เหตุผลของการอยู่ด้วยกัน : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

หนึ่งในประเด็นท้าทายของสังคมเราก็คือเรื่องของท่าที ความรู้สึก และความคาดหวังของสังคมที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม

ในขณะที่สมัยเราเด็กๆ เรามักจะถูกสอนว่า ทุกคนต้องรู้กฎหมาย หรือกล่าวอีกอย่างว่า ใครไม่รู้กฎหมายก็ถือว่าเสียเปรียบไปตั้งแต่แรก แม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้เกิดมาในตัวเรา แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องรู้

ยังไม่ค่อยได้ยินการสอนว่า ทุกคนต้องรู้จักกระบวนการยุติธรรมสักเท่าไหร่

การสอนให้เราต้องรู้กฎหมาย บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ทำให้เรารู้กฎหมาย แต่อาจจะหมายถึง รู้จักใครบ้างที่จะช่วยเราให้รอดจากปัญหาทางกฎหมาย และอาจจะหมายถึงการยอมรับว่ากฎหมายคือกติกา โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามกับคุณค่าของกฎหมายนั้นๆ

Advertisement

การรู้จักกฎหมาย และถูกสอนให้เคารพกฎหมายในแง่นี้อาจไม่ได้หมายถึงหลักนิติรัฐ-นิติธรรมที่นักวิชาการตะวันตกเข้าใจ (rule of law) แต่อาจหมายถึงหลักการการใช้กฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครอง (rule by law) คือใช้กฎหมายมาปกครอง ในฐานะเครื่องมือหนึ่งของผู้ปกครอง

ซึ่งผู้ปกครองในแง่นี้ ในฐานะผู้ที่เป็นเจ้าของและที่มาของอำนาจในการปกครองนั้น อาจไม่ได้หมายถึงประชาชน

ในสังคมที่เชื่อกันว่ามีหลักนิติรัฐ-นิติธรรมนั้น เขาจะให้ความสำคัญกับการสอนให้คนรู้กระบวนการยุติธรรมมากกว่ารู้กฎหมาย การรู้กระบวนการยุติธรรมนั้นมีความสำคัญ เพราะกฎหมายนั้นนอกจากจะหมายถึงสิ่งที่นำไปสู่การแสวงหาความยุติธรรมแล้ว กฎหมายยังเป็นสิ่งที่หมายถึงข้อตกลงที่คนจะอยู่ด้วยกัน

Advertisement

การทำความเข้าใจว่ากฎหมายหมายถึงข้อตกลง ไม่ใช่คำสั่งของรัฐ เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เพราะถ้าเรามองว่ากฎหมายเป็น (แค่) คำสั่งของรัฐ เราจะถูกทำให้เชื่อว่า รัฐคือสิ่งนอกตัวเรา เป็นสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่ต้องสงสัย

แต่ถ้าเรามองว่ากฎหมายเป็นข้อตกลงระหว่างกันในสังคม เราจะเริ่มเชื่อมั่นและยึดโยงตัวเรากับกฎหมายและคนอื่นๆ ในแนวระนาบมากกว่าแนวดิ่ง เราจะเคารพกฎหมายไม่ใช่เพราะมันเป็นสิ่งที่ถูกสั่งมาโดยไม่ต้องสงสัย แต่เราจะเชื่อเพราะมันคือข้อตกลงร่วมกันที่จะลดความขัดแย้งและอยู่ด้วยกันให้ได้

ถ้าเราเคารพกฎหมายในฐานะข้อตกลงร่วมกัน เราจะเชื่อมั่นว่ากฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเราเป็นที่มาของอำนาจ ด้วยว่าเราเคารพกฎหมายเพราะเรายินยอมให้กฎหมายเป็นข้อตกลง ไม่ใช่เพราะเราไม่มีทางเลือกในการเคารพกฎหมาย

และเหตุผลของการที่กฎหมายเป็นข้อตกลงไม่ใช่คำสั่ง และเป็นข้อตกลงที่เรายินยอม ก็เพราะกฎหมายนั้นมีเหตุผลบางอย่าง

ถ้าเราเข้าใจว่ากฎหมายนั้นเป็นเรื่องของเหตุผล เราก็ต้องเข้าใจต่อไปอีกว่า กฎหมายเป็นทั้งเหตุผล และเป็นทั้งส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ที่จะต้องให้เหตุผลในทางกฎหมาย หมายถึงว่า เป็นเรื่องของการใช้เหตุผลโดยมีกฎหมายเป็นจุดตั้งต้น บวกกับการอ้างอิงเรื่องราวอื่นๆ อีกในการพิพากษาทางกฎหมาย อาทิ หลักฐาน สภาพทางสังคมที่รายล้อมเรื่องราวเหล่านั้น คุณค่า-ค่านิยมของผู้คนในสังคมนั้น รวมไปถึงความคาดหวังของคนในสังคมต่อการพิจารณาคดีความหรือเรื่องราวหนึ่งๆ

ที่อธิบายเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินคดีจะต้องเอาใจประชาชน แต่หมายถึงการตัดสินคดีนั้นเป็นเรื่องของการให้เหตุผลในเรื่องหนึ่งๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการตัดสิน

การให้เหตุผลมีทั้งส่วนของการให้เหตุผลในการตัดสินคดี และการให้เหตุผลในการสื่อสารกับสังคมผ่านคำพิพากษาในแต่ละคดี

เนื้อความในกฎหมายนั้นไม่ได้ครอบคลุมไปซะทุกเรื่อง ดังนั้น การพิจารณาแต่ละคดีความนั้น กฎหมายจึงไม่ใช่เรื่องที่นำมาใช้ได้โดยตรงเสมอไป การให้เหตุผลในการตัดสินจึงคำนึงถึงเรื่องราวอื่นๆ ประกอบไปด้วยตามที่ผมได้กล่าวไปแล้ว และการอธิบายเหตุผลในการตัดสินให้สาธารณชนฟังจึงเป็นเรื่องที่มุ่งหวังให้ประชาชนยอมรับและสิ้นข้อสงสัย ไม่ใช่เพียงแค่ผู้พิพากษามีสถานะที่สูงส่งกว่าคนอื่นๆ แต่เพราะผู้พิพากษามีสถานะเป็นผู้ที่เป็นกลางและทำหน้าที่ระงับความขัดแย้ง

ในบางสังคมถึงกับยอมรับว่าศาลนั้นไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินคดีความไปตามกฎหมาย (ที่มีมาก่อน/ที่มีอยู่เดิม) แต่ศาลนั้นทำหน้าที่ขยาย (ความ) กฎหมายหรือเขียนหรือสร้างกฎหมายใหม่ในทุกๆ ครั้งของการตัดสิน เพราะนอกจากกฎหมายนั้นจะให้หลักการกว้างๆ เท่านั้น ไม่ได้เจาะจงไปยังแต่ละกรณี คำตัดสินในแต่ละครั้งยังกลายเป็นกฎหมายหรือแหล่งอ้างอิงในการพิพากษาในกรณีถัดไปได้ด้วย แม้แต่ในระบอบกฎหมายที่อ้างว่าเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร เราก็เห็นการเทียบเคียงความคิดและการลงโทษจากกรณีอื่นๆ อยู่บ่อยๆ

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องเคารพกฎหมาย หรือกฎหมายไม่มีความจริงแท้หรือบริสุทธิ์ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อศาลนั้นพิพากษาคนอื่น ศาลก็ย่อมต้องพิพากษาไปด้วย หรือการพิพากษาก็คือการถูกพิพากษาไปพร้อมกัน (To judge is to be judged)

ในแง่นี้การให้เหตุผลต่อการตัดสินคดี หรือการให้เหตุผลในทางกฎหมายนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินและต่อการสื่อสารการตัดสินกับประชาชน เพื่อให้สังคมนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้

เรื่องการอยู่ร่วมกันได้นั้นสำคัญ เพราะมันมีนัยยะของความเข้าใจระบอบการปกครองของสังคมนั้นๆ สังคมที่ไม่ได้ปกครองแบบประชาธิปไตย อาจจะมีการให้เหตุผลของการอยู่ร่วมกันแบบหนึ่ง เช่น อยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่ไม่ใช่ตัวเรา ดังนั้น คำสั่งของผู้ปกครองก็คือคำสั่งที่ไม่ต้องสงสัย ตั้งคำถาม หรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่เกี่ยวกับเรา

ขณะที่สังคมที่ปกครองโดยประชาธิปไตยนั้น เหตุผลของการอยู่ร่วมกันคือ ข้อตกลงที่มาจากตัวเรา เป็นเจตจำนงร่วมที่เรามีส่วนในการกำหนดอย่างเสมอภาค เหตุผลที่เรายินยอมทำตามก็เพราะเหตุผลของข้อตกลงเหล่านั้นมาจากตัวเรา เราเข้าใจได้และยอมรับได้ที่ตัวเหตุผล ไม่ใช่ตัวสถาบันที่ใช้อำนาจ

การทำให้เรายอมรับเหตุผลก็ต้องมีทั้งการสื่อสารที่ดีระหว่างศาลกับประชาชน และมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์-ตั้งคำถามกับคำตัดสิน (แน่นอนว่าไม่ใช่การดูหมิ่นดูแคลน)

ในสังคมประชาธิปไตย กฎหมายเป็นประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ ไม่ใช่เพราะผู้พิพากษาลงคะแนนเสียง แต่เป็นเพราะผู้พิพากษาให้เหตุผล และเรานับรวมเหตุผลเป็นจำนวนอีกที ในกรณีที่เหตุผลไม่ตรงกัน และที่สำคัญ กฎหมายเองก็เป็นข้อตกลงที่มีเหตุผล เป็นเหตุผลของการอยู่ร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงกฎหมายจะทำได้ก็เมื่อเป็นการให้เหตุผล และเป็นเหตุผลที่ยอมรับกันของประชาชน

มีเรื่องที่ซับซ้อนนิดหนึ่ง ที่เรามักจะชอบวิจารณ์ว่าศาลมักมีแนวโน้มที่จะเป็นอนุรักษนิยม ด้วยการมองว่า เพราะศาลจะต้องอ้างอิงคำตัดสินบนเหตุผลของการที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ แปลว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคม ดังนั้น ใครที่มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ก็จะต้องถูกตัดสินว่าไม่เป็นไปตามกฎหมาย แต่ก็มีหลายกรณีในโลกที่การพิจารณาการกระทำภายใต้ข้อกล่าวหาว่าล้มล้าง หรือทำลายโครงสร้างสังคมนั้น ไม่ถูกมองว่าผิดกฎหมาย เพราะศาลให้คำอธิบายถึงคุณค่าของสังคมที่อยู่สูงกว่ากฎระเบียบที่ถูกท้าทายในกรณีนั้น การกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างระบบนั้นจึงไม่ใช่ถูกปกป้องเพียงแค่เงื่อนไขว่าไม่มีเจตนา แต่หมายถึงศาลได้ให้คำอธิบายถึงคุณค่าที่ใหญ่กว่านั้น ที่ล้มล้างไม่ได้/ไม่ได้ถูกล้มล้าง

ในความเป็นจริงนั้น การตัดสินคดีและสื่อสารคำตัดสินไปสู่คู่กรณีและประชาชนไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะคดีความมีผู้ที่ชนะและแพ้ ทั้งสองฝ่ายมีกองเชียร์ หรือผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้การตัดสินใจของศาล การสื่อสารหรือการอธิบายคดีความเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าศาลไม่สามารถอธิบายได้เอง ก็คงต้องเขียนออกมาให้คนที่อยู่นอกกฎหมายเข้าใจ เพราะเรื่องสำคัญไม่ใช่การอธิบายกฎหมาย แต่เป็นเรื่องการอธิบายเหตุผล ถ้าทำไม่ได้ การเปิดให้มีการถกเถียงวิจารณ์ก็สำคัญ เพราะทำให้คนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ในบางประเทศพักหลังกระบวนการยุติธรรมดูเหมือนจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องเทคนิคมากกว่าเหตุผลสาธารณะ กล่าวคือการฟ้องร้องและการตัดสินบ่อยครั้งเป็นเรื่องของการอาศัยช่องโหว่ หรือความไม่ชัดเจนของกฎหมายในการฟ้องร้อง เรามักจะเห็นบ่อยๆ ว่าข้อถกเถียงในสาธารณะ กับความผิดทางกฎหมายในกรณีเดียวกันเป็นคนละเรื่อง การไม่ผิดในหลายคดีมันเป็นเรื่องของเงื่อนไขทางกฎหมายในเชิงเทคนิค ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่นำไปขยายผลทางการเมืองที่ถกเถียงในสาธารณะ

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของความยุติธรรมที่ล่าช้า หรือ ไม่ล่าช้า แต่เป็นเรื่องของการให้เหตุผลในทางกฎหมายที่ไม่ได้ตรงกับความคาดหวังทางสังคม เช่น การยกฟ้องเนื่องจากไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล ไม่ใช่เพราะเรื่องนั้นผิดหรือไม่ผิด เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ประชาชนคาดหวังต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมใน
ภาพรวม

ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สังคมเรากำลังเผชิญอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจมักอ้างเป็นข้อหนักใจ เช่น การไม่เคารพกฎหมาย หรือการปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นปัญหา แต่เราอาจเผชิญปัญหากับระบบความแปลกแยกจากกฎหมาย และความแปลกแยกจากกระบวนการยุติธรรม เพราะประชาชนไม่เข้าใจหรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการให้เหตุผลทางกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และจริงจังในสังคมประชาธิปไตยเสียมากกว่า

หมายเหตุแรงบันดาลใจจาก Carter and Burke. 2016. Reason in Law. 9th Edition. Chicago: University of Chicago Press.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image