นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ไม่ใช่ไทยแลนด์ 4.0 คือยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศไทย : โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

จินตนาการในการเปลี่ยนเมืองไทยให้เป็น “เมืองเนรมิต” ที่มั่นคง, มั่งคั่งและยั่งยืน, หลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง, ปราศจากการเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม, มีความสมดุลในทุกมิติ, เป็นสังคมที่มีความหวัง, เปี่ยมไปด้วยความสุข ความสมานฉันท์และความเท่าเทียม, ขณะที่คนไทยมีสติปัญญาเฉียบแหลม, สุขภาพแข็งแรง, ก้าวหน้าทันโลก ทันเทคโนโลยี, มีจิตสำนึกสาธารณะ ฯลฯ เป็นสิ่งที่สมควรสรรเสริญในความอุตสาหะวิริยะและในวิสัยทัศน์ที่ไร้พรมแดนและลึกล้ำ จินตนาการดังกล่าวนี้ควรที่จะใช้บำรุงทั้งความคิดและปฏิบัติการของผู้รับผิดชอบบ้านเมืองไปตลอดศตวรรษที่ 21 ภายใต้ภารกิจการปฏิรูปประเทศไทย

หากในบริบทของยุทธศาสตร์ชาติในห้วงเวลาเพียงสองทศวรรษ, การแปรสภาพจินตนาการอันใหญ่ยิ่งดังกล่าวให้เป็นนโยบายสำหรับสร้างเงื่อนไขที่จำเป็น น่าจะเป็น “นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” (national science policy) ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าสำคัญที่ได้มีการกล่าวถึง หากมิได้รับความสนใจเท่าที่ควร มาเป็นเวลากว่า 30 ปี ไม่มีการนำเสนอให้สาธารณชนคนไทยได้รับรู้และร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนอย่างมั่นใจและชัดเจน ในระยะหลังๆ นี้ ได้มีการกล่าวถึง “นวัตกรรม” “การวิจัยและพัฒนา” เทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 และอื่นๆ ตามนัยของการบริโภคและการตลาด มากกว่าที่จะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ฐานรากของเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย

ความจริงรัฐบาล โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้รับคำปรึกษาและข้อแนะนำเกี่ยวกับนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางจาก UNCTAD ซึ่งสะท้อนให้เห็นในนโยบายและปฏิบัติการที่มาจากกระทรวงดังกล่าว หากได้เลือกนำเสนอในรูปแบบของจินตนาการ “ประเทศไทย 4.0” แทนที่จะประกาศเป็น “นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” ในฐานะที่เป็นแกนของยุทธศาสตร์ชาติในสองทศวรรษข้างหน้า เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในทุกมุมโลก นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติเป็นความมั่นใจและความภูมิใจที่สุดของทุกๆ ประเทศในศตวรรษที่ 21 ในอันที่จะก้าวไปเบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย, ปากีสถาน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, บราซิล, ชิลี, โบลิเวีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ ฯลฯ

นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติคือนโยบายว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกระดับและภาคส่วน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

Advertisement

ในการนี้ นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติจะเกี่ยวข้องกับภารกิจหลัก 5 ประการที่สำคัญ กล่าวคือ

1.การเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งตนเองทางเทคโนโลยี (technological self-reliance) เพื่อการผลิตสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นทั้งของชาติและของประชาชน ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือบรรดาชีวปัจจัย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค และในอีกด้านหนึ่งก็คือสิ่งที่เป็นความจำเป็นของประเทศ อาทิ พลังงาน การสื่อสารและคมนาคม การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการป้องกันประเทศ

2.การผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (scientific and technical manpower) ให้เพียงพอทั้งในคุณภาพและปริมาณ เพื่อรองรับขีดความสามารถในการพึ่งตนเอง อีกทั้งสำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา

Advertisement

3.การถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transfer) ที่มีความจำเป็นในการพึ่งตนเอง ซึ่งในเบื้องแรกก็คือเทคโนโลยีพื้นฐาน แล้วยกระดับขึ้นเป็นลำดับตามความพร้อมของบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยีแตกต่างจากการเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีหรือการบริโภคเทคโนโลยี

4.การวิจัยและพัฒนา (research & development) ซึ่งมุ่งหมายในการสร้าง “นวัตกรรม” (innovation) คือสิ่งใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ จากสิ่งประดิษฐ์ (invention) ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการลดต้นทุนในการผลิต การเพิ่มคุณภาพและมาตรฐาน และการปรับปรุงการใช้ประโยชน์ การวิจัยและพัฒนาจะต้องเชื่อมโยงกับการประกอบการ (entrepreneurship) ที่มุ่งสร้างมูลค่าของสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่จะต้องใช้บุคลากรที่มีคุณภาพสูงและค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจคาดหวังผลตอบแทน

5.การปลูกฝังจิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์ (scientific mindedness) แก่สาธารณชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จิตสำนึกทางวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย การคิดอย่างวิทยาศาสตร์ ความเชื่อในวิทยาศาสตร์

และการใช้วิทยาศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในขณะที่ต้องให้สาธารณชนเลิกความงมงายที่เป็นโทษมากกว่าที่เป็นคุณอย่างเด็ดขาดในทุกๆ กรณี

นโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาในระหว่างปี พ.ศ.2480-2484 ดร.ตั้ว ลพานุกรม รัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ได้จุดประกายความคิดในข้อเขียนและปาฐกถาต่างๆ ให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในหลากหลายมิติ และความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องทำนุบำรุงการวิทยาศาสตร์

ภายหลังจากนั้นอีกเกือบครึ่งศตวรรษระหว่างปี พ.ศ.2527-2531 นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และผู้ร่วมอุดมการณ์ ได้รื้อฟื้นปณิธานของ ดร.ตั้ว ลพานุกรม และนำมาสืบสานให้เป็นนโยบายวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมืองไทยลมพัดแรง จุดไฟโดยไม้ขีดไฟติดยาก จึงได้ปล่อยให้กาลเวลาผ่านพ้นไปอีก 3 ทศวรรษ

จินตนาการเป็นสิ่งที่ดี ไม่มีอะไรเสียหาย แต่การประกาศนโยบายที่ “เย้ยฟ้าท้าดิน” น่าจะมีคุณค่าต่อประเทศชาติมากกว่า

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image