคนครั้งแรกในงานบวชที่อำเภอประทาย จนกระทั่งได้เป็นหมอแคนประจำวงหมอลำ

หลังจากติดตามและเป็นหมอแคนประจำวงหมอลำอยู่ 5-6 ปี ในปี พ.ศ.2519 สมบัติ สิมหล้า อายุ 13 ปี ได้สมัครเข้าประกวดเป่าแคนในงาน “มรดกอีสาน” จัดโดยวิทยาลัยครูมหาสารคาม สมบัติ สิมหล้า เลือกเป่าลายใหญ่ ลายน้อย และลายสุดสะแนน ได้เข้ารอบสุดท้าย 3 คน คือ หมอแคนสุดใจ ได้ลำดับที่ 3 ส่วนหมอแคนทองพูนกับหมอแคนสมบัติ สิมหล้า ได้คะแนนเท่ากัน ก็ต้องแข่งกันใหม่

รอบ 2 คนสุดท้าย สมบัติ สิมหล้า ได้อวดการเป่าแคนเลียนเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น เสียงกีตาร์ เสียงซอ เป่าเพลงเพื่อชีวิต และเป่าเพลงสากล เมื่อเป่าเพลงสากลได้ 3-4 เพลง ก็ได้รับเสียงปรบมือจากผู้ชมมากมาย ในที่สุดก็คว้ารางวัลที่ 1 ไปครอง ในปี พ.ศ. 2521 สมบัติ สิมหล้า อายุ 15 ปี ได้เข้าร่วมการประกวดเป่าแคนในงาน “สาวผู้ดีที่ราบสูง” จัดขึ้นที่วิทยาลัยคณาสวัสดิ์ (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) สมบัติ สิมหล้า ก็ได้รางวัลที่ 1 ซึ่งสมบัติ สิมหล้า ได้เข้าประกวดในเวทีการแข่งขันอีกหลายๆ เวที

ทุกเวทีก็จะได้รางวัลที่ 1 เสมอ จนได้รับฉายาว่า เป็นหมอแคนนิ้วทองคำและเป็นแชมป์ตลอดกาล ดังกล่าวข้างต้น

ด้วยฝีมือที่ยอดเยี่ยมในการเป่าแคนของสมบัติ สิมหล้า เขากลายเป็นหมอแคนที่โด่งดัง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ได้รับเชิญไปแสดงกับวงดนตรีต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น วงฟองน้ำของบรู๊ซ แกสตัน (Bruce Gaston) วงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Philharmonic Orchestra) วงแมนฮัตตันแจ๊สควอเต็ต (Manhattan Jazz Quartet) และวงบางกอกพาราไดซ์ สมบัติ สิมหล้า ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายและเป่าแคนสอนเด็กให้แก่สถาบันการศึกษา ในปี พ.ศ.2555 สมบัติ สิมหล้า ได้รับรางวัลของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข สนับสนุนจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นการเชิดชูผู้กระทำความดีในสาขาดนตรี

สมบัติ สิมหล้า มีความผูกพันกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาหลายปี ร่วมการแสดงในเทศกาลและมหกรรมดนตรีพื้นบ้าน งานสมโภชบัณฑิต งานบันทึกเสียงหมอลำ หมอแคน ชุดผู้เฒ่าหัวตกหมอน ร่วมแสดงในงานเปิดสัมมนาพิพิธภัณฑ์อุษาคเนย์ เป็นต้น

ประติมากรรมสมบัติ สิมหล้า ติดตั้งเมื่อวันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 ขนาดสูง 297 เซนติเมตร น้ำหนัก 440 กิโลกรัม ศิลปินช่างปั้นหุ่นโดยนายช่างวัชระ ประยูรคำ ซึ่งเป็นประติมากรรุ่นใหม่ที่มีผลงานจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานด้านประติมากรรมสมัยใหม่ ศิลปินช่างหล่อเป็นชาวอิตาลี ชื่ออามานโด เบนาโต (Armando Benato) ซึ่งได้ย้ายมาตั้งรกรากในเมืองไทย 37 ปีแล้ว

ต้นไม้ในสวนศิลปินนั้น มีทั้งต้นไม้เล็กที่ปลูกใหม่ 930 ต้น ยังมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งย้ายมาจากพื้นที่อื่นในมหาวิทยาลัยอีก 132 ต้น อาทิ ต้นกร่าง ประดู่ อินทนิล สะเดา โดยปลูกหนาให้เป็นป่า ดูแล้วมีความสดชื่น ในพื้นที่ว่างระหว่างต้นไม้ใหญ่ก็ได้แซมด้วยพืชคลุมดิน มีต้นหมากเขียว ดาหลา ใบชะพลู ย่าหยายาหยี และลิ้นกระบือ กว่าแสนกอ เพื่อปิดโคนต้นไม้ไม่ให้เปลือย สร้างความร่มเย็นให้กับบริเวณ

ประติมากรรมสมบัติ สิมหล้า เป็นมิติของการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสถาบันการศึกษาไทย เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ พื้นที่ของความคิดสร้างสรรค์ พื้นที่ของความบันเทิง และเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้และชื่นชมได้

สถาบันการศึกษาไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ของนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของประชาชนคนทั่วไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image