ประเทศไทยในอนาคต

ในขณะที่รัฐบาลมีความเชื่อว่าประเทศชาตินั้นจะไปรอดด้วยการปฏิรูปการเมือง และการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่มากมายถึงลักษณะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่ไม่ค่อยดึงประชาชนให้เข้าไปมีส่วนร่วม และมีลักษณะกีดกันไม่ให้การกำหนดแผนยุทธศาสตร์นั้นอยู่ในมือของคนบางกลุ่มบางพวกเช่นพวกนักการเมืองที่ก็ต้องนับว่ามาจากการเลือกของประชาชนระดับหนึ่ง และการไม่รอให้ระบบการเมืองนั้นกลับสู่ประชาธิปไตยเสียก่อนจะมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์

นอกจากนั้นกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ยังรวมไปถึงเรื่องของการไม่เชื่อว่าแผนยุทธศาสตร์ที่กำหนดนั้นจะสามารถใช้ได้ใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยเชื่อว่าเป็นเรื่องอนาคตที่ยาวนานเกินไป และในระหว่างนั้นอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกันอีกมากมาย

ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าใครจะเปลี่ยนแปลงแผนนั้นได้ และใครจะเป็นผู้ที่รับผิดชอบกับความล้มเหลวในกรณีที่แผนยุทธศาสตร์นั้นไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังเอาไว้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก

ในเรื่องของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ นั่นก็คือเรื่องของการทำความเข้าใจในเรื่องของ อนาคตŽ โดยเฉพาะในเรื่องของประเทศไทยในอนาคต เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่เรื่องของการทำนายและอาชีพหมอดูเป็นเรื่องยอดนิยม

Advertisement

แต่เราไม่ค่อยพูดถึงอนาคตของประเทศอย่างจริงๆ จังๆ จะว่าไปแล้ว ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่น่าสนใจในประเด็นหนึ่ง นั่นก็คือเป็นประเทศที่โหยหาความรุ่งเรืองในอดีต และชอบดูหมอ แต่ไม่ให้ความสนใจกับอนาคตอย่างจริงๆ จังๆ

ที่พูดเช่นนี้หมายถึงว่า เราไม่ค่อยได้สนใจที่จะคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นระบบ เราสนใจแต่การคาดเดาและทำนายอนาคตในระดับบุคคลมากกว่า เช่นการที่เราไปดูหมอและขอพรต่างๆ

เราก็สนใจแต่เรื่องของการที่ว่าแต่ละคนจะมีชีวิตอยู่อย่างไร แต่เราไม่ได้สนใจว่าประเทศชาตินั้นจะอยู่อย่างไรใน 10 ปี ใน 20 ปีข้างหน้า ทั้งที่ในวงการธุรกิจนั้น การคาดการณ์เรื่องของตลาดและแนวโน้มธุรกิจดูจะเป็นเรื่องราวที่มีการพูดถึงอย่างมากมายและจริงจัง

Advertisement

แต่การพูดถึงเรื่องราวที่ไกลกว่าแนวโน้มธุรกิจในปีหน้า มาสู่การตั้งคำถามแนวโน้มของระบบเศรษฐกิจใน 10-20 ปีข้างหน้านั้นไม่ค่อยมีการพูดกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (มากกว่าเรื่องว่า เศรษฐกิจจะ ดีŽ ไหม แต่ถามว่า ระบบเศรษฐกิจในอนาคตจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อะไรคือกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต)

แนวการศึกษาและการจัดตั้งสถาบันด้าน อนาคตศึกษาŽ ในประเทศไทยนั้นก็มีไม่ค่อยมากนัก และคนที่เป็นนักอนาคตศึกษาในเมืองไทยที่เป็นที่ยอมรับนั้นก็ไม่ค่อยจะเป็นที่รู้จัก

สำหรับเรื่องใกล้ตัวอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้เราต้องมาตั้งคำถามว่าสังคมไทยนั้นสนใจเรื่องอนาคตจริงๆ จังๆ แค่ไหน แต่มักชอบพูดและหันกลับไปสร้างจินตนาการและจินตภาพของอดีตมากกว่า

ก็คือ การที่นวนิยายทั้งเรื่องแปลและการแต่งขึ้นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอนาคตนั้นไม่ค่อยจะมีและไม่ได้รับความนิยม เราไม่ค่อยมีนิยายเชิงวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยโลกอนาคต ทั้งที่มีนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ อยู่มากมาย และก็ไปได้แชมป์โลกพวกแข่งขันวิชาการ

ที่ใกล้ตัวกว่านั้น ไม่มีใครสนใจการพยากรณ์อากาศอย่างจริงจัง การไม่มีการตรวจสอบและตั้งคำถามกับระบบการคาดการณ์ภัยพิบัติ และการพยากรณ์อากาศอย่างจริงจังนั้น

ทำให้เราไม่ค่อยสนใจที่จะวางแผนอนาคตที่เกี่ยวกับตัวของเราอย่างเป็นระบบ ซึ่งบางคนก็อาจจะบอกว่าอากาศในโซนของเรานั้นมันผันผวนคงจะพยากรณ์ไม่ได้ แต่ผมอยู่ในฝ่ายที่เชื่อว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มากกว่า เพราะถ้าเราให้ความสำคัญจริง เราจะทุ่มเททรัพยากรไปกับเครื่องไม้เครื่องมือและงบประมาณมากกว่านี้ และกระแสกดดันที่จะมีต่อการทำนายอากาศและภัยพิบัตินั้นจะมีมากกว่านี้

สิ่งที่ระบบราชการสนใจมักจะเป็นเรื่องของงบประมาณรายปี ซึ่งเป็นเรื่องการคาดการณ์และการใช้จ่ายในระยะสั้นๆ

การให้ความสำคัญกับอนาคตศึกษาอย่างเป็นระบบนั้น จะมีส่วนสำคัญทำให้เราสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเมื่อเราจะทำแผนยุทธศาสตร์นั้น เราจะทำแผนยุทธศาสตร์ออกมาเพื่อที่จะเผชิญกับสถานการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การให้ความสำคัญกับอนาคตอย่างเป็นระบบ

จะตั้งคำถามสำคัญกับเราว่า เราจะอยู่ที่ไหนในภูมิภาคและในโลก เราจะเชื่อในพลังของเราเองในการผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมากกว่าการเชื่อมั่นในพลังเหนือธรรมชาติที่เราควบคุมไม่ได้ว่าจะมีผลต่ออนาคตของเรา (เช่น ดวงดาว หรือเทพยดาต่างๆ)

นอกจากนั้นแล้ว การให้ความสนใจกับอนาคตศึกษายังเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ (แม้นิยาย หรือละครที่เกี่ยวกับอนาคตก็มีน้อย ส่วนใหญ่เราจะสนใจทำเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตมากกว่า)

สิ่งที่สังคมไทยดูจะนิยมนั้นกลับกลายเป็นการรายงานข่าวเทคโนโลยีและความหวือหวากับการสวมใส่ หรือซื้อหาเทคโนโลยีต่างๆ มาไว้ในครอบครองว่าต้องใหม่ที่สุด แต่ไม่ค่อยได้เน้นไปถึงเรื่องของการที่จะให้ความสำคัญกับการอธิบายถึงนัยสำคัญของการมีเทคโนโลยีเหล่านั้น

การไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของอนาคตศึกษาทำให้กระบวนการวางแผนในบ้านเราไม่ค่อยที่จะก้าวหน้ามากนัก ระบบราชการมักเน้นไปที่การจัดจ้างบริษัทให้คำปรึกษาและสนใจข้อเสนอในขั้นท้ายสุดของสัญญา ซึ่งจะถอดออกมาเป็นโครงการและงบประมาณกับหน่วยงานเหล่านั้น

ขณะที่การเน้นของอนาคต หรือการคาดการณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆ แบบในช่วงต้นของการวางแผนยุทธศาสตร์นั้น จะเปิดโอกาสให้มีการวิเคราะห์ถกเถียงในหลายรูปแบบ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างคนภายในองค์กรและบุคคลภายนอกที่หลากหลายและมีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านั้นในหลายๆ รูปแบบ

การไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องการคาดการณ์อนาคต ยังมักปรากฏในเรื่องของการทำงานแบบขอไปทีขององค์กรต่างๆ ที่จ้างทำหรือทำกันเองในเรื่องของการวิจัยยอดฮิตที่เรียกว่า SWOT (Strength, Weakness, Opportunity, Treat) ที่มักจะนั่งคิดเอาเอง แต่ไม่ได้นำมาทดสอบกับสถานการณ์ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ และไม่ได้นำไปสู่การตั้งคำถามว่า

หากสถานการณ์ที่คาดการณ์นั้นไม่ได้เป็นไปในแบบที่หนึ่ง แต่เป็นไปในแบบที่สอง หรือสามนั้น องค์กรจะสามารถปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาได้อย่างไรบ้าง สิ่งที่ต้องการจะชี้ให้เห็นก็คือ การให้ความสำคัญกับอนาคต จะช่วยทำให้เราสามารถตัดสินใจ และมองได้ว่าสังคมมีทางเลือก และจะต้องพัฒนากระบวนการและสถาบันที่จะนำมาซึ่งการตัดสินใจทางเลือกต่างๆ นั้นด้วย

ไม่ใช่ฝากความหวังไว้กับหน่วยงานเดียว หรือองค์กรเดียว ภายใต้คำขวัญประเภท ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว หรืออยู่ภายใต้วิธีคิดแบบความหวาดกลัวว่า จะอย่างไรก็ตามก็ดีกว่าปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งขึ้นครองอำนาจ

การที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า เราไม่มีความใฝ่ฝันและมีความเชื่อมั่นที่จะเดินไปถึงสิ่งที่เราใฝ่ฝันได้อย่างจริงๆ จังๆ หากลองเปรียบเทียบกับสมัยที่เราตื่นเต้นกับเรื่องโลกาภิวัตน์ใหม่ๆ สังคมเราดูจะให้ความสนใจกับเรื่องของความเป็นไปของโลกอย่างมากมายมหาศาล

ถ้าไม่นับว่าในยุคที่เราตื่นเต้นกับโลกาภิวัตน์ นั้นเป็นยุคปลายของรัฐบาลเผด็จการครึ่งใบต่อเนื่องกับประชาธิปไตยเลือกตั้ง และการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจและอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่ขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ

อีกมิติหนึ่งที่สำคัญ ก็คือเรื่องที่ว่าการไม่ได้ให้ความสนใจกับอนาคตศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้เราไม่ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ทำให้เราไม่สนใจที่จะคาดหวังและใช้ประโยชน์จากสถิติของประเทศ

ทั้งจากหน่วยงานกลาง และจากการบูรณาการข้อมูลทางสถิติที่มีอยู่ รวมทั้งยังไม่ได้มีความพร้อมและลงทุนกับการจัดเก็บข้อมูลที่เรียกว่า BIG DATA หรือการเก็บข้อมูลสถิติรายละเอียดเพื่อนำมาประมวล และวิเคราะห์ตีความ คาดการณ์แบบแผนของพฤติกรรมต่างๆ อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มากกว่าเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นเรื่องที่ทำในหมู่ผู้ประกอบการเท่านั้น

ภาครัฐเองไม่ได้ใช้ความรู้ในเรื่อง BIG DATA อย่างจริงจัง รัฐยังมองว่าอำนาจมาจากกฎหมายมากกว่าอำนาจมาจากการมีและใช้ข้อมูลข่าวสารในการบริหาร ประชาชนเองก็มองว่าอำนาจมาจากการร้องขอและวิจารณ์มากกว่าอำนาจมาจากการจัดเก็บและใช้ข้อมูลต่างๆ

ในการทำให้รัฐบาลนั้นมีความพร้อมรับผิด (accountability) หรือพูดง่ายๆ การตรวจสอบรัฐบาลต้องเน้นไปที่การใช้และร้องขอข้อมูลอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เน้นไปที่สื่อและนักการเมืองฝีปากกล้า

หันมามองประเทศไทยตอนนี้ ผมอยากสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เวลาที่เรามักจะรำพึงรำพันว่า เรามองไม่เห็นอนาคตŽ สิ่งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความแปลกแยกกับกระบวนการก้าวไปในอนาคตร่วมกัน

และอีกส่วนหนึ่ง มันสะท้อนถึงความอ่อนแอของเราที่ไม่ได้มองอนาคตอย่างเอาจริงเอาจังอย่างเพียงพอ ส่วนพวกที่อยากจะไปในอนาคตก็มีแต่อำนาจกฎหมายและอาวุธในมือ

แต่ไม่ได้สนใจอนาคตอย่างจริงจังและเป็นระบบสักเท่าไหร่

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image