เสรีภาพในการไม่แสดงความคิดเห็น โดย : กล้า สมุทวณิช

การ “เลือก” ที่จะไม่แสดงความคิดเห็น ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นประการหนึ่งด้วยหรือไม่

คำอธิบายทางวิชาการนั้น “เสรีภาพ” หมายถึง อำนาจตัดสินใจด้วยตนเองของมนุษย์ที่จะเลือกดำเนินพฤติกรรมของตนเอง โดยไม่มีบุคคลหรือใช้อำนาจใดแทรกแซงเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจนั้น โดยการใช้เสรีภาพจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่มีวัตถุประสงค์ในการปกป้องเสรีภาพของบุคคลอื่น ตลอดจนความเป็นอยู่ร่วมกันของส่วนรวม

ดังนั้น การที่จะ “ไม่แสดงความคิดเห็น” จะเป็น “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ได้นั้น ก็ควรจะเกิดขึ้นด้วยเจตจำนงที่มีปัจจัยอื่นใดที่มีอำนาจเหนือกว่ามาเป็นอิทธิพลในการเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นนั้น เช่นการเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ตนไม่สนใจ หรือไม่เห็นประโยชน์ในการแสดงความคิดเห็นเช่นนั้นก็ละเว้นเสีย เช่นนี้เป็นต้น

หากเมื่อใดก็ตามที่ผู้ใดเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็น ด้วยอิทธิพลของ “อำนาจ” บางประการแล้ว เท่ากับเป็นการถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในอีกรูปแบบหนึ่ง อาจเรียกได้ว่าการจำกัดการแสดงความคิดเห็นด้วยตัวเอง หรือการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง”

Advertisement

“อำนาจ” ที่จะขัดขวางการแสดงความคิดเห็นที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาที่สุดที่ทำให้เราเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง คืออำนาจรัฐและกฎหมาย เช่นในเรื่องบางเรื่องที่เรารู้แน่ชัดว่าการแสดงความคิดเห็นของเรานั้นจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างรุนแรง หรืออาจจะถูกรังควานรบกวนจากการใช้อำนาจรัฐเป็นแน่แท้ เรื่องนั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่เราจะไม่พึงแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบของ “อำนาจอย่างอ่อน” บางอย่างที่ส่งผลในการที่ทำให้เราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่อีก เช่น อำนาจที่เกิดจากความสัมพันธ์ ทั้งในความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ และในความสัมพันธ์ส่วนตัว

อํานาจที่เกิดจากความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์นั้น ได้แก่การที่เราระลึกได้ว่า การแสดงความคิดเห็นนั้นอาจจะทำให้เราเสียผลประโยชน์ได้ เช่น การละเว้นที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลหรือองค์กรที่อาจจะให้คุณให้โทษแก่หน้าที่การงานหรือทางหาได้ของเรา เช่นเป็นนายจ้าง คู่ค้า หรือผู้ที่อาจจะมาเป็นคู่ค้าของเรา

Advertisement

ความสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์ที่ก่อให้เกิดการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ได้นี้เอง ทำให้บุคคลหรือองค์กรใดที่มีอำนาจให้ผลประโยชน์หรือให้คุณให้โทษแก่ผู้คนมากเท่าไร ย่อมจะมี “อำนาจ” ไม่แพ้อำนาจรัฐที่จะทำให้ผู้คนเลือกที่จะไม่พูดถึงหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลหรือองค์กรนั้นได้ ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า “อำนาจ” ที่แทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คน ระดับที่รองจาก “อำนาจรัฐ” นั้นก็ได้แก่ “อำนาจทุน” นั่นเอง

ส่วนอำนาจเชิงความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีส่วนให้เราเลือกที่จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” นั้น ถือเป็นอำนาจที่อ่อนที่สุดเพราะไม่มีสภาพบังคับในเชิงให้คุณให้โทษ แต่เป็นความรู้สึกทางจิตใจของเรานั้นเองที่ทำให้เราเลือกที่จะไม่แสดงความคิดเห็นบางประการเพื่อรักษาสถานะความสัมพันธ์อันเป็นเรื่องส่วนตัว ตัวอย่างของเรื่องที่หลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์คือ การละเว้นที่จะไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อเรา หรือด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวในแง่ต่างๆ การเลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัวเช่นนี้ อยู่ในขอบสีเทาอ่อนที่สุดของการถูกจำกัดเสรีภาพ ที่ยังพอจะก้ำกึ่งพิจารณาได้ว่า เป็นความสมัครใจในการเลือกที่จะไม่ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แม้ว่าการเลือกที่จะไม่พูดหรือไม่แสดงความคิดเห็นนั้นจะเกิดจากปัจจัยอื่นประกอบนอกเหนือจากเจตจำนงของเราบ้างก็ตาม

ส่วนการ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ที่อยากจะกล่าวถึงเป็นพิเศษ ที่เริ่มจะเป็นสิ่งที่เราได้พบเห็นมีประสบการณ์กันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือการเซ็นเซอร์ตัวเองที่เกิดจากอำนาจของ “กระแสสังคม” ที่แสดงออกผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ก

อย่างที่ได้เคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเปิดยุคสมัยที่ทำให้เรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จากเดิมที่การแสดงความคิดเห็นของปัจเจกบุคคลคนธรรมดานั้น จะเกิดขึ้นก็ในขอบเขตจำกัด จากการพูดคุยแบบปากต่อปาก หรืออย่างมากก็อยู่ในสังคมจำกัดของผู้คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน แตกต่างจากสมัยนี้ ที่ใครๆ ก็เป็นทั้งสื่อมวลชนได้แทบทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์ มีสถานีวิทยุโทรทัศน์อยู่ในอุ้งมือของพวกเราทุกคน

การแสดงความคิดเห็นของเราสามารถกลายเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนได้ในทันที และในทางกลับกัน สาธารณชนก็สามารถหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นของเราได้ด้วยวิธีการเดียวกัน

ประโยชน์ของเทคโนโลยีโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ให้ประโยชน์แก่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนี้มีมากมายอย่างที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง แต่กระนั้นก็ยังมีแง่มุมอันมืดดำอยู่ไม่น้อยกว่าประโยชน์ของมัน เช่นการแพร่กระจายของข้อมูลปลอมหรือข่าวเท็จ หรือเนื้อหาที่อาจจะก่อความเสียหายในสังคมได้ในรูปแบบอื่นๆ

ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือ แม้ว่าโซเชียลเน็ตเวิร์กซึ่งเป็นเครื่องมือสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้กว้างขวางไม่ถูกจำกัดโดยง่ายจากอำนาจรัฐหรืออำนาจทุน ไปพร้อมๆ กับที่ตัวมันเองก็กลายเป็น “อำนาจใหม่” อันสำคัญที่จำกัด “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” ที่ทำให้เราต้องจำกัดหรือ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ได้ในระดับใกล้เคียงหรืออาจจะเหนือกว่าอำนาจรัฐ อำนาจทุน หรืออำนาจเชิงความสัมพันธ์

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดซึ่งเพิ่งผ่านไปนี้คือ การวิพากษ์วิจารณ์โครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของคุณตูน บอดี้สแลม ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

โดยปกติแล้วการทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ย่อมเป็นประเด็นสาธารณะที่ “น่าจะ” วิพากษ์วิจารณ์ได้ หากด้วยกระแสสังคมที่มีความรู้สึกชื่นชมศรัทธาต่อการทำความดีที่ยิ่งใหญ่และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเช่นนี้ ในอีกด้านของมันจึงสามารถแปรเปลี่ยนความรักความชื่นชมนั้น เป็นความเกลียดชังที่รุนแรงไม่แพ้กันต่อผู้ใดก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์โครงการดังกล่าว

สิ่งที่เป็นความยุติธรรมที่สุดของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น คือการที่เราสามารถใช้เสรีภาพเช่นเดียวกันในการตอบโต้ หรือวิพากษ์ผู้ที่มาวิจารณ์ในแง่มุมที่แตกต่างกันได้ แต่การโต้ตอบที่ชอบ ก็ควรที่จะเป็นไปด้วยท่าทีและวิธีการในระดับเดียวกัน (เช่นถ้าฝ่ายหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์มาวิจารณ์กลับ หรือด่ามาก็ด่ากลับ) และควรจะอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริง

หากชะตากรรมที่อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้รับจากการแสดงความคิดเห็นเพียงประโยคเดียวต่อการวิ่งของคุณตูนในโครงการดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการตอบโต้จากเครือข่ายสังคมผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างรุนแรงเกินสัดส่วน หนำซ้ำส่วนใหญ่ก็เกิดจากข้อมูลเท็จ ในเรื่องที่เจ้าตัวไม่ได้พูดหรือเขียนเสียด้วยซ้ำ การตอบโต้การใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพของอาจารย์นั้น ล้วนแต่เป็นความรุนแรงเชิงถ้อยคำอย่างหยาบคาย ให้ร้ายเหยียดหยาม รวมถึงการใส่ร้ายป้ายสีด้วยความเท็จ ที่ไปไกลเกินกว่าการโต้ตอบกันด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยชอบแล้ว

หรือครั้งหนึ่งเมื่อมีใครคนหนึ่งแสดงความอึดอัดไม่พอใจในความไม่สะดวกของเขาซึ่งได้รับผลกระทบในด้านการจราจรในวันที่ขบวนวิ่งนั้นเข้ากรุงเทพฯ เจ้าของความคิดเห็นนั้นก็ถูกกระแสคลื่นแห่งความเกลียดชังไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ของเขาอย่างรุนแรง ตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากความคิดเห็นของผู้คนอีกฝ่ายจนเกินสัดส่วน

ไม่นับกรณีอื่นๆ อีกมาก ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากที่อาจจะมีความเห็นในแง่มุมอื่นต่อคุณตูนและโครงการก้าวคนละก้าวนั้น เลือกที่จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ไม่แสดงความคิดเห็นของตัวเองในเรื่องนี้ หากความคิดเห็นนั้นอาจจะแตกต่างจากความเห็นกระแสหลักของสังคมแม้แต่นิดเดียว กล่าวคือ ไม่ใช่แค่ว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวิ่งของคุณตูนนั้นต้องเลือกที่จะ “เงียบ” เท่านั้น หากแม้แต่คนที่เห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมด หรือเห็นแตกต่างในบางประเด็น ก็ต้องเลือกที่จะ “อยู่ให้เป็น” ด้วยเช่นกัน

แม้แต่นักเขียนหรือคอลัมนิสต์มืออาชีพ ที่หากจะเขียนถึงเรื่องนี้ในแง่มุมอื่น ก็ยังต้องใช้ท่าทีที่ระมัดระวังตัวอย่างยิ่ง ในระดับเดียวกับการกล่าวถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ศาสนา หรือบุคคลสำคัญ หรือผู้คนทั่วไปที่เห็นแย้งแตกต่าง หากต้องการแสดงความคิดเห็นในพื้นที่โซเชียล
เน็ตเวิร์กของตัวเอง ก็ต้องใช้ตัวเลือกของระบบกลั่นกรองอย่างละเอียดพิเศษ นอกจากจะกำหนดให้เป็นสถานะที่ไม่เป็นสาธารณะแล้ว ยังต้องกำหนดให้เฉพาะเพื่อนบางคนเท่านั้นที่เห็นข้อความได้ด้วย (ซึ่งข่าวร้ายคือมันอาจจะไม่ได้ผล เพราะในที่สุดก็จะมีเพื่อนบางคนที่คาดไม่ถึงแอบคัดลอกข้อความหรือถ่ายหน้าจอของเราไป “ถ่ายทอดต่อ” ได้อยู่ดี)

สำหรับคนทั่วไปที่จิตใจเข้มแข็งมากนักแล้ว การต้องมาสัมผัสรับรู้ “ความเห็นคิด” ที่รุนแรงหยาบคายจากคนแปลกหน้านั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เสียสุขภาพจิตจนไม่คุ้มที่จะแสดงความคิดเห็น การเลือกที่จะ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ในประเด็นกระแสสังคมที่รุนแรงไปในทางเดียวกันนั้นจึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“กระแสสังคมผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก” จึงกลายมาเป็น “อำนาจใหม่” ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนได้ดังนี้เอง และก็น่ากลัวว่าเมื่อเราต้องเลือกเซ็นเซอร์ตัวเองในเรื่องใดซ้ำๆ กันไปเป็นเวลานานแล้ว จะเกิดระบบอัตโนมัติขึ้นในจิตใต้สำนึก ที่ยกและกันเรื่องบางเรื่องวางไว้ในพื้นที่อันปลอดพ้นจากการคิดหรือตั้งคำถามโดยปริยาย

หากประโยชน์ของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทำให้ผู้คนได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดในแง่มุมต่างๆ เป็นการต่อยอดให้เกิดความรู้ความคิดที่รอบคอบแตกฉานในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสิ่งใดสิ่งนั้นให้ดีขึ้นไป หรือลดหรือแก้ไขข้อเสียในเรื่องนั้น หากจะกล่าวไป เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นช่วยให้มนุษยชาติมีพัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีการที่ผู้คนในสังคมช่วยกันคิดและแก้ไข จากความคิดเห็นในแง่มุมอันแตกต่างนั้น

เช่นนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าสังคมของเราในอนาคต จะมีความคิดหรือความเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่งในแง่มุมเดียวอย่างเข้มข้นเชี่ยวกราก โดยที่ไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็นในแง่มุมอื่นๆ เลย เพราะต้อง “อยู่เป็น” และ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” และปล่อยให้สังคมอยู่กับความคิดความเชื่อกระแสหลักแง่มุมเดียวนั้นไป

สุดท้ายนี้ มีเรื่องหนึ่งที่อยากขอสารภาพต่อผู้อ่านทุกท่าน กล่าวคือ คอลัมน์ตอนนี้ตั้งใจจะนำเสนอเป็นงานปิดท้ายของปี 2560 ที่ผ่านไป แต่ด้วยผู้เขียนนั้นอ่านแล้วรู้สึกว่ายังมีประเด็นสุ่มเสี่ยงบางประการอยู่ จึงเลือก “เซ็นเซอร์” ตัวเอง ด้วยการเก็บไว้เกลาอีกสัปดาห์หนึ่งและนำมาเสนอเป็นคอลัมน์เปิดปี 2561 ในคราวนี้แทน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image