จุดตัด การเมือง จุดตัด มิถุนายน 2561 แหลมคม ท้าทาย

เดือนมิถุนายน 2561 กำลังจะกลายเป็นเดือนแห่งการประลอง “พลัง” ระหว่าง คสช.กับพรรคการเมืองก่อนจะเข้าสู่ “การเลือกตั้ง” ที่เป็นจริง

คงจำคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้

เป็นคำประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ภายหลังเดินทางกลับจากการไปเยือนทำเนียบขาวและพบ นายโดนัลด์ ทรัมป์

1 เดือนมิถุนายน จะประกาศ “วันเลือกตั้ง”

Advertisement

1 โรดแมปการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ คือ ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

จากนั้นก็ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกนั่นแหละที่แถลงออกมาว่าจะหาโอกาส “หารือ” กับพรรคการเมืองในเดือนมิถุนายน 2561 ตามที่ว่าใน 2 เรื่องด้วยกัน

1 วันเลือกตั้ง 1 อนาคตของประเทศ

Advertisement

ถามว่าแล้วเหตุใดสถานการณ์ในเดือนมิถุนายน 2561 จึงกลายเป็นสนามประลอง “พลัง” ระหว่าง คสช.กับพรรคการเมือง

คําตอบ 1 ก็เหมือนกับที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ครั้งยังเป็นกรรมการ กกต.ได้เคยกล่าวเอาไว้ด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูง

การกำหนด “วันเลือกตั้ง” เป็นเรื่องของ “กกต.”

ดังนั้น การออกมา “ประกาศ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่ว่าจะในฐานะหัวหน้ารัฐบาลล้วนไม่ถูกต้อง

เพราะไม่ใช่ “อำนาจ” ของตน

คำตอบ 1 ก็เหมือนกับที่หลายคนจากพรรคเพื่อไทยแสดงความข้องใจ และบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มเห็นด้วย

นั่นก็คือ คำถามจาก คสช.และรัฐบาล

เป็นการถามว่าแต่ละพรรคการเมืองมี “แนวทาง” หรือ “วิธีการ” ในการพัฒนาประเทศไปอย่างไร ซึ่งก็มิใช่เรื่องของ คสช.และเรื่องของรัฐบาลอีกเช่นกัน

เพราะนี่เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมือง เป็นเอกสิทธิ์ของเขา

ขณะเดียวกัน ในระหว่างคำประกาศและการแสดงความเห็นรายละเอียดอันปรากฏเป็นข่าวมีคำอยู่ 2 คำ ซึ่งมากด้วยความละเอียดอ่อน

นั่นก็คือ 1 คำว่า “เรียก”

นั่นก็คือ 1 คำว่า “เชิญ”

หากมีการใช้คำว่า “เรียก” พรรคการเมืองสะท้อนให้เห็นว่า คสช.และรัฐบาลใช้ “อำนาจ” ที่มีอยู่ของตนเหนือกว่าพรรคการเมือง และหากมีการใช้คำว่า “เชิญ” แสดงว่าให้เกียรติกันและกัน

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 สภาวะเหลื่อมซ้อนแห่ง “อำนาจ” ระหว่าง คสช.และรัฐบาลกับพรรคการเมืองเกิดขึ้น ดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างเด่นชัด

เด่นชัดว่าฝ่ายหนึ่งแสดงความเหนือกว่า

เหนือกว่าโดยการไม่ยอม “ปลดล็อก” เหนือกว่าโดยการเล่นเกม ยื้อ ถ่วงและหน่วงเวลาในการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ

เดือนมิถุนายน 2561 นี้ก็เช่นกัน

ท่าทีของพรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และอย่างพรรคเพื่อไทย จึงสำคัญเพราะ 2 พรรคนี้ถือได้ว่าเป็น พรรคขนาดใหญ่

คำถามก็คือ สถานะของ คสช.เป็นอย่างไร

ยังเป็นเหมือนในห้วง 2 ปีแรกหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 หรือ 2 ปีหลัง อันถือได้ว่าอยู่ในห้วง “ขาลง” หรือไม่

การตัดสินใจในเดือนมิถุนายน จะเป็น “คำตอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image