พรรคการเมืองขนาดเล็กมีไว้ทำไม? : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้ให้เกี่ยวพันกับการเมืองของบ้านเราในวันนี้นะครับ อยากให้ผู้อ่านลองได้ข้อสรุปด้วยตัวเองตอนท้ายบทความน่าจะดีกว่า

อยากเพียงนำเสนอว่า เรื่องของบทบาทของพรรคการเมืองขนาดเล็กกับความสัมพันธ์กับการเมืองและประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่มีคนสนใจอยู่จำนวนหนึ่งทั้งในข้อถกเถียงสาธารณะ และในวงการวิชาการทางรัฐศาสตร์

และโดยภาพรวมแล้ว ก็มีทั้งที่มีมุมมองในทางบวกหรือสนับสนุนหรือมองเห็นสัญญาณ และประโยชน์จากการมีพรรคการเมืองขนาดเล็ก และในอีกมุมมองหนึ่งก็คือมองเห็นในแง่ลบ ที่ไม่ได้คาดหวังกับพรรคขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งมองว่าพรรคขนาดเล็กยิ่งมีมากก็จะยิ่งสร้างปัญหาให้กับการเมืองของประเทศเหล่านั้น

มาดูสายทรรศนะในไม่ค่อยให้ค่ากับพรรคเล็กหน่อย ตัวอย่างบทความของ The Economist ที่ว่าด้วยการตั้งประเด็นว่า ยิ่งมีพรรคมาก การเมืองก็อาจจะไม่ได้ดีขึ้นก็ได้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มในสังคมประชาธิปไตยที่พรรคการเมืองเล็กๆ เริ่มเบ่งบานมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่นั้นเริ่มเล็กลง หรือได้รับความนิยมลดลง โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่า อุดมการณ์ที่พรรคใหญ่ๆ นั้นขายกันก็อาจจะเสื่อมพลังลง และอินเตอร์เน็ตก็มีบทบาทในการทำลายอุปสรรคในการเข้าถึงการสร้างพรรคการเมืองใหม่ๆ

Advertisement

สายโลกไม่สวยเนี่ยเขามองว่า แม้ว่าการมีพรรคเล็กๆ มากขึ้นจะมีข้อดีสำคัญก็คือ พรรคเล็กๆนั้นทำให้เกิดสีสันทางการเมืองมากขึ้น และพิสูจน์กันด้วยตัวเลขที่พบว่า ยิ่งมีพรรคเล็กๆ มากขึ้น คนก็จะไปเลือกตั้งมากขึ้น โดยเฉพาะในระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (คือไม่ใช่ทิ้งคะแนนที่แพ้ในแต่ละเขตไปเลยเหมือน อังกฤษ อเมริกา หรือ ไทยสมัยก่อน 2540) ที่มีการพยายามนับคะแนนที่แพ้ในแต่ละเขตด้วย

อย่างไรก็ตาม สายโลกไม่สวยนี่เขาชี้ให้เห็นว่า ยิ่งมีพรรคเล็กๆ มากเท่าไหร่ การบริหารประเทศก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และในหลายกรณีก็เกิดการร่วมกันตั้งรัฐบาลของพรรคที่สุดขั้วไปเลยที่ไม่น่าจะร่วมกันได้ เช่น พรรคซ้ายตกขอบ กับ ขวาตกขอบในกรีซ หรือในกรณีเดนมาร์ก ที่พรรคที่มีจุดยืนด้านภาษีและสวัสดิการต่างกันต้องมาร่วมรัฐบาลกัน หรือในกรณีของสเปน ที่การมีพรรคเพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาในการจัดตั้งและบริหารประเทศอยู่เกือบปี

Advertisement

พรรคการเมืองขนาดเล็กในบางประเทศก็สร้างปัญหาในการบริหารประเทศจริงๆ เช่น การทำให้รัฐบาลต้องมีนโยบายสุดโต่งเมื่อพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งมีบทบาทในอิสราเอล หรือการที่พรรคแบบที่แยกมาจากพรรคเดิมนั้น บางที่แยกมาก็เพราะต้องการเงินสนับสนุนพรรคหรือเรียกร้องผลประโยชน์ในการร่วมรัฐบาลอย่างในกรณีของบราซิล เงื่อนไขของการมีพรรคเยอะในกรณีนี้หมายถึงการที่พรรคการเมืองบางประเทศนั้นมีเยอะ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนมีตัวเลือกเยอะ แต่หมายถึงว่า พรรคการเมืองมีหลายพรรคเพราะต้องการจะสร้างระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ของพวกเขากันเอง เพราะชื่อหรือนโยบายก็ไม่ค่อยต่างกัน (ว่ากันว่ากรณีโรมาเนียเป็นแบบนี้) หรือแม้กระทั่งบางครั้งพรรคการเมืองเล็กๆ ก็เกิดจากการที่นักการเมืองเดิมนั้นอกหักจากการอยู่พรรคใหญ่ก็เลยมาตั้งพรรคเล็กของตัวเอง

สรุปง่ายๆ พวกโลกไม่สวยนี่ก็จะเป็นสายที่แม้จะรับได้ในการที่จะมีพรรคเพิ่มขึ้น แต่บางทีก็อาจจะตั้งคำถามว่าพรรคการเมืองที่มีเพิ่มขึ้นไม่ได้มีประโยชน์หรือมีความสลักสำคัญอะไรกับประชาธิปไตยและการเมือง แต่กระนั้นก็ดี เขาก็ไม่ได้ต้องการห้ามซะทีเดียว แต่อาจจะมีการพยายามกำหนดโควต้า หรืออัตราขั้นต่ำ เช่น ถ้าได้คะแนนเสียงไม่ถึงร้อยละ5ทั้งประเทศก็ไม่ให้ได้รับเลือกตั้ง อย่างกรณีของเยอรมนี เป็นต้น

มาดูฝั่งที่โลกสวยกันบ้าง พวกฝั่งโลกสวยนี้จะมองว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กนั้นยิ่งมีเยอะก็มีคุณประโยชน์กับการเมืองและประชาธิปไตย โดยเฉพาะจะพบในกรณีของอังกฤษ กับสกอตแลนด์ ที่พรรคการเมืองขนาดเล็กและผู้สมัครอิสระก็มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่น

ข้อดีจากการมีพรรคขนาดเล็กนี้ก็คือ พรรคขนาดเล็กทำให้คนที่รู้สึกหดหู่ แปลกแยกจากการเมือง มีความสนอกสนใจและกระตือรือร้นทางการเมืองเพิ่มขึ้น อีกทั้งพรรคเล็กๆ ยังทำให้เกิดระบบที่ทำให้ประชาชนยังมีศรัทธาในประชาธิปไตย และไม่คิดจะโค่นล้มระบบนี้ เนื่องจากยังรู้สึกว่าบ้านเมืองยังมีทางออก สังคมยังมีความหวัง และ อย่างน้อยพวกฉันยังมีตัวแทน และคนที่คิดเหมือนกับฉันและได้เปล่งเสียงออกมาในสนามเลือกตั้ง และในสภา

ส่วนหนึ่งของประโยชน์ต่อการเมืองและประชาธิปไตยของพรรคใหม่อีกประการหนึ่งก็คือ พรรคใหม่นั้นนำเอาประเด็นใหม่ๆ เข้ามาในการเมือง มากกว่าเน้นเรื่องการจัดตั้งองค์กร ประเด็นใหม่ๆ ทางการเมืองนั้นอาจจะไม่ได้ใหม่เสียทุกอย่าง แต่อาจจะหมายถึงประเด็นที่เคยถูกละเลยในการเมืองที่ผ่านๆ มาเช่นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องนโยบายต่อคนอพยพ หรือ สิทธิสัตว์ ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นที่ถูกมองว่าเป็นประเด็นชายขอบ
การนำเอาประเด็นเหล่านั้นเข้ามานำเสนอ ก็ทำให้ประชาชนได้รับรู้ปัญหาของประเทศได้มากขึ้น พรรคเล็กๆ นั้นมักจะเข้าสู่การเมืองได้ดีในระบบการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น เพราะพรรคเล็กทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดและความไม่พออกพอใจต่อระบบการปกครองในพื้นที่ได้ดี และก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นในการเมืองระดับชาติ แม้กระทั่งในอังกฤษเอง

การพูดถึงพรรคเล็กในแง่นี้นั้นจึงเป็นประเด็นที่เมื่อมองในแง่บวกแล้วจะพบว่า ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้นทางการเมือง เพราะพรรคขนาดใหญ่นั้นอาจจะสนใจเฉพาะที่จะเข้ามาสู่อำนาจผ่านจำนวนเสียงและเก้าอี้ในสภา เพื่อให้ได้อำนาจรัฐในการปกครองประเทศ แต่ไม่ได้สนใจเสียงเล็กเสียงน้อย หรือความรู้สึกว่าตนหรือกลุ่มตน ชุมชนของตนนั้นถูกละเลย หรือไม่ถูกนับรวมเข้ากับการเมือง

ในบางกรณีพรรคขนาดเล็กนั้นอาจจะเป็นต้นธารของการเริ่มตั้งคำถามทางการเมืองในแบบที่สลายวิธีคิดของขั้วทางการเมืองแบบเดิมได้ และมักจะพิสูจน์กันมาว่า พรรคขนาดเล็กมักจะได้คะแนนเสียงมากขึ้นในพื้นที่ที่ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน

จุดเด่นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพรรคเล็กๆ ก็คือ ชัยชนะของพรรคเล็กๆ ที่ มีประเด็นที่ชัดเจน และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจะส่งสัญญาณไปยังชนชั้นนำทางการเมือง ว่าประชาชนเริ่มไม่พอใจกับความล่าช้า รักพี่เสียดายน้อง คลุมเครือ และล้มเหลวของบรรดาชนชั้นนำทางการเมืองที่อยู่ในพรรคขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจพรรคเล็ก เราก็ต้องเข้าใจว่า พรรคเล็กนั้นมีหลายประเภท (ซึ่งบางส่วนพวกโลกไม่สวยได้กล่าวไว้แล้วบ้าง) อาทิ พรรคเล็กที่ใหม่จริงๆ หรือพรรคเล็กที่แตกตัวมาจากพรรคเก่า ซึ่งบางทีก็อาจจะเป็นนักการเมืองหน้าเดิม หรือบางทีอาจจะเป็นนักการเมืองหน้าเดิมที่ขัดแย้งทางความคิดและอุดมการณ์กับพรรคเก่าก็ได้

พรรคการเมืองเล็กบางพรรคก็เป็นพรรคเก่าที่ใหญ่ได้แค่นี้ เพราะเป็นพรรคที่เน้นผลประโยชน์ของท้องถิ่นตนเป็นหลัก

พรรคการเมืองเล็กบางพรรคนั้นก็อาจจะเป็นพรรคการเมืองที่เล็กในแง่ของเพิ่งเริ่มต้น แต่ก็อาจจะใหญ่ขึ้นในอนาคต

ขณะที่พรรคการเมืองเล็กบางพรรคเป็นพรรคเล็กที่โตกว่านี้ไม่ได้ เพราะนำเสนอประเด็นที่คนอื่นร่วมได้ยาก แต่อาจไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปในท้องถิ่นเดียว แต่อาจจะสนับสนุนอุดมการณ์บางอย่างที่หาคนเอาด้วยมากกว่านี้ได้ยาก

ในบางกรณี พรรคการเมืองเล็กก็อาจจะเป็นพรรคที่ใหม่และเล็กที่ไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบ แต่ต้องการผนวกตัวเองเข้ากับระบบเก่า คือต้องการการถูกผนวกหรือดูดเข้าสู่ระบบโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่

เท่าที่กล่าวมานีี้คงจะแสดงให้เห็นนะครับว่า พรรคการเมืองเล็กๆ นั้นอย่างน้อยก็คงจะเป็นสีสันให้กับการเมือง และก็ทำให้ความชอบธรรมของระบบการเมืองนั้นเพิ่มมากขึ้น แต่เราจะคาดหวังไม่ได้ว่าพรรคการเมืองเล็กนั้นจะมีอยู่แบบเดียว ฝ่ายก้าวหน้าก็มี ฝ่ายขวาจัดก็มี ฝ่ายที่ต้องการข้ามพ้นระบบความขัดแย้งเดิมก็มี หรือแม้กระทั่งฝ่ายที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็มี ฝ่ายหาประโยชน์กับระบบการส่งเสริมพรรคการเมืองก็มี แต่อย่างน้อยพรรคการเมืองเล็กนั้นก็ทำให้เรารู้สึกว่าผู้คนมีความหวังและกระตือรือร้นกับการเมืองมากขึ้น

ส่วนในบ้านเราพรรคการเมืองใหม่ๆ และพรรคการเมืองเล็กๆ ก็อาจจะมีได้หลายแบบ และอาจจะส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเราได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผลของการเลือกตั้งในรอบนี้ และขึ้นกับเงื่อนไขและบรรยากาศของการเมืองในช่วงของการกลับสู่การเลือกตั้งว่าจะมีความเป็นธรรมในการแข่งขันกันมากแค่ไหน

(หมายเหตุ: ท่านสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้จาก “Too many parties can spoil politics”. The Economist. 12 January 2017., H.Brochel and D.Denver. Minor parties and Indepents in time of change: Scottish local Elections 1974-2007. Department of Policy Studies. University of Lincoln. และ C.Copus. Etal. 2009. Minor Party and Independent Politics beyond the Mainstream: Fluctuating Fortunes but a Permanent Presence. Parliamentary Affairs. 62:1)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image