ควันหลงหลังการพิพากษา คดีจำนำข้าว โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

บทความนี้ต้องการเก็บตกบรรยากาศของปรากฏการณ์ทางการเมืองและปรากฏการณ์ทางสังคมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเหตุการณ์การอ่านคำพิพากษาคดีความที่คุณบุญทรงและพวกถูกกล่าวหา และการไม่ปรากฏตัวของคุณยิ่งลักษณ์เพื่อรับฟังการตัดสินคดีจนนำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลที่ไม่เชื่อว่าคุณยิ่งลักษณ์ป่วยถึงขนาดมาศาลไม่ได้ ศาลพิจารณาว่าพฤติกรรมของคุณยิ่งลักษณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าหลบหนี ให้ออกหมายจับคุณยิ่งลักษณ์ ปรับนายประกันเต็มตามสัญญา และให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน 2560 ตามที่ปรากฏในเอกสาร ข่าวศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองŽ

เรื่องแรกที่ควรตรวจสอบกับตัวเราเองก็คือ นอกเหนือจากข่าวสารจากสื่อต่างๆ ที่เราเข้าถึงแล้ว เรา ได้รับข่าวสารŽ จากสื่อทางสังคมในเนื้อหาและทิศทางใด เรื่องนี้สำคัญเพราะสื่อในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีแต่สื่อที่เป็นองค์กร แต่รวมถึงผู้คนในสังคมที่ส่งข่าวถึงกันและกันผ่านการเลือกสรรข่าวที่เชื่อว่ามีความหมายสำหรับเขา

การพิจารณาในเรื่องของการส่งข่าวให้กันและกันผ่านเครือข่ายทางสังคม ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเราว่า เราได้รับข่าวสารจากคนที่เห็นเหมือนหรือต่างกับเราแค่ไหน ตัวข่าวสารเองมีลักษณะไปในทิศทางเดียวกัน หรือเป็นทิศทางที่ตรงข้ามกับความเห็นและความรู้สึกของเรา

สำหรับผมนั้น ข้อมูลที่มีต่อการไม่ปรากฏตัวของคุณยิ่งลักษณ์ที่ถูกส่งมาค่อนข้างประกอบด้วยเนื้อหาหลากหลาย แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ไม่มีการให้ความเห็นกับคดีของคุณบุญทรงแต่อย่างใด การไม่ได้มีการให้ความเห็นต่อผลคำตัดสินคดีของคุณบุญทรง แต่ไปเน้นกันแต่เรื่องการมาฟังคำพิพากษาหรือไม่ และการใช้คำทั้งในข่าวและในความเห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์หนี หรือเส้นทางหลบหนีก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

Advertisement

ประเด็นอยู่ที่การมองว่าการไม่มาปรากฏตัวและ/หรือการหลบหนีเป็นเรื่องราวที่นำมาพูดมากกว่าเนื้อหาคำตัดสิน นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่า เราไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวของหลักการในคำพิพากษาแต่อย่างใดใช่ไหม?

ฝ่ายที่สนับสนุนให้ดำเนินคดีก็เหมือนจะรู้สึกลึกๆ ว่าการตัดสินของศาลสำคัญกว่าเนื้อหาในคำตัดสิน ศาลว่าผิดก็ต้องผิด ทั้งที่ในคำตัดสินคดีคุณบุญทรงนั้น สิ่งที่ควรพิจารณาคือ กระบวนการและขั้นตอนใดที่ถูกพิจารณาว่าใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ งบประมาณแผ่นดิน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ประเทศชาติและประชาชน

ยิ่งในคดีของคุณยิ่งลักษณ์ (ซึ่งยังไม่มีการอ่านคำพิพากษา) หากจะมีการอ่านคำพิพากษาออกมาเมื่อไหร่ ตัวคดีความเองก็เป็นเรื่องความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีปล่อยปละละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวที่ทำให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งไม่ใช่ความผิดในกรณีเดียวกับคุณบุญทรง

Advertisement

ความสนใจของฝ่ายที่ต้องการดำเนินคดีของคุณยิ่งลักษณ์ตั้งแต่แรก ในวันนี้ดูจะมีทั้งกลุ่มที่ต้องการเยาะเย้ย ถากถาง เสียดสี ล้อเลียน กับการไม่ปรากฏตัว และกลุ่มที่รู้สึกเฉยๆ กับการไม่ปรากฏตัว ในส่วนของฝ่ายที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์ก็มีข้อถกเถียงที่น่าสนใจว่า ควรจะคาดหวังการปรากฏตัวและการติดคุกของคุณยิ่งลักษณ์ (ถ้าจะมี) หรือไม่ เรื่องที่น่าสนใจกลายเป็นว่าไม่ได้สนใจที่จะถกเถียงในเรื่องแนวทางคำพิพากษาอะไรมากไปกว่าเรื่องของการติดคุกหรือไม่ติดคุกเสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะมองว่าเรื่องของคำพิพากษาจะส่งผลทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากนี้ต่อไปอย่างไร

ทั้งที่ตัวคำพิพากษานั้นต่อให้พิพากษาว่าคุณยิ่งลักษณ์มีความผิด ความผิดก็คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่ความผิดในฐานะที่กระทำการทุจริตในระดับการดำเนินนโยบายโดยตรง

กล่าวอีกอย่างก็คือ ฝ่ายที่สนับสนุนหรือเชียร์คุณยิ่งลักษณ์ก็มองเรื่องนี้เป็นการเมืองมากกว่าเรื่องของตัวคดีความเอง คือไปสนใจว่าผลสะเทือนทางการเมืองของการตัดสินจะมีอย่างไร ซึ่งความเห็นของคนบางคนนั้นได้พิพากษาคุณยิ่งลักษณ์ไปแล้ว แต่การพิพากษานั้นอาจไม่ได้สนใจเนื้อหาข้อกล่าวหาแต่อย่างใด เป็นการพิพากษาที่เพราะมองว่าการติดคุกหรือไม่ติดคุกจะส่งผลทางการเมืองมากกว่ากัน โดยละเลยที่จะเรียนรู้หรือถกเถียงว่าทำไมคุณยิ่งลักษณ์ถึงจะถูกพิจารณาคดีเช่นนั้น

ผมอยากจะบอกว่า ไม่ว่าผลการตัดสินคดีความจะเป็นอย่างไร เรื่องที่เราไม่ได้เรียนรู้มากขึ้นจากคดีความในรอบนี้จริงๆ ก็คือประเด็นในเชิงนโยบาย ที่เป็นเรื่องของการถกเถียงกันในช่วงที่ความขัดแย้งทางการเมืองยกระดับสูงสุดเมื่อสามปีก่อน (เว้นแต่จะเชื่อว่ามันไม่มีสาระอะไรเลยนอกไปจากการตัดสินคดีความทั้งหมดเป็นเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมืองเท่านั้น)

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การดำเนินคดีที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงและเทคนิคทางกฎหมาย และการท้าทายกันด้วยการใช้ภาษาที่เป็นเรื่องของความเห็นต่อการมาศาล (หรือหนีศาล) ขณะที่ประเด็นใหญ่ในเรื่องของการดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนา ซึ่งเคยเป็นประเด็นที่ถูกนำมาเป็นการขยายผลทางการเมืองนั้นไม่ถูกนำมาอภิปรายสักเท่าไหร่ จนวันนี้เราก็ยังไม่มีข้อตกลงที่ตรงกันว่า แนวทางการช่วยเหลือชาวนาแนวทางไหนที่เหมาะสม

เรื่องที่ผมชี้ให้เห็นนี้ค่อนข้างสำคัญ และเป็นหนึ่งในเรื่องที่สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสนใจในช่วงก่อนการอ่านคำพิพากษา คำถามที่สำนักข่าวต่างประเทศสนใจคำถามหนึ่งก็คือเรื่องที่ว่า การพิพากษาคดีนั้นจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะเรื่องการสนับสนุนช่วยเหลือชาวนาอย่างไรในอนาคต นอกเหนือไปจากการสนใจเรื่องอนาคตของพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร ซึ่งความสนใจในข้อหลังนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ต่างจากสื่อในประเทศ

อยากจะย้ำให้เห็นประเด็นอีกอย่างก็คือ การที่สื่อไทยไม่สนใจเรื่องของทิศทางการกำหนดนโยบายข้าวอย่างจริงจัง แต่สนใจแต่เรื่องการไม่มาศาลของคุณยิ่งลักษณ์เองว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน และก็ไม่ได้ตั้งคำถามกับกระบวนการการหลบหนีว่าหน่วยงานไหนปล่อยให้มีการออกไปได้ ก็เป็นเรื่องที่อาจตีความได้ว่า การไม่มาปรากฏตัวที่ศาลนั้นกลายเป็นเรื่องราวอันเป็นปกติของกระบวนการยุติธรรมไปเสียแล้ว

เรื่องต่อมาที่น่าอภิปรายก็คือ ความเห็นของผู้คนที่มีต่อผลจากคำพิพากษาของคนกลุ่มที่เชื่อว่าต่อจากนี้การทุจริตจะลดลง ผมกลับเห็นว่าด้วยปรากฏการณ์ของช่องว่างระหว่างการดำเนินคดีในทางเทคนิคและการตีความกฎหมายในรายละเอียดที่เกิดขึ้น สิ่งที่จะต้องตั้งคำถามก็คือ หากสังคมไม่ได้มีบรรยากาศที่มีเสรีภาพทางการเมืองแล้ว มีความเป็นไปได้ที่กระบวนการฟ้องร้องและเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบการกระทำที่เข้าข่ายทุจริตนั้นจะทำได้ไม่ง่ายนัก ผู้ที่เรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบมักจะถูกข่มขู่หรือทำให้หมดกำลังใจในการตรวจสอบ มิพักต้องกล่าวถึงการที่ผลการตรวจสอบที่ผ่านมาในหลายคดีก็ค้านกับความคาดหวังของสังคมเอง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 ที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องของการทำให้กระบวนการยุติธรรมกลายเป็นมิติทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่แค่ประเด็นของการให้ทรรศนะว่าศาลเข้ามาเกี่ยวข้องและถูกทำให้เป็นการเมืองจากฝ่ายผู้มีอำนาจดังที่มีการตั้งคำถามมาโดยตลอดเท่านั้น

แต่ในครั้งนี้เป็นการมองว่าการทำให้กระบวนการยุติธรรมและการกระทำของศาลนั้นเกี่ยวเนื่องกับการเมืองก็อาจเกิดขึ้นได้จากฝ่ายผู้ที่ถูกกระทำและผู้ไม่มีอำนาจได้เช่นกัน (คือคาดหวังว่าการติดคุกจะส่งผลสะเทือนทางการเมือง หรือการตัดสินใจยอมติดคุกถือเป็นการกระทำเชิงรุกในทางการเมืองอย่างหนึ่ง) ที่สำคัญปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 นั้นกลับสะท้อนความแปลกแยกทางกฎหมาย ที่การไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดีนั้นเป็นหนึ่งในทางเลือกในการแสดงออกว่าการไม่เข้าร่วมกระบวนการฯก็เป็นการต่อสู้ทางการเมือง หรืออย่างน้อยก็มีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการยุติธรรมในทางหนึ่ง

การไม่ปรากฏตัวที่ศาลของหลายคนไม่ได้มีลักษณะหนีหายไปจากโลก อาจเป็นการกำหนดระยะห่างกับศาลและการเมืองโดยที่ยังปรากฏตัวอยู่ในโลก และก็อาจถูกตีความว่าเป็นการตัดสินใจและการกระทำทางการเมืองในแบบหนึ่งที่เข้าใจร่วมกันในสังคม จนถูกสถาปนาให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้ถูกกล่าวหา และการยอมรับของคนในสังคมไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image