สำรวจภูมิทัศน์สื่อ : ข้ามให้พ้นมุมมองเทคโนโลยีนิยม

ตลอดช่วงปี 2560 เข้าสู่ปี 2561 มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของสื่อแต่ละสาขาอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กรของสื่อทีวีดิจิทัลหลายแห่ง และการปิดตัวของหนังสือพิมพ์และนิตยสารหลายฉบับ

จนทำให้เราเกือบจะเชื่อตามความเห็นที่มักปรากฏในสังคม ที่ว่า สื่อสิ่งพิมพ์ตายแล้วŽ และสื่อที่จะมาแทนที่คือ สื่อดิจิทัลŽ

ความเชื่อเช่นนี้นอกจากจะมาจากปรากฏการณ์จริง ยังมาจากฐานคิดที่เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงยุคสมัยนั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ หลีกเลี่ยงไม่ได้Ž และ เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทำลายหรือสร้างความปั่นป่วนให้กับวงการสื่อ (disruption)

ผมไม่ได้บอกว่าไม่จริง แต่ต้องการเสนอว่า เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ทำให้สื่อมวลชนล่มสลายหรอกครับ แต่มันเป็นเรื่องที่ประกอบกันของหลายสิ่งอย่าง ทั้งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสื่อในสังคมนั้นๆ ที่สื่อแต่ละแบบถูกพัฒนาขึ้นมา ณ ห้วงเวลาหนึ่งๆ ภายใต้เงื่อนไขสารพัดอย่าง

Advertisement

รวมถึงความเชื่อมโยงของสื่อ ทั้งในแง่ บทบาทŽ และ สถานะŽ (รวมถึง ฐานันดร) ของสื่อ ที่มีต่อ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ ความคิดความเชื่อของผู้คนในสังคม ทั้งนี้ ต้องไม่ละเลยว่า สื่อนั้นไม่ใช่แค่ สื่อŽ ในฐานะ กลไกการส่งผ่านŽ แต่สื่อนั้นยังประกอบด้วย ผู้คน และ สถาบันŽ มากมายที่ทำหน้าที่ สร้างและส่งผ่านŽ เรื่องราวต่างๆ

ผมจะลองประมวลความน่าสนใจของการเปลี่ยน แปลงหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวกับสื่อในบ้านเรา และในตอนท้ายอยากจะชี้ชวนให้เห็นประเด็นของสื่อกับสังคมในต่างประเทศว่าจุดเน้นอาจจะไม่เหมือนของบ้านเราไปเสียหมด

เรื่องแรก เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สื่อดิจิทัล และสื่อใหม่ นั้น มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อ แต่ทั้งนี้เราต้องไม่สับสนว่า เทคโนโลยีนั้นทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปเสียหมด เพราะว่า ในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มีแต่ตัวเทคโนโลยี แต่ยังมีผู้คน วัฒนธรรม และระบบคิดบริหารอีกมากมาย

Advertisement

อนึ่ง ที่ผมพูดถึง สื่อใหม่Ž นั้น ไม่ได้จะมีแต่อินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่หมายถึงทั้งเรื่องของทีวีดิจิทัล และทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน และยูทูบหรือสื่อกลางอื่นๆ เช่น ไลน์ทีวี ที่สร้างช่องของตนเองได้ หรือ เฟซบุ๊กและสื่อสังคมอื่นๆ ที่สร้างห้องแชตของตัวเองในการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยไม่ผ่านคนกลาง รวมทั้งสร้างกลุ่มสนทนาต่างๆ

สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เทคโนโลยีหรอกครับที่ทำให้สื่อเปลี่ยนแปลงไป แต่ผู้คนที่เข้ามาในโลกของสื่อก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยเฉพาะผู้คนและ วิธีคิดŽ ในการทำสื่อแบบใหม่ๆ ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้สื่อนั้นเปลี่ยนแปลงไป

สื่อในวันนี้ไม่ใช่เวทีที่นักเล่าเรื่อง และนักโฆษณาจะครองพื้นที่หลักอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นพื้นที่ที่นักเศรษฐศาสตร์ และวิศวกรข้อมูลเข้ามาจับจองพื้นที่มากขึ้น ในนามของ การเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง ฐานข้อมูลระดับมหึมา (Big Data) และการวิเคราะห์และทำนายรวมทั้งผลิตข้อมูลให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย (Data Analytic)

วันนี้เรื่องหลักไม่ใช่มุมกล้องและการผลิตสื่อเสร็จ แล้วไปลุ้นกันที่เรตติ้งและโฆษณาเท่านั้น แต่มันหมายถึงการเข้าใจว่าคนที่เข้ามาเสพข่าวสารข้อมูลของเรานั้นเป็นใครมาจากไหน สื่ออะไรที่จะดึงความสนใจของกลุ่มลูกค้าเหล่านี้เข้ามาอยู่กับสื่อของเราได้มากที่สุด ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความแรง ความสะใจ และความไม่จริงจำนวนมาก รวมกระทั่งการไปคัดลอกแบบหน้าไม่อายจากสำนักข่าวคนอื่น หรือสื่ออื่นๆ โดยไม่ได้รู้สึกอับอาย ไม่ต้องอ้างอิง ได้กลายเป็นธรรมเนียมใหม่ในการทำข่าว และสร้างสื่อ

ไม่นับธรรมเนียมง่ายๆ สายขี้เกียจนิดๆ ว่า เช้าขึ้นก็เปิดดูข้อมูลกลางของเว็บค้นข้อมูลว่าวันนี้ใครเขาสนใจเรื่องอะไร โดยไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องประชุมถกเถียงในโต๊ะข่าวมากมาย แค่หาแนวโน้มที่คนเข้าไปดูข่าวนั้นมาก เราก็เล่นข่าวนั้นต่อไป

ไม่ใช่ไม่จริงครับ ที่เทคโนโลยีสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือคนที่ทำสื่อเปลี่ยนไป ไอ้ประเภทที่เชื่อว่าฉันอ่านทางของสังคมออกนั้นตกม้าตายมาเยอะแล้วครับ เพราะไม่มีข้อมูลจริงในมือ ยิ่งข้อมูลในสื่อใหม่สมัยนี้ไม่ใช่ข้อมูลแนวสุ่มตัวอย่าง หรือนำเสนอความเห็นบนสไลด์เพาเวอร์พอยต์เป็นหลัก ซึ่งพวกนี้จะมีพื้นที่น้อยลงเมื่อเทียบกับคนที่ใช้เทคโนโลยีในการรวบรวมข้อมูลได้เอง หรือยอมจ่ายเพื่อให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลมาให้จริงๆ แต่ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าคนที่มีข้อมูลจะชนะไปตลอด เพราะคนที่มีข้อมูลก็คือคนที่วิ่งตามกระแสไปได้เรื่อยๆ เสี่ยงน้อยลง แต่ไม่ใช่คนที่เปลี่ยนเกมส์ได้เสมอไป เขาแค่ประคองตัวไปตามกระแสได้ และไม่เจ็บตัวมากเท่านั้นเอง

สุดท้ายจุดลงตัวของนักสร้างสรรค์กับคนที่สามารถกุมข้อมูลในมือได้โดยไม่ต้องผ่านระบบเอเยนซี่ และสร้างตลาดใหม่ได้ จะอยู่ตรงไหน จะเป็นส่วนผสมที่นำไปสู่ความสำเร็จของวงการนี้

ประการต่อมาที่เชื่อมโยงกับเรื่องเทคโนโลยี เรื่องที่น่าสนใจในเทคโนโลยีใหม่ และการเปิดกว้างขึ้นของพื้นที่สื่อ ก็คือเรื่องของการที่คนที่เข้ามาใหม่ๆ ไม่ใช่มีแค่นักเศรษฐศาสตร์และวิศวกรข้อมูล ที่จะมาแย่งงานสื่อที่จบตรงมาจากคณะสื่อสารมวลชนที่เน้นเทคนิคและการผลิตสื่อต่างๆ เท่านั้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ยังเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านนั้นสร้างสื่อของตัวเองได้ ช้าก่อนครับ เรื่องนี้ใหม่แค่ไหน? คำตอบก็คือใหม่แบบที่ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกทำสื่อดิจิทัลยุคแรกเชื่อครับ พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องการปรากฏตัวของสื่อก้าวหน้า หรือ สื่ออุดมการณ์ประเภทสื่อประชาสังคม สื่อพลเมืองอะไรแบบที่เชื่อกันในยุคเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเมื่อสิบปีก่อนหรอกครับ คือมันไม่ใช่แบบเชื่อว่าจะมี citizen journalist มายึดกุมและแย่งพื้นที่สื่อ

สิ่งที่เราได้มาจริงคือ ข่าวชาวบ้านร้านตลาดมากมาย ที่สำนักข่าวหลักต้องไปสอยคลิปเขามาลง ไม่ว่าจะเป็น รายการข่าวอันดับหนึ่ง และอันดับต้นๆ จะต้องเอาคลิปเหล่านี้มาออกครับ ออกไปคอมเมนต์ไป ไม่มีแล้วครับ ประเภทต้องมีคนแบบ คุณคำรณ หวั่งหวังศรี นั่งรถตู้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านแล้วมีกิมมิกในตอนท้ายข่าว หรือ สมัยหนึ่งเรามองว่าข่าวพวกนี้เป็นข่าวมโนสาเร่ หรือ สะเก็ดข่าวครับ

ข่าววันนี้ส่วนใหญ่ไม่มีข่าวแนว ข่าวหลัก ข่าวหนัก (hard news) ข่าวเจาะลึก (investigative news) เท่าไหร่ ส่วนใหญ่มีแต่ข่าวเล็กๆ ข่าวที่ชาวบ้านผลิตเองจากคลิปในฐานะเรื่องที่พวกเขาอยากบันทึกไว้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ข่าวŽ ในความหมายที่เรียกกันอย่างเคร่งครัด ไม่ต้องมีหมายข่าว และถูกกลั่นกรองโดยบรรณาธิการ แต่มันคือเรื่องราวที่ชาวบ้านเขาบันทึกไว้เพราะมันมีความหมายกับเขา หรือแม้กระทั่ง ข่าวกลับมาจากกล้องวงจรปิดและกล้องหน้ารถที่ตั้งทิ้งไว้อีกต่างหาก เรียกว่าช่างภาพที่ฝันจะได้รางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมอาจจะต้องตกงานกันเป็นแถว ด้วยถูกยึดพื้นที่จากกล้องจีนตัวไม่ถึงพันบาท

มองในแง่บวก ข่าวเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ ในอเมริกา หรือ อังกฤษ มักจะอยู่ในข่าวช่วงข่าวท้องถิ่น แต่ในเมืองไทยนั้น ข่าวเหล่านี้ครองเวลาหลักของช่องข่าวต่างๆ ไปแล้ว ซึ่งด้านหนึ่งก็ลดต้นทุนการผลิตข่าวไปได้เยอะ ไม่ต้องส่งนักข่าวออกไป เพราะใช้คลิปที่คนโพสต์แล้ว หรือ ให้นักข่าวท้องถิ่นไปถ่ายส่งมาให้ แล้วค่อยไปตามเรื่องต่อ

ในอีกด้านหนึ่ง ข่าวที่ถูกผลิตในพื้นที่เหล่านี้มักไม่ใช่เรื่องของข่าวที่เป็นข่าวระดับโครงสร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น ไม่ใช่การเอาคลิปของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่มีการคัดค้านโครงการของรัฐบาลใน ท้องถิ่นของพวกเขามาออก ข่าวในวันนี้ในช่องหลักของประเทศ จึงเป็นการแย่งชิงผู้ชมว่าใครเล่าเรื่องข่าวชาวบ้านจากคลิปชาวบ้านได้เก่งกว่ากัน และยิ่งมีข่าวเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องความรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้งกัน มันก็ยิ่งสะท้อนภาพของความไม่พร้อมในการปกครองตัวเอง และต้องอาศัยคนกลางจากภายนอกเข้ามาจัดระเบียบทางสังคมและสร้างความสงบ เพราะข่าวเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่ข่าวที่พยายามเล่าเรื่องว่า สุดท้ายสังคมท้องถิ่นเหล่านั้นมีกลไกในการตัดสินใจร่วมกัน หรือ ระงับความขัดแย้งอะไรได้ด้วยตัวเอง

ประการที่สาม เราจะเห็นว่า ข่าวการเมืองส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวที่ย้อนยุคกลับไปสู่เมื่อหลายสิบปีก่อน นั่นคือ นักข่าวการเมืองก็คือนักข่าวที่เป็นนักข่าวสายทหาร หรือมีสายสัมพันธ์อันดีกับทหาร จนบางครั้งเราไม่แน่ใจว่า นักข่าวสายทหารนั้นทำข่าวทหารในมุมที่เราอยากรู้ หรือ พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายประชาสัมพันธ์และจิตวิทยามวลชนของทหารในการแจ้งข่าวให้เราทราบ

ความจริงคำถามที่ผมตั้งนั้นก็หาคำตอบได้ไม่ยาก เพราะคำตอบมันก็คือต้องดูว่า นักข่าวสายทหารนั้นถามคำถามที่ประชาชนอยากรู้จากทหารที่กุมอำนาจประเทศไหม ทำให้เขาตอบไหม และหาคำตอบโดยไม่ใช่แค่ยื่นไมค์ไปถามหรือเปล่า (คือไปสืบค้นจากข้อมูลอื่นๆ) หรือ เพียงเขียนข่าวในแบบที่ทหารต้องการให้เราเชื่อเท่านั้นเอง คู่แข่งของนักข่าวสายทหารในวันนี้จึงไม่ใช่พวกเราคนใดคนหนึ่งหรอกครับ แต่ต้องเจอกับพวกสื่อออนไลน์ประเภทเว็บไซต์สืบสวนสอบสวนที่เชื่อมโยงเครือข่ายแฟนพันธุ์แท้เข้าด้วยกัน คอยตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง

เรียกว่า สื่อมวลชนกระแสหลักก็คอยตามข่าวจากเว็บเหล่านี้แล้วก็คัดลอกข่าวเขามาลง อย่างกรณีการนับว่าทั่นผู้นำทั่นนั้นมีนาฬิกากี่เรือน ถ้าเป็นสมัยก่อน บอกอ คงสั่งให้ลูกน้องไปค้น แต่สมัยนี้ นักสืบออนไลน์เขาช่วยกันค้น สื่อหลักก็เพียงแค่แสดงความกล้าหาญในการตีพิมพ์เท่านั้นเอง (อันนี้ก็ยากอยู่ในหลายเรื่อง)

ประการที่สี่ ท่ามกลางสื่อที่ขยายตัวมากมาย และช่องที่ขยายเวลาข่าวมากขึ้นกลับเป็นช่องที่มีพื้นฐานบันเทิงไม่ใช่ช่องที่ประมูลไปทำข่าว (แม้ว่าจะทำให้ ข่าวกลายเป็นความบันเทิงŽ ขึ้น ไม่ใช่ ข่าวบันเทิง ในความหมายเดิม) แต่กลับพบว่า ระดับเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้น

เราจึงเป็นสังคมที่ มีสื่อมาก มีข่าวมาก แต่เสรีภาพน้อย และเซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆŽ

เรื่องใหญ่ที่สื่อทำในช่วงเผด็จการไม่ได้สนใจเรื่องการผลิตเนื้อหาข่าว มากเท่ารักษาและเขยิบฐานันดรตัวเองเพิ่มขึ้นโดยการเข้าไปโยงใยกับผู้มีอำนาจ และพยายามต่อรองเรื่องการควบคุมสื่อ โดยโต้เถียงกันเป็นหลักที่เรื่องว่าจะยอมให้รัฐแทรกแซงกลุ่มตัวแทนของพวกตนแค่ไหน แต่ไม่ได้เน้นการขยายขอบเขตสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร และในการผลิตข่าวสาร

อย่างเรื่องการต่อสู้เรื่องซิงเกิลเกตเวย์นั้นสื่อหลัก หรือ สื่อที่เชื่อว่าตนมีฐานันดรต่างจากคนทั่วไปนั้นไม่ได้ออกแรงมากเท่ากับพวกขบวนการเอฟห้า หรือ เครือข่ายสื่อทางเลือก และ พลเมือง (อินเตอร์) เน็ตทั้งหลาย ในช่วงเผด็จการนั้น เราเห็นสื่อพยายาม สร้างและปกป้องฐานันดรของตัวเองมาก แต่ปกป้องเสรีภาพประชาชนน้อยŽ ทั้งที่ในวันนี้ประชาชนทุกคนควรถูกนับเป็นสื่อได้แล้ว เพราะเขาสามารถผลิตสื่อได้เองมากขึ้น พวกเขาไม่ควรถูกมองว่าเป็นพวกที่ต้องรอสื่อ และสารจากมืออาชีพเท่านั้น ดังนั้น ถ้าสื่อไม่เล่นเรื่องเสรีภาพของประชาชน สื่อจะได้มาซึ่งเสรีภาพของตนเองได้อย่างไร?

เสรีภาพของประชาชน กับการเจรจากับผู้มีอำนาจในการวางโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับอำนาจรัฐนั้นอะไรสำคัญกว่ากัน?

ผมขอทิ้งประเด็นเรื่องสื่อในบ้านเราเอาไว้แค่นี้นะครับ สรุปง่ายๆ ก็คือ อย่าไปมองแค่เรื่องเทคโนโลยี กับการเลิกกิจการ หรือ ปรับโครงสร้างครับ หัวใจของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ที่จะเสพสื่อ และที่จะร่วมผลิตสื่อ สิ่งที่ควรประเมินไม่ใช่เชื่อว่าเทคโนโลยีจะทำลายวงการสื่อ แต่สิ่งสำคัญก็คือ เสรีภาพนั้นถูกทำลายอย่างไรต่างหาก ในกรณีต่างประเทศ ผมอยากยกตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยสี่ประเทศที่สื่อเข้ามามีบทบาทแตกต่างกัน

กรณีของอินเดียนั้น ข้อมูลใหม่ๆ แจ้งว่า แทนที่ทีวีจะหมดอนาคต ทีวีดาวเทียมกลับกระจายตัวไปมากขึ้น และ หนังสือพิมพ์ในระดับท้องถิ่นก็มีมากขึ้น (ส่วนหนึ่งเพราะอัตลักษณ์ของท้องถิ่นนั้นมีการแสดงออกมากขึ้น) รวมทั้งคนใช้อินเตอร์เน็ตก็มีมากขึ้น และเข้าถึงเน็ตผ่านมือถือ เรื่องนี้คงจะต้องกลับมาย้อนถามเรื่องบ้านเรา ที่สนใจแต่ความเป็นไปของทีวีดิจิทัล ทั้งที่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นก็คือ เรื่องของการเติบโตของทีวีดาวเทียมที่ยังมีเป็นร้อยช่องอยู่ดี แม้ว่าส่วนใหญ่จะมีของแปลกๆ มาขายก็ตาม แต่ถ้านึกถึงว่าสมัยก่อนนั้นเรามีทีวีไม่กี่ช่อง การทำความเข้าใจทีวีดาวเทียมก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ และงานวิจัยเรื่องนี้มีไม่มากนัก

กรณีอีกสามกรณีที่เชื่อมโยงกัน จนแทบจะกลายเป็นประเด็นหลักของโลกในปีที่ผ่านมาของวงการสื่อ นั่นก็คือ เรื่องของ Fake News หรือข่าวปลอม หรือ misinformation นั่นแหละครับ ซึ่งมีด้วยกันหลายแบบ แต่โดยภาพรวมก็คือ ปัญหาใหญ่ไม่ใช่เรื่องของเสรีภาพสื่อ หรือ ถ้อยคำแห่งความเกลียดชัง (hate speech) แต่เป็นเรื่องของปฏิบัติด้านการนำเสนอข่าวที่หวังผลทางการเมือง เช่น ในกรณีของรัสเซีย กับการสร้างนักข่าวของตนเช่น RT ที่หลายประเทศประกาศไม่ยอมรับ และมองว่าพยายามครอบงำความคิดของคน และถือเป็นการแทรกแซงเข้าไปในสังคมอื่นๆ

กรณีของสหรัฐอเมริกา ที่ตัวประธานาธิบดีเองใช้การสื่อสารกับประชาชนผ่านทวิตเตอร์ และการกล่าวหาคนฝ่ายตรงข้ามตนว่า สร้างข่าวปลอมมาทำลายตน ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามก็บอกว่า ตัวประธานาธิบดีเองนั่นแหละ ที่สร้างข่าวปลอมโจมตีคนอื่นเช่นกัน และทำอย่างเป็น ระบบด้วย

ส่วนกรณีสุดท้าย คือฝรั่งเศส ที่ไม่กี่วันนี้ประธานาธิบดีพยายามผลักดันกฎหมายตัวใหม่ที่ใช้จัดการกับข่าวปลอม โดยพยายามบีบให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาของข่าวต่างๆ เพื่อเช็กได้ว่าข่าวนั้นจริงหรือไม่ ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้ง กฎระเบียบเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ข่าวปลอมคืออะไร? คำตอบก็คือ ข่าวปลอมนั้นมีเจ็ดชนิดใหญ่ๆ (ตามที่วิกีพีเดียอ้างอิงจากนักวิชาการท่านหนึ่ง)

1.ข่าวยั่วล้อ ประชดประชัน (ไม่ได้ตั้งใจทำร้ายใคร แต่มีแนวโน้มจะให้ข้อมูลผิดๆ)

2.ข่าวที่ไม่เชื่อมโยงกันระหว่างพาดหัวข่าว กับเนื้อข่าว

3.ข่าวที่ใช้ข้อมูลจริง แต่นำไปใช้ในทางที่ผิด

4.ข่าวที่แม้ข้อมูลจะจริง แต่บริบทที่นำมาเสนอนั้นไม่จริง ผิดฝาผิดตัว

5.ข่าวที่ไม่จริง เพราะหาแหล่งข่าวไม่ได้ หรือไม่มีแหล่งข่าว คือ สร้างแหล่งข่าวปลอมขึ้นมา 6.ข่าวที่ไม่จริงในระดับที่บิดเบือนตัวเนื้อข่าว หรือรูปข่าวอย่างจงใจ

7.ข่าวที่ไม่ได้แค่บิดเบือน แต่ผิดทั้งชิ้นเลย ไม่มีส่วนจริงแม้แต่นิดเดียว มีไว้หลอกลวงล้วนๆ

ในวิกีพีเดียยังนำเสนอข้อเสนอจากสมาคมนานาชาติแห่งห้องสมุดและสถาบันข้อมูลข่าวสาร (international Federation of Library Associations and Institutions) ในประเด็นว่า เราจะป้องกันการเสพข่าวปลอมได้อย่างไร

1.เช็กว่าข่าวนั้นมีแหล่งข่าวจากไหน และ ใครผลิตข่าว (เพื่อให้เข้าใจว่าข่าวนี้มุ่งหมายอะไร)

2.อย่าอ่านแต่พาดหัว (จะได้เข้าใจข่าวทั้งข่าว)

3.ดูว่าใครเขียน (จะได้รู้ว่าจริงไหม น่าเชื่อถือไหม)

4.ดูว่าข่าวนั้นมีหลักฐานและข้อสนับสนุนอะไร

5.ดูด้วยว่าข่าวนี้ของปีไหน (จะได้รู้ว่าถูกเรื่องไหม)

6.ถามว่านี่ข่าว หรือ เรื่องตลก (บางทีเขาแค่ทำให้ขำ หรือล้อเลียน)

7.เช็กว่าเรารู้สึกอย่างไรกับข่าว ทำไมเราชอบ ไม่ชอบ เชื่อ ไม่เชื่อ (ดูว่าข่าวนี้กระทบการประเมินคุณค่าของเราไหม)

8.ถามผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆว่าจริงไหม

หากปีที่ผ่านมา เป็นปีแห่งข่าวปลอมŽ แล้ว ยังมีงานวิจัยที่น่าสนใจที่พบว่า แม้ข่าวปลอมนั้นจะกระจายตัวอย่างรวดเร็ว แต่เอาเข้าจริงก็มีผลกระทบน้อย แต่ทั้งนี้งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบนั้นมันเชื่อมสัมพันธ์กับความชอบธรรมและความนิยมในตัวรัฐบาลมากแค่ไหน หากแต่พบว่าเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่คนจะกดต่อไปเจอข่าวปลอมมากที่สุด แม้ว่าเฟซบุ๊กจะพยายามหามาตรการใหม่ๆ ในการเข้ามาจัดการส่วนนี้เพิ่มขึ้นก็ตาม มาถึงตรงนี้ผมยังไม่กล้าสรุปครับว่าข่าวปลอมในบ้านเรานั้นเป็นเรื่องใหญ่แค่ไหน หรือเอาเข้าจริงทุกฝ่ายต่างถูกกระทบจากข่าวปลอม และก็มีส่วนสร้างข่าวปลอมไม่มากก็น้อย

เอาเป็นว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้ ผมจะถือว่า ข่าวและคำสัญญาที่ผ่านมาว่าปีนี้จะมีการเลือกตั้งตามโรดแมปนั้นคงเป็น ข่าวปลอมŽ ข่าวหนึ่งไปด้วยครับผม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image