จากกับดักรายได้ปานกลาง สู่กับดักอำนาจนิยม : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ในปัจจุบันคนที่สนใจเรื่องราวของบ้านเมืองคงได้ยินได้ฟังสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหาของประเทศกับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) กันอยู่บ่อยครั้ง คือพูดง่ายๆ ว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นติดหล่ม หรือเผชิญกับกับดัก/อุปสรรคสำคัญ มากกว่าเรื่องรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

หมายถึงว่า การที่ประเทศอาจจะเติบโตอย่างรวดเร็วจากช่วงที่เป็นประเทศยากจนมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังไม่สามารถกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะการคงอยู่ในสถานะ “กลางๆ” อยู่นาน ไม่สามารถ “พุ่งทะยาน” (Take Off) ขึ้นไปอีกระดับได้สักที

หลายเสียงบอกว่า กับดักดังกล่าวสะท้อนการขาดแคลนประสิทธิภาพการผลิต ขาดนวัตกรรม ขาดการลงทุนขั้นพื้นฐาน ทำให้รายได้ต่อหัวเติบโตช้า และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจทยอยลดลง ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนเมื่อก่อน และอาจจะเกิดปัญหาในระยะยาว เช่น ทุนจะไม่เข้ามาลงทุน ประชาชนขาดการปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมไปถึงอาจจะไม่มีเงินและทรัพยากรเพียงพอต่อการรับมือกับสังคมคนชรา

ผมอยากจะเสนอในฐานะบทความชิ้นแรกของปีหมานี้ก็คือ เราไม่ได้เผชิญแค่ “สภาวะกับดักรายได้ปานกลาง” หรือ “กับดักทางเศรษฐกิจ” เท่านั้นครับ

Advertisement

เรากำลังเผชิญ “กับดักทางการเมือง” ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ “สภาวะกับดักอำนาจนิยม” หรือ Authoritarian Trap อีกด้วย

เราจะนิยามกับดักอำนาจนิยมอย่างไร?

ประการแรก การศึกษา “กับดักอำนาจนิยม” นั้นเป็นหนึ่งในสายธารการศึกษา “การเมืองเผด็จการ” อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ศึกษาการเมืองโดยมีอคติง่ายๆ แค่มองว่าเผด็จการนั้นเป็นสิ่งผิดปกติและเบี่ยงเบนไปจากการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งถูกมองว่าเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาและปกติ

Advertisement

กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า การศึกษาเผด็จการอย่างเป็นระบบนั้น เป็นสายธารที่ทั้งต่อเนื่องและสร้างบทสนทนากับการศึกษา “การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ไปในเวลาเดียวกัน

จากเดิมที่เราเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน หรือการกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย โดยเชื่อว่าประชาธิปไตยมันจะต้องมาถึงสักวัน นักวิชาการสายเผด็จการวิทยา-เผด็จการศึกษากลับมอง

ว่า เผด็จการนั้นไม่ได้หายไป ทั้งจากบรรดาเผด็จการที่ดำรงอยู่แบบคนเดียว คณะบุคคล หรือพรรค
รวมทั้งรัฐบาลที่ขึ้นมาจากวิถีทางประชาธิปไตย แต่ก็กลายตัวเองไปเป็นเผด็จการในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยสถาบันประชาธิปไตยนี้แหละครับที่สืบสานอำนาจในรูปแบบต่างๆ เช่น ใช้กฎหมายที่ออกมาจากเสียงข้างมากจำกัดเสรีภาพสื่อ หรือสร้างการเอาเปรียบจากการเลือกตั้ง (ส่วนหนึ่งของแนวคิดพวกนี้ก็มี เช่น ประชาธิปไตยไม่เสรี-Illiberal Democracy หรือเผด็จการเชิงแข่งขัน-Competitive Authoritarianism)

กล่าวโดยสรุป นักวิชาการสายเผด็จการวิทยา-เผด็จการศึกษานั้นจึงไม่ได้ศึกษาแล้วเชื่อว่าฟ้าสีทองจะผ่องอำไพ แต่ศึกษาว่าทำไมเผด็จการมันถึงได้ยืดหยุ่นและดำรงสถานะหลักในฐานะระบบการปกครองได้ประการ

ที่สอง การศึกษากับดักอำนาจนิยมยังไม่ได้มีการสร้างทฤษฎีหลักเป็นระบบ แต่กระจัดกระจายอยู่ในกรณีศึกษาของประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างเป็นทางการเช่นจีน หรือเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อำนาจก็กระจุกตัวอย่างชัดเจนเหลือเกิน เช่นกรณีของรัสเซีย หรือแม้กระทั่งประเทศที่หลายคนเชื่อว่ามีการเปลี่ยนผ่านและปฏิรูปการเมืองแล้ว แต่ก็ยังมีโครงสร้างบางประการที่ทำให้สังคมที่มองผ่านๆ อย่างเป็นทางการว่าเป็นประชาธิปไตยก็ยังตกอยู่ในกับดักเผด็จการ เช่นกรณีโมร็อกโก เป็นต้น

ประการที่สาม ถ้าจะลองนิยม “กับดักเผด็จการ” อย่างง่ายๆ ก็คือ สภาวะที่ในทางหนึ่งนั้นเผด็จการ (ทั้งที่เป็นทางการ หรือไม่เป็นทางการ) นั้นอาจจะประสบความสำเร็จในฐานะระบอบการปกครอง และอาจจะสามารถนำพาเศรษฐกิจให้เติบโตได้ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ
แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญสองประการ
หนึ่งคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แถมเผด็จการยังคงทนและสามารถอยู่ต่อไปได้

สองคือ แต่การคงทนของเผด็จการอาจสร้างผลเสียในระยะยาวให้กับสังคมและประเทศชาติ ที่สำคัญอาจจะสร้างผลเสียในระยะยาวให้กับตัวเผด็จการเอง แม้ว่าในระยะสั้นจะไม่มีใครสนใจหรือเห็นมัน แถมยังอาจจะชื่นชมอยากเลียนแบบอีกต่างหาก

ทีนี้มาเริ่มจากกรณีของเผด็จการที่เป็นทางการก่อน นั่นก็คือ เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพในนามพรรคเดี่ยวอย่างจีนแดง ซึ่งบทเรียนที่สำคัญก็คือการเอาอย่างจีนแดงของบางประเทศแถวนี้นั้นทำให้เราเกิดคำถามมากมายว่าตกลงอยากเป็นประเทศอำนาจนิยมอย่างจีนแดงจริงๆ เหรอ
มีงานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาอยู่ชิ้นหนึ่งที่จุดประกายข้อถกเถียงที่สำคัญว่า นโยบายการปราบปรามคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นั้นมีประสิทธิภาพและจะมีผลสะเทือนอะไรกับการเมืองจีน
งานวิจัยชิ้นนี้เสนอประเด็นที่น่าสนใจว่า ไม่ใช่ว่าการปราบโกงในยุคสี จิ้นผิง นั้นจะล้มเหลว ตรงกันข้ามก็คือ การปราบโกงนั้นจับตัวใหญ่ได้ แต่ขณะเดียวกันภาพรวมของนโยบายปราบโกงก็สะท้อน “ปัญหากับดักเผด็จการ” ที่น่าสนใจเอาไว้เช่นกัน

กรณีอย่างจีน คงจะไม่สามารถโทษนักการเมือง หรือวัฒนธรรมตรงๆ ได้ซะทีเดียวหรอกครับ ว่าการโกงนั้นเป็นธรรมชาติของสังคม หรือนักการเมืองมันโกง เพราะจีนนั้นไม่มีพรรคการเมืองมาแข่งกัน มีพรรคก็มีอยู่พรรคเดียวนั่่นแหละครับ

ประเด็นสำคัญของกรณีจีนก็คือ รัฐและรัฐบาลนั้นมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างที่เราก็เห็นผลงาน และหลายคนก็ใฝ่ฝันอยากจะให้เรานั้นเป็นไปในทางนั้น คือ รัฐนั้นมีความแข็งแกร่งและเด็ดขาดในการใช้อำนาจกำหนดทิศทางทางเศรษฐกิจ

แต่ขณะเดียวกันการที่รัฐจีนนั้นมีอำนาจมากล้น ก็ทำให้ระบบนิติรัฐนิติธรรม (แปลรวมๆ ว่า Rule of Law) และการพยายามเปิดเสรีทางการเมืองและเคลื่อนตัวเข้าสู่ประชาธิปไตย (Democratization) นั้นไม่ได้ขยายตัวตามอย่างเป็นสัดส่วนที่สอดคล้องกัน

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ การคอร์รัปชั่นขั้นมโหฬารของเจ้าหน้าที่รัฐ

เรื่องนี้ต้องย้ำว่าดูดีๆ ก่อนนะครับ เพราะข้อเสนอสำคัญในย่อหน้าข้างบนนั้นอยู่ที่ว่า การคอร์รัปชั่นไม่ใช่ปัญหาทางวัฒนธรรมและคุณธรรม แต่เป็นผลจากการมีอำนาจล้นฟ้าของข้าราชการ

และการขาดการตรวจสอบจากภายนอกรัฐอันเนื่องมาจากการขาดแคลนเสรีภาพของพลเมืองและสื่อที่เป็นอิสระ

ปัญหาของการคอร์รัปชั่นในจีนจึงไม่สามารถแก้ได้ด้วยการรณรงค์ให้หยุดโกง หรือให้คนโกงไม่มีที่ยืน แต่ต้องเปิดเสรีทางการเมืองและปรับโครงสร้างระบบรัฐและราชการให้มีอำนาจน้อยลง และมีการตรวจสอบจากภายนอกมากขึ้น

มิเช่นนั้นในระยะยาว เมื่อระบบเผด็จการนั้นเสื่อมลง หรือประชาชนเริ่มเห็นว่าปัญหาไม่ใช่แค่คนไม่กี่คนที่โกง แต่เป็นเพราะระบบที่ทำให้คนโกงไม่ต้องรับผิด รัฐเผด็จการก็จะอยู่ไม่ได้ในท้ายที่สุด

ซึ่งการอยู่ไม่ได้อาจไม่ได้หมายความว่าจะถูกทดแทนโดยประชาธิปไตยที่มีคุณภาพนะครับ อาจจะถูกทดแทนโดยเผด็จการรูปแบบอื่น หรือประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพก็อาจเป็นได้ครับ

ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจในกรณีของจีนที่น่าเล่าสู่กันฟัง นั่นก็คือ ทำไมประเทศจีนแม้จะมีการคอร์รัปชั่น แต่เศรษฐกิจก็ยังโตอยู่

คำตอบก็คือ การเติบโตที่ไม่น่าเป็นได้ในระบบที่มีทั้งการคอร์รัปชั่นกันมโหฬาร (นี่ไม่ใช่การกล่าวหา แต่ข่าวที่ปรากฏการจับกุมกันมากถึงเจ้าหน้าที่พรรคระดับสูงและเครือญาติของสมาชิกพรรคนั้นมีอยู่ทั่วไป) เกิดขึ้นได้ เพราะมีเครือข่ายสถาบันที่ไม่เป็นทางการที่ทำงานอย่างแข็งขัน

และทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าการโกงนั้นไม่ได้ทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจ แต่เป็นระบบที่ทำให้ประสิทธิภาพนั้นลดลงนิดหน่อย ทำให้คนที่เป็นคนจ่ายนั้นก็ต้องเป็นคนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด หรืออย่างน้อยก็ต้องทำเงินสูงสุดนั่นแหละครับ ถึงจะจ่ายได้ และยอมตกเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนั้นไปด้วย
พูดง่ายๆ ระบบนี้ไม่ได้แคร์ตัวเล็กตัวน้อย แต่ขาใหญ่ทางการเมืองกับขาใหญ่ทางเศรษฐกิจเขาจับมือกันแนบแน่นเป็นประชารัฐ เอ้ย ไม่ใช่ครับ เป็นเครือข่ายที่เป็นทางการ เพราะถ้ารายใหญ่ไม่จ่าย เขาก็ไม่มีโอกาสใหญ่ เพราะโครงสร้างทางการเมืองนั้นมันปิดตายไร้การแข่งขันจากภายนอก ดังนั้นแรงจูงใจในการออกมาเปิดโปงนั้นก็ไม่มี เพราะเมื่อเปิดโปง บางทีฝ่ายการเมืองอาจจะสะเทือนบ้าง ก็เปลี่ยนตัวกันไป คนใหม่ขึ้นมาในระบบการผูกขาดอำนาจ ใครจะให้หลักประกันว่ากลุ่มใหม่จะไม่เรียกร้องค่านู่นค่านี่อีก

เหมือนในบางประเทศเชื่อว่าตำรวจรีดไถ แต่พอย้ายตำรวจคนนั้นออกไป เราจะเชื่อได้ไงว่าคนใหม่ไม่ทำ หรือต่อให้เอาองค์กรอื่นมาแทนภายใต้โครงสร้างอำนาจเดิม เราจะเชื่อหรือตรวจสอบได้จริงไหมว่าเขาจะไม่โกง

ที่สำคัญในกรณีของจีนนั้นมีการวิจารณ์กันว่านโยบายปราบโกงนั้นไม่ได้ทำให้เลิกโกง แต่ทำให้ต้นทุนในการโกงสูงขึ้น ระบบโกงซับซ้อนขึ้นด้วยในหลายๆ กรณี

และนอกเหนือจากการตั้งข้อสงสัยว่าการปราบโกงเป็นเรื่องของการกำจัดศัตรูการเมืองและผนึกอำนาจของสีเองหรือไม่นั้น สิ่งซึ่งมีการตั้งคำถามกันมากขึ้นก็คือ การมองประเด็นว่าองค์กรพรรคการเมืองของจีนนั้นมีลักษณะเหมือนองค์กรมาเฟีย นั่นก็คือไม่ใช่จะไม่โกง แต่อย่าแตกแถว หรืออย่าโกงมากเกินกว่าเส้นที่ประชาชนรับได้ และเพื่อนๆ ในองค์กร หรือนายรับได้ นั่นก็คืออย่าให้น่าเกลียดนัก ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าใครที่ล้ำเส้นจะโดนกำจัดในระบบการเมืองไม่โกง ไม่ใช่คนโกงทั้งหมด

ในอีกด้านหนึ่ง การปราบโกงนั้นก็จะต้องจำกัดเสรีภาพทางการเมืองเช่นกัน เพราะว่าถ้าปล่อยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการปราบโกงมากเกินไป ประชาชนอาจเริ่มตระหนักถึงทั้งพลังอำนาจของตัวเองและเริ่มตั้งคำถามที่ซับซ้อนและยกระดับขึ้นไปได้ว่า ตกลงปัญหาการโกงนั้นอยู่ที่คนโกง หรือเป็นปัญหาที่ระบบการรวบอำนาจของรัฐจีนกันแน่

ท้ายที่สุดผลทางสังคมที่ได้จากเรื่องปราบโกงก็คือ อาการมือถือสากปากถือศีลของทั้งผู้ปกครองและประชาชนที่ฉากหน้าก็ออกมารณรงค์ไม่โกง หรือรับคนโกงไม่ได้ แต่ในเรื่องจริงนั้นทุกคนมีส่วนร่วมในเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการทั้งสิ้น และในระยะยาวระบอบเผด็จการแบบนี้ก็จะเสื่อมประสิทธิภาพและถดถอยลงไปในที่สุด

ด้วย “กับดักอำนาจนิยม” เช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับกับดักรายได้ปานกลางในบางประเทศนั่นแหละครับ

มาถึงในกรณีของรัสเซียบ้าง แม้ว่าปูตินนั้นจะมาจากการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งแบบปูตินนั้นก็แทบจะไร้คู่แข่ง สิ่งที่รัสเซียเผชิญนั้นอาจจะต่างจากกรณีของจีน กล่าวคือ รัสเซียนั้นเศรษฐกิจถดถอย แต่แรงสนับสนุนทางการเมืองของประชาชนต่อปูตินและรัฐนั้นกลับเข้มข้น

หัวใจสำคัญที่ทำให้เผด็จการในเนื้อหาแม้ว่าหน้าตาเป็นประชาธิปไตยแบบรัสเซียดำรงอยู่ได้ ก็คือความสามารถของรัฐในการควบคุมและบิดเบือนข่าวสารต่างๆ ซึ่งในโลกตะวันตกถึงกับสถาปนาสำนักข่าวภาษาอังกฤษใหม่ของรัสเซียเช่น RT ว่าเป็น fake news หรือ ข่าวปลอม คือปลอมกันอย่างเป็นระบบ

ความสามารถในการชี้นำข่าวและกระบวนคิดของประชาชนของรัฐรัสเซียนี้ทำให้ สมมุติฐานแบบเดิมๆ ของการเมืองโลกประชาธิปไตยไม่ทำงาน กล่าวคือ ในประเทศที่มีการเมืองประชาธิปไตย หากเศรษฐกิจตกต่ำ ย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือเปลี่ยนแปลงคนรับผิดชอบนโยบาย หรือรัฐบาลจะเสียอำนาจในการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม หรือประชาชนอาจจะลุกฮือ

แต่ในสังคมที่ขาดเสรีภาพ ซ้ำยังถูกควบคุมโดยรัฐตำรวจ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะสั้นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และทำให้ทั้งประชาชนและเผด็จการนั้นไม่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

กับดักอำนาจนิยมเช่นนี้ก็เพียงรอวันปะทุให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในระยะยาว หากไร้ผู้นำที่เข้มแข็งในการใช้อำนาจรัฐและอำนาจการเมืองอย่างเข้มข้นเช่นปูตินนั่นแหละครับ

กับดักอำนาจนิยมในอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เมียนมา แม้เราจะพบว่าปัจจุบันนั้นเมียนมาเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย โดยรัฐบาลทหารเดิมพ่ายแพ้การเลือกตั้ง แต่อนาคตประชาธิปไตยของเมียนมาก็ไม่ได้สดใสดังที่เราคิดไว้ ไม่ว่ากรณีของการยังครองอำนาจในสัดส่วนสำคัญของทหารในการเมืองสภา และความร้าวฉานทางชาติพันธุ์และศาสนาของพม่ากรณีโรฮีนจา รวมทั้งความผิดหวังของสังคมโลกที่มีต่อผู้นำที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของออง ซาน ซูจี

นักวิชาการบางท่านได้ทำนายปรากฏการณ์นี้ไว้นานแล้วว่า กับดักอำนาจนิยมของพม่านั้นจะยังดำรงอยู่ไปอีกนานเพราะรัฐบาลทหารนั้นปราบปรามคนเห็นต่าง คุมสื่อ และพรรคการเมือง รวมทั้งทำให้ประชาสังคมไม่มีโอกาสโต อีกทางหนึ่งก็ให้รางวัลกับเครือข่ายพันธมิตรผ่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่มาจากการขูดรีดทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งใช้การเมืองชาตินิยมและบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในการครองอำนาจ เราก็เห็นว่าในวันนี้แม้จะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเลือกตั้งแล้ว แต่รากฐานเผด็จการของพม่ายังไม่ได้สั่นคลอนมากนัก

กับดักอำนาจนิยมของพม่านั้นจึงซับซ้อนมิใช่เล่น ทางหนึ่งเผด็จการอยู่ต่อไม่ได้อย่างเป็นทางการ แต่ในอีกทางหนึ่งสังคมก็ยังมีรากฐานเผด็จการซ่อนอยู่และทำงานขัดกับสังคมประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง

กรณีสุดท้ายเรื่องกับดักอำนาจนิยมในสัปดาห์นี้คือ โมร็อกโก ก็คือแม้จะมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยกว่าเดิม และพยายามจะ “ปฏิรูปสื่อ” เมื่อหลายปีก่อน แต่กระบวนการที่ซับซ้อนในการจัดการสื่อยังมีอย่างต่อเนื่อง เช่นการดำเนินคดีกับสื่อฝ่ายตรงข้าม และ บรรดาสื่อออนไลน์ โดยข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงและสงบเรียบร้อยของประเทศ รวมทั้งข้อหาประเภทการได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ (กัมพูชาก็เช่นกัน) การเลื่อนการดำเนินคดีไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้รัฐยังอยู่ในอำนาจได้ และสร้างบรรยากาศของการเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อ
บทเรียนของการปฏิรูปสื่อในสังคมที่ประชาธิปไตยยังไร้คุณภาพนั้นทำให้เห็นว่า กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพนั้นไม่ค่อยมี หรือมีก็ไม่ทำงาน ถ้าเทียบกับกฎหมายความมั่นคง ซึ่งมักจะปกป้องทั้งรัฐและรัฐบาลในนามของการปกป้องสังคม และถ้าจะพูดให้ชัดขึ้น กฎหมายความมั่นคงมักจะออกมาปกป้องคนมีอำนาจไม่ให้ถูกตรวจสอบจากสังคมมากกว่าที่กฎหมายที่คุ้มครองเสรีภาพนั้นจะปกป้องประชาชนที่ถูกผู้นำเหล่านั้นฉ้อฉลในรูปแบบต่างๆ

กับดักอำนาจนิยมในสังคมที่อ้างหน้าฉากว่าทำตามกฎหมายและเคารพเสรีภาพของประชาชนนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ได้ทำให้สังคมนั้นพ้นไปจากความเป็นเผด็จการ แม้ว่าหน้าฉากจะประดับประดาไปด้วยภาพลักษณ์และสถาบันที่ดูเป็นประชาธิปไตยก็ตาม

บทเรียนสำคัญในการพิจารณาเรื่องกับดักอำนาจนิยมประการหนึ่งก็คือ กับดักอำนาจนิยมนั้นมันจะแสดงตัวอย่างหลากหลายในแต่ละกรณี แต่จุดร่วมที่สำคัญก็คือ เผด็จการและอำนาจนิยมไม่ได้ทำให้สังคมพังทลายในวันนี้ มิหนำซ้ำในหลายกรณีดูจะไปได้ดีจนคนใฝ่หา แต่ลึกลงไปจากฉากหน้าที่สวยงามเป็นระเบียบนั้นเต็มไปด้วยวิกฤตในหลายแบบ

ตรงกับที่นักวิชาการหลังค่อมท่านหนึ่งกล่าวเอาไว้ในทำนองว่า “เผด็จการ (ฟาสซิสม์) นั้นไม่ได้เข้ามาแก้วิกฤต แต่การปรากฏตัวของมันต่างหากที่สะท้อนวิกฤตของสังคม… วิกฤตที่สิ่งเก่ากำลังจะฉิบหายตายจากไป และสิ่งใหม่ก็ยังดันไม่เกิดสักที” (The Old is Dying and the New cannot be Born)

และในช่วงรอยต่อที่เว้นจากสิ่งปกติ (interregnum) นี้แหละที่อาการหลายๆ อย่างมันจะปรากฏตัวออกมา!!!

(ท่านสามารถศึกษาเรื่องกับดักอำนาจนิยมต่อได้จาก S.Li. “Assessment and Outlook on China’s Corrption and Anticorruption Campaigns: Stagnation in the Authoritarian Trap”. Modern China Studies. 24:2, 2017. P.Goble. “Disconnect between Russia’s Economic Problems and Support for Putin Reflects “Authoritarian Trap” Illarionov Says. The Interpreter. 12/10/2014. S.Turnell. “Myanmar’s Fifty-Year Authoritarian Trap. Journal of International Affairs. 65:1, 2011. B.Zaid. “The Authoritarian Trap in State/Media Structures in Morocco”s Political Transition. The Journal of North African Studies, 22:3, 2017. และ A.Gramsci. Selections from the Prison Notebooks. 1971.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image