คุณภาพคือความอยู่รอด ความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน : โดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี

เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Accenture ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก ได้เผยแพร่ข่าวออนไลน์เกี่ยวกับรายงานการวิจัยล่าสุด ที่ชี้ให้เห็นถึงผลของการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในธุรกิจอุตสาหกรรมอันเนื่องมาจาก Disruptive Technology

Disruptive Technology คือ เทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ทำให้เทคโนโลยีที่มีอยู่ล้าสมัยอย่างรวดเร็ว บางอย่างอาจถึงขั้นใช้การต่อไปไม่ได้เลย (อาจต้องทิ้งและหาเปลี่ยนใหม่) และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้เป็นการเปลี่ยนโฉมในทิศทางที่ยากที่จะประเมินได้ และเตรียมการรับมือได้ยาก

ทุกวันนี้ Disruptive Technology จึงเป็นสิ่งที่องค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลกต้องเผชิญด้วยความหวาดวิตก

บริษัท Accenture ทำการวิจัยโดยสำรวจบริษัทกว่า 3,600 แห่ง ที่มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน 82 ประเทศ โดยพิจารณาใน 2 มิติหลัก คือ ระดับของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจ (Disruption) และความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

Advertisement

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า บริษัทเกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 63) กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในระดับรุนแรง และราว 2 ใน 5 (ร้อยละ 44) มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

บริษัท Accenture ได้พัฒนา “ดัชนี Disruptability Index” ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย โดยการแยกองค์ประกอบแห่งการเปลี่ยนแปลงหรือ Disruption จากนักวิเคราะห์
ที่ได้พิจารณาจากการเกิดขึ้นของบริษัทใหม่ๆ ซึ่งเป็นผู้นำกระแสการเปลี่ยนแปลง การเจาะตลาด รวมทั้งฐานะทางการเงินของบุคลากร ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ความมุ่งมั่นที่มีต่อนวัตกรรม และประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตีด้วย

ผู้บริหารขององค์กรต่างๆ สามารถจะใช้ดัชนีตัวนี้ทำความเข้าใจว่า Disruption ในอุตสาหกรรมของพวกเขาจะอยู่ตรงจุดใด และจะมีผลกระทบต่อกิจการมากน้อยอย่างไรบ้าง ดัชนีตัวนี้จะช่วยให้เรารู้ถึงความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ ก่อนเพื่อจะได้เตรียมการรับมืออย่างเหมาะสมต่อไป

Advertisement

ทุกวันนี้ องค์กรต่างๆ จึงควรจะรู้ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมของเราอยู่ตรงจุดใด มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดที่จะได้รับผลกระทบจากกระแส Disruption ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยดูจากดัชนี Disruptability Index ที่ว่านี้

ในยุค 4.0 นี้ ผู้บริหารจึงต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้ได้มากที่สุด ด้วยการปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อให้องค์กรมี “ผลิตภาพ” (Productivity) มากขึ้น โดยยึดหลักการ “ทำน้อยได้มาก” ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”

ดังนั้น การตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม หรือล้าสมัยเร็ว จะหมายถึงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า ซึ่งมีแต่จะสร้างความเสียหายต่อองค์กร ครับผม !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image