รูปธรรม นามธรรม ความคิด และ การเมือง ผ่าน กฎหมาย ‘สื่อ’

ไม่มี “รูปธรรม” ใดที่สะท้อนลักษณะย้อนแย้งอันดำรงอยู่ในสังคมประเทศไทยได้เท่ากับการปรากฏตัวของร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน

ย้อนแย้งระหว่าง “ประชาธิปไตย” กับ “เผด็จการ”

ย้อนแย้งระหว่างการก้าวไปสู่ ไทยแลนด์ 4.0 ย้อนแย้งกับการป่าวร้องในเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” และความพยายามกระตุ้นเร้าในเรื่อง “สตาร์ตอัพ”

เพราะนี่คือ รูปธรรมแห่งยุค “อนาล็อก”

Advertisement

ที่เรียกว่าคุ้มครอง กลับกลายเป็น “การควบคุม” ไม่ว่าสิทธิ ไม่ว่าเสรีภาพ ที่เรียกว่า “ส่งเสริม” กลับกลายเป็นการจัดระเบียบ

ต้อนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อให้เข้าไปอยู่ใน “คอก”

คำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” จึงเสมอเป็นเพียงน้ำยาบ้วนปาก คำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” จึงเสมอเป็นเพียงโวหารอันกลวงเปล่า

Advertisement

เพราะความเป็นจริง คือ “ไทยแลนด์ 0.1”

นี่มิใช่พัฒนาการไปสู่ยุคแห่ง “สังคมดิจิทัล” ตรงกันข้าม เท่ากับย้อนกลับยังยุคแห่ง “อนาล็อก”

อย่าได้แปลกใจหาก นายแจ็ค หม่า มหาเศรษฐีหมื่นล้านแห่งอาลีบาบา จะเลือกมาเลเซียเป็น “ฮับ” อย่างสำคัญกับธุรกิจของเขา

จะเลือกไทยได้อย่างไรเล่า

ในเมื่อไทยยังเข้มงวดในเรื่อง “ซิงเกิล เกตเวย์” ในเมื่อไทยขาดความโปร่งใสและวนเวียนอยู่กับการทำหมัน มัดตราสัง “โซเชียล ออนไลน์”

ต้องการ เศรษฐกิจ “ควบคุม” มากกว่าเศรษฐกิจ “เสรี”

เบื้องหน้าสถานการณ์การรุกคืบแห่งนวัตกรรมย้อนยุคไปยัง “อนาล็อก” เช่นนี้ นักการตลาดอย่าง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นักวิชาการอย่าง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จะคิดอย่างไร

จะมองหน้า ฟิลิป คอตเลอร์ ได้อย่างสนิทใจหรือไม่

หรือว่าทิศทางภายใต้โครงสร้าง “ประชารัฐ” จะหมายถึงการผูกขาด มิได้ดำเนินไปในแบบการค้าเสรี มิได้ดำเนินไปโดยให้กลไกตลาดกำกับและควบคุม

คำถามนี้นับวันจะกลายเป็นคำถามในทางสังคมที่แผ่ขยาย กว้างไกล

ถามว่าทิศทางของโลก ทิศทางของสังคมประเทศไทย กำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างรู้เท่าทัน หรือกำลังถอยกลับหลังอย่างไม่รู้เท่าทัน

หากมองผ่านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ คนอย่าง นายสุทธิชัย หยุ่น คงตอบได้

อย่าได้แปลกใจหากแม้กระทั่งผู้อาวุโสในแวดวงสื่อที่มีบทบาทเป็นอย่างสูงระดับ นายมานิต สุขสมจิตร ก็รับไม่ได้

ทั้งๆ ที่เคยไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้กับ “คสช.”

ยิ่ง นายคำนูณ สิทธิสมาน สื่อซึ่งสไลด์เข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องมายังหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ก็บังเกิดอาการ “ตาสว่าง” อย่างชนิดแจ้งจางปาง

เมื่อตระหนักว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ไม่น่าจะเป็นอย่างนี้

การออกโรงวิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายควบคุมสื่อ ไม่ว่าจะจาก นายมานิต สุขสมจิตร ไม่ว่าจะจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน จึงสำคัญ

ยิ่งมาจาก นายสุทธิชัย หยุ่น ยิ่งทรงความหมาย

แท้จริงแล้วลักษณะในทาง “รูปธรรม” ทางการปฏิบัติ ย่อมสะท้อน “นามธรรม” ในทางความคิด

สะท้อนว่าแท้จริงแล้วปฏิมาแห่ง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” อันมาจาก คสช.เป็นอย่างไร จะดำเนินไปอย่างไรในทางการเมือง ในทางเศรษฐกิจ

ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจะเดินไปข้างหน้าหรือย้อนกลับหลัง

คำตอบอยู่ที่ว่าจะเลือก “อนาล็อก” หรือว่าจะเลือก “ดิจิทัล”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image