ดุลยภาพดุลยพินิจ : การเมืองใหม่ บทเรียนจากทรัมป์ : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

ความต้องการทางการเมืองของประชาชนในสังคมหนึ่งๆ มักได้รับอิทธิพลจากแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและความสามารถของระบบการเมืองในการตอบสนองความต้องการนั้น

ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจอาจมีบทบาทได้ไม่มากนัก ถ้าระบบการเมืองมีเพียงพรรคเดียว หรือมีความแน่นอนว่าพรรคใดจะเป็นผู้กำชัยชนะในการเลือกตั้งอยู่แล้ว ประชาชนมักเลือกผู้ที่มีโอกาสได้รับชัยชนะ

นี่คือความเป็นจริงที่มักทำให้พรรคการเมืองใหญ่สามารถมีฐานเสียงที่ใหญ่โตมากขึ้น ในขณะที่พรรคเล็กอาจต้องหดตัวและสูญหายไป

ความเพลิดเพลินในฐานเสียงเดิมที่มีมากอยู่แล้วทำให้พรรคเก่ายากที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่วนพรรคที่ใหม่จริงๆ ก็ยากที่จะเติบโตขึ้นมาแทนที่

Advertisement

ในแง่นี้ ความต้องการทางการเมืองใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นได้ยาก

การเมืองในสหรัฐอเมริกามีพรรคหลักเพียง 2 พรรค คือพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน กลุ่มคนวงในของพรรคกระจุกตัวแน่นหนาขึ้น ประชาชนจำนวนมากมองว่าเป็นการเมืองของพวกหน้าเก่า (Establishments)

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตการณ์ในปี ค.ศ.2008 ได้ทำให้ความต้องการของประชาชนพื้นฐานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เริ่มเบื่อหน่ายนักการเมืองวงในหน้าเก่าๆ

Advertisement

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ผ่านมาจึงกลายเป็นโอกาสทดสอบความยิ่งใหญ่ทางการเมืองของคนวงในของทั้งสองพรรค

เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการเมืองใหม่ก็พอได้ เพราะเป็นกระแสใหญ่ที่ไม่ต้องการการเมืองในมือของคนหน้าเดิม

ในแง่เศรษฐกิจนั้น ภาพใหญ่อาจทำให้เห็นว่ามีการฟื้นตัวเป็นลำดับและต่อเนื่อง ธนาคารกลางก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำมากเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทว่าในความรู้สึกของประชาชนชั้นกลาง ผลประโยชน์จากสภาพเหล่านี้กลับตกอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ บริษัทระดับโลกและกลุ่มผู้ที่มีรายได้และทรัพย์สินสูงมากมายอยู่แล้ว

ส่วนบริษัทขนาดกลาง ผู้ประกอบการขนาดเล็กและชนชั้นกลางที่มิได้อาศัยในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส ซานฟรานซิสโกและบอสตัน เป็นต้น กลับเผชิญกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่จำกัดหรือไม่ก็ถดถอยลง

ความต้องการทางการเมืองใหม่จึงเกิดขึ้นในกลุ่มที่เสียเปรียบ

กลุ่มที่เสียเปรียบเหล่านี้มักมีการศึกษาไม่ถึงระดับปริญญาโท-เอก และมักเป็นชาวอเมริกันผิวขาวที่อาศัยในเขตที่ห่างไกลจากการเติบโตของทุนและโลกาภิวัตน์

อเมริกันชนพื้นฐานเหล่านี้มักมีแนวคิดไปในทางอนุรักษนิยมฝ่ายขวา และต้องการความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศก่อนความยิ่งใหญ่ในต่างแดน

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์จะก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีได้ การเมืองของทรัมป์ก็มิได้ราบรื่นและยังคงถูกต่อต้านอย่างมาก

ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์และการบริหารงานในช่วงระยะเริ่มต้นที่ไม่มีช่วงเวลาฮันนีมูน ได้ให้บทเรียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย

ประการแรก แม้ว่าทรัมป์จะสามารถได้รับชัยชนะในการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วยการตอบสนองอารมณ์ความรู้สึกของอเมริกันชนพื้นฐานจนสามารถยกระดับเป็นกระแสทางการเมืองใหม่ได้ แต่ทรัมป์ก็ต้องอาศัยพรรคการเมืองใหญ่ คือพรรครีพับลิกันในการชิงชัย

ถ้าทรัมป์มาจากพรรคการเมืองที่สาม หรือเป็นผู้สมัครอิสระ (ดังที่เคยมีแรงกดดันก่อนการเลือกตั้ง) ทรัมป์ย่อมยากที่จะได้รับชัยชนะ

นี่ก็หมายความว่า การเมืองใหม่ต้องอาศัยการเมืองเก่าเพื่อต่อยอดขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง การเมืองใหม่ก็เกิดขึ้นได้ยากถ้าจะให้เกิดขึ้นจากภายในพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงมากอยู่แล้ว

ผู้ที่มีอำนาจในพรรคอยู่แต่เดิมมักระมัดระวังมิให้การขยายฐานเสียงเพื่อตอบสนองกระแสการเมืองใหม่กลายเป็นการลดสัดส่วนอำนาจที่ตนครอบครองพรรคอยู่ จึงมักต้องการรักษาฐานอำนาจในพรรคมากกว่าการกระจายอำนาจไปสู่คนกลุ่มใหม่ที่ตนไม่มั่นใจ

การปฏิรูปพรรคกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ยาก เพราะถึงไม่ปฏิรูปพรรค โอกาสในการเลือกตั้งก็จะยังเป็นของตนไม่มากก็น้อย ถ้ามิได้เป็นผู้นำประเทศก็เป็นผู้นำฝ่ายค้าน

นั่นคือการเมืองเก่าจะไม่คลอดการเมืองใหม่ออกมาโดยง่าย ในขณะที่การเมืองใหม่ก็เติบโตไม่ได้ถ้าขาดการสนับสนุนจากการเมืองเก่าและกระแสการเมืองไม่รุนแรงเพียงพอ

ประการที่สอง ระบบการนับคะแนนเสียง (Electoral Voting System) มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และโอกาสของการเมืองใหม่

ระบบที่นิยมเสียงข้างมาก (Majoritarian/Plurality Electoral Rule) ซึ่งเป็นระบบดั้งเดิมให้โอกาสแก่พรรคที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหรือมากที่สุด ไม่นับเสียงของฝ่ายเสียงข้างน้อย ส่วนระบบการนับเสียงแบบสัดส่วน (Proportional Electoral Rule) จะคำนึงถึงเสียงของผู้ที่ได้น้อยกว่าด้วย

สหรัฐอเมริกาใช้ระบบที่นิยมเสียงข้างมากในระดับมลรัฐ แล้วนำคะแนนตัวแทนของมลรัฐมารวมกันในระดับประเทศ ผู้ที่ได้รับชัยชนะในหลายมลรัฐทั้งที่ชนะไม่มากในมลรัฐนั้นๆ ก็มีโอกาสได้รับชัยชนะจากคะแนนรวมได้

ทรัมป์มีคะแนนเสียงจากจำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง (Popular Votes) ต่ำกว่านางฮิลลารี คลินตัน แต่เมื่อรวมคะแนนตัวแทนที่ได้จากเขตมลรัฐต่างๆ แล้วกลับได้มากกว่า จึงได้รับชัยชนะไปตามกติกาที่ตั้งกันไว้

เราจึงไม่แปลกใจที่พรรคที่ใหญ่ที่สุดจะชมชอบระบบที่ใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ พรรคที่เล็กจะสนับสนุนระบบการคิดคะแนนตามสัดส่วน

และการเมืองใหม่จะสามารถมีโอกาสแผลงฤทธิ์ได้มากในระบบการนับคะแนนแบบสัดส่วนเพราะเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้พรรคที่มีเสียงน้อยกว่าแจ้งเกิดขึ้นมาได้

ประการที่สาม การเมืองใหม่มีข้อจำกัดอย่างมากในการบริหารประเทศ เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาทั้งทางด้านความพร้อมทั่วไป กำลังบุคลากร และแรงต้านจากการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่มีฐานเสียงมั่นคง

ทรัมป์เป็นมหาเศรษฐีที่มีความพร้อมทั่วไปในทางการเมืองพอสมควร มิฉะนั้นคงไม่สามารถได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งได้ แต่ยังมีปัญหากำลังบุคลากร และการประสานความสัมพันธ์กับนักการเมืองเดิมในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้าม

ในระดับของนโยบาย กำลังบุคลากรของทรัมป์มีอยู่ทั้งส่วนที่เป็นพวกเสรีนิยมทางเศรษฐกิจที่นิยมกลไกตลาด และพวกชาตินิยมในทางเศรษฐกิจที่นิยมการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ

พวกแรกเป็นส่วนที่มีบทบาทผ่านบุตรเขยของตน

พวกหลังเป็นกลุ่มที่ปรึกษาที่มีแนวความคิดคล้ายคลึงกับตนมาตั้งแต่ต้น

กำลังบุคลากรในระดับของการออกแบบนโยบายจึงไม่น่าขาดแคลน ทว่าปัญหากำลังบุคลากรอยู่ที่ส่วนของการนำนโยบายไปปฏิบัติซึ่งบุคคลเหล่านี้จะมีหน้าที่ตำแหน่งทางการบริหารที่สำคัญ

ทรัมป์ไม่ไว้วางใจบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเข้าไปดำรงตำแหน่งที่สำคัญในการบริหาร ดังจะเห็นได้จากการไม่สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วเพียงพอในการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และการใฝ่หาความน่าไว้วางใจจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่

ในกรณีของนายเจมส์ คอมมี่ (James Comey) อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเอฟบีไอซึ่งถูกทรัมป์ปลด ทรัมป์ก็แสดงความเห็นชัดเจนว่าต้องการผู้ที่ตนไว้ใจได้

เหมือนกับการที่ตนเป็นเจ้าของบริษัทและต้องการผู้บริหารที่ซื่อสัตย์และภักดีต่อตน

ความต้องการความไว้วางใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีต่อตนเป็นความต้องการที่ไม่ถูกต้องและเกินเลย เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องคำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตน มิใช่ของพวกพ้องหรือผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ที่มีอำนาจ

การเรียกหาความภักดีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงท่ามกลางการตรวจสอบการใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ทรัมป์เสี่ยงกับข้อกล่าวหาว่าขัดขวางขบวนการยุติธรรม และการฟ้องร้องต่อรัฐสภา (Impeachment) ทั้งๆ ที่การกล่าวหาทีมหาเสียงของทรัมป์ว่าสมคบกับทางการรัสเซียในการแทรกแซงการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง และอเมริกันชนพื้นฐานก็มิได้เชื่อว่ารัสเซียจะแทรกแซงผลการเลือกตั้งของสหรัฐได้

การประสานกับพรรครีพับลิกันเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทรัมป์มีจุดอ่อน ช่องว่างระหว่างกันมิได้รับความสนใจเท่าที่ควร เมื่อถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามจึงขาดแนวร่วมจากพรรครีพับลิกัน

แรงกดดันจากฝ่ายพรรคเดโมแครตและสื่อต่างๆ มีส่วนสร้างความลำบากในการบริหารของรัฐบาลซึ่งเป็นสภาพปกติของการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตย ทว่าผู้นำก็ไม่ควรมองการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ อันเป็นการเมืองแบบเก่าที่น่าเบื่อหน่าย

การเมืองเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ควรเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ มีส่วนร่วมโดยมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอันเป็นเจตจำนงหลักในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่

การเมืองใหม่นั้นเป็นการดำเนินการที่ยาก ทั้งในการช่วงชิงชัยชนะจากการเลือกตั้ง และในการสร้างการเปลี่ยนแปลงภายหลังจากนั้น

ไม่เพียงต้องอาศัยการสนับสนุนจากกระแสความต้องการทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น

หากยังต้องอาศัยความร่วมมือจากแนวร่วมทางการเมืองที่กว้างขวางทั้งเก่าและใหม่ ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลาที่เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนแปลงด้วย

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image