โลกหลังยุคใหม่ อนาคตทางการศึกษาและปัญญาของชาติ โดย : ธงชัย สมบูรณ์

ในโลกหลังยุคใหม่ (Post-modernization) ทุกประเทศต่างพยายามสร้างกระบวนทัศน์การพัฒนาภายใต้ปริเขตของการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ มิติของสังคม สิ่งที่ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด คือ จะทำอย่างไรหรือจะมีวิธีการใดที่จะทำให้สภาพการณ์ของประเทศตนเอง “มีความเป็นเลิศ” ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม รวมทั้งด้านการศึกษาด้วย เพราะการจัดการศึกษาในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ความสลับซับซ้อนของสังคมมีมากขึ้นตามลำดับ องค์ความรู้/ข้อความรู้ต่างถูก “ผลิต” ขึ้นมาใหม่ หรือบางครั้งก็นำความรู้เดิมมาผลิตซ้ำ (reproduction) บนฐานของการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างไรก็ตามถือได้ว่ามี “การต่อยอด” ในความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์ความรู้/ข้อความรู้นั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้น

ในทิศทางเดียวกัน ปัจจัยแห่งชาติที่ดีงาม คือ การมีการศึกษาและการเรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองทั้งในด้านความสามารถในการรับรู้และผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งที่มีประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม การศึกษาเป็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและมวลประชาชนที่จะช่วยกันผลักดันให้รัฐชาติมีความเจริญงอกงามและทันสมัยในทุกมิติ กล่าวตามความเป็นจริงอำนาจทางการศึกษา ก็คืออำนาจของประชาชนในชาติด้วยเช่นกัน เพราะการศึกษาเป็นผลสะท้อนของความต้องการของคนในรัฐชาติที่จะต้องมีลักษณะ “สองมือ สติปัญญา และปฏิภาณ” การศึกษาเป็นกระบวนการที่ได้ชื่อว่าเป็นการสั่งสอนไม่ใช่เป็นสภาพแวดล้อมที่กำหนดตาม “ความคิดเห็น” ของกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากเป็นความพร้อมในการที่จะยึดมั่นให้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมต่างหาก

ลักษณะของสังคมโลกยุคใหม่

1.เป็นสังคมที่ไร้ขีดจำกัดของข้อมูลข่าวสาร (Unlimited Information Society) เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกลุ่มคน องค์กรมากยิ่งขึ้น การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลอดจนสารสนเทศมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ การไร้ขีดจำกัดของข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างดี

Advertisement

2.เป็นสังคมฐานการเรียนรู้ (Learning-Based Society) โลกหลังยุคใหม่ถือว่าเป็นยุคที่มีการขับเคลื่อนด้วยสื่อทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านความรู้ต่างๆ (Innovative knowledge) ผู้คนในยุคนี้มีการได้อิงแอบและสัมผัสกับข้อมูลมากมายยิ่งขึ้น และเป็นผลที่ทำให้ผู้คนสามารถนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการดำเนินงานต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อนึ่ง ลักษณะของสังคมยุคนี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบฉับไว จนบางครั้งทำให้เกิดสภาพสังคมที่ตื่นตระหนก (Awaken Society) ได้

3.เป็นสังคมแบบย่อส่วน (Condensed Society) ด้วยความเป็นโลกาภิวัตน์อริยะ อิทธิพลของการสื่อสารที่ก้าวไกลทั้งระบบดาวเทียม ระบบดิจิทัล และระบบอื่นๆ อีก ทำให้โลกมีสภาพที่แคบลง การไหล่บ่าและการผสมรวมของวัฒนธรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วและกลมกลืน นอกจากนี้ การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารมีช่องทางหลากหลายยิ่งขึ้น มีลักษณะทั่วถึงกันอย่างไร้ทิศทาง ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยง (Interconnectedness) ประเทศต่างๆ ในโลกมีความใกล้ชิดกันมากกว่าสังคมในยุคที่ผ่านมา เช่น มีผลิตภัณฑ์ (products) ที่สามารถส่งถึงกันและสามารถใช้ได้ในเวลาเดียวกัน มีความรวดเร็วในการขนส่งที่สะดวกสบาย ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่น่าเป็นห่วงของสังคมยุคนี้ประการหนึ่ง คือ ผลกระทบของสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งสามารถส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

อนาคตทางการศึกษาของชาติ

Advertisement

มีนักคิดนักเขียนหลายสำนักที่พยายามผลักดันการศึกษาให้เน้นความเป็นอัตลักษณ์ไทย (Thainess) มากยิ่งขึ้น จนลืมมองถึงสภาวการณ์ของโลก (Global Phenomena) ที่มีการปรับเปลี่ยนด้วยกระแสของการพัฒนา คนในรัฐชาติต้องยอมรับว่าอนาคตทางการศึกษาจะมีผลกระทบมาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมการเมืองการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีผลมาจากการที่เราไม่ได้มองภาพอนาคตไว้ล่วงหน้า ซึ่งหมายถึงการขาดการวางแผนที่ดี การบริหารจัดการที่รอบคอบ ฉะนั้น การศึกษาของชาติที่ผ่านมาจึงมีลักษณะที่แก้ “ปัญหาเฉพาะหน้า” เท่านั้น อนาคตทางการศึกษาของชาติที่ควรตระหนักและใส่ใจนั้น ต้องดำเนินการดังนี้

1.การศึกษาจำเป็นต้องศึกษาถึงปริบทของสังคมในอนาคตทุกมิติ (Future Oriented) เพราะจะสามารถเลือกและคัดสรรแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม และที่สำคัญกลมกลืนกับสภาพสังคมได้เป็นอย่างดี

2.อย่าให้ระบบการศึกษา “เกาะติด/ยึดติด” อดีตจนถึงปัจจุบันจนเกินไป (Over concerns) จนกลายเป็นเครื่องบั่นทอนการพัฒนาที่ก้าวหน้าของรัฐชาติ อนาคตทางการศึกษาของชาติต้องมองดูการจัดการศึกษาของต่างประเทศที่ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้และการใช้ทักษะชีวิต/ทักษะทางสังคมได้ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องนำมาดัดแปลงและต่อยอดได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ได้หมายความว่า “ลอกของเขา” มาทั้งหมด มิฉะนั้นจะถูกตราบาป (Label) ตกเป็นอาณานิคมทางความคิดของชาติอื่นได้

3.อนาคตทางการศึกษาต้องสร้างสังคมที่จากเดิมเป็นสังคมไมตรีสัมฤทธิ์ (Affiliate Society) ให้เป็นสังคมสัมบูรณ์สัมพันธ์ (Absolute Society) กล่าวคือ การศึกษาต้องนำพาให้สังคมไทยนิยมความถูกต้อง เคารพในความถูกต้อง ความเป็นเอกศักดิ์ของแต่ละบุคคล เชื่อในความสามารถที่แตกต่างกัน ตลอดจนตระหนักถึง “การลดหลั่น” ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย

4.อนาคตทางการศึกษาของรัฐชาติที่ควรใส่ใจอีกประการหนึ่ง คือ ระบบการบริหารจัดการที่ต้องมีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ที่ผ่านมาส่วนมากจะเห็นเพียงแค่เป็น “วาทกรรมอำพราง” มีการกระจาย
การปฏิบัติ (Action) ที่เน้นผลแห่งการกระทำสู่การพัฒนาแบบองค์รวม กล่าวคือ มีทั้งด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ชัดเจนและที่สำคัญสามารถตรวจสอบได้ อนึ่ง การบริหารจัดการต้องมีการเน้นหลักคุณธรรมและความถูกต้อง (Morality and Rightness) การศึกษาที่ดีต้องสอนให้ผู้เรียนเป็น “คนลักษณะ 360 องศา” คือมองให้รอบคอบและครอบคลุมทุกมิติทั้งสิ่งที่กำลังดำเนินอยู่ สิ่งที่เป็นบทเรียนในอดีต และสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

5.อนาคตทางการศึกษาของประเทศต้องสร้างและให้โอกาสทางการเรียนรู้ให้กับทุกคนในรัฐชาติที่มีสัญชาติไทย (Thai Nationality) โดยเฉพาะการออกกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education) “แบบฟรีทั้งหมด” ในทุกอย่างที่รัฐต้อง (Must) สามารถดำเนินการได้แบบอารยประเทศ
อนาคตทางการศึกษาของชาติมิใช่สิ่งที่เพ้อฝันแต่ประการใด หากรัฐมีความมุ่งมั่น แกร่งกล้า (Courage) และมีศรัทธาอันดีงาม ก็คงไม่ไกลเกินความจริงที่คนของชาติทั้งประเทศจะได้เป็นที่มีลักษณะ “หูตาสว่าง” เพื่อความเข้าใจในโลกและรัฐที่ถูกต้อง

การศึกษาไทย : ควรทำอย่างไรในโลกหลังยุคใหม่

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งรัฐชาติที่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้ ถึงแม้บางครั้งจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองบ้างก็ตาม แต่สิ่งนี้ คือ อีกหนึ่งเส้นทางของการพัฒนาประเทศที่รัฐชาติที่พยายามทำให้เกิด “ความหมายที่ดี” (The meaningfulness) ต่อสังคมของตนเองและสังคมโลก เพื่อการ “กระทำ” (Action) อีกแบบหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนา แต่อย่างไรก็ตามในสมัยโลกหลังยุคใหม่นี้การศึกษาไทยควรมีวิภาษวิธีทางการศึกษา (A Dialectic Approach) ดังต่อไปนี้

1.การศึกษาไทยต้องให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะคนในท้องถิ่นชนบท มีการเพิ่มระยะเวลาการศึกษาเพื่อประชาชน รัฐต้องให้มีการขยายช่วงระยะเวลาที่ยาวออกไปของการศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education) สิ่งหนึ่งที่รัฐต้องทำ คือการเพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้นโดยการลดทอนเวลาในสถานศึกษา แต่เพิ่มคุณค่าในการแสวงหาความรู้ของผู้เรียนให้มากขึ้น แต่ถึงอย่างไรผู้สอนต้องเป็นบุคคลที่จะต้องมีความรู้ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้ให้มากยิ่งขึ้นตามสถานการณ์ขอความรู้ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

2.เนื้อหาของทุกกระบวนวิชาควรจัดการศึกษาแบบ “ความคิดรวบยอดเป็นฐาน (Conceptual-Based)” มากกว่า “เนื้อหาเป็นหลัก (Contents-Based)” ต้องฝึกผู้เรียนให้มีฐานคิด/คติที่เป็นกรอบและความคิดรวบยอดแต่มิใช่สอนให้คิดนอกกรอบแบบไร้ทิศทางกล่าวคือ ต้องให้ผู้เรียนมีความคิดที่แตกฉานมิใช่แตกตื่นกับข้อความรู้ใหม่ที่เกิดจากการพัฒนา เนื้อหาในทุกกระบวนวิชาต้องสามารถเป็นองค์ความรู้/ข้อความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานได้ เนื้อหาที่จัดให้ผู้เรียนนั้นต้องมีการจัดวางให้เหมาะสมกับปริบทของท้องถิ่นด้วย แต่มิใช่การสร้าง “วาทกรรมอำพราง” ในหลักสูตรท้องถิ่นแต่อย่างใด

3.การศึกษาไทยในยุคนี้ต้องมีการผนวกรวมบูรณาการศาสตร์และศิลป์เข้าให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างถ่องแท้ กล่าวคือ มีศาสตร์สาขาที่หลายหลาก โดยเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของชาติ ความดีงามของสังคมโลกมนุษยชาติบนพื้นฐานของความเข้าใจอันดีระหว่างกลุ่มชน การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน เป็นต้น

4.การศึกษาไทยต้องให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกกระบวนวิชา โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางปัญญา (Intellectual Technology) ของผู้สอนที่จะต้องถ่ายทอดสู่ผู้เรียน ผู้เขียนเชื่อว่า “ถ้าครูเก่ง ผู้เรียนเก่ง” แต่ในทางกลับกันปริบทของการจัดการเรียนรู้และในมณฑลความรู้ปัจจุบัน อาจพบสภาพ “ผู้สอนรู้น้อยกว่าผู้เรียน” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางการศึกษาที่ทับซ้อนอย่างเห็นได้ชัดในหลายสถาบันทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งที่มีการหยิบยกวาทกรรมเชิงการเรียนรู้มาเป็นบทตั้ง (Thesis) “ฝึกให้ผู้เรียนนำเสนอ” โดยผู้สอนไม่ได้เตรียมตัวสอนหรือถ่ายทอดความรู้เลย เอาผลงานของผู้เรียนมาใช้และใช้เทคโนโลยีทางอำนาจที่
มากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงอยากได้ผู้สอนต้องตระหนักถึงการค้นคว้า เสาะแสวงหาความรู้ที่ใหม่และทันสมัยอยู่เสมอ มิใช่อิงแอบกับฐานคติเดิมที่มีมาช้านาน โดยปราศจากการศัลยกรรมความคิดของตนเองให้ใหม่
เลย

5.การศึกษาไทยต้องยกมาตรฐานของตนเองสู่มาตรฐานที่ต่างชาติยอมรับได้ กล่าวคือ ไม่ต้องคาดหวังถึง World Class ให้เหมือนกับประเทศที่มีระบบการบริหารจัดการศึกษาที่ดีและมีมายาวนาน แต่อยากให้หันมาพิจารณาไตร่ตรองถึงมาตรฐานทางด้านเนื้อหา มาตรฐานทางด้านวิชาการ ที่ผู้เรียนมีความลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่ตนเองเลือกเรียน หรือการสร้างมาตรฐานใหม่ที่ผู้เขียนสามารถมีความสุขในการเรียนรู้ในแต่ละวัน (Total Learning Happiness) สิ่งนี้ก็ถือว่าเข้าถึงแก่นแกนของการศึกษาที่แท้จริง และสามารถเรียกได้ว่า มาตรฐานการศึกษาที่ควรเป็นและชัดเจนยิ่งนัก

6.การศึกษาไทยต้องมีการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะทุกองค์กรจะต้องหนุนนำให้ทุกคนได้เกิดสภาวะในจิตใจที่ต้องเข้าถึงการเรียนในทุกๆ ระบบอย่างลงตัวมิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือความรับผิดชอบแบบ “จอมปลอม”

7.ท้ายสุดการศึกษาไทยต้องสามารถปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการทางด้านสังคมและทางด้านเศรษฐกิจได้ ด้วยสภาพที่มีการแข่งขันที่รุนแรงทั้งการผลิตสินค้าและการบริการ ฉะนั้น การศึกษาไทยต้องก้าวไปสู่ความเป็นพลวัตให้ได้ (Dynamic Change) ความรู้ที่ต้องป้อนให้แก่ผู้เรียน คือสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมโลก ฝึกให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ต่างๆ และหาวิธีวิทยาในการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องตลอดจนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นพลโลกที่แท้จริง

ปัญญาของชาติ : Thailand Model

ปัญญาของชาติหรือคนของชาติ ถือว่าเป็นพลังคุณค่าที่จะช่วยสร้างฐานรากของการพัฒนาชาติได้ในปริบทที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น ปัญญาของชาติควรมีลักษณะอย่างน้อยดังนี้

1.Technology คนของชาติจะต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) แต่อย่างไรก็ตามต้องมีการผนวกรวมกับเทคโนโลยีร่วมสมัย (Comtemporary Technology) รวมทั้งเทคโนโลยีพื้นบ้านเพื่อสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในรัฐที่ส่วนมากประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมด้วย

2.Hospitality ความโอบอ้อมอารี ที่ทุกคนในชาติจะเพิกเฉยไม่ได้ ด้วยความแก่งแย่งทางสังคมมีมากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของสังคมเมืองสู่สังคมชนบทที่รวดเร็ว การแผ่ซ่านของความเห็นแก่ตัวของผู้คนทวีคูณมากขึ้น จึงทำให้ภาพของผู้คนที่มีความโอบอ้อมอารีค่อนข้างลดลง ฉะนั้นทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และองค์กรอิสระต้องช่วยกัน “พยุง” สังคมไทยให้กลับมาเหมือนเดิม ทุกภาคส่วนต้องมีการเข้าถึงการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกันมากขึ้น ปัญญาของชาติจะต้องถูกขัดเกลาให้เป็นผู้ที่มีจิตใจที่สมานฉันท์และแบ่งปัน (Harmony and Sharing)

3.Academic Pursuit ปัญญาของชาติจะต้องเป็นคนที่มีความรู้ที่ชัดเจนในสาขาหรือในศาสตร์ที่ตนเองได้ศึกษาเล่าเรียนมา เกษตรกรก็ต้องได้รับการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์แห่งวิชาชีพของตนเอง ส่วนผู้ที่ทำหน้าที่ในสาขาอาชีพอื่นๆ ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ที่ผ่านมา ผู้คนในชาติส่วนมากมีความรู้แบบกระจัดกระจายจึงเข้าข่ายที่เรียกว่า “รู้กว้าง แต่ไม่ลึก” สุดท้ายขาดความเชี่ยวชาญ หายนะต่างๆ จึงตามมา

4.Internationalization คนไทยหรือปัญญาของชาติจะต้องก้าวไปให้ทันกับสภาวะที่ทันสมัย (Modernity) ตลอดจนการได้รับการเรียนรู้สังคมที่แตกต่างทั้งใกล้และไกลมากขึ้น ซึ่งรัฐอาจจะมีการบรรจุวิชา International Education หรือ Peace Education หรือกระบวนวิชาพหุวัฒนธรรมลงไปตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา

5.Localism คนไทยหรือปัญญาของชาติ ต้องความสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคนในภูมิภาคประชาคมอาเซียนให้มากขึ้นกว่านี้ อะไรที่สามารถจะเป็นศูนย์กลางในการทำประโยชน์เพื่อคนส่วนรวมได้ต้องเสนอตนเองเพื่อดำเนินการกระทำ และต้องพยายามให้คนในชาติมีความรู้สึกรักในภราดรภาพแห่งภูมิภาคเดียวกันเห็นความแตกต่างที่หลายหลากเป็นข้อดีของการพัฒนาร่วมกัน (Advantage of the Co-development)

6.Accountability on Ethics ความโปร่งใสในจริยธรรมและสามารถตรวจสอบได้ ปัญญาของชาตินั้นต้องเป็นคนที่มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามถูกต้องตามครรลอง และเป็นบุคคลที่ทำงานด้วยความสามารถของตนเองอย่างแท้จริง ปราศจากการประจบเจ้านายในงาน มีความสามารถในการทำงานเป็นทีมได้เป็นอย่างดีรวมทั้งจะต้องมีภาวะผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเพื่อการพัฒนาในมิติที่ดีงาม และผลประโยชน์สูงสุดขององค์กร

7.Nationalism คนไทยหรือปัญญาของชาติ ต้องมีความภาคภูมิใจในชาตินิยมมากขึ้นกว่าเดิม การชื่นชมและชื่นชอบวัฒนธรรมอื่นเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ถ้าปราศจากการส่งเสริมให้รักสิ่งที่ดีงามของตนเอง ก็จะทำให้ชาติ “ผุกร่อน” (Decay) และเสื่อมลงไปได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ การจัดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มพูนปัญญาของชาติต้องมีการส่งเสริมให้ผู้เรียนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีในอนาคตให้ความรักและศรัทธาในบรรพบุรุษที่ได้ “สร้างบ้านแปงเมือง” จนมีความเป็นปึกแผ่นมาได้ถึงปัจจุบันนี้ด้วย

8.Democracy คนไทยหรือปัญญาของชาติ ต้องมีความเข้าใจถึงแก่นแกนในฐานคติของระบอบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ตลอดจนมีการพัฒนาคุณค่าการปกครองในอุดมคติที่ดีงามต่อระบอบที่เห็นคุณค่าของเสียงส่วนน้อย ที่สามารถนำมาพิจารณาเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาที่ดีได้ในอนาคต นอกจากนี้ คนในชาติต้องรู้ถึงหลักการและแนวปฏิบัติที่ถูกต้องบนพื้นฐานทาง “จริยธรรมประชาธิปไตย (Democratic Morality)” เพื่อก้าวไปสู่สภาวะประชาธิปไตยที่ยั่งยืน (Democracy Sustainability)

บทสรุป

การศึกษาไทยในโลกหลังยุคใหม่นี้ การศึกษาต้องฝึกผู้เรียนให้เข้าใจถึงความเป็นมนุษยชาติ (Humanism in Education) และต้องสามารถพัฒนาจิตสำนึกของผู้เรียนในการค้นคว้าหาความรู้ตลอดเวลารวมทั้งต้องพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นบุคคลแห่งการเสาะหาความรู้เพื่อบูรณาการศาสตร์ (A Search for Integration) มีความสามารถในการหยั่งรู้ว่าสิ่งไหนต้องทำ สิ่งไหนควรทำ และทำอะไรให้กับรัฐชาติได้บ้าง (Education for a capacity of discernment) รวมทั้งต้องฝึกให้เด็กไทยมีฐานคติการพัฒนาด้านจิตวิญญาณทางวิทยาศาสตร์ (To Develop Scientific Spirit) ถ้าการศึกษาไทยสามารถทำได้เพียงแค่ที่กล่าวมานี้ คงจะเป็นสายธาราอีกหนึ่งสายที่ทำให้เด็กไทยสามารถยืนอยู่ในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข และที่สำคัญสามารถดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ไทยไว้ได้อย่างงดงาม

จะเห็นได้ว่าการศึกษาของรัฐชาติที่ผ่านมาเป็นการปะทะผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียมากกว่าจุดแห่งการพัฒนาที่ล้มเหลวจึงเกิดขึ้นให้เห็นอยู่เรื่อยๆ ฉะนั้น อนาคตทางการศึกษาและปัญญาของชาติที่ต้องเป็นการให้ประชาชนหรือผู้คนในชาติได้เข้าถึงความรู้ที่ถูกต้องและวิถีชีวิตที่ดีงาม การศึกษาและปัญญาของชาติต้องเป็นจิตสำนึกเดียวกันในทิศทางที่สะท้อนการดำรงอยู่ของ
สังคมได้

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้อนาคตทางการศึกษาและปัญญาของชาติจะต้องดำเนินไป “เพื่อการศึกษาเอง เพื่อประชาชน และเพื่อรัฐชาติ (For Education itself, For People and For the Nation)” คงจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนในความหมายของมันอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ อนาคตทางการศึกษาของชาติต้องมีความสถาพรและยั่งยืนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image