ขอแบบ’พี่หมอ’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

หากจะคิดปรองดอง สิ่งสำคัญในตอนนี้ขอให้เริ่มที่ “ความเสมอภาค”

เริ่มบังคับใช้กฎหมายให้ตรงคอนเซ็ปต์นิติรัฐ นอกจากมีกฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว กฎหมายนั้นรวมทั้งการใช้กฎหมายนั้นต้องยุติธรรม

การใช้กฎหมายกับทุกคนอย่างเสมอภาคกันทำให้เกิดความยุติธรรม

เมื่อถึงเวลานั้นแล้วค่อยมาพูดกันเรื่องปรองดอง

Advertisement

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจ ม.44 สั่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนออกจากตำแหน่ง

พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ทำเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความไว้วางใจ

ตีความได้ว่า ทำไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

Advertisement

แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ 7 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะข้อมูลที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับนั้นไม่ครบถ้วน

ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ออกมาให้สัมภาษณ์ “ขอโทษพี่หมอ”

บอกว่าวันที่ 18 มกราคม จะออกคำสั่งให้ สสส. ขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน หากจะเข้าคัดสรรเป็นกรรมการอีกก็ทำได้

พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับว่าได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน

ภายหลังคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายคนปฏิเสธเข้าไปรับตำแหน่งอีก

เป็นสปิริตที่แสดงออกให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง

ไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น แต่อยากทำงาน

ส่วนอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบางคนยังสนใจนั่งเก้าอี้ตัวเดิมต่อไปก็ถือเป็นสิทธิ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ผู้มีอำนาจได้ให้สิทธิไว้

ให้สิทธิไว้กับ “พี่หมอ” ซึ่งมีขบวนการสนับสนุนอย่างแน่นปึ้ก

มีพรรคมีพวกที่พร้อมออกมาต่อสู้ต่อรองกับฝ่ายทหารที่ควบคุมประเทศอยู่ในปัจจุบัน

บางคนออกมา “ทวงบุญคุณ” บางคน “ประท้วงเงียบ” ด้วยการไม่ร่วมสังฆกรรมกับงานของรัฐบาล

มีพรรคพวกช่วยกดดันกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ได้ข้อมูล “ครบถ้วน” แล้วจึงออกมาขอโทษ

ขอถามว่า แล้วบรรดาบุคคลอื่นๆ ที่ไม่มีพรรคพวก หรือไม่ใช่พรรคพวก บุคคลเหล่านั้นจะมีโอกาสแบบเดียวกับ “พี่หมอ” บ้างไหม

นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งโดนสั่งให้พ้นหน้าที่ไปเพราะข้อกล่าวหาเก่าซึ่งเคยมีการพิสูจน์กันแล้ว

จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านั้นไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อความ “ครบถ้วน” บ้าง

จะมีการพิจารณาออกคำสั่งเยียวยาเหมือนกับบรรดา “พี่หมอ” ได้บ้างหรือไม่ อย่างไร?

เรื่องเช่นนี้เป็นตัวอย่างของความเสมอภาค

ความเสมอภาคที่ พล.อ.ประยุทธ์พยายามจะให้เกิดขึ้นในประเทศ เฉกเช่นเดียวกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายต่างต้องการให้ความเสมอภาคเกิดขึ้น

แต่จวบจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าทำอะไรก็ผิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ดูดีไปหมด

ความจริงแล้ว เรื่องแบบนี้น่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ

เปิดทางให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้แก้ข้อกล่าวหา

มีผู้ทรงภูมินั่งพิจารณาตัดสินโดยยึดหลักกฎหมาย และเปิดทางให้สู้คดีกันได้หลายชั้นศาล

แต่ละขั้นตอนเปิดเผยโปร่งใสในการพิจารณาคดี

ทำทุกอย่างทุกคดีให้เสมอภาคเท่าเทียม ใช้ดุลพินิจอย่างไร้อคติ เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือความยุติธรรม

เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว จึงค่อยมาพูดเรื่องปรองดอง

แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ถึงจะมีกรรมการปรองดองอีกกี่ชุดก็ทำให้เกิดสมานฉันท์ไม่ได้

เพราะเหตุแห่งความขัดแย้งคือรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม จึงต้องใช้ความยุติธรรมเข้าไปเยียวยา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image