ทิศทาง “ครม.” แนวโน้ม ปรับ “ใหญ่” เน้น เศรษฐกิจ

การลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล จากกระทรวงแรงงานจะสัมพันธ์กับการลาออกจากบอร์ดการบินไทยของ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม และ นายคณิศ แสงสุพรรณ หรือไม่

แต่ก็มีคนต่อหัวต่อหางเรียบร้อยแล้ว

ไม่ได้ต่อหัวต่อหางไปยังกระทรวงแรงงาน หากแต่ต่อหัวต่อหางไปยังกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม

เพราะ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน

Advertisement

เพราะ นายคณิศ แสงสุพรรณ มีตำแหน่งสำคัญในกระทรวงการคลังและหลังสุดเข้ารับผิดชอบอภิมหาโปรเจ็กต์ “EEC”

ซึ่งเพิ่งปลดล็อก “ผังเมือง” ด้วย “มาตรา 44”

หากเป็นไปตามการต่อหัวต่อหางก็เด่นชัดยิ่งว่า การปรับ ครม.จะไม่ได้ “ปรับเล็ก” หากแต่จะเป็นการ “ปรับใหญ่”

Advertisement

ใหญ่เหมือนเมื่อเดือนสิงหาคม 2558

คงยังจำกันได้ว่า การปรับ ครม.เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ผลก็คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล พ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

แล้ว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาแทนที่

ไม่เพียงเท่านั้น หาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ยังมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน นายสมหมาย ภาษี

ขณะเดียวกัน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ยังเปลี่ยนจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทน นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง

ความหมายก็คือ เป็นการปรับ “ทีมเศรษฐกิจ”

ความหมายก็หมายความว่า กระบวนการบริหารทางเศรษฐกิจตามแบบของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่เข้าตา

จึงหันมาใช้บริการ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

การขยับตัวของ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ประสานกับการขยับตัวของ นายคณิศ แสงสุพรรณ หากเป็นจริงก็เท่ากับบ่งชี้ว่าแนวทางของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังมีน้ำหนัก

ยัง “เข้าตา” ของ คสช.ไม่แปรเปลี่ยน

นี่ย่อมสวนทางกับความเห็นและความต้องการอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ไม่ว่าจะเป็น นายจุติ ไกรฤกษ์ ไม่ว่าจะเป็น นายถาวร เสนเนียม

แต่กระนั้น เสียงจาก นายถาวร เสนเนียม ก็ไม่ควรมองข้าม

ใน 2 กระทรวงที่ นายถาวร เสนเนียม ให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษมี 1 กระทรวงเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558

หากน้ำหนักของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ยังโดดเด่นเป็นสง่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐมนตรีระดับ “พล.อ.” หลายคนอาจต้องเดินไปบนเส้นทางเดียวกันกับ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล

1 คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1 คือ กระทรวงพลังงาน

ระยะเวลาจากนี้กระทั่งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ออกมาจึงเป็นระยะเวลาแห่งการรอคอยอันระทึกใจยิ่ง

จากนี้จึงเริ่มเห็นอย่างเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่า แนวโน้มการปรับ ครม.ไม่น่าจะเป็นการ “ปรับเล็ก” เพียง 1 กระทรวง หากแต่มีความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นการ “ปรับใหญ่”

น้ำหนักอาจเทไปทาง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

นั่นหมายถึง ความเป็นไปได้ที่จะก่อรูป “ทีมเศรษฐกิจ” ให้เกิดขึ้นในทางเป็นจริงโดยการกำกับของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อย่างเป็นเอกภาพ

ไม่มี “แบ่งแยกแล้วปกครอง” เหมือนก่อนเดือนสิงหาคม 2558

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image