เราเรียนรู้อะไรจากการเยือนรัฐยะไข่ ของ ออง ซาน ซูจี? : โดย ลลิตา หาญวงษ์

อู ซอ ซอ (ซ้าย) และออง ซาน ซูจี (คนกลาง) ขณะชมการแข่งขันฟุตบอลระหว่างทีมชาติพม่ากับทีมชาติลาว ณ สนามกีฬาสุวรรณา เมืองย่างกุ้ง ในวันที่ 14 กันยายน 2011 รูปนี้ชี้ให้เห็นว่าซูจีมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับซอ ซอ มาตั้งแต่เธอเพิ่งได้รับการปล่อยตัวไม่นาน

หลังการเข้ารับตำแหน่งของ ออง ซาน ซูจี ในฐานะที่ปรึกษาแห่งรัฐ หรือผู้นำประเทศในทางพฤตินัย (de factor leader) ในต้นปี 2016 (พ.ศ.2559) ทั้งตัวเธอและพรรค NLD ของเธอผ่านด่านทดสอบมากมาย อุปสรรคเหล่านี้มิใช่ปัญหาของ NLD เท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าทั้งระบบ อาจแบ่งอุปสรรคเหล่านี้ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) อุปสรรคอันเกิดจากความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์-ศาสนาในรัฐยะไข่ หรือปัญหาว่าด้วยชาวโรฮีนจา 2) ความน่าเชื่อถือของคนในพรรค NLD ที่เข้าไปพัวพันกับข่าวอื้อฉาวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่บ่อยครั้ง และ 3) ความสัมพันธ์ระหว่าง NLD และกองทัพพม่าที่เรียกได้ว่าเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ตัวจริง ที่ยังคอยหลอกหลอนการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง

ผู้ที่ติดตามการเมืองพม่าอาจจะมีความรู้สึกว่าในช่วงแรกหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญในปลายปี 2015 (พ.ศ.2558) จนมาถึงการเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของคนในพรรค NLD สังคมพม่ามีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก ผู้คนในร้านน้ำชาจับกลุ่มพูดคุยเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผย อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคเผด็จการทหาร หนังสือพิมพ์รายวัน บล็อก และรายการวิเคราะห์ข่าวผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เป็นปรากฏการณ์ที่ใครๆ เห็นก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปกับคนพม่าด้วยไม่ได้

แต่พอเวลาผ่านไปได้ไม่ถึงปี กระแส “เห่อ” รัฐบาล NLD เริ่มจืดจางลง มิใช่เพราะความนิยม NLD ลดลงไป แต่เพราะความกลัวเข้ามาแทนที่ เป็นความกลัวสารพัดแบบ หลังจากที่ต้นปีที่ผ่านมาเพิ่งมีเหตุการณ์ลอบสังหารทนายคนสำคัญของออง ซาน ซูจี ที่พยายามผลักดันให้รัฐบาล NLD แก้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของประธานาธิบดีพม่า เพื่อกรุยทางให้ซูจีสามารถเข้ามาเป็นประธานาธิบดีได้ ไปจนถึงความกลัวว่าชาวโรฮีนจาเป็นภัยคุกคามต่อสังคมชาวพุทธที่ดีงามแบบพม่า

ความกลัวเหล่านี้สร้างโอกาสให้กองทัพพม่ากลับเข้ามามีบทบาทและกลายเป็นที่พึ่งของชาวพุทธที่เรียกร้องให้กองทัพจัดการกับชาวโรฮีนจาขั้นเด็ดขาด ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างออง ซาน ซูจี กับผู้บัญชาการทหารสูงสุดอย่าง พลเอกมิน อ่อง หล่าย ไม่ค่อยสู้ดีนัก และยิ่งมีข่าวลือหนาหูว่ากองทัพอาจทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เพื่อต้องการควบคุมสถานการณ์ในรัฐยะไข่ (และในพื้นที่ที่มีการสู้รบกันอยู่อย่างรัฐกะฉิ่น)

Advertisement

ความกดดันที่ออง ซาน ซูจี ได้รับทั้งจากความคาดหวังของประชาคมโลกและจากกองทัพพม่าทำให้เธอต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดีนักในสายตาชาวโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา เธอเดินทางไปเมืองซิตต่วย เมืองเอกในรัฐยะไข่ ด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพ มีการรักษาความปลอดภัยเธอและทีมงานที่ไปด้วยอีกราว 20 ชีวิตอย่างเข้มงวด นับเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่งในต้นปี 2015 ที่ออง ซาน ซูจี เดินทางเยือนพื้นที่ประสบภัยในปัจจุบันมีชาวโรฮีนจาอพยพหนีตายเข้าสู่บังกลาเทศกว่า 800,000 คนแล้ว ที่พื้นที่ประสบภัยในเมืองหม่องด่อและบูตีด่อง ซูจีพบปะและพูดคุยกับชาวโรฮีนจา

รายงานข่าวกล่าวว่าเธอไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้านมากนัก และได้กล่าวว่าชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮีนจา ในรัฐยะไข่ควร “อยู่ร่วมกันอย่างสันติ รัฐบาลจะช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และชาวพุทธกับชาวมุสลิมไม่ควรทะเลาะกัน”

Advertisement

บทสนทนาย่อๆ นี้อาจบอกเราได้รางๆ ว่าแท้ที่จริงแล้วออง ซาน ซูจี และรัฐบาลพม่าเองก็ไม่ทราบว่าจะต้องแก้ไขปัญหาชาวโรฮีนจาอย่างไร และแม้ว่าลึกๆ แล้ว ซูจีอาจทราบว่าต้องทำอย่างไรต่อไป แต่ในทางปฏิบัติความกดดัน “ในบ้าน” มีสูงกว่าความกดดัน “นอกบ้าน”

ในบรรดาผู้ที่เดินทางไปกับทีมของออง ซาน ซูจี มี ซอ ซอ (Zaw Zaw) นักธุรกิจคนสำคัญเจ้าของกลุ่มธุรกิจ Max Myanmar Group อันเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ควบคุมอุตสาหกรรมตัดไม้ อัญมณี สวนยาง
รีสอร์ตหรู การเงินการธนาคาร เครือข่ายบริษัทก่อสร้าง เป็นเจ้าของปั๊มน้ำมันและยังเป็นประธานสมาพันธ์
ฟุตบอลแห่งชาติพม่าด้วย

ซอ ซอมีเครือข่ายที่แน่นแฟ้นกับนายพลในกองทัพพม่า การเปิดประเทศและการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าหลังการเปิดประเทศทำให้คนอย่างซอ ซอ และโครนี่อีกจำนวนหนึ่งได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัว ชื่อของซอ ซอเพิ่งจะถูกนำออกจากบัญชีดำของรัฐบาลสหรัฐไปเมื่อปีที่ผ่านมา

จากภาพข่าวหลายแหล่งชี้ให้เห็นว่าซอ ซอปรากฏตัวคู่กับออง ซาน ซูจี หลายครั้ง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเขามีความสัมพันธ์ที่ไม่ธรรมดากับรัฐบาล NLD และมีความสนิท
ชิดเชื้อเป็นที่ไว้วางใจของซูจีเป็นพิเศษ

เห็นได้จากที่ครั้งหนึ่งซูจีเคยออกมาพูดถึงซอ ซอว่า “เราควรให้โอกาส (นักธุรกิจ) ที่ร่ำรวยขึ้นมาในยุคเผด็จการทหารให้พิสูจน์ตนเอง…แม้พวกเขาจะเคยก่ออาชญากรรมมาก่อน แต่เราก็ควรให้โอกาสเขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง” นอกจากซอ ซอ ยังมีโครนี่นักธุรกิจอีก 2 คนที่เดินทางไปกับคณะด้วย ได้แก่ เพียว เทซะ (Phyo Tayza) บุตรชายคนโตของ อู เทซะ โครนี่ นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดอีกคนหนึ่งในพม่า และ นางคำ หล่าย (Nam Kham Hlaing) ซีอีโอของกลุ่ม KBZ กลุ่มธุรกิจอันดับต้นๆ ของพม่า

กลุ่มธุรกิจที่เดินทางไปกับออง ซาน ซูจี ในครั้งนี้กำลังถูกจับตามองว่าจะได้เข้าไปกอบโกยผลประโยชน์จากการ “ฟื้นฟู” พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในครั้งนี้ในแถบรัฐยะไข่เหนือ ซึ่งว่ากันเป็นเป็นขุมทองและเป็นแหล่งทรัพยากรประเภทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่ท่าทีเป็นมิตรของซูจีกับโครนี่นักธุรกิจ ที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กองทัพและรัฐบาลทหารมาโดยตลอด

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นการเกี้ยเซี้ยระหว่างรัฐบาล NLD กับเครือข่ายโครนี่นักธุรกิจ และอาจทำให้ประเด็นเรื่องการแย่งชิงทรัพยากรในรัฐยะไข่เป็นประเด็นหลักที่จะนำมาอธิบายการไหลออกของชาวโรฮีนจา

จากนี้ก็คงต้องจับตาดูท่าทีของประชาคมโลกว่าจะกดดันพม่าต่อไปอย่างไร เพราะผู้อพยพเกือบล้านคนที่ข้ามไปฝั่งบังกลาเทศแล้วคงไม่สามารถอยู่ในค่ายผู้อพยพและรอคอยความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวได้ รัฐบาลพม่าคงจะประวิงเวลาต่อไปเรื่อยๆ และทำให้กระบวนการพิสูจน์สัญชาติช้าลง

แต่การกลับเข้ามาของชาวโรฮีนจาไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ เพราะต้องเจอด่านใหญ่ทั้งผลประโยชน์ของโครนี่นักธุรกิจที่จะทำทุกทางเพื่อตักตวงผลประโยชน์ในรัฐยะไข่ และยังต้องเจอกับบรรดาชาวพุทธรักชาติที่มองว่าชาวโรฮีนจาเป็นศัตรู เป็นเพียงผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ผู้ก่อการร้าย และไม่ได้มองว่าชาวโรฮีนจาเป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image