เสรีภาพหลังรธน. โดย นฤตย์ เสกธีระ

 

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้ “คำมั่นสัญญา” เรื่องการเลือกตั้งเป็นรูปธรรม

แต่กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง คนไทยก็ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอยู่ดี

เพราะมาตรา 279 ระบุไว้

Advertisement

มาตราดังกล่าวระบุว่า “บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ

ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น

Advertisement

เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป

การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ

เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร

การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ หรือใช้มติ ครม. แล้วแต่กรณี…”

ส่วนมาตรา 265 ระบุว่า “ให้ คสช.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกจะเข้ารับหน้าที่

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ ให้หัวหน้า คสช.และ คสช.ยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557

และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้า คสช.และ คสช.ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป…”

ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญ 2560 จะมอบสิทธิเสรีภาพให้ประชาชน แต่ประชาชนก็ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญมอบให้

ยกตัวอย่าง มาตรา 34 ระบุว่า ….

“บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้

เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน…”

รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ฯ

แต่ คสช.ออกคำสั่งไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในหลายกรณี

ออกคำสั่งมิให้สื่อมวลชนแสดงความคิดเห็นในหลายกรณี

เท่ากับว่า สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นยังถูกควบคุมเหมือนเดิม

คนไทยต้องรอต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

ต้องรอต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่

และต้องรอให้รัฐสภาชุดใหม่เห็นชอบที่จะยกเลิกข้อจำกัดนั้นโดยการออกกฎหมาย

หรือ คสช.จะยอมยกเลิกเสียเอง

นั่นแหละ คนไทยจึงจะได้รับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

สรุปได้ว่า มาตรา 265 และ มาตรา 279 มีอิทธิฤทธิ์มาก

แค่ 2 มาตรานี้ก็บดบังสิทธิเสรีภาพที่บัญญัติไวัในรัฐธรรมนูญได้ทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image