ดุลยภาพดุลยพินิจ : ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ของเศรษฐกิจจีน : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

สาธารณรัฐประชาชนจีนเคยถูกคาดคะเนไว้อย่างถูกต้องว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ที่ตื่นจากหลับ และถึงแม้จะมิใช่มหาอำนาจสูงสุดแห่งศตวรรษนี้ ก็มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสหรัฐอเมริกา และยังมีเครือข่ายการเมืองระหว่างประเทศที่เข้มแข็งกว่าในอดีตมาก

จีนเป็นตัวอย่างสำคัญของประเทศที่สามารถหลุดจากกับดักของความเป็นประเทศยากจนได้อย่างน่าทึ่ง

ความสำเร็จนี้อาจไม่เป็นที่น่าแปลกใจมากสำหรับหลายๆ คนเพราะจีนเติบโตจากฐานตัวเลขที่ต่ำผิดปกติ อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป เศรษฐกิจจีนกลับยังคงขยายตัวได้สูงมากติดต่อกันหลายทศวรรษ

ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการปฏิรูปทางเศรษฐกิจก็สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและมีการปรับเปลี่ยนได้อย่างมากตามภววิสัยที่เปลี่ยนแปลงไป

Advertisement

ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นตลอด 40 ปีที่ผ่านมาอย่างที่ไม่มีประเทศใดในโลกทุนนิยมกระทำได้

ปัจจัยหลายประการมีส่วนทำให้จีนประสบความสำเร็จดังกล่าวนี้ อาจจะทั้งในแง่ของวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์และความเข้มแข็งมุ่งมั่นของกระบวนการปฏิรูปในทางปฏิบัติ

ที่น่าสนใจคือ ความสำเร็จดังกล่าวมิได้พึ่งแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์แบบตะวันตก และมิได้พึ่งพลังของกลไกตลาดมากมายเหมือนประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินการปฏิรูป

ความสำเร็จของจีนจึงควรค่าแก่การเรียนรู้ของผู้นำไทยที่ต้องการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” และกำลังพึ่งคณะกรรมการและองคาพยพอันใหญ่โตในการเดินทางสู่ยุทธศาสตร์ 20 ปี

ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่เคยละเลยภาพใหญ่ของสังคมและการเมือง นับตั้งแต่ยุคที่ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจสมัยประธานเหมา เจ๋อตุง ผ่านยุคปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง จนถึงยุคสมัยปัจจุบันภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

การปกครองของจีนนับกันว่าเป็นประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการ แต่ก็มีลักษณะรวมหมู่ที่มีการรับฟังและอาศัยความคิดเห็นของคนจำนวนมากตามลำดับขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตยแผนใหม่ที่วางรากฐานกันมาตั้งแต่ยุคของประธานเหมา เจ๋อตุง หรือที่เรียกว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์

จุดแข็งด้านการบริหารจัดการของภาครัฐจึงเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพสูงมาก

เราคงสังเกตได้ว่าการปฏิรูปที่ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศกระทำไม่ได้ จีนกระทำได้ ในขณะที่การปฏิรูปที่ประเทศเผด็จการกระทำไม่สำเร็จ จีนกลับประสบความสำเร็จ

จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากมายและเคยมีปัญหาด้านการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนก็เคยผ่านประสบการณ์นั้นโดยยังรักษาความมั่นคงเอาไว้ได้ โดยเฉพาะยิ่งในช่วงปี พ.ศ.2501-2505 ซึ่งจีนต้องเผชิญกับภาวะอดอยากครั้งใหญ่และต้องสูญเสียชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนมหาศาล

ยุทธศาสตร์ของจีนได้ผ่านเส้นทางที่เต็มไปด้วยประสบการณ์และการต่อสู้ทางความคิดในหมู่ผู้นำจีน มีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ของปัญหาและการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็สะท้อนถึงความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลว

ผู้นำของจีนอาศัยลัทธิมาร์กซ์-เลนินเป็นพื้นฐานในการกำหนดยุทธศาสตร์ เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียต แต่มีความราบรื่นมากกว่า รวมทั้งมีการถ่ายเทอำนาจการนำที่ราบรื่นกว่าด้วย

ตั้งแต่เริ่มต้น ผู้นำจีนมิได้อาศัยแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี เหมา เจ๋อตุง ในสมัยหนุ่มๆ เคยศึกษางานของอดัม สมิธ บิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ต่อมาศรัทธาในลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

ผู้นำจีนในระยะต้นก็ศึกษาลัทธิมาร์กซ์จากสหภาพโซเวียต การวางแผนเศรษฐกิจก่อนการเปิดประเทศจึงอาศัยลัทธิมาร์กซ์ล้วนๆ จนกระทั่งเปิดประเทศระยะหนึ่งแล้วจึงอาศัยแนวคิดทุนนิยมและเศรษฐศาสตร์ตะวันตกมากขึ้นเป็นลำดับ

ทฤษฎีของมาร์กซ์เป็นทฤษฎีฝ่ายวัตถุนิยมที่มองการพัฒนาของเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองสัมพันธ์กัน โดยที่มีรากฐานอยู่ที่พลังทางการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต

พลังทางการผลิตเป็นความสามารถที่มนุษย์หรือแรงงานจะสร้างผลผลิตเพื่อเลี้ยงดูสังคม

ความสัมพันธ์ทางการผลิตเป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่อยู่ภายใต้กระบวนการผลิต เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับนายทุนในสังคมทุนนิยม และความสัมพันธ์ระหว่างชาวนากับเจ้าของที่ดินในสังคมศักดินา เป็นต้น

การมองเช่นนี้ก็มิได้แตกต่างจากเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเสรี แต่ความแตกต่างอยู่ที่การมองเห็นความขัดแย้งภายในความสัมพันธ์ทางการผลิตที่มักมีลักษณะของการเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ความขัดแย้งระหว่างทุนและแรงงานเกี่ยวกับการขูดรีดส่วนเกินที่สังคมผลิตได้ก็คือหัวใจของเศรษฐกิจการเมืองแบบมาร์กซ์

ภายใต้การกำหนดยุทธศาสตร์ของจีน ผู้นำจีนได้ผ่านการต่อสู้และการแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างกันว่าจะให้น้ำหนักกับพลังการผลิต หรือการแก้ไขความสัมพันธ์ทางการผลิต เป็นหลักหรือรองอย่างไร

ผู้นำจีนในยุคปิดประเทศมีประธานเหมา เจ๋อตุง เป็นผู้นำสูงสุด โดยทั่วไป ประธานเหมามีความคิดอนุรักษ์ ในขณะที่ผู้นำที่มีความคิดก้าวหน้าได้แก่หลิว เส้าฉี และโจว เอินไหล

สำหรับการเมืองภายในพรรคยุคนั้น ฝ่ายหลักคือฝ่ายที่นิยมแนวคิดดั้งเดิมของเหมา เจ๋อตุง ซึ่งเน้นความเท่าเทียมกันในหมู่ประชาชน อีกฝ่ายเป็นฝ่ายที่นำโดยหลิว เส้าฉี ซึ่งเคยถูกวางตำแหน่งเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากเหมาและเน้นความสามารถในการที่ภาคเศรษฐกิจและการเกษตรในการดูแลประชากร

หลิว เส้าฉี เป็นผู้ที่มักต้องรับผิดชอบงานฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องประสบกับจุดจบอย่างไร้เกียรติในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมที่นางเจียงชิง ภริยาของเหมา เจ๋อตุง มีอิทธิพล

ในช่วงที่จีนเห็นความล้มเหลวของการปฏิวัติวัฒนธรรมและฝ่ายของหลิว เส้าฉี ซึ่งมีเติ้ง เสี่ยวผิง เป็นผู้นำได้กลับมาสืบทอดอำนาจต่อจากเหมา เจ๋อตุง การเน้นเรื่องพลังการผลิตจึงเริ่มเดินเครื่องในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์หลักของชาติ

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับปัญหาค่าครองชีพและวิกฤตการณ์น้ำมันโลก การเปิดประเทศของจีนพร้อมกับยุทธศาสตร์ใหม่จึงสอดคล้องกัน เพราะจีนมีค่าจ้างแรงงานต่ำมาก ทำให้สามารถผลิตสินค้าในราคาที่ถูกกว่าประเทศอื่น

การกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคต่างๆ ภายในประเทศจีนก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวทางยุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า นโยบาย 4 ทันสมัย เป็นการปฏิรูปสู่เศรษฐกิจโลกและการยกระดับความสามารถในการผลิตของสังคม

การปฏิรูปทั้ง 4 ด้านนี้ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านความมั่นคงแห่งชาติ และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จากเดิมที่มุ่งสร้างความมั่นคงแห่งชาติและความยึดมั่นในอุดมการณ์แบบมาร์กซ์-เลนิน-เหมา เจ๋อตุง จึงขาดความไม่สนใจในการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและเคลื่อนไปข้างหน้าได้ดี

ฝ่ายที่นิยมเหมาเชื่อความเห็นที่มีมาแต่เดิมของเหมาว่าความยิ่งใหญ่ของชาติมาจากการมีจำนวนประชากรมากๆ

ฝ่ายหลิว เส้าฉี-เติ้ง เสี่ยวผิง เห็นความผิดพลาดของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและภาวะอดอยากครั้งใหญ่ และเมื่อมีอำนาจก็เห็นว่าจีนต้องอาศัยยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปที่เหมาะสมกับความเป็นประเทศที่มีประชากรมากและมีพลังการผลิตต่ำ

จีนยุคใหม่หันมาจำกัดจำนวนประชากร ยอมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน มีการลดขนาดภาครัฐ และได้เติมส่วนผสมของระบบทุนนิยมและองค์ความรู้ใหม่ของตะวันตกเข้าสู่สังคม เพื่อเปลี่ยนโฉมประเทศเสียใหม่

เติ้ง เสี่ยวผิง เห็นว่าจีนต้องยอมให้เมืองต่างๆ มีการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำกันได้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลซึ่งมีทำเลเหมาะแก่การเปิดสู่เศรษฐกิจโลกจึงเกิดขึ้น

การปฏิรูปอย่างต่อเนื่องในทิศทางเหล่านี้ทำให้จีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลกในปี พ.ศ.2544 และก็ได้รับประโยชน์มากมายอย่างยิ่ง

เศรษฐกิจจีนกลายเป็นปัจจัยที่กำหนดระดับค่าจ้างและราคาของโลก ซึ่งส่งผลให้ทั่วโลกมีอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเพิ่มของค่าจ้างที่ต่ำตามไปด้วย

เมื่อเข้าใกล้ปลายทศวรรษ 2000 ยุทธศาสตร์ของเติ้ง เสี่ยวผิง ถูกท้าทายจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกที่ระบาดออกจากสหรัฐไปสู่ยุโรปและส่งผลกระทบถึงจีนและเอเชีย

ผู้นำจีนยังสืบสานแนวทางต่อมาจากเติ้ง เสี่ยวผิง ผ่านเจียง เจ๋อหมิน

ในทางนโยบาย รัฐบาลได้หันมาเน้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมากขึ้น โดยมีการลงทุนของภาครัฐอย่างมากมายซึ่งได้ส่งผลให้หนี้สาธารณะของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

จากนั้นก็ต้องหันมาส่งเสริมการบริโภคมากขึ้นเพื่อชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวซึ่งเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับแนวทางเคนส์ของชาติตะวันตก

หนี้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจกลับกลายมาเป็นความเสี่ยงใหม่และทำให้เศรษฐกิจในระยะยาวไม่สามารถขยายตัวได้สูงเหมือนเดิม

จีนกลับเผชิญปัญหาใหม่ๆ ทั้งการปิดล้อมจากสหรัฐและภาวะหดตัวของภาคการผลิตของโลก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน จีนก็สามารถปรับยุทธศาสตร์ใหม่ได้อีกครั้ง เมื่อสี จิ้นผิง เดินยุทธศาสตร์ One Belt-One Road พร้อมๆ ไปกับการกระชับอำนาจภายในพรรคให้ได้อย่างที่เติ้ง เสี่ยวผิง เคยมี

ยุทธศาสตร์นี้อาจต้องใช้เวลาสักระยะที่จะชี้ให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ของสี จิ้นผิง จะประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติหรือไม่

ทว่า ยุทธศาสตร์นี้ก็ได้ช่วยจีนกำหนดกรอบให้ประเทศต่างๆ เดินหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อจีน โดยอาศัยเงินกู้และการติดตามโครงการอย่างใกล้ชิดของทางการจีน

ในขณะที่จีนเองยังมีเข็มมุ่งอื่นที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของชาติตน รวมทั้งการผ่อนคลายความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาด้านความสัมพันธ์ทางการผลิตด้วย

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการค้าเสรี เทคโนโลยีสมองกล และเทคโนโลยีพลังงาน

อันเป็นการเติมแนวคิดที่สืบทอดจากปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างอดัม สมิธ และ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ เข้าไปสู่วิธีคิดและกลไกการทำงานของระบบทุนนิยมโดยรัฐนั่นเอง

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image