ค้นจุดด้อย เน้นจุดเด่น การเมือง โชว์ออฟ เรียกคะแนนนิยม

คําสั่ง ฉบับที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องเตรียมความพร้อมใหม่ทั้งหมด

ความพร้อมที่พรรคการเมืองต้องมี แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา

วันที่ 1 มีนาคม 2561 เริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง

ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 แต่ละพรรคต้องยืนยันสถานะสมาชิกพรรค โดยให้สมาชิกพรรคของแต่ละพรรคทำหนังสือยืนยันสถานะต่อหัวหน้าพรรค พร้อมจ่ายค่าบำรุงพรรค ภายใน 30 วัน

Advertisement

หากไม่ทันกรอบเวลาให้ถือว่า “สิ้นสภาพสมาชิกพรรคการเมือง” ไป

นอกจากนี้ แต่ละพรรคยังต้องเตรียมความพร้อมเรื่องทุนประเดิม พรรคละ 1 ล้านบาท

ต้องหาสมาชิกพร้อมค่าบำรุงพรรค ไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน

Advertisement

จากวันที่ 1 เมษายน 2561 นับไปไม่เกิน 1 ปี ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน พร้อมค่าบำรุง

ภายใน 4 ปีต้องมีสมาชิกและค่าบำรุงไม่น้อยกว่า 10,000 คน

และให้พรรคจัดประชุมใหญ่ ปรับโครงสร้างบุคคลและข้อบังคับ จัดตั้งสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด ภาคละ 1 สาขา ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ คสช. “ปลดล็อก”

พร้อมกันนั้นยังกำหนดให้พรรคการเมืองจัดตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรค 4 คน และหัวหน้าสาขาเลือกกันเอง 7 คน หากพรรคใดหัวหน้าสาขาไม่พอ ก็ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกให้ได้จนครบ 7 คนได้ อีกด้วย

จากคำสั่งฉบับดังกล่าว ขณะนี้เริ่มขับเคลื่อนข้อแรก

กกต.เริ่มจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่

ส่วนกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย คือร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป. การได้มาซึ่ง ส.ว. ซึ่งเดิมดูเหมือนมีปัญหา

แต่การประชุม สนช. เมื่อวันที่ 8 มีนาคมก็มีผลออกมาแล้วว่า ฉลุย

ทั้งนี้ สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ด้วยคะแนน 211 ต่อ 0 งดออกเสียง 7

และมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ด้วยคะแนน 202 ต่อ 1 งดออกเสียง 13

ทั้งนี้ในส่วนของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. ที่เกรงว่าจะขัดรัฐธรรมนูญนั้น สนช.มีความเห็นตามคณะกรรมาธิการร่วมนำเสนอทั้งหมด

ประกอบด้วย 1.การลดจำนวนกลุ่มการสมัครจาก 20 กลุ่ม เหลือ 10 กลุ่ม โดยปรับแก้เป็นบทหลักมี 20 กลุ่ม

ส่วนบทเฉพาะกาลให้มี 10 กลุ่ม

2.การแบ่งผู้สมัครแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คืออิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร แก้เป็นบทหลัก รับสมัครแบบอิสระอย่างเดียว

ส่วนบทเฉพาะกาล ให้รับสมัคร 2 ประเภท คืออิสระและการเสนอชื่อโดยองค์กร

3.วิธีการเลือกตรงและการเลือกไขว้ ปรับแก้เป็น ในบทหลักให้ใช้การเลือกตั้งและการเลือกไขว้

ส่วนบทเฉพาะกาล ให้ใช้การเลือกตรงเพียงอย่างเดียว

และ 4.ปรับแก้ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

หลังจากนั้นก็รอระยะเวลาว่ามีใครจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่

แต่ทั้งนี้ คสช. และรัฐบาล ยังยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมดไม่กระทบโรดแมป

การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 อย่างแน่นอน

 

ในจังหวะที่พรรคการเมืองใหม่เริ่มขอจดทะเบียน การเลือกตั้งได้รับการยืนยันว่าไม่มีเลื่อน

ทำให้การแข่งขันทางการเมืองปรากฏออกมาให้เห็น

เริ่มจากการประกาศจัดตั้งพรรค กปปส. ที่ นายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ มั่นใจว่า จะตั้งแน่

ผลจากคำประกาศ เกิดเป็นอาการสั่นสะเทือนไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะมวลชนของ “ประชาธิปัตย์” กับ มวลมหาประชาชนของ กปปส.นั้น แทบจะเรียกได้ว่าอยู่กลุ่มเดียวกัน

การที่ กปปส.จัดตั้งพรรค ย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์จึงออกมาเคลื่อนไหว ทั้งการแพร่ข่าวตรวจเช็กรายชื่อพลพรรคประชาธิปัตย์

ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาให้สัมภาษณ์ชัดแจ้ง ไม่หนุนนายกฯคนนอก ซึ่งหมายรวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันด้วย

แตกต่างจากคำประกาศของนายสุเทพ ก่อนหน้านี้ที่ยังคงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป

ถือเป็นความเคลื่อนไหวของ “ประชาธิปัตย์” และ “กปปส.” ที่เคยจับมือกันล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

คราวนี้ประกาศจุดยืนที่แตกต่างกันแล้ว

 

ในบรรดาพรรคใหม่ที่กำลังจะแจ้ง มีกระแสว่า นายปิยบุตร แสงกนกกุล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจหนุ่ม ประกาศตั้งพรรคด้วย

ความน่าสนใจของพรรคการเมืองดังกล่าว คือ การอาสาเข้ามาทำหน้าที่นักการเมือง “ทางเลือก”

ตั้งพรรคการเมืองที่เป็นพรรคการเมืองทางเลือกให้ประชาชน

ขณะที่ประชาชนไม่ชอบใจนักการเมืองและพรรคการเมืองเก่า ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งพรรคเพื่อไทย และอื่นๆ

ขณะที่ประชาชนเริ่มไม่พอใจการบริหารราชการแผ่นดินของ คสช. และมีกระแสเสียงต้องการรัฐบาลเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ

นายปิยบุตร และนายธนาธร มองว่า นี่เป็นโอกาสของนักการเมืองและพรรคการเมืองรุ่นใหม่

โอกาสที่จะเสนอตัวเองให้เป็น “ทางเลือก”

ความน่าสนใจคือ เมื่อนายปิยบุตร และนายธนาธร ออกมาประกาศเจตนาตั้งพรรค บรรดาผู้ต่อต้านก็ออกอาการคัดค้านในทันที

ส่วนผู้ที่สนับสนุนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นทางโลกออนไลน์

เท่ากับว่า การเปิดตัวของนายปิยบุตร และนายธนาธร ได้รับการตอบรับอย่างดี

ต่อไปก็เหลือแต่เพียงการจัดตั้งพรรค และการขับเคลื่อนพรรคตามนโยบาย

ทำได้หรือไม่ได้ต้องลุ้นกันต่อไป

 

จากความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองเก่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองใหม่ ความเคลื่อนไหวของแม่น้ำ 5 สาย และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560

ย่อมชี้ให้เห็นถึงความคึกคักของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง

แม้จะมีผู้แย้งว่า จะมีขึ้นตามกำหนด กุมภาพันธ์ ปี 2562 จริงหรือ? แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายก็ยังเดินหน้าเพื่อก้าวไปสู่วันนั้น

คสช. และรัฐบาลนั้นชัดเจน ทั้งการสัญจรประชุม ครม.ไปทั่วประเทศ ทั้งงบประมาณที่จัดและอัดฉีดลงไปทุกภาค

ทั้งการพบปะอดีต ส.ส. อดีต ส.ว. รวมทั้งผู้นำในแต่ละพื้นที่

ทุกอย่างชี้ชัดว่า รัฐบาลเองก็กำลังสะสมแต้ม

ฝ่ายรัฐบาลกำลังสร้างผลงาน เพื่อให้ประชาชนจดจำ

ขณะที่พรรคการเมืองเดิมเองก็เช็กสรรพกำลังเดิมที่เคยมี และดำเนินการตรึงพื้นที่

ส่วนพรรคการเมืองใหม่ มีทั้งพรรคที่หวังเชิดชู คสช. และพรรคการเมืองที่หวังเป็น “ทางเลือก”

ล้วนหวังมีโอกาสได้แสดงบทบาททางการเมือง

 

ช่วงเวลาต่อไป การหาเสียงก่อนเลือกตั้งจะเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

การค้นหาจุดด้อยของคู่แข่ง การส่งเสริมจุดเด่นของตัวเอง

การโชว์ผลงานทางการเมือง เพื่อเรียกคะแนนนิยมจะเริ่มปรากฏให้เห็น

และจะเห็นได้แจ่มแจ้งหลังจากเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นเดือนที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยประกาศ

ประกาศว่า เดือนมิถุนายนจะกำหนดวันเลือกตั้งของประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image