ล่วงเข้าฤดูฝน : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ฤดูฝนได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้ว พระแก้วมรกตก็เปลี่ยนเครื่องทรงจากชุดฤดูร้อนเป็นชุดฤดูฝนแล้ว ปีนี้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลหรือจะเร็วและมากกว่าฤดูกาล ทำให้ปีนี้เกือบจะไม่มีฤดูร้อน อากาศจึงเย็นสบาย

ไม่เหมือนเมื่อ 2 ปีก่อนที่เกิดภาวะฝนแล้ง เริ่มจากฤดูร้อนก็อากาศร้อนอบอ้าวอย่างผิดปกติ แล้วหลังจากนั้นฝนก็หายไปเลย ทำให้น้ำในเขื่อนเกือบทุกแห่งแห้งขอด กรมชลประทานไม่สามารถแบ่งปันน้ำให้กับพื้นที่ที่ปลูกข้าวนาปรังได้ แต่ชาวนาก็ไม่เชื่อ ทำการเพาะปลูกข้าวตามปกติ ที่คาดกันว่าฝนจะขาดช่วงแต่กลับไม่ขาด น้ำที่ไว้ทำน้ำประปาที่วิตกกันว่าจะมีปัญหาน้ำเค็มก็รอดตัวไปได้

หลังจากพระราชพิธีแรกนาขวัญที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯมาทรงเป็นองค์ประธานแล้ว ชาวนาก็คงจะเริ่มทำการเพาะปลูก แต่สมัยนี้การเพาะปลูกข้าวไม่เหมือนสมัยก่อน สำหรับภาคกลางที่ไม่ใช่ “นาน้ำฝน” เป็นข้าวนาปรังที่พันธุ์ข้าวที่ปลูกไม่ใช่พันธุ์ที่ไวต่อแสง จะปลูกเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อนับวันไป 120 วันข้าวก็จะออกรวง ภาคกลางจึงทำนาปรังได้ 2 ปีครั้ง แต่เป็นข้าวคุณภาพต่ำ ใช้ทำเป็นข้าวนึ่งราคาถูกขายตลาดล่างสำหรับคนยากจน ข้าวนึ่งคือข้าวที่นำเอาไอน้ำมาผ่านแล้วนำไปตากแดดให้แห้งแล้วจึงไปสี เวลารับประทานก็เพียงนำไปแช่น้ำเหมือนข้าว “Uncle Ben” ของอเมริกา มีกลิ่นเล็กน้อย เหมาะสำหรับประเทศที่ประชาชนหุงข้าวไม่เป็น ข้าวนาปรังคุณภาพต่ำอยู่ได้เพราะการชดเชยของรัฐบาล โดยโครงการจำนำข้าวบ้าง รับประกันข้าวบ้าง มิฉะนั้นอยู่ไม่ได้ เพราะประเทศไทยเจริญมากพอจนทำให้มีค่าแรงสูงกว่าจะไปผลิตข้าวราคาถูกส่งไปให้ประเทศยากจนรับประทาน เท่ากับเอาภาษีของประชาชนไปอุดหนุนหรือไปช่วยโครงการอาหารราคาถูกให้กับประเทศในอเมริกาหรือเอเชียใต้ที่ยากจน ทั้งๆ ที่ควรเป็นเรื่องของสหประชาชาติและประเทศที่ร่ำรวยแล้ว

ส่วนข้าวคุณภาพดี มีราคาสูงเพราะเป็นที่ต้องการของตลาดสูง ไม่ควรต้องไปยุ่งอะไร รวมทั้งยางพาราที่ราคาขึ้นลงไปตามภาวะตลาด เกษตรกรรู้ดีว่าเขาควรจะทำอย่างไร แต่ตอนที่ฝนตกหนัก ๆ อย่างนี้เกษตรกรออกกรีดยางไม่ได้ ต้องรอให้ฝนหยุดตก ช่วงนี้ราคาน้ำยางก็จะขึ้น

Advertisement

ถ้ารัฐบาลจะช่วยทำวิจัยว่าทำอย่างไรจะทำให้เกษตรกรสามารถกรีดยางพาราในฤดูฝนให้เหมือนกับฤดูแล้งได้ ก็น่าจะดีกว่าเอาเงินมาประกันราคายาง ซื้อยางมาเก็บเอาไว้ ตราบใดที่ยางยังอยู่ในประเทศ ตลาดก็รู้ ราคาก็จะไม่ขึ้นตามที่คิด

ในขณะที่ชาวไร่ชาวนาในชนบทชุ่มชื่นใจเพราะฝนดี โดยไม่ค่อยจะตระหนักว่าถ้าฝนดี ผลผลิตก็จะออกมามาก และถ้าฟ้าฝนดีทั้งภูมิภาค ผลผลิตทางด้านการเกษตรยกเว้นยางพาราก็จะออกมามาก เมื่อผลผลิตออกมามากราคาก็จะตก และส่วนมากราคาจะตกในสัดส่วนที่สูงกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาถูกลง ก็จะมีเรื่องให้รัฐบาลแทรกแซงตลาด โดยใช้เงินกู้จาก ธ.ก.ส.มอบให้โรงสีเป็นผู้ซื้อและเก็บรักษา ซึ่งรัฐบาลต้องจ่ายทั้งค่าเช่าโกดัง ค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพ รวมทั้งค่าเสื่อมคุณภาพ โดยไม่ตระหนักว่าการแทรกแซงตลาดข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด รวมทั้งยางพารา ไม่ได้ทำให้ราคาตลาดโลกเพิ่มขึ้น และถ้าตลาดโลกราคาไม่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าภายในประเทศก็ไม่อาจจะเพิ่มขึ้นได้

ทางที่ถูกก็คือ เมื่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึงขั้นนี้แล้ว ประเทศไทยควรลดการผลิตข้าวให้เหลือแต่ปริมาณที่ใช้ในประเทศ ถ้าจะเหลือเพื่อการส่งออกก็ให้เป็นไปตามกลไกตลาด ให้สามารถผลิตแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงและค่าครองชีพต่ำกว่าเรา ในระยะยาวถ้าจะรักษาครอบครัวเกษตรกรไว้ก็ต้องจำกัดจำนวนครัวเรือนและพื้นที่เพาะปลูกไว้ ให้ผลิตเท่าที่ใช้บริโภคในประเทศเท่านั้น ขณะที่ลดพื้นที่เพาะปลูกลงก็ควรหาทางส่งเสริมให้ใช้ที่ดินทำอย่างอื่น เช่น ประมงน้ำจืดหรือพืชหรือปศุสัตว์ที่มีมูลค่าสูง

Advertisement

ความคิดเก่าๆ หลายๆ เรื่องเกี่ยวกับเกษตรกรชาวไร่ชาวนาต้องเปลี่ยนไป เราควรตั้งคำถามว่าที่เราต้องเสียเงินงบประมาณกว่า 150,000 ล้านบาท ปีแล้วปีเล่านั้นถูกต้องหรือไม่ เป็นเงินเพื่อการพัฒนาประเทศหรือเพื่อประชาสงเคราะห์คนไทย หรือเพื่อสงเคราะห์คนยากจนในประเทศอื่นให้ได้บริโภคข้าวราคาถูก ความคิดที่ว่าประเทศไทยต้องเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกควรจะต้องทบทวนกันอย่างจริงจังในทิศทางว่าเหมาะสมหรือไม่

หากจะนำเอาเงินปีละแสนห้าหมื่นล้านบาทมาพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม หรือลงทุนระบบดิจิทัล ระบบการศึกษาที่พีเอสไอเอจัดการทดสอบปรากฏว่าเด็กไทยมีความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ด้อยกว่าเด็กในประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งเด็กในเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทำให้ตกใจกันไปทั่วว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศไทย หลักสูตรชั้นประถมมัธยมของไทยยิ่งปรับปรุง การเรียนรู้ของเด็กไทยยิ่งแย่ลง ทั้งๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดในบรรดากระทรวงต่างๆ

มีคนบอกว่าเด็กไทยจบชั้นประถมศึกษายังอ่านหนังสือไทยไม่ออก ทั้งๆ ที่คนในประเทศเพื่อนบ้านสามารถอ่านภาษาไทยออก เพราะเรียนรู้จากละครทีวีช่อง 7 หรือช่อง 3 ของประเทศไทย

ที่แปลก เด็กไทยโดยเฉลี่ยมีทักษะในเรื่องภาษาอังกฤษน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด ไม่มียกเว้น ซึ่งก็น่าจะจริง เด็กประเทศอื่นแค่เรียนจบมัธยมต้นเขาก็พูดภาษาอังกฤษได้แล้ว ของเราจบมหาวิทยาลัยยังพูดยังฟังไม่ได้ ยิ่งเขียนยิ่งทำไม่ได้ใหญ่ จำได้ว่าเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนประเทศเพื่อนบ้านในแถบอินโดจีนเคยใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาที่ 2 แต่เมื่อรัฐบาลประกาศให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 แทนภาษาฝรั่งเศส ข้าราชการตั้งแต่ระดับหัวหน้ากองขึ้นไปถึงระดับรัฐมนตรีช่วยต้องรู้ภาษาอังกฤษ ทั้งฟังอ่านและเขียนให้ได้ภายใน 1 ปี ครูอาจารย์ที่เคยสอนภาษาฝรั่งเศสต้องไปเรียนภาษาอังกฤษใหม่ ถ้าหากใครสอบไม่ผ่านต้องหาวิชาอื่นสอนหรือลาออกไป รัฐมนตรีช่วยทั้ง 3 ประเทศต้องลาไปเรียนภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ เคยไปฮานอยเมื่อ 20 ปีก่อนมีเด็กนักเรียนมัธยมอาสาขับรถมอเตอร์ไซค์ไปเที่ยวโดยไม่คิดค่าบริการ ขออย่างเดียวขอให้พูดภาษาอังกฤษกับเขาเท่านั้น บัดนี้ถ้าหากไปฮานอยหรือโฮจิมินห์ซิตี้หรือไซ่ง่อนเก่า ปัญหาการสื่อสารไม่มี เพราะทุกคนตามถนนหนทางสามารถพูดภาษาอังกฤษได้หมด ผู้คนนอกภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคที่ใช้แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศกล่าวคือกว่าครึ่ง แต่ผลิตสินค้าได้เพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเท่านั้น ธุรกิจการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมขนาดเบาขยายตัวในอัตราที่สูง โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม ฝนฟ้าอากาศในเขตมรสุมและเขตไต้ฝุ่นในอนาคตน่าจะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ สำหรับภาคเกษตร แต่จะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ

สิ่งหนึ่งที่มากับฝนก็คือปัญหาน้ำท่วม นอกจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคไข้เลือดออก โรคฉี่หนู โรคมือเท้าเปื่อยแล้ว พื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเขตเมืองซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในเกือบทุกเมืองใหญ่ของโลก แม้แต่กรุงปารีสและกรุงลอนดอน แม้จะลงทุนจำนวนมหาศาล ใช้ประตูปิดเปิดน้ำขนาดยักษ์ปิดเปิดน้ำในแม่น้ำเทมส์และแม่น้ำแซน เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงลอนดอนและกรุงปารีส

สำหรับเมืองไทยปีนี้ก็เช่นกัน มรสุมจากทะเลเบงกอลพาฝนมาตกทั่วประเทศไทยตั้งแต่เชียงรายไปถึงปัตตานี ปีนี้น้ำลงเขื่อนเป็นจำนวนกว่า 2 เท่าของปริมาณน้ำที่ลงเขื่อนในเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องฝนแล้งในปีนี้ ที่ต้องกังวลกันต่อไปคือตอนปลายฤดูฝน ราวๆ เดือนกันยายน น้ำอาจจะล้นเขื่อนและเกิดน้ำท่วมอีกครั้ง

ความกังวลเรื่องฟ้าฝนปีนี้จึงเป็นเรื่องน้ำท่วม ฝนจากพายุความกดอากาศต่ำจากประเทศจีนหรือที่นิยมเรียกว่าดีเปรสชั่น ซึ่งจะเริ่มในเดือนสิงหาคมเรื่อยไปจนถึงปลายเดือนกันยายนสำหรับภาคกลางและกรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึงเดือนธันวาคมสำหรับภาคใต้ เพราะพายุความกดอากาศต่ำจะเริ่มจากภาคเหนือแล้วทยอยต่ำลงมาเรื่อยๆ ตามอักษรที่สำนักงานอุตุนิยมโลก เอาชื่อเทพเจ้ากรีกทั้งผู้หญิงและผู้ชายมาตั้งเป็นชื่อของพายุความกดอากาศต่ำ เดิมเคยเอาแต่ชื่อผู้หญิงเรียงตามอักษร A ถึง Z มาเป็นชื่อ แต่ถูกขบวนการสิทธิสตรีประท้วงก็เลยต้องเอาชื่อผู้ชายมาสลับกันไว้อย่างเท่าเทียมกัน

ปีนี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคงต้องทำงานหนักตั้งแต่ต้นฤดู ทั้งการลอกท่อลอกคู เตรียมเครื่องสูบน้ำ ที่ตั้งงบประมาณซื้อมาเป็นจำนวนมากแต่มักจะใช้ได้ไม่กี่เครื่อง เพราะขาดการบำรุงซ่อมแซมรักษา ปีนี้น่าจะได้เห็นการใช้ประโยชน์จากการลงทุนมหาศาลในการทำอุโมงค์ยักษ์ที่ใช้ผันน้ำ

การบริหารจัดการฝนมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เมื่อสัปดาห์ก่อนได้รับการบริหารจัดการดีมาก แม้ว่าการลอกคูคลองหนองบึงจะเจอขยะมูลฝอย รวมทั้งที่นอนที่มีคนมาทิ้งไว้ น้ำจึงไม่ท่วม มีเพียงน้ำรอการระบายเท่านั้นแล้วก็สามารถระบายส่วนใหญ่ได้โดยใช้เวลาเพียง 3-4 ชั่วโมง

หวังว่าเมื่อพายุหย่อมความกดอากาศมาจะมีเพียงน้ำรอระบายเท่านั้น เห็นใจผู้ว่าฯกทม.

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image