ยิ่งยื้อ ปลดล็อก พันธมิตร “แนวร่วม” ยิ่ง “เผยแสดง”

ประหนึ่งว่า การออกมาตัดประเด็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในเรื่อง “ปลดล็อก” พรรคการเมือง

ทุกอย่างจะ “จบ”

นักการเมืองก็จะ “เงียบ” เพราะ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ก็ดี เพราะ นายวัฒนา เมืองสุข ก็ดี ต่างยืนยันตรงกันว่า

จะไม่เรียกร้อง จะไม่วิงวอน

Advertisement

และคำยืนยันอันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อประสานเข้ากับจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ถือได้ว่าเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด

เพราะคน 1 เป็นหัวหน้า คสช. เพราะคน 1 เป็นรองหัวหน้า คสช.

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ตอบตรงกันมิใช่หรือว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “คสช.”

Advertisement

แล้วจะมีใครใน คสช.ที่จะใหญ่ยิ่งกว่า 2 ท่านนี้

กระนั้น หากติดตามเหตุผลที่ว่าจะไม่เรียกร้อง จะไม่วิงวอนอีกแล้ว ซึ่งดังมาจากทั้ง นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และ นายวัฒนา เมืองสุข ก็มิใช่ว่าจะงอก่อ งอขิง

อย่าลืมว่า 2 คนนี้เป็น “นักกฎหมาย”

มีความเข้าใจในกฎหมายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ และไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า นายวิษณุ เครืองาม ตลอดจน นายพรเพชร วิชิตชลชัย

คนแรกจบจาก “ท่าพระจันทร์” คนหลังจบจาก “สามย่าน”

ที่พวกเขาจะไม่วิงวอน จะไม่ร้องขอ เพราะตระหนักในบทบาทและ

ความหมายของหลักกฎหมายอย่างน้อยก็ 2 ฉบับ

1 เป็นรัฐธรรมนูญ 1 เป็นกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง

หาก คสช.และรัฐบาลจะเดินตามโรดแมปก็มีความจำเป็นต้อง 1 เดินตามรัฐธรรมนูญ และ 1 เดินตามกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่มีหนทางอื่น

เว้นแต่จะเห็นว่าคำสั่ง คสช.ใหญ่กว่าเท่านั้น

หากมองกระบวนการทางการเมืองหลังรัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมาเหมือนกับการทำศึก สงคราม

ก็จะมีความเข้าใจอย่างเห็นเป็นรูปธรรม

สภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกมาตัดบทในเรื่อง “ปลดล็อก” พรรคการเมือง

เหมือนกับจะเป็นปฏิบัติการ “รุก” ต่อ “นักการเมือง”

หากประเมินไปในน้ำเสียงจากกองเชียร์ภายใน “แม่น้ำ 5 สาย” ก็เหมือนกับ คสช.ตัดโอกาสมิให้พรรคเพื่อไทยได้เคลื่อนไหว

แต่ในความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือ

ตรงกันข้าม พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องการให้ “ปลดล็อก” พรรคชาติไทยพัฒนาก็ต้องการให้ “ปลดล็อก” แม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทยก็ต้องการให้ “ปลดล็อก”

มิได้มีแต่เพียง “เพื่อไทย”

และเหตุผลของพวกเขาก็มิได้เพื่อตัวเอง หากแต่ยืนอยู่กับหลักการแห่ง “รัฐธรรมนูญ” ยืนอยู่กับหลักการแห่งกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง

ลักษณะการแสดงออกของ คสช. และของรัฐบาลจึงมิได้เป็น “การรุก” ตรงกันข้าม เป็นการซื้อเวลาด้วยการยื้อเพื่อต่อรองในเชิง “อำนาจ”

ลักษณะ “ยื้อ” ย่อมมิใช่ “การรุก”

ทั้งนักการเมืองที่ออกมากล่าวในเชิงเป้าหมายก็มิได้ดำเนินการอย่างโดดเดี่ยว ตรงกันข้ามเป้าหมายของการ “ปลดล็อก” ก่อให้เกิด “แนวร่วม” ขึ้นโดยพื้นฐาน

เป็นแนวร่วมในเส้นทาง “ประชาธิปไตย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image